บทความสุขภาพ

ใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว ปวดตา เกิดจากสาเหตุใด แก้อย่างไรได้บ้าง?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาจากเมื่อก่อนมากขึ้น ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และแทปเล็ต เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะช่วงอายุไหน หรือเพศใดก็ตาม 

ซึ่งการจ้องหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานประจำทุกวัน มีผลต่อค่าสายตา ทำให้ค่าสายตาผิดปกติสูง นอกจากการใส่แว่นเพราะค่าสายตาที่ผิดปกติ (สายตาสั้น หรือ สายตายาว) แล้ว ปัจจุบันยังพบว่าคนใส่แว่นตาที่มีเลนส์พิเศษ ช่วยกรองแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้นด้วย 

ปัญหาที่ตามมาจากการใส่แว่น คือ ใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว  ใส่แว่นแล้วเวียนหัว หรือใส่แว่นแล้วมึนหัว บทความนี้จะอธิบายสาเหตุว่าทำไม ใส่แว่นสายแล้วปวดหัว พร้อมทั้งแนะนำวิธีแก้ไข ทำอย่างไรเมื่อใส่แว่นตาแล้วไม่ปวดหัว หาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่นี่



สารบัญบทความ
 



ปัญหาหนักใจ ใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว

อาการปวดหัวจากการใส่แว่นสายตาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน มีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นให้รู้สึกปวดหัวเมื่อใส่แว่น สาเหตุหลักของอาการใส่แว่นแล้วปวดหัว มักมาจากการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา อาการปวดหัวนอกจากจะทำให้รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายแล้ว ยังทำลายสมาธิในระหว่างที่กำลังทำกิจกรรมอีกด้วย 

นอกจากนี้หากกล้ามเนื้อที่บริเวณดวงตาเมื่อยล้ามาก สามารถกระตุ้นให้ปวดหัวไมเกรน เป็นอาการปวดหัวที่รุนแรงกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุการใส่แว่นแล้วปวดหัวไมเกรน

แม้ว่าอาการปวดหัวเมื่อใส่แว่นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่กลับส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายๆคน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก หากคุณจำเป็นต้องใส่แว่นตาตลอดทั้งวัน แต่เมื่อใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัวทุกครั้ง


อาการใส่แว่นแล้วปวดหัว

เชื่อว่าคงมีหลายคนเลยทีเดียว ที่ใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว นอกจากอาการปวดหัว มึนหัวแล้ว การใส่แว่นสายตาที่เพิ่งตัดใหม่ หรือค่าสายตาไม่ตรงกับค่าสายตาจริงๆ  อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ 
 

  • รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้
  • อาการปวดตา
  • ปวดไมเกรน
  • เวลาเดินหรือมองที่พื้น แล้วเหมือนพื้นสูงต่ำไม่เท่ากัน 

อาการเหล่านี้ สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงอันตรายแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ สาเหตุของการใส่แว่นแล้วปวดหัว ไม่ได้มีแค่เพียงค่าสายตาไม่ตรง หรือการตัดแว่นมาใหม่เพียงเท่านั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้รู้สึกว่าใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัวได้อีก



ใส่แว่นแล้วปวดหัว เกิดจากสาเหตุใด

1. เลนส์ของแว่นไม่ตรงกับค่าสายตา


  • ไม่ได้วัดค่าสายตาก่อนตัดแว่น

บางคนอาจจะซื้อแว่นสายตาสำเร็จรูปที่ตามห้างสรรพสินค้า หรือตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำนัก การซื้อแว่นตาสำเร็จรูปไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรวัดค่าสายตาให้รายละเอียดก่อน เพราะส่วนใหญ่ค่าสายตาทั้ง 2 ข้าง ของคนเรามักจะมีค่าไม่เท่ากัน และบางคนยังมีค่าสายตาเอียงด้วย

 หากคุณมีค่าสายตา 2 ข้าง ไม่เท่ากัน การซื้อแว่นสายตาสำเร็จเป็นวิธีที่ไม่แนะนำสักเท่าไหร่ เนื่องจากแว่นสายตาที่มีค่าสายตาไม่ตรงกับค่าสายตาจริง ทำให้มีโอกาสใส่แว่นสายตาแล้วรู้สึกปวดหัว แต่ถ้าคุณมีค่าสายตาที่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง และไม่ได้มีปัญหาเรื่องค่าสายตาเอียง สามารถซื้อแว่นตาสำเร็จรูปได้

  • การวัดค่าสายตาคลาดเคลื่อน

ในปัจจุบันร้านตัดแว่นส่วนใหญ่ มักใช้คอมพิวเตอร์วัดค่าสายตา จากนั้นช่างจะนำค่าที่ได้มาให้ลองสวมและปรับค่าให้รู้สึกสบายตาและชัดมากที่สุดเมื่อสวมใส่ ซึ่งการวัดค่าสายตาโดยไม่มีจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญควบคุม มีโอกาสที่จะเกิดค่าสายตาคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากการวัดค่าสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องอาศัยแสงที่พอดี 

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้การวัดค่าสายตาคลาดเคลื่อน เช่น ภาวะตาแห้งทำให้ผิวกระจกตาไม่เรียบ การเพ่งขณะวัดค่าสายตาที่สามารถพบได้มากในเด็ก หรือการถอดคอนแทคเลนส์ก่อนวัดไม่นานพอ  ทำให้กระจกตาที่ถูกคอนแทคเลนส์กดยังไม่คืนรูปร่างตามปกติ เป็นต้น
 

2. ปัญหาจากคุณภาพของแว่นตา


 

  • เซนเตอร์ของเลนส์ไม่ตรง

การประกอบแว่นที่เกิดความผิดพลาดทำให้เซนเตอร์ของเลนส์ (Optical center) ไม่ตรง หรือคลาดเคลื่อน เมื่อเซนเตอร์ของเลนส์ไม่ตรง ส่งผลให้เมื่อใส่แว่นแล้วปวดหัว เนื่องจากกล้ามเนื้อตาของแต่ละข้างขาดสมดุลในการทำงาน ทำให้เกิดความอ่อนล้า ส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณกระบอกตาและปวดหัวในที่สุด 

การประกอบแว่นที่ดีควรวางตำแหน่งศูนย์กลางเลนส์ ให้ตรงกับตำแหน่งรูม่านตาของตาแต่ละข้าง เพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายตามากที่สุด และลดโอกาสใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว
 

  • ชนิดของเลนส์ไม่เหมาะสม

การเลือกเลนส์แว่นตาสำคัญมาก เนื่องจากเลนส์บางชนิดมีการเคลือบสารป้องกันทำให้สีที่มองเห็นผิดเพี้ยนไป สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสี หากใส่เลนส์ผิด เลนส์บางชนิดทำให้การมองภาพเป็นสีอมเหลืองนวลๆ และผู้ที่ใส่เลนส์ไม่เหมาะสมกับสายตาสามารถทำให้รู้สึกใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว 

เลนส์แว่นตาสามารถ แบ่งได้ 8 ชนิด ดังนี้
 

1.เลนส์ชั้นเดียว (Single Vision) เป็นเลนส์มาตรฐานที่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอี้ยง เหมาะกับการใช้อ่านหนังสือ หรือคนที่ใส่แว่นตาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น 

2.เลนส์สองชั้น (Bifocal Lens) เป็นเลนส์ที่มีค่าสายตาสองแบบในเลนส์เดียว เหมาะกับคนอายุมาก ที่มีทั้งค่าสายตายาวและค่าสายตาสั้น 

3.เลนส์มัลติโค้ต (Multi - coat) เลนส์พิเศษที่เคลือบสารกันรอยขีดข่วน เหมาะกับคนที่ใส่แว่นตลอดเวลา 

4.เลนส์กรองแสงสีฟ้า (Blue Light Block) เลนส์ชนิดนี้ช่วยกันแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ซึ่งแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถทำให้เกิดโรคต้อได้ แต่เลนส์นี้ไม่เหมาะกับคนงานที่เกี่ยวกับสี เนื่องจากเลนส์มีสีอมเหลือง 

5.เลนส์ออโต้ (Auto Lens) เลนส์ชนิดนี้สามารถปรับสีได้ตามความเข้มข้นของแสง เมื่ออยู่ในร่มจะเป็นสีเลนส์ปกติ แต่ถ้าอยู่กลางแสงแดดเลนส์จะเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงแดด

6.เลนส์กันแดด (Sun Lens) โดยมาตรฐานของเลนส์กันแดด ต้องป้องกันรังสี UVA ได้อย่างน้อย 95% และ UVB ได้อย่างน้อย 99% 

7.เลนส์สี (Color Lens) เป็นเลนส์เคลือบสีต่างๆ แต่ละสีจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป โดย เลนส์สีเทาช่วยกรองแสงโดยไม่ทำให้สีเพี้ยนจากเดิม , เลนส์สีน้ำตาช่วยกรองแสงอ่อนๆ เหมาะสำหรับใช้ขับรถ, เลนส์สีเขียวช่วยกรองแสง ตัดแสง รู้สึกสบายตาเวลาอยู่กลางแจ้ง และเลนส์สีเหลืองช่วยเพิ่มแสง มองเห็นได้ชัดขึ้น

8.เลนส์โปรเกรสชีฟ (Progressive Lens) เลนส์ชนิดพิเศษที่สามารถใช้มองได้ทั้งใกล้ กลาง และไกล เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสายตายาวตามอายุ
 

  • คุณภาพของเลนส์ไม่ได้มาตรฐาน

คุณภาพของเลนส์ที่ไม่ได้มาตรฐานจะยิ่งทำร้ายสุขภาพดวงตามากไปกว่าเดิม เช่น การเลือกใช้แว่นตากันแดดที่ไม่ได้มาตรฐาน บางคนคิดว่าเพียงแค่เลนส์มีสีเข้มสามารถช่วยปกป้องดวงตาได้

แต่ในความเป็นจริงแล้วเลนส์สีเข้มทำให้แสงเข้ามาในตาน้อยลง ส่งผลให้รู้ม่านตาขยายออกมากกว่าปกติ ทำให้รังสี UV เข้ามาในตาเพิ่มมากขึ้น เมื่อใส่แว่นแล้วจึงปวดหัว หรือ การใช้แว่นกรองแสงที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เมื่อใส่แว่นกรองแสงแล้วปวดหัว
 

  • แว่นสายตาชำรุด

แว่นสายตาชำรุดไม่ใช่เพียงรูปทรงของแว่นที่บิดเบี้ยวที่ทำให้จุดโฟกัสหลุด แต่รวมไปถึงสารเคลือบเลนส์ ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ 1 - 5 ปี เมื่อสารเคลือบเลนส์เสื่อมสภาพลง ส่งผลให้การทำงานของเลนส์ด้อยลง  มองเห็นไม่ชัดเหมือนเดิม และสามารถทำให้ใส่แว่นแล้วปวดตา ปวดหัวได้
 

3. ปัญหาจากการเปลี่ยนแว่นใหม่

 

  • เปลี่ยนแว่นใหม่แต่ใช้ค่าสายตาเดิม

คนที่ใส่แว่นมานานหลายปี อาจรู้สึกเบื่อกันบ้าง อยากเปลี่ยนกรอบแว่นใหม่ หรือบางคนรู้สึกปวดตาเวลาทำงานหน้าจ้องคอมพิวเตอร์ ต้องการเลนส์ที่ช่วยกรองแสงสีฟ้า เวลาทำงานจะได้รู้สึกสบายตามากขึ้น การเปลี่ยนแว่นแต่ใช้ค่าสายเดิม ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เลนส์แว่นตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาจะทำให้กล้ามเนื้อกรอตาทำงานหนัก และเมื่อยล้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่เวลาใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว
 

แว่นตาที่ขนาดไม่พอดีสามารถทำให้คุณปวดหัวในขณะที่สวมใส่ได้ เช่น แว่นตาแนบกับสันจมูกมากเกินไป หรือแว่นตาที่มีขนาดเล็กไป ทำให้เกิดการกดทับบริเวณหลังใบหู ซึ่งทำให้รู้สึกใส่แว่นแล้วปวดตาข้างเดียวได้
 

4. เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา


ความผิดปกติของดวงตาที่อาจทำให้เมื่อใส่แว่นแล้วทำให้ปวดหัว เช่น ต้อหิน ต้อกระจก หนังตาตก โรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตา ซึ่งการตรวจวัดค่าสายตาทั่วไป ไม่อาจพบความผิดปกติของโรคเหล่านี้ และถึงแม้ว่าแว่นที่ใส่เลนส์จะมีค่าสายตาที่ตรงกับค่าสายตาจริง แต่ผู้สวมใส่ก็ยังคงมีอาการมองเห็นไม่ชัด และรู้สึกเวียนหัวได้



แนะนำวิธีแก้เมื่อใส่แว่นแล้วปวดหัว


1.พักสายตาเป็นระยะ

การพักสายตาเป็นระยะสามารถช่วยลดอาการปวดหัวเมื่อใส่แว่นได้ เช่นเดียวกับกล้ามเนื้ออื่นๆ กล้ามเนื้อตาจำเป็นต้องพักบ้าง เพื่อบรรเทาความเมื่อยล้าจากการใช้งานมาตลอดทั้งวัน วิธีพักสายตาระหว่างวันง่ายๆ โดย การหลับตาเพียง 15 นาที  วิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัวได้
 

2.ให้เวลาปรับตัวกับแว่นใหม่

ต้อนรับเช้าวันใหม่ด้วยการสวมแว่นตาที่เพิ่งตัดมาใหม่ แนะนำควรสวมแว่นตาที่ตัดมาใหม่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สายตาปรับตัวให้ชินกับแว่นอันใหม่ หากรู้สึกปวดหัว สามารถถอดแว่นเพื่อพักสายตาได้ในระยะเวลาสั้นๆไม่ควรถอดนาน เนื่องจากตาจะชินกับค่าสายตาอันเก่า (แว่นเก่า) และทำให้รู้สึกปวดหัวเมื่อต้องใส่แว่นตาอันใหม่
 

3.ทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการ

สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการถอดแว่นที่เพิ่งตัดมาใหม่ เนื่องจากต้องการให้ตาชินกับค่าสายตาใหม่เร็วๆ สามารถทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวได้ เช่น Ibuprofen หรือ Acetaminophen สามารถบรรเทาอาการใส่แว่นแล้วปวดหัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้แพทย์สั่งยา สามารถหาซื้อยาแก้ปวดได้ตามร้านขายยาทั่วไป 
 

4.พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

หากมีอาการใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัวไม่หาย อาการปวดหัวเรื้อรัง เวียนหัว หรือคลื่นไส้หลังจากตัดแว่นมาใหม่ ซึ่งผ่านมาหนึ่งหรือสองสัปดาห์ แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหัว และแก้ไขเพื่อให้อาการปวดหัวหายไป 



มีปัญหาค่าสายตาแต่ไม่อยากใส่แว่น แนะนำเลสิค

หากมีอาการใส่แว่นแล้วปวดขมับ แน่นอนว่าเป็นปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งมีวิธีที่ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ “เลสิค (Lasik)”เลสิคเป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดที่สามารถแก้ปัญหาค่าสายตาผิดปกติ ให้ค่าสายตากลับมาปกติได้ โดยสามารถแก้ไขได้ทั้งภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง โดยการทำเลสิคมีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

1.ReLEX SMILE

เป็นวิธีผ่าตัดที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกพัฒนามาจากการทำเลสิคแบบดั้งเดิม มาใช้ในการผ่าตัดแบบไร้ใบมีด เพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติทางสายตา ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายตาสั้น หรือสายตาเอียง ข้อดีของการทำ ReLEX SMILE มีการนำเลเซอร์ที่มีชื่อว่า Femtosecond Laser เข้ามาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งเลเซอร์ชนิดนี้จะไม่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ รบกวนเส้นประสาทที่บริเวณกระจกตาน้อยลง ส่งผลให้ไม่รู้สึกเจ็บในขณะผ่าตัด ทำให้แผลมีขนาดเล็กและหายเร็ว 

เลสิค Relex เหมาะสำหรับคนที่มีค่าสายตาสั้นไม่เกิน 1,000 และสายตาเอียงไม่เกิน 500 หรือผู้ที่ทั้งสายตาสั้นและสายตาเอียง
 

2.Bladeless FemtoLASIK

การผ่าตัดแบบไร้ใบมีด ที่นิยมเรียกว่า เฟมโตเลสิค (Femto Lasik) คือ การใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัดแทนใบมีดด้วยเครื่อง Femtosecond laser รุ่น Visumax ข้อดีของการทำเฟมโตเลสิค คือเครื่องมีความแม่นยำสูง ลดความคลาดเคลื่อนในการแยกชั้นกระจกตา และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน 

เฟมโตเลสิค เหมาะสำหรับคนที่มีค่าสายตาสั้นอยู่ระหว่าง 100 - 1,000 หรือ สายตาเอียงไม่เกิน 600 เหมาะกับผู้ที่มีดวงตาค่อนข้างเล็ก 
 

3.MicrokeratomeLASIK

การผ่าตัดเลสิคแบบใช้ใบมีด เป็นการใช้ใบมีดอัตโนมัติ ตัดแยกชั้นกระจกตา แล้วยิงแสงเลเซอร์เพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตาผิดปกติ ข้อดีของการผ่าตัดแบบใช้ใบมีด ใช้เวลาพักฟื้นน้อย สามารถกลับมามองเห็นได้อย่างรวดเร็ว เกิดการระคายเคืองน้อย 

การผ่าตัดเลสิคแบบใช้ใบมีด เหมาะสำหรับคนที่มีค่าสายตาสั้นไม่เกิน 1,200 - 1,300 และสายตาเอียงไม่เกิน 500 
 

4.Photorefractive Keratectomy หรือ PRK

การทำเลสิค PRK เป็นการผ่าตัดแก้ไขปัญหาค่าสายตาผิดปกติรุ่นแรก และยังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน วิธีนี้จะไม่แยกชั้นกระจกตา  เพียงแต่กำจัดเซลล์ชั้นนอกหรือเยื่อบุผิวบนกระจกตาออก  จากนั้นใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ ในการปรับรูปร่างของกระจกตา แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องของเยื่อบุผิวชั้นนอกกระจกตา เนื่องจากสามารถเจริญขึ้นมาใหม่เองได้ 

การทำเลสิค PRK ได้รับความนิยมจากผู้ที่ต้องการสอบนักบินและเตรียมทหาร เนื่องจากโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ไม่มีการเย็บแผล เหมาะกับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นได้มากถึง 500 และสายตาเอียงได้ถึง 200 
 

5.การทำ ICL (Implantable Collamer Lens)

การทำ ICL คือการนำเลนส์เสริมชนิดถาวรมาใส่ในดวงตา โดยจักษุแพทย์จะเปิดแผลกระจกตา และนำเลนส์ที่มีที่มีลักษณะบาง พับได้ เข้าไปวางหน้าเลนส์แก้วตา ซึ่งไม่มีการเย็บแผล เพราะบริเวณนั้นสามารถสมานตัวได้เอง การทำ ICL สามารถแก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติมากๆได้ มีภาวะแทรกซ้อนน้อย 

การทำ ICL เหมาะกับผู้ที่มีภาวะค่าสายตาผิดปกติมาก สายตาสั้นไม่เกิน 1,800 และสายตาเอียงไม่เกิน 600 และผู้ที่ไม่สามารถทำเลสิคได้ในบางกรณี เช่น ผู้ที่มีอาการตาแห้งมาก หรือ ผู้ที่มีกระจกตาบาง 

สำหรับผู้ที่ใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัว การทำเลสิคเป็นอีกวิธี ที่ช่วยให้การใส่แว่นแล้วปวดหัวหายขาดถาวร ซึ่งนอกจากจะหายปวดหัวแล้ว ซึ่งการทำเลสิคช่วยรักษาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ช่วยทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องคอยกังวลว่าแว่นจะหล่น หรือเสียหาย



ข้อสรุป

อาการใส่แว่นสายตาแล้วปวดหัวมีมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เลนส์ของแว่นไม่ตรงกับค่าสายตา, ปัญหาจากคุณภาพของแว่น, ปัญหาจากการเปลี่ยนแว่นใหม่ หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งบางสาเหตุสามารถบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้ 

แต่ถ้าหากปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก หนังตาตก และโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตา จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาได้เร็วที่สุด  

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางด้านสายตาสามารถติดต่อสอบถามกับทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 References
 

Vision Specialists. (n.d.) ARE NEW GLASSES GIVING YOU A HEADACHE?. Vision Specialists 

of Michigan. https://www.vision-specialists.com/new-glasses-headache/

 

Whelan, C. (2020, May 07). Why Are My New Eyeglasses Giving Me a Headache?. Healthline. 

https://www.healthline.com/health/new-glasses-headache

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​