บทความสุขภาพ

กระจกตาบาง เป็นอย่างไร สามารถทำเลสิคได้หรือไม่?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

วิธีแก้ไขปัญหาค่าสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น สายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิด หรือสายตาเอียง สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นสายตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ แต่วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น นอกจากการใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์แล้ว ยังมีอีกวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาได้ ที่จะช่วยทำให้บุคลิกภาพดูดีขึ้น และมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น นั้นคือ “การทำเลสิค (LASIK)”

สำหรับผู้ที่รู้ว่าตนเองมีภาวะกระจกตาบาง และมีปัญหาค่าสายตาผิดปกติ ต้องการรักษาด้วยการทำเลสิค บทความนี้จะช่วยให้เข้าใจกับ สาเหตุที่ทำให้กระจกตาบาง วิธีการรักษาอาการกระจกตาบาง และตอบคำถามที่ถามว่า “กระจกตาบาง สามารถทำเลสิคได้หรือไม่” หาคำตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับกระจกตาบางได้ที่นี่


สารบัญบทความ
 


ทำความรู้จัก ‘กระจกตา’

กระจกตา (Cornea) คือ ส่วนที่อยู่หน้าสุดของดวงตา มีลักษณะโค้งและโปร่งใสไม่มีสี คลุมอยู่ด้านหน้าสุดบริเวณตาดำ ทำหน้าที่ช่วยในการหักเหแสง และช่วยทำให้มองเห็นได้ชัดเจน ถือเป็นด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรค โดยปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาอยู่ที่ 551 ไมครอน นอกจากนี้ความหนาของกระจกตาสามารถลดลงตามอายุได้ ซึ่งกระจกตาสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 ชั้น ได้แก่

 

1.Epithelium เป็นชั้นที่อยู่นอกสุด ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้สารเคมี น้ำ และเชื้อโรคเข้าตา หากเกิดบาดแผลมักจะเกิดที่บริเวณชั้นนี้ ซึ่งแผลสามารถหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์ 

2.Bowman’s Layer ชั้นนี้จะช่วยรักษารูปร่างของกระจกตา

3.Stroma เป็นชั้นที่มีความหนาและแข็งแรงมากที่สุด หากชั้นนี้เกิดบาดแผลจะส่งผลให้ดวงตาเป็นสีขาวขุ่นไม่ใสเหมือนคนปกติ

4.Descemet's membrane เป็นชั้นที่มีความยืดหยุ่นสูง เป็นชั้นที่มี Endothelial cells 

5.Endothelium  เป็นชั้นที่อยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่ดูดน้ำออกจากกระจกตาเพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาบวมน้ำและช่วยให้กระจกตาใสอยู่ตลอด

ทั้งนี้ ปกติตามธรรมชาติของกระจกตา มักมีความโค้งในแนวตั้งและแนวนอนไม่เท่ากัน หากความโค้งของกระจกตาในแนวตั้งและแนวนอนต่างกันมาก จะทำให้เกิดค่าสายตาผิดปกติชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่าสายตาเอียง (Astigmatism) นั้นเอง


ปัญหากระจกตาบาง

โดยธรรมชาติแล้วความหนาของกระจกตาทั่วไปจะอยู่ที่ 551 - 565 ไมครอน หรือ ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หากกระจกตามีความหนาน้อยกว่า 500 ไมครอน ถือว่ากระจกตาบาง ซึ่งการที่กระจกตาบางจะส่งผลให้มีอาการดังต่อไปนี้ 
 

  • ตาไม่สามารถสู้แสงได้ 
  • มีอาการตามัว 
  • ค่าสายตามักเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ หรือค่าสายตาแย่ลง ซึ่งส่งผลให้เห็นภาพบิดเบี้ยว ใส่แว่นตาแล้วแต่ยังเห็นภาพไม่ชัด 
  • ค่าสายตาเอียงมากผิดปกติ

นอกจากนี้ หากกระจกตาบางมากจนบวมน้ำและแตก จะทำให้เกิดเป็นแผลเป็นที่กระจกตา ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง


กระจกตาบาง เกิดจากสาเหตุใด

บางคนที่ต้องการแก้ไขค่าสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลสิค แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีกระจกตาบางมาก ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้กระจกตาบางมักมาจาก “โรคกระจกตาโป่งพอง” หรือ ทางแพทย์นิยมเรียกว่า Keratoconus 

โรคกระจกตาโป่งพอง คือ ภาวะผิดปกติของกระจกตาทำให้ความดันภายในตา ดันกระจกตาออกมา ทำให้กระจกตาบางส่วนมีการนูนตัวขึ้นมา มีลักษณะเป็นทรงกรวย (ยอดแหลม) หากกระจกตานูนขึ้นมามีลักษณะเป็นทรงกลมเรียกว่า Keratoglobus หรือหากกระจกตานูนเฉพาะบริเวณขอบตาดำ เรียกว่า Pellucid Marginal Degeneration (PMD) 

สาเหตุการเกิดโรคกระจกตาโป่งพอง ที่เป็นต้นเหตุทำให้กระจกตาบาง มีหลายสาเหตุ ดังนี้ 
 

  • พันธุกรรม

หากภายในครอบครัว ของคุณมีคนเป็นโรคกระจกตาโป่งพอง ทำให้คุณมีโอกาสเป็นเช่นเดียวกัน แนะนำให้ตรวจหาโรคตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
 

  • อายุ

โรคกระจกตาโป่งพอง มักจะแสดงอาการตั้งแต่วัยรุ่น ไปจนถึงอายุ 30 ปี และยังสามารถเกิดกับคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีได้ แต่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
 

  • โรคบางชนิด

ผู้ที่เป็นโรคบางโรค จะมีภาวะกระจกตาโก่งมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ดาวน์ซินโดรม, โรคจอประสาทตามีสารสี, Osteogenesis Imperfecta, Ehlers Danlos syndrome
 

  • การขยี้ตา

การที่ขยี้ตาบ่อยๆ เป็นระยะเวลานานๆ จะไปกระตุ้นให้โรคกระจกตาโป่งพอง มีอาการแย่ลง
 

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่เข้าใจผิด เรื่อง การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้กระจกตาบางลง ซึ่ง “ไม่เป็นความจริง” การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ทำให้กระจกตาบางลง แต่การใส่คอนแทคเลนส์อาจจะทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้ ดังนั้นการเลิกใส่คอนแทคเลนส์จะช่วยได้แค่ทำให้อาการตาแห้งดีขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความหนาของกระจกตา


จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีกระจกตาบาง

ส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติของกระจกตา หรือที่เรียกว่า กระจกตาบาง จากการตรวจประเมินสภาพตาเพื่อทำเลสิก ซึ่งมาจากขั้นตอนการวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test) ซึ่งแพทย์จะนำเครื่องมือที่มีชื่อว่า Keratometer ส่องแสงเข้าไปในลูกตา เพื่อตรวจวัดรูปร่างและความโค้งของกระจกตาที่แน่นอน รวมไปถึงการตรวจสอบค่าสายตาเอียงผ่านแสงสะท้อนที่ตกกระทบลงบนกระจกตา 

ทั้งนี้การที่กระจกตามีค่าความโค้งผิดปกติ ส่งผลกับความหนาของกระจกตาทำให้กระจกตาบาง นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตอาการกระจกตาบางได้ด้วยตนเอง ได้จากอาการเหล่านี้ 
 

ทั้งนี้หากต้องการทราบว่ากระจกตาบางจริงหรือไม่ ควตรวจสายตากับจักษุแพทย์เพื่อความถูกต้อง  และหาวิธีรักษา กระจกตาบางได้ทันเวลา การสังเกตอาการด้วยตนเองไม่สามารถตอบได้ว่าคุณเป็นภาวะกระจกตาบางจริง การสังเกตอาการเป็นเพียงการสันนิษฐานขั้นต้นเพียงเท่านั้น



กระจกตาบาง ทำเลสิคได้ไหม

สำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง “สามารถทำเลสิคได้” เพียงแต่สามารถทำได้แค่ 2 แบบเท่านั้น คือ PRK (Photorefractive Keratectomy) หรือ การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL เนื่องจากการทำ PRK จะไม่แยกชั้นกระจกตาออก และ การทำ ICL เป็นการนำเลนส์เสริมมาใส่ในดวงตา จึงเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง 

ผู้ที่มีภาวะกระจกตาบางจะไม่สามารถทำเลสิกแบบอื่นได้ ได้แก่ ReLEx Smile, Femto Lasik และ Microkeratome Lasik เนื่องจากการทำเลสิกแบบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการผ่าตัดที่ทำให้กระจกตาบางลง ผู้ที่มีปัญหากระจกตาบางอยู่แล้วอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระจกตาย้วยหลังทำเลสิก (Post Lasik Corneal Ectasia) หรือกระจกตาขุ่นได้ 

ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะกระจกตาบาง จำเป็นต้องผ่านการตรวจวัดและตรวจวิเคราะห์สภาพตาอย่างละเอียด โดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้จักษุแพทย์ประเมิน และแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นประโยคที่บอกว่า กระจกตาบาง ทำเลสิคไม่ได้  ไม่เป็นความจริง เนื่องจากกระจกตาบาง สามารถรักษาได้ด้วย PRK และ การผ่าตัดเลนส์เสริม ICL



ทางเลือกรักษาค่าสายตาสำหรับผู้มีกระจกตาบาง

สำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง และต้องการแก้ไขปัญหาค่าสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น สายตาสั้น หรือสายตาเอียง สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทำเลสิค 2 แบบ ได้แก่ 
 

1. การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy)


PRK Lasik เป็นวิธีการรักษาสายตาสั้น และสายตาเอียงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาค่าสายตาผิดปกติ การทำ PRK เป็นการแก้ไขกระจกตาชั้นบน โดยใช้สารละลาย ละลายเยื่อหุ้มที่กระจกตาด้านบนออก แล้วใช้เลเซอร์ปรับพื้นผิวกระจกตาให้เข้ากับค่าสายตาที่คำนวณไว้ หลังจากการผ่าตัดเสร็จแล้วจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ไว้ประมาณ 5 - 7 วัน เพื่อให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อหุ้มครอบกระจกตาเหมือนเดิม 

ข้อดีของการทำ PRK 

การทำ PRK เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง อาการตาแห้ง และผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นได้มากถึง 500 และสายตาเอียงได้ถึง 300 แต่การทำ PRK นั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่าการทำเลสิคแบบอื่นๆ และมีโอกาสเกิดความระคายเคืองมากกว่าการทำ ICL
 

2. การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL


การทำ ICL (Implantable Collamer Lens) หรือ การผ่าตัดเลนส์เสริม เป็นการนำเลนส์เสริมชนิดถาวรมาใส่ในดวงตา โดยจักษุแพทย์จะเปิดแผลกระจกตา และนำเลนส์ที่มีลักษณะบาง พับได้ เข้าไปวางบริเวณหลังม่านตาและหน้าเลนส์แก้วตา เพื่อให้เลนส์เสริมทำงานร่วมกับเลนส์ธรรมชาติ เลนส์เสริมผลิตจากคอลลาเมอร์ (Collamer) ที่เป็นส่วนประกอบของคอลลาเจน (Collagen) และ โคพอลิเมอร์ (Copolymer) ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับแก้วตาของมนุษย์ ซึ่งจะมีลักษณะใส บาง และยืดหยุ่นได้ดี 

ซึ่งวิธี ICL จะไม่มีการเย็บแผล เนื่องจากบริเวณนั้นสามารถสมานได้ด้วยตัวเอง และจักษุแพทย์สามารถถอดเลนส์นี้ออกได้ โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของกระจกตา ไม่ทำให้กระจกตาบางลง 

ข้อดีของการทำ ICL

การทำ ICL เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง และผู้ที่มีปัญหาค่าสายตาผิดปกติ สายตาสั้นไม่เกิน 1,800  และ สายตาเอียงไม่เกิน 600 แต่การทำ ICL อาจจะทำให้เกิดความดันลูกตาสูงขึ้นชั่วคราว ซึ่งอาจจะเกิดหลังจากผ่าตัดวันแรก โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาลดความดันลูกยาตามความเหมาะสม และการผ่าตัดเลนส์เสริม ICL มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าการทำ PRK


ข้อสรุป

ภาวะกระจกตาบาง เกิดจาก โรคกระจกตาโป่งพอง ภาวะผิดปกติของกระจกตาทำให้ความดันภายในตาดันกระจกตาออกมา ทำให้กระจกตาบางส่วนมีการนูนตัวขึ้นมา ส่งผลให้กระจกตาบางลง และยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้กระจกตาบางลง ได้แก่ พันธุกรรม, โรคบางชนิด และการขยี้ตาแรงๆ เป็นเวลานาน ก็ส่งผลต่อความหนาของกระจกตาเช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง และค่าสายตาผิดปกติ สามารถทำเลสิคเพื่อแก้ไขปัญหาได้ โดยทำวิธี PRK และ การผ่าตัดเลนส์เสริม ICL หากผู้ที่มีสายตาสั้นเกิน 500 หรือ สายตาเอียงเกิน 200 จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเลนส์เสริม ICL ทั้งนี้โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีทีมจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญรองรับการทำเลสิคเพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตาผิดปกติทุกรูปแบบ 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางด้านสายตาสามารถติดต่อสอบถามกับทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 



แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​