บทความสุขภาพ

ต้อหิน(Glaucoma) สาเกตุอาการและวิธีรักษา

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

 โรคต้อหิน คือโรคทางตา เกิดจากความดันลูกตาสูง มีหลายชนิด ต้อหินเฉียบพลัน ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมเปิด อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษา ยารักษาต้อหินรักษาหายไหม รักษาต้อหิน หายขาดได้หรือเปล่า

โรคต้อหิน (Glaucoma) คือโรคที่เกิดขึ้นได้กับดวงตาโดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยทอง (Menopause) และวัยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็นโรคต้อหิน เนื่องจากไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอกเลยหากไม่ได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุกปีเพื่อป้องกันและสังเกตุอาการ อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้


สารบัญบทความ
 

 


 

สาเหตุต้อหิน

ต้อหิน เกิดจากเซลล์เส้นใยประสาทในลูกตาลดจำนวนลง จนทำให้ขั้วประสาทตา (Optic Disc) เสื่อมสภาพลง 

อาการขั้วประสาทตาเสื่อมสาเหตุของโรคต้อหิน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเองจากการที่อวัยวะต่างๆเริ่มเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งที่พบคือความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ (สูงกว่า 22 มิลลิเมตรปรอท) เมื่อความดันสูง ความดันจะไปกดทับจอประสาทตาทำให้เส้นใยประสาทได้รับผลกระทบและเสื่อมสภาพลง

ความดันลูกตาสูงเกิดจาก น้ำหล่อเลี้ยงลูกตา(Aqueous Humor)ที่ไหลออกจากดวงตาผ่านทางช่องระหว่างเลนส์ตาและม่านตามาที่ชั้นหลังกระจกตา แล้วจึงระบายน้ำออกที่ช่องระบายน้ำระหว่างรอยต่อของกระจกตาดำและตาขาว หากช่องระบายน้ำในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งถูกปิด น้ำจะขังอยู่ในลูกตาเมื่อน้ำในตามากเกินไปจนความดันลูกตาสูงขึ้น เหมือนลูกโป่งที่ถูกเติมน้ำไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งความดันนี้จะไปดันเนื้อเยื่อจนกดทับเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย ขั้วประสาทตาเสื่อม เกิดเป็นโรคต้อหินนั้นเอง โดยคนไทยเราจะเรียกรวมโรคเกี่ยวกับดวงตาว่าเป็นโรคต้อ โดยโรคต้อนี้มีด้วยกัน 4 โรค ได้แก่ ต้อหิน ต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจก แต่ละโรคจะมีสาเหตุของโรค อาการ วิธีการรักษา และความรุนแรงที่แตกต่างกันไป 

 


 

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน

  • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยเป็นโรคที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่องที่อาจสร้างผลเสียกับเส้นเลือด เช่น โรคลูปัสหรือ SLE เพราะอาจจะทำให้เลือดที่ไหลเวียนในช่วงขั้วประสาททำงานผิดปกติจนทำให้เซลล์ในบริเวณนั้นเสียหายจนเสื่อมสภาพได้
  • ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงกว่าค่าปกติ
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหิน
  • ผู้ที่ใช้ยาหยอดตาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์
  • ผู้ที่เป็นโรค หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาทั้งโดยกำเนิดและเกิดขึ้นภายหลัง เช่น ลูกตาอักเสบ มีปานแดงหรือปานดำผ่านตวงตา เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือเคยเข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับดวงตา
  • ผู้ที่ดวงตามีลักษณะผิดปกติบางอย่างจนเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน เช่น กระจกตาบาง สายตาสั้นหรือยาวมากเกินไป

 


 

ประเภทของต้อหิน

1. ต้อหินปฐมภูมิ (Primary Glaucoma)

ต้อหินปฐมภูมิเกิดขึ้นเองในร่างกาย มีทั้งชนิดที่ขั้วประสาทตาเสื่อมเองจึงตรวจไม่พบความดันในลูกตาสูง และชนิดที่เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาอุดตัน ทำให้ความดันลูกตาสูงจนขั้วประสาทตาเสื่อม

โดยสามารถแบ่งออกได้ 2 เภทตามลักษณะการอุดตันของทางระบายน้ำ ได้แก่ ต้อหินมุมเปิด และต้อหินมุมปิด

  • ต้อหินมุมเปิด (Primary Open-angle Glaucoma) 

ต้อหินมุมเปิด เกิดจากการอุดตันบริเวณรูระบายน้ำออกนอกดวงตาที่อยู่ระหว่างกระจกตาดำและตาขาว รูระบายน้ำดังกล่าว เรียกว่า Trabecular meshwork มีลักษณะเป็นตัวกรอง เมื่อมีเนื้อเยื่อ หรือวัตถุขนาดเล็กไปอุดตัน จะทำให้น้ำไหลออกจากลูกตาไม่ได้จนความดันลูกตาสูงขึ้น เกิดเป็นต้อหินโดยที่ม่านตาไม่ได้ยกตัวขึ้นจนเกิดเป็นมุมปิด สามารถรักษาการอุดตันได้ด้วยการหยอดตา แม้จะไม่ได้ทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติ แต่จะไม่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมมากขึ้น การมองเห็นจะไม่แคบลงไป
 

  • ต้อหินมุมปิด (Primary Angle-closure Glaucoma)

ต้อหินมุมปิด เกิดจากม่านตาถูกดันให้ยกตัวขึ้นจนเป็นมุมปิด กั้นไม่ให้น้ำระบายออกทาง Trabecular meshwork จนทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเกิดเป็นโรคต้อหินในที่สุด โดยต้อหินมุมปิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆ ตามความฉุกเฉินของอาการ ได้แก่
 

    • ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน เป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นอันตราย 
    • ต้อหินมุมปิดเรื้อรัง เป็นต้อหินมุมปิดที่อาการของโรคจะค่อยๆเกิดอย่างช้าๆ อาจจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหัวหรือปวดตาเล็กน้อยเป็นๆหายๆ ซึ่งสามารถวินิจฉันได้ยากมากหากไม่ได้ตรวจดวงตาโดยจักษุแพทย์
 

2. ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma) 

ต้อหินทุติยภูมิ เป็นต้อหินที่เกิดจากการกระตุ้นบางอย่าง ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อม ความดันลูกตาสูง หรือเกิดปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดต้อหิน 

ตัวอย่างของสิ่งกระตุ้น เช่น เคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา เศษหิน หรือวัตถุอื่นๆเข้าตา รุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด ตาอักเสบ มีเนื้องอกในดวงตา เป็นต้อกระจกในขั้นรุนแรง เบาหวานขึ้นตา หรือเคยซื้อยาหยอดตามาใช้เองติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

ต้อหินทุติยภูมิจะถูกเรียกว่าเป็นต้อหินชนิดแทรกซ้อน เนื่องจากมักเกิดตามมาจากโรงทางดวงตาอื่นๆ หรือเกิดหลังการผ่าตัดนั่นเอง
 

3. ต้อหินโดยกำเนิด (Congenital Glaucoma) 

สามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยจะเกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์เป็นโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรมเป็นหลัก โดยยีนที่ทำให้เกิดโรคจะเป็นยีนด้อย ลูกจะเกิดโรคนี้ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะ แต่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียง 25% เท่านั้น

ทั้งนี้อาการของโรคต้อหินโดยกำเนิดสามารถสังเกตได้จากทั้งร่างกายและพฤติกรรมของทารกหรือเด็กเล็ก ดังนี้
 

  • ตาดำขุ่น หรือมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
  • บางรายมีความบกพร่องทางร่างกายร่วมด้วย
  • กลัวแสง ไม่สู้แสง ดวงตากระตุก หรือมีน้ำตาคลอตลอดเวลา

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ หากทิ้งไว้อาจทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

 


 

อาการของโรคต้อหิน

โรคต้อหิน อาการจะสังเกตค่อนข้างยากหากไม่ใช่โรคต้อหินเฉียบพลัน อาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นเรื่อยๆ จากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน ผู้ป่วยบางรายอาจจะปวดหัว หรือปวดตาร่วมด้วย เป็นๆหายๆในระยะเวลานาน หรือบางรายก็ไม่เกิดอาการอื่นขึ้นเลยทำให้ผู้ป่วยอาจคิดว่าเป็นแค่โรคสายตายาวหรือแค่สายตามัว จอประสาทตาเสื่อมก็เป็นได้

อาการของต้อหินอาจจะกินเวลาถึง 10 ปีกว่าจะสูญเสียการมองเห็นไป ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันสังเกตว่าสายตากำลังมีปัญหา ดังนั้นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรเข้าตรวจสายตาทุกปี เพื่อป้องกันการลุกลาม

วิธีสังเกตอาการของต้อหินด้วยตนเองจะเป็นการตรวจลานสายตาคร่าวๆ โดยการใช้มือปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อตรวจดูการมองเห็นทีละข้าง จะเช็คด้วยการให้มองรอบๆ บน ล่าง ซ้าย ขวา สังเกตว่าขอบเขตในการมองเห็นน้อยลง หรือน้อยกว่าคนทั่วไปหรือไม่ หากเกิดอาการดังกล่าวแสดงว่ามีโอกาสที่จะเป็นต้อหิน ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง

 

อาการของโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน 

อาการของโรคต้อหินเฉียบพลันจะต่างจากต้อหินชนิดอื่นๆ เนื่องจากความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่ายกายได้รับผลกระทบอย่างฉับพลัน ร่ายกายจึงแสดงอาการของโรคอย่างชัดเจน โดยอาการของโรคต้อหินเฉียบพลันมีดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ ปวดตาอย่างรุนแรงจากความดันลูกตาสูง
  • การมองเห็นแย่ลงอย่างชัดเจน มองไม่ชัด เห็นภาพมัว เมื่อมองดวงไฟจะเห็นเป็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ
  • ตาแดงขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  • อาจมีอาการกระจกตาบวม หรือมีสีขุ่นร่วมด้วย

หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์โดยด่วย เพราะอาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เร็วกว่าต้อหินแบบอื่นๆ

 


 

การตรวจวินิจฉัยโรค

โรคต้อหิน คือโรคทางตา เกิดจากความดันลูกตาสูง ต้อหินเฉียบพลัน ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมเปิด วินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะตรวจวัดลานสายตา เพื่อประเมินการทำงานของเส้นประสาทและจอประสาทตาโดยคร่าว และจะตรวจวัดดวงตาในด้านอื่นๆโดยละเอียดหากสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคต้อหิน อย่างการวัดความดันลูกตา ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญปัจจัยเดียวที่สามารถแก้ไขได้

รวมทั้งตรวจดูขั้วประสาท จอตา ดูการกระจายเส้นใยประสาทตา เพื่อสังเกตอาการ และตรวจมุมตาเพื่อหาทางแก้ไขโรคต่อไป

ทั้งนี้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นต้อหินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เนื่องจากต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน

 


 

วิธีการรักษาโรคต้อหิน

การรักษาโรคต้อหินโดยการลดความดันลูกตา สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่
 

1. การใช้ยารักษาต้อหิน

ยารักษาต้อหินจะอยู่ในรูปของยาหยอดซึ่งช่วยลดการสร้างน้ำในลูกตา หรือช่วยให้น้ำในลูกตาระบายออกได้ดีขึ้น เพื่อลดความดันในลูกตา

ผู้ป่วยที่รักษาโรคต้อหินโดยการใช้ยาหยอดตาจำเป็นต้องมีวินัยในการใช้ยามาก เพราะต้องใช้ต่อเนื่องกันในระยะหนึ่ง แพทย์จะนัดติดตามผลเรื่อยๆ เพื่อดูอาการ และดูว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการข้างเคียงหรือไม่ หากผลการรักษาไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยการใช้เลเซอร์ร่วมด้วย
 

2. การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์

การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์นั้น มีผลในการควบคุมความดันลูกตา และช่วยให้ดวงตาระบายน้ำออกได้ดีขึ้น แพทย์จะให้ใช้การรักษาด้วยเลเซอร์ก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยการหยอดยาอย่างเดียวไม่ได้ผล 

แต่หลังทำเลเซอร์แล้วผู้ป่วยยังคงต้องหยอดตาต่อไป เนื่องจากในผู้ป่วยบางราย เลเซอร์จะไปกระตุ้นให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง แต่ผลการรักษาที่ผิดพลาดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการหยอดตา แม้เหตุการณ์แบบนี้จะพบได้น้อยมากแต่แพทย์จะให้หยอดยาเพื่อป้องกัน และช่วยส่งเสริมการรักษาด้วยเลเซอร์ให้เห็นผลมากยิ่งขึ้น

หลังทำเลเซอร์รักษาโรคต้อหิน ผลการรักษาสามารถอยู่ได้นานตั้งแต่ 1 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล สามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง หลังทำเลเซอร์ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเคืองตา ตาแห้งบ้าง แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

หากการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้าย
 

3. การผ่าตัดรักษาต้อหิน

การผ่าตัดรักษาต้อหินสามารถทำได้สองวิธี วิธีแรกเป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางระบายน้ำ ให้น้ำระบายออกจากลูกตาได้ดีขึ้น หากหลังผ่าตัดแล้วน้ำยังคงระบายออกได้ไม่ดี ความดันในลูกตาไม่ลดลง แพทย์จะใช้การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งเป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำโดยการสอดท่อเล็กๆเพื่อระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาลดลง เป็นการควบคุมความดันในลูกตานั่นเอง

 


 

แนวทางการป้องกันต้อหิน

โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่สามารถป้องกันได้ แม้เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม แต่การลดความเสี่ยงอื่นๆย่อมเป็นผลดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคต้อหินให้ได้มากที่สุด โดยวิธีการป้องกันโรคต้อหินมีดังนี้
 

  1. สังเกตร่างกายตนเองอยู่เสมอ ว่ามีส่วนใดหรืออาการใดที่บ่งบอกถึงความผิดปกติหรือไม่
  2. เข้าตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจตากับจักษุแพทย์ปีละครั้ง โดยไม่ต้องรอให้มีอาการของโรคก่อน เนื่องจากต้อหินในระยะแรกๆจะแทบไม่มีอาการอะไรเลย หากตรวจพบก่อนเสียการมองเห็นจะเป็นผลดีมาก
  3. ควบคุมโรคอื่นที่สามารถทำให้เกิดต้อหินได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โดยการปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์เจ้าของไข้ที่ดูแลอยู่อย่างเคร่งครัด
  4. หากอยู่ในที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกับดวงตา ให้สวมเครื่องป้องกันทุกครั้ง
  5. ห้ามซื้อยาหยอดตามาหยอดเองเป็นเวลานานๆเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา เนื่องจากอาจก่อความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต้อหินได้

 


 

รักษาโรคต้อหินที่ไหนดี

โรคต้อหินเป็นโรคที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ทั้งในการวินิจฉัยและการรักษา อีกทั้งโรคต้อหินยังเป็นโรคที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้หากไม่รักษา และต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานด้วย ผู้ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคต้อหินจึงต้องเลือกโรงพยาบาลที่ไปแล้วได้รับความมั่นใจว่ามีโอกาสที่อาการจะดีขึ้น และสบายใจที่จะรับการรักษาในระยะยาว

ที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลคนไข้เหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา ทำให้การพบแพทย์เพื่อตรวจตาและรักษาโรคเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังมีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายท่าน ให้ผู้เข้ารับการรักษาได้รับความมั่นใจ และความสบายใจทุกครั้งที่มาพบแพทย์

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 
 

 

เอกสารอ้างอิง 

 

Mayo Clinic. (2020, October 23). Glaucoma. Mayo Clinic.
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/glaucoma/symptoms-causes/syc-20372839

National Eye Institute. (2021, July 23). Laser Treatment for Glaucoma. NEI.
https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/glaucoma/treatment

Glaucoma Associates of Texas. Glaucoma Filtration Surgery (Trabeculectomy). GAT.
https://www.glaucomaassociates.com/incisional-glaucoma-surgery/glaucoma-filtration-surgery-trabeculectomy/

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​