บทความสุขภาพ

ข้อควรรู้ก่อนทำเลสิค (LASIK) เลสิคมีกี่แบบ ค่าใช้จ่ายราคาเท่าไหร่?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

เลสิค


ปัญหาสายตาเป็นหนึ่งในปัญหายอดนิยมที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายตาสั้นสายตายาว หรือสายตาเอียง ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบให้เกิดความยากลำบากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งนั้น

การแก้ปัญหาสายตา มีด้วยกันหลากหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยให้คุณกลับมามีการมองเห็นที่ชัดเจนดังเดิมได้ คือ “การทำเลสิค”

แล้วการเลสิคเจ็บไหม? มีกี่แบบ? ปกติเลสิคราคาประมาณเท่าไหร่? และควรทำเลสิคที่ไหนดี? มารู้จักกับวิธีการแก้ปัญหาสายตาด้วยการทำเลสิคได้ในบทความนี้
 


สารบัญบทความ

 

 


เลสิค (LASIK) คืออะไร

เลสิค (LASIK) หรือ การทำเลสิก คือ หนึ่งในวิธีการผ่าตัดที่สามารถแก้ปัญหาความผิดปกติของสายตาได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด หรือแม้กระทั่งสายตาเอียง โดยใช้เลเซอร์ในการปรับเปลี่ยนรูปร่างความโค้งของกระจกตาตามที่ได้คำนวณค่าสายตาไว้อย่างแม่นยำ เพื่อแสงวัตถุที่สะท้อนเข้าสู่ดวงตาของเรา มีการหักเหที่ทำให้จุดรวมแสงตกกระทบลงบริเวณเรตินาพอดี ส่งผลให้กลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้งนั่นเอง

วิธีการรักษาด้วยเลสิค เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1949 ตอนนั้น Dr.Jose I. Barraquer เป็นจักษุแพทย์ท่านแรกที่มีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบแยกชั้นกระจกตา หรือที่เรียกว่า Keratomileusis ขึ้น โดยใช้การผ่าตัดแยกชั้นกระจกตาออกมา จากนั้นนำชั้นกระจกตาที่ได้ ไปทำการปรับแต่งและเย็บกลับเข้าที่บนกระจกตาอีกครั้ง

แน่นอนว่าในสมัยนั้น เครื่องมือมีความซับซ้อน จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แม่นยำเท่าในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา Dr.Jose I. Barraquer ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติของโลก (Father of Refractive Surgery)

จากนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป จนในปี ค.ศ.1983 Dr.Trokel ได้นำเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) เข้ามาใช้ในการผ่าตัด โดยการยิงเลเซอร์ชนิดนี้ลงบนผิวตาชั้นบน จึงเกิดวิธีที่เรียกว่า PRK (Photo Refractive Keratectomy)

สุดท้าย ในปี ค.ศ.1990 Dr.Buratto และ Dr.Pallikalis ได้ทำการนำข้อดีของทั้งสองรูปแบบมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการแยกชั้นกระจกตาที่ผลข้างเคียงน้อย หรือเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง จนทำให้เกิดเป็นการรักษาที่เรียกว่า เลสิค (LASIK) ที่ใช้กันในปัจจุบัน

 


ทำไมควรทำเลสิค

เข้าใจเป็นอย่างยิ่งเลยว่า แต่ละคนมีข้อจำกัด และรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป คำถามที่ว่า “ทำไมจึงควรทำเลสิค?” อาจได้คำตอบที่หลากหลายแง่มุม เพราะเหตุผลที่แต่ละคนเลือกเข้ามาทำ มีความแตกต่างกัน

ถ้าหากคุณเป็นบุคคลที่ประสบปัญหาความผิดปกติของสายตา รู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ความอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน การเกิดความไม่สะดวกสบายในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบแต่กลับไม่เหมาะกับการใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ใส่แว่นแล้วปวดหัว ความต้องการที่อยากจะทำตามความฝัน เช่น การเป็นนักบิน หรือแม้กระทั่งความจำเป็นอันเนื่องมาจากภาพลักษณ์ บุคลิกภาพที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพ

การเลสิคอาจเป็นโอกาสที่ดี ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะการทำเลสิคสามารถช่วยให้คุณกลับมามีการมองเห็นที่ชัดเจน โดยไม่ต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ส่งผลให้คุณมีอิสระในการใช้ชีวิตหรือทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการมองเห็นไม่ชัดเจนลดลงอีกด้วย

 


การทำเลสิคช่วยแก้ปัญหาสายตาแบบใดได้บ้าง


ทําเลสิค
 

การทำเลสิค สามารถช่วยแก้ปัญหาสายตาได้ทั้งภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงได้ โดยมีประโยชน์ในการรักษาสายตาแต่ละรูปแบบได้ ดังนี้

 

เลสิคแก้ปัญหาสายตาสั้น


ผู้ที่มีภาวะปัญหาสายตาสั้น มีลักษณะกระบอกตาที่ยาว หรือมีกระจกตาที่มีความโค้งมากเกินไป ทำให้เกิดกำลังในการหักเหแสงมาก จนจุดรวมแสง ตกกระทบก่อนถึงจอประสาทตา ส่งผลให้บุคคลนั้นมองเห็นวัตถุชัดเจนในระยะใกล้ แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล

การทำเลสิคแก้ปัญหาสายตาสั้น จะเป็นการใช้ทำเลเซอร์ตาปรับรูปร่างของกระจกตาให้มีความเหมาะสม ตามค่าสายตาที่มีการคำนวณไว้อย่างแม่นยำ ทำให้หลังจากทำเลสิคแล้ว บุคคลนั้นสามารถมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน

 

เลสิคแก้ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิด


ผู้ที่มีปัญหาสายตายาวโดยกำเนิด แท้จริงแล้วประสบปัญหาตั้งแต่ตอนเด็ก เพียงแต่กล้ามเนื้อลูกตามีความแข็งแรง มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเพ่งมองภาพได้เห็นได้ดังปกติ แต่เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อลูกตามีกำลังลดน้อยลง ส่งผลให้ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดแสดงออกมา

ภาวะสายตายาวโดยกำเนิด มีลักษณะความโค้งของกระจกที่ไม่พอดี ส่งผลให้เมื่อมีแสงสะท้อนเข้าสู่ตาเรา จะเกิดการหักเหแสงน้อย ทำให้จุดรวมแสงตกกระทบเลยจุดรับภาพไป ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่มีภาวะสายตายาวโดยกำเนิด มีความแตกต่างจากสายตายาวตามอายุ ตรงที่มีปัญหาทั้งระยะการมองใกล้ที่ไม่ชัดเจน และการมองไกลที่ไม่ค่อยดีอีกด้วย

การทำเลสิคแก้ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิด เป็นการทำเลเซอร์ตาปรับบริเวณด้านข้างของกระจกตาที่มีลักษณะแบน ให้มีความโค้งเทียบเท่าค่าสายตาที่ปกติ ทำให้การหักเหแสงดีขึ้น ส่งผลให้หลังจากทำเลสิคสามารถมองเห็นได้ทุกระยะอย่างชัดเจน

 

เลสิคแก้ปัญหาสายตาเอียง


ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียง มีลักษณะรูปร่างกระจกตา หรือความโค้งของกระจกตาที่ผิดปกติ ทำให้เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตา จุดรวมแสงตกกระทบไม่ถึงจอประสาทตา อีกทั้งกลับมีจุดโฟกัสภาพ 2 จุด ทำให้บุคคลนั้นมองเห็นวัตถุในระยะไกลไม่ชัดเจน อีกทั้งภาพที่เห็นยังเกิดภาพซ้อนหรือมีเงาเกิดขึ้นด้วย

หลายคนสงสัยว่า สายตาเอียง ทำเลสิกได้ไหม? การเลสิคแก้ปัญหาสายตาเอียง คือการใช้เลเซอร์ในการปรับความโค้งของกระจกตาให้เท่ากัน และให้มีความใกล้เคียงกับรูปร่างกระจกตาที่ปกติให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้หลังจากการเลสิคแล้ว บุคคลนั้นมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจนขึ้น โดยไม่เกิดภาพซ้อนหรือเงา ทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การแยกตัวเลขที่มีความคล้ายกัน หรือการเห็นแสงฟุ้งในตอนกลางคืนดีขึ้น

 


การทำเลสิคมีกี่แบบ แบบไหนดี

หลายๆคนอาจสงสัยว่าปกติแล้ว เลสิคมีกี่แบบ? เลสิคแบบไหนดี? การเลสิคมีอยู่ 5 ประเภทหลักๆ โดยแต่ละประเภทมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

1. ReLEx SMILE ผ่าตัดเลสิคแบบทันสมัย


ReLEx SMILE มาจากคำว่า Refractive Lenticule Extraction กับ Small Incision Lenticule Extraction หรือที่มักเรียกกันว่า เลสิคrelex คือ การนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกพัฒนามาจากการทำเลสิคแบบดั้งเดิม มาใช้ในการผ่าตัดแบบไร้ใบมีด เพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติทางสายตา ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายตาสั้น หรือสายตาเอียง

จุดเด่น คือ การทำเลสิคRelex มีการนำเลเซอร์ที่มีชื่อว่า Femtosecond Laser เข้ามาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งเลเซอร์ชนิดนี้ สามารถปลดปล่อยพลังงานในอัตราความเร็วสูง กำหนดเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ไม่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ส่งผลให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะทำการผ่าตัด แผลมีขนาดเล็กมาก หายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังรบกวนเส้นประสาทที่บริเวณกระจกตาน้อย ทำให้อาการเคืองตา หรืออาการอื่นๆหลังการผ่าตัดน้อยกว่าแบบดั้งเดิม

เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นไม่เกิน 1,000 (-10.00 ไดออปเตอร์) และสายตาเอียงไม่เกิน 500 (-5.00 ไดออปเตอร์) หรือผู้ที่มีทั้งภาวะสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียง

 

2. Bladeless FemtoLASIK ผ่าตัดเลสิคแบบไร้ใบมีด


การผ่าตัดเลสิคแบบไร้ใบมีด ที่เรียกกันว่า Femto Lasik หรือ เลสิค femto คือ การผ่าตัดที่ใช้แสงเลเซอร์แทนการใช้ใบมีดด้วยเครื่อง femtosecond laser รุ่น Visumax ในการสแกนไปตามความโค้งของกระจกตา ด้วยความเร็วระดับ 500 กิโลเฮิร์ต โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยรอบ

จุดเด่น คือ ตัวเครื่องมีความแม่นยำสูง ทำให้สามารถลดความคลาดเคลื่อนในการแยกชั้นกระจกตา และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน

เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นอยู่ระหว่าง 100 - 1,000 ( -1.00 ถึง -10.00 ไดออปเตอร์) หรือสายตาเอียงได้ถึง 600 (-6.00 ไดออปเตอร์) วิธีนี้ผู้ที่มีลักษณะตาค่อนข้างเล็กสามารถทำได้

 

3. MicrokeratomeLASIK ผ่าตัดเลสิคแบบใช้ใบมีด


การผ่าตัดเลสิคแบบใช้ใบมีด หรือ Microkeratome Lasik คือ การผ่าตัดโดยใช้ใบมีดอัตโนมัติ ตัดแยกชั้นกระจกตา แล้วจึงยิงแสงเลเซอร์เพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติของสายตา ซึ่งวิธีนี้ หลายๆคนอาจคิดว่ามันน่ากลัว แต่จริงๆแล้ว เครื่องนี้มีความแม่นยำสูงและถูกพัฒนามาหลายสิบปี จึงสามารถมั่นใจในเรื่องของผลลัพธ์และความปลอดภัยได้

จุดเด่น คือ ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย กลับมามองเห็นได้อย่างรวดเร็ว เกิดการระคายเคืองน้อย ราคาไม่สูงมาก

เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นไม่เกิน 1,200 - 1,300 และสายตาเอียงไม่เกิน 500

 

4. การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy)


​การเลสิค PRK (Photorefractive Keratectomy) คือ วิธีการผ่าตัดแก้ไขปัญหาความผิดปกติสายตารุ่นแรกสุด แต่ยังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน วิธีการนี้จะไม่แยกชั้นกระจกตา เพียงแต่จะกำจัดเซลล์ชั้นนอกหรือเยื่อบุผิวบนกระจกตาออก จากนั้นใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) ในการปรับรูปร่างของกระจกตา ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องของเยื่อบุผิวชั้นนอกกระจกตา เนื่องจากสามารถเจริญขึ้นมาใหม่เองได้

จุดเด่น คือ การทำ PRK เป็นวิธีเดียวที่ได้รับการอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการสอบเป็นนักบินสามารถทำได้ โอกาสในการเกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ไม่มีการเย็บแผล

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งหรือกระจกตาบาง ผู้ที่มีค่าสายตาสั้นได้มากถึง 500 และสายตาเอียงได้ถึง 200 และผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง เช่น นักบิน เตรียมทหาร เป็นต้น

 

5. การทำ ICL (Implantable Collamer Lens)


การทำ ICL (Implantable Collamer Lens) คือ การนำเลนส์เสริมชนิดถาวรมาใส่ในดวงตา โดยการที่จักษุแพทย์เปิดแผลกระจกตา และนำเลนส์ที่มีลักษณะบาง พับได้ เข้าไปวางหน้าเลนส์แก้วตา ซึ่งไม่มีการเย็บแผล เพราะบริเวณนั้นสามารถสมานตัวได้เอง

จุดเด่น คือ สามารถแก้ไขปัญหาความผิดปกติสายตาที่มากๆได้ มีภาวะแทรกซ้อนน้อย การใช้สายตาในเวลากลางคืนไม่ก่อให้เกิดแสงกระจาย และสามารถนำเลนส์เสริมออกได้ หากไม่พึงพอใจในผลลัพธ์ที่ได้

เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นไม่เกิน 1,800 และผู้ที่มีสายตาเอียงไม่เกิน 600 และผู้ที่ไม่สามารถทำเลสิกได้ในบางกรณี รวมไปจนถึงผู้ที่มีอาการตาแห้งมาก กระจกตาบาง

 


ข้อดี - ข้อจำกัดของการทำเลสิค

อย่างไรก็ตาม การทำเลสิคนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
 

ข้อดีของการทำเลสิค

 

  • เลสิค สามารถแก้ไขปัญหาความผิดปกติของสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเจนได้อย่างถาวร
  • ใช้เวลาในการผ่าตัด รวมไปจนถึงการพักฟื้นน้อย แผลสามารถหายได้อย่างรวดเร็ว
  • ขณะทำการผ่าตัด มีเพียงแค่การหยอดยาชาที่ตา และไม่มีการเย็บแผล จึงไม่รู้สึกเจ็บในการผ่าตัด
  • หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว สามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล
  • ชีวิตหลังจากทำเลสิค ไม่ต้องพึ่งแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์
  • มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างไม่ต้องกังวล
  • เมื่อความสามารถในการมองเห็นกลับมาชัดเจน ทำให้โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายต่างๆลดลง

 

ข้อจำกัดของการทำเลสิค

 

  • การทำเลสิคข้อเสียหลักๆ คือ ผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้
  • การเข้ารับการทำเลสิค ราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่อนข้างสูง
  • มีเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ทุกคน เช่น บุคคลที่เป็นโรคเกี่ยวข้องกับตา หรือคนที่อยู่ในระยะตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เป็นต้น
  • หลังจากทำเลสิค ตาแห้งอาจเกิดขึ้นได้ในบางราย จำเป็นต้องดูแลตนเองตามที่แพทย์ให้คำแนะนำ

 


ใครที่เหมาะกับการทำเลสิค

ผู้ที่เหมาะสมกับการเลสิค มีดังต่อไปนี้
 

  1. ผู้ที่มีค่าสายตาคงที่ หรือค่าสายตาไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนักในปีที่ผ่านมา
  2. ได้รับการประเมินจากจักษุแพทย์แล้วว่า สุขภาพตาโดยรวมดี
  3. บุคคลที่มีกระจกตาหนาและแข็งแรงเพียงพอ
  4. รับรู้และมีความคาดหวังเกี่ยวกับการทำเลสิค ทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่ตรงกับความเป็นจริง
  5. คนที่ไม่สะดวกในการใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ กิจกรรมที่ทำ หรืออาชีพการงาน

 


 ใครที่ไม่ควรทำเลสิค

ผู้ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการทำเลสิคได้ มีดังต่อไปนี้
 

  1. บุคคลที่ค่าสายตาไม่เสถียร หรือยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่
  2. ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงมาก
  3. ผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง
  4. บุคคลที่กระจกตาบาง หรือได้รับการประเมินแล้วว่าไม่แข็งแรง
  5. บุคคลที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการให้นมบุตร
  6. คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น กระจกตาถลอก โรคต้อหิน โรคต้อกระจก
  7. มีประวัติการติดเชื้อที่ตา
  8. ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี

 


การเตรียมตัวก่อนทำเลสิค


เลสิก

ก่อนเข้ารับการทำเลสิค เราควรเตรียมตนเองให้พร้อมในด้านต่างๆ ทั้งด้านข้อมูลและด้านสภาพร่างกาย เพื่อให้การเข้าสู่กระบวนการรักษาสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น รวมไปจนถึงการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำเลสิค โดยคุณสามารถปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำเลสิคได้ ดังนี้
 

1. หาข้อมูลและเข้ารับการปรึกษากับแพทย์


อันดับแรก ควรหาข้อมูลก่อนว่า มีสถานที่ใดบ้างที่รองรับการเลสิคหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบที่ตรงกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลได้ รวมไปจนถึงเรื่องของคุณภาพ ความเป็นมาตรฐาน ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ ที่จำเป็นต้องใส่ใจในการเลือกสถานที่เข้ารับบริการด้วย

ต่อมา เมื่อเลือกสถานที่เข้ารับบริการได้แล้ว ให้คุณนัดเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการปรึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และตรวจสายตาประเมินอย่างละเอียด รวมไปจนถึงการเลือกรูปแบบการทำเลสิคที่เหมาะสม และวางแผนการรักษา

 

2. เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับการตรวจ


ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรมีการเตรียมตัวเบื้องต้น ดังนี้
 

  • ผู้ที่มีการใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ หากใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ควรมีการถอดออกก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 3 วัน และหากใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ควรมีการถอดออกก่อนอย่างน้อย 7 วัน
  • หากมีการใช้ยาใดๆอยู่เป็นประจำ ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ
  • วันที่มีการตรวจประเมินสายตา ควรมีการเตรียมแว่นกันแดด และพาผู้ดูแลมาด้วย เนื่องจากในวันนั้นจะมีการใช้ยาหยอดขยายม่านตา ซึ่งทำให้ตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง

ขั้นตอนการตรวจประเมิน คือ เริ่มจากจักษุแพทย์จะทำการหยอดยาขยายม่านตา เพื่อตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองเห็น ความดันของลูกตา การตรวจจอประสาทตา การตรวจวัดความโค้งและความหนาของกระจกตา รวมไปจนถึงความผิดปกติอื่นๆที่เกิดขึ้นภายในดวงตา

จากนั้น เมื่อจักษุแพทย์ทำการตรวจอย่างละเอียดแล้ว จะนำข้อมูลการตรวจที่ได้ รวมไปจนถึงข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ เพื่อนำมาประกอบการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และนำมาสรุปแนวทางกับผู้รับบริการเป็นลำดับถัดไป

 

3. การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้เข้ารับบริการควรเตรียมตนเองให้พร้อม ดังนี้
 

  • หากใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรงดก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 3 สัปดาห์
  • งดการใช้น้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมบำรุงต่างๆ ที่ใช้บริเวณรอบดวงตาก่อนวันผ่าตัด
  • งดการทำผม ไม่ว่าจะเป็นการใส่น้ำมันบำรุงผม เจลใส่ผม หรือใช้เครื่องประดับใดๆ
  • งดการดื่มชา หรือ กาแฟ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ควรพาผู้ดูแลมาด้วย เพราะหลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้น ยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในทันที
  • จัดเตรียมค่ารักษาและค่าผ่าตัดให้เพียงพอ
  • ดูแลและสังเกตร่างกายตนเอง หากพบความผิดปกติใดๆ เช่น ตาแดง ไม่สบาย เกิดการเจ็บป่วย ฯลฯ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อทำการปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัด
  • พกแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันดวงตาจากแสงหลังการผ่าตัด

 


ขั้นตอนการทำเลสิค

โดยปกติแล้ว การทำเลสิคมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
 

  1. แพทย์จะใช้เครื่องมือในการยึดไม่ให้เกิดการปิดเปลือกตาขณะผ่าตัด และหยอดยาชาลงบนดวงตาเพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกเจ็บปวด
  2. เมื่อยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มทำการผ่าตัดแยกชั้นกระจกตา ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือการผ่าตัดแบบใช้ใบมีด (Microkeratome Lasik) หรือผ่าตัดแบบใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser)
  3. จากนั้น เมื่อแยกชั้นกระจกตาได้แล้ว แพทย์จะนำเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser)มาใช้ในการปรับความโค้งของกระจกตาตามที่ได้คำนวณไว้
  4. แพทย์นำชั้นกระจกตามาปิดกลับสู่ที่เดิม เป็นอันเสร็จสิ้น

 


การปฏิบัติตัว ดูแลตนเอง หลังจากทำเลสิค


เลสิค ราคา
 

ถึงแม้ว่าจะผ่านการผ่าตัดมาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลตนเองอยู่ ดังนั้น จึงมีข้อควรรู้และควรปฏิบัติมาให้ทุกท่านได้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

 

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด

 

  • เกิดการระคายเคืองตาขึ้น
  • ดวงตามีความไวต่อแสง
  • มีอาการน้ำตาไหล
  • มีภาวะตาแห้ง
  • ตาพร่ามัว ไม่สามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
  • อาจเกิดอาการปวดบริเวณดวงตา

 

วิธีดูแลตนเองสำหรับหลังผ่าตัดทันที

 

  • หากมีอาการปวดตา หรือตาแห้ง ให้ใช้ยาบรรเทาอาการปวด และยาหยอดตาที่แพทย์สั่งให้
  • ต้องสวมที่ครอบตาไว้ โดยเฉพาะตอนเข้านอน เพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตาหรืออุบัติเหตุอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น
  • ควรพักผ่อนสายตาให้ได้มากที่สุด เพื่อการฟื้นฟูของดวงตาเร็วขึ้น
  • พยายามงดกิจกรรมต่างๆที่ไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังประมาณ 1 เดือน
  • ระมัดระวังเรื่องของน้ำหรือฝุ่นละอองเข้าสู่ดวงตา
  • งดการใช้เครื่องสำอาง หรือครีมบำรุงต่างๆ บริเวณรอบดวงตา
  • หากจำเป็นต้องไปในพื้นที่แสงสว่างจ้า ควรใส่แว่นตากันแดด

 

ข้อปฏิบัติทั่วไปหลังผ่าตัดทำเลสิค

 

  • หลังทำเลสิค ควรเข้าพบจักษุแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลลัพธ์และอาการที่เกิดขึ้น
  • ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด หากมีความกังวลว่าอาจเผลอขยี้ตาตอนนอนหลับ ให้ทำการใส่ที่ครอบตาไว้เพื่อป้องกัน
  • ห้ามให้น้ำหรือฝุ่นละอองเข้าตา
  • ควรหยอดยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ควรพักสายตาเป็นระยะ ไม่ควรใช้สายตาหนักจนเกินไป
  • ในบางรายอาจมีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา คุณสามารถใช้น้ำตาเทียมได้
  • งดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อดวงตา เช่น เหงื่อเข้าตา ออกกำลังกายจนกระทบกระเทือนถึงดวงตา
  • เมื่อสังเกตแล้วพบว่า มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและตรวจดูอาการโดยเร็ว

 


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเลสิค

หลังจากการเลสิคผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่า มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไปอาการเหล่านี้จะดีขึ้น ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ มีดังต่อไปนี้
 

  • มีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา
  • เกิดปัญหาเรื่องการมองเห็นตอนกลางคืน โดยเฉพาะเวลาขับรถยนต์
  • มองเห็นแสงจ้ากว่าปกติ หรือเห็นแสงกระจายรอบๆภาพ
  • ดวงตามีความไวต่อแสง
  • เกิดรอยขนาดเล็กที่บริเวณดวงตา
  • มีอาการตาพร่าหรือการมองเห็นยังไม่คงที่

 


เลสิคที่ไหนดี แนะนำวิธีเลือกที่ทำเลสิค

“เลสิครีวิว”เป็นคำที่หลายๆคนให้ความสนใจและมักจะค้นหากันอยู่บ่อยๆ เพราะในปัจจุบัน มีสถานที่หลายแห่งที่รองรับการทำเลสิค จึงทำให้หลายๆคนไม่รู้ว่าควรจะเลือกอย่างไรดี

การเลือกสถานที่ทำเลสิคที่ดี จำเป็นต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้

  1. มีความเป็นมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
  2. สถานที่นั้นจะต้องมีความน่าเชื่อ ทั้งในแง่ของการประสานงาน การดำเนินการต่างๆจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ
  3. มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน โดยเฉพาะเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลรักษาและการผ่าตัด
  4. ทีมแพทย์จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีประสบการณ์ มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง
  5. มีการบริการหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้รับบริการ
  6. ได้รับคุณภาพและการบริการที่ดีเหมาะสมกับราคาที่จ่ายไป

หากคุณยังนึกไม่ออกหรือยังไม่มีตัวเลือกในใจ ขอแนะนำ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ไว้เป็นหนึ่งตัวเลือกดีๆ สำหรับคุณ เพราะที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้การบริการและการดูแลรักษาคุณโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์ อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการรักษา เพื่อให้คุณสะดวก ปลอดภัย มั่นใจได้เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน

 


ค่าใช้จ่ายทำเลสิค ราคาเท่าไหร่

โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายในการทำเลสิคของแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกัน อาจขึ้นอยู่กับรูปแบบ สถานที่ทำเลสิค ซึ่งสามารถประมาณราคาได้ ดังนี้
 

  • ReLEx SMILE ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 86,000 - 100,000 บาท
  • Bladeless FemtoLASIK ราคาประมาณ 60,000 - 120,000 บาท
  • Microkeratome Lasik ราคาอยู่ที่ 38,000 - 50,000 บาท
  • PRK (Photorefractive Keratectomy) ราคาโดยประมาณ 33,000 - 50,000 บาท
  • ICL (Implantable Collamer Lens) ราคาอยู่ที่ประมาณ 150,000 - 200,000 บาท

 

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ ที่ช่วงราคามีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากแต่ละสถานที่มีการคิดค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน คุณจึงต้องศึกษาและดูรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากในราคานี้อาจรวมหรือยังไม่รวมค่าบริการอื่นๆ ของแต่ละโรงพยาบาล

ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เรามีโปรโมชั่นสำหรับทำเลสิค และรายละเอียดการผ่อนชำระต่างๆ ซึ่งหากคุณสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำเลสิคที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เลือกโปรที่ใช่ ตามใจคุณ

 


FAQ การทำเลสิค

 

การทำเลสิคเจ็บไหม

หลายคนสงสัยว่าการทำเลสิคเจ็บไหม? การทำเลสิคนั้นในระหว่างทำการผ่าตัด แพทย์จะมีการหยอดยาชาที่ตา ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัด และที่สำคัญไม่มีการเย็บแผลผ่าตัดหลังผ่า แต่มีเพียงอาการระคายเคืองเล็กน้อยในช่วงแรก ๆ หลังผ่า และสามารถกลับมามองเห็นได้ปกติในวันถัดมา

 

สายตาสั้นเท่าไหร่เลสิคไม่ได้

คำถามที่ว่า “สายตาสั้นเท่าไหร่ เลสิคไม่ได้” โดยปกติแล้ว ไม่ควรมีค่าสายตาสั้นเกิน 1,400 ทั้งนี้การทำเลสิคขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น ความหนาของกระจกตา สุขภาพตาโดยรวม ฯลฯ แนะนำว่า ควรเข้าพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวัดและขอคำปรึกษาว่าสามารถทำได้หรือไม่ และหากทำได้ วิธีไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด

 

สายตาสั้นเท่าไหร่ควรทําเลสิค

เรื่องของ “สายตาสั้นเท่าไหร่ควรทำเลสิค” ในความเป็นจริงไม่มีการกำหนดแน่ชัด หากคุณมีภาวะสายตาสั้น และได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน มีความต้องการการมองเห็นที่ชัดเจน โดยไม่ต้องการพึ่งแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ หรือได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ การทำเลสิคก็ถือเป็นตัวเลือกดีๆที่จะคืนอิสระให้ดวงตาของคุณกลับมาสดใส และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง

 

สายตาสั้นไม่เท่ากัน 2 ข้าง ทำเลสิคได้ไหม

“สายตาสั้นไม่เท่ากันเลสิคได้ไหม?” เป็นคำถามที่ยอดนิยมไม่แพ้คำถามอื่นๆ เนื่องจากหลายๆคนมีภาวะนี้กันค่อนข้างเยอะ คำตอบก็คือ สามารถทำได้ โดยจักษุแพทย์จะทำการประเมิน ตรวจวัดดวงตา และคำนวณค่าสายตาในการทำเลสิคของแต่ละข้าง เพื่อนำมาวางแผนการรักษา และทำการผ่าตัดในลำดับถัดไป

 

ทำเลสิคไปแล้ว สายตาจะกลับมาสั้นอีกได้หรือเปล่า

คำตอบก็คือ “สามารถกลับมาสั้นอีกได้” เนื่องจากการทำเลสิคเป็นการแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมให้หมดไป แต่ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย โรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ การที่ค่าสายตากลับมาสั้นอีก มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม, โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา, โรคทางกายที่ส่งผลต่อการมองเห็น หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต

 

 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​