บทความสุขภาพ

ติดโควิดซ้ำรอบ 2 อันตรายไหม สาเหตุเกิดจากอะไร อาการรุนแรงแค่ไหน

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อเกิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้หลายจนที่เคยติดโรคนี้แล้ว กลับมาติดโควิดรอบ 2 จนกังวลใจว่า อาการโควิดรอบ 2 เป็นอย่างไร อันตรายไหม โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ จะมาอธิบายว่า ติดโควิดรอบ 2 กี่เดือน มีความหมายว่าอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด ใครคือกลุ่มเสี่ยง


สารบัญบทความ

 


ติดโควิด-19 ซ้ำรอบสอง

จากข้อมูลพบว่า เราสามารถติดโควิดรอบ 2 ได้ โดยส่วนมากการติดโควิดซ้ำจะเกิดจากการติดเชื้อจากโควิดสายพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน เช่น ผู้ป่วยที่หายจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า มีโอกาสติดโควิดรอบสองเป็นสายพันธุ์โอมิครอนได้  

โดยข้อมูลการติดเชื้อซ้ำในโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่ามีโอกาสติดโควิดรอบสอง มากถึง 10-20% ภายใน 1-2 เดือนหลังหายจากเชื้อที่ได้รับในการติดโควิด- 19 รอบแรก เนื่องจากภูมิต้านทานในร่างกายตก จนทำให้มีโอกาสติดเชื้อเทียบเท่าผู้ที่ไม่เคยติดโควิด-19 มาก่อน

ผลการศึกษาจากสหาราชอาณาจักรพบว่า ผู้ที่เคยติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มีโอกาสติดโควิดรอบสองสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 46% 

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยจาก Imperial College London ชี้ว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีโอกาสติดโควิดรอบสองสูงกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสูงถึง 4-6 เท่า เท่ากับว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีโอกาสติดโควิดรอบ 2 สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในปัจจุบัน


ติดโควิดรอบ 2 เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดโควิดรอบ 2 ได้แก่

 

1. ช่วงภูมิคุ้มกันต่ำ

ช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ก็ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสติดโควิดรอบสองได้ โดยช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ช่วงหลังติดโควิดรอบแรกแล้วเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง พบว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว หรือภูมิไม่ได้ขึ้นเยอะตั้งแต่รอบแรกที่ติด ก็ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อซ้ำได้

 

2. เชื้อโควิดคนละสายพันธุ์

หากการติดโควิดรอบสองเป็นเชื้อคนละสายพันธุ์กันกับการติดเชื้อในครั้งแรก ภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับมาจากการติดเชื้อครั้งแรก อาจป้องกันได้ไม่ดีนัก อย่างในผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน ต่อมาอาจติดโควิดรอบ 2 ได้เพราะภูมิคุ้มกันในการต้าน Omicron อาจต้านสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ไม่ดีนัก

 

3. ผู้ป่วยลดมาตรการป้องกันตัวเอง

ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเสี่ยงย่อมมีโอกาสที่จะติดโควิดรอบสองมากกว่าผู้ที่ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี การไม่สวมหน้ากาอนามัยที่ที่สาธารณะ อยู่ในพื้นที่แออัดไม่ระบายอากาศ ไม่หมั่นล้างมือ ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำ


ติดโควิดรอบแรก มีภูมิกี่เดือน

ร่างกายจะได้รับภูมิต้านทานหลังจากติดโควิดรอบแรก แต่โดยปกติแล้ว ระดับภูมิที่ได้มานั้นจะค่อยๆ ลดลงในระยะเวลา 3-6 เดือน กลับมาภูมิคุ้มกันเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 มาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำเกินกว่าที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ 


อย่างไรก็ตาม การมีภูมิไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสติดโควิดรอบสอง โดยเฉพาะในเชื้อที่กลายพันธุ์ ดังนั้นจึงควรสวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างอยู่เสมอเพื่อป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้ติดโควิดรอบ 2


ผู้ที่เสี่ยงติดโควิดรอบ 2 มีกลุ่มใดบ้าง

กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงติดโควิดรอบ 2 ได้แก่

1.ผู้ที่ผ่านการติดเชื้อรอบแรกมาแล้ว 3-6 เดือน ภูมิต้านทานลดลงเท่าผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน

2.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

3.ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

4.ผู้ที่ลดมาตรการการป้องกันตัวเอง

5.ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19

6.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น
 

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต
  • ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิ
  • ผู้ป่วย HIV (ที่มี CD4 ต่ำกว่า 200 / ผู้ป่วยขาดยา)

อาการโควิดรอบ 2 รุนแรงกว่ารอบแรกไหม

สำหรับผู้สงสัยอาการโควิดรอบ 2 ติดโควิดรอบ 2 อาการเป็นอย่างไร ติดโควิดรอบ 2 อันตรายไหม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า อาการโควิดรอบใหม่จะรุนแรงน้อยกว่าการติดโควิดในรอบแรก เพราะร่างกายจะได้ภูมิต้านทานในระดับหนึ่งจากการติดเชื้อในครั้งแรก ทำให้เมื่อติดเชื้อซ้ำอาการจะลดลงกว่าตอนที่ติดเชื้อในครั้งแรก 

ใครที่กังวลว่าโควิดสามารถติดได้กี่รอบ ในการติดเชื้อครั้งที่ 3 และ 4 ต่อไปเรื่อย อาการจะลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับโรคติดต่อทางทางเดินหายใจอื่นๆ ที่อาการเมื่อติดในรอบแรกจะรุนแรงที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้การติดโควิดรอบ 2 จะอาการไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งแรก แต่ก็ต้องพึงระวังผลกระทบที่จะส่งต่อร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การติดโควิดหลายรอบอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลเสียต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น ไวรัสจะไปทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายอักเสบ เสี่ยงทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์สมอง เซลล์ประสาท ถุงลมปอด หรืออวัยวะอื่นๆ จึงควรระมัดระวังตัวไม่ให้ติดโควิด-19 จะส่งผลดีต่อร่างกายของเราที่สุด


วิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยโควิดรอบสอง

วิธีรักษาการติดโควิดรอบสอง ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับเมื่อตอนที่ติดโควิดรอบแรก โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
 

  • หากพบเชื้อเป็นบวก ให้ติดต่อ 1330 กด 14 สายด่วน สปสช. หรือแอดไลน์ สปสช. @nhno หรือกรอกข้อมูลผ่านแบบฟอร์ม https://crmsup.nhso.go.th/
  • หากประเมินว่าอาการรุนแรง ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
  • หากประเมินว่าอาการไม่รุนแรง ให้ Home Isolation 
  • ทำการกักตัว 14 วันนห้องแยกจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ
  • ผู้ป่วยจะได้รับยาตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ฟ้าทะลายโจร
  • ประเมินอาการผ่านระบบ telemedicine โดยบุคคลากรทางการแพทย์ทุกวัน
  • สังเกตอาการ เช่น มีผื่นแดงโควิดไหม มีอาการหอบเหนื่อยง่ายหรือไม่ หากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์
  • จัดให้ห้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • หากใช้ห้องร่วมกับผู้อื่น ให้จัดเตียงห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
  • แยกของใช้ส่วนตัว
  • สวมหน้ากาอนามัยตลอดเวลา
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์

แนวทางการป้องกันไม่ให้ติดโควิดรอบ 2

เช่นเดียวกันกับการป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 แนวทางการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโควิดรอบ 2 สามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้
 

  • หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบโดส 
  • ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3  และเข็มที่ 4
  • สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากอนามัยระหว่างวัน 
  • เปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อยๆ
  • ไม่อยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท
  • รักษาระยะห่างที่ปลอดภภัยจากผู้อื่น อย่างน้อย 1 เมตร 
  • ล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีในแต่ละครั้ง
  • หมั่้นทำความสะอาดสิ่งของรอบตัวต่างๆ ด้วยแอลกอฮอล์

ติดโควิดรอบ 2 อันตรายไหม

แม้การติดโควิดรอบ 2 จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าการติดโควิดในรอบแรก เนื่องมาจากการที่ร่างกายได้ภูมิต้านทานในระดับหนึ่งจากการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ที่ติดโควิด 2 รอบอาจเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ลืมง่าย ลิ้นไม่ได้รับรส จมูกไม่ได้กลื่น ผมร่วง นอนไม่หลับ หรืออาการซึมเศร้า 

เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า ภาวะลองโควิด โดยภาวะลองโควิดพบได้ถึง 30-50% ของผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้ว ผู้ที่หายจากการติดโควิดรอบ 2 จึงควรสังเกตร่างกายตัวเองว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่ 


ตรวจเช็คร่างกายหลังโควิด เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน

ผู้ที่ติดโควิดรอบ 2 ที่แม้จะหายจากการติดโควิดรอบสองแล้ว แต่หากยังมีอาการอ่อนเพลีย ผมร่วง ใจสั่น เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด เพื่อตรวจหาว่าร่างกายมีภาวะลองโควิดหรือไม่ 

โดยสามารถตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิดกับโปรแกรมตรวจสุขภาพ Long COVID 2022 ตรวจหาผลกระทบของภาวะลองโควิดต่อร่างกาย และเข้าโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยการให้วิตามินทางเส้นเลือดได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์


ข้อสรุป

พึ่งหายจากโควิด ติดอีกได้ไหม? ผลการศึกษาเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดโควิดรอบ 2 ได้แก่ การที่ร่างกายอยู่ในช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อโควิดคนละสายพันธุ์ และผู้ป่วยลดมาตราการป้องกันตัวเองลง 

โดยกลุ่มผู้เสี่ยงติดโควิดรอบสอง อาทิเช่น ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการติดโควิดซ้ำจะไม่รุนแรงเท่าในครั้งแรก เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ควรได้รับการดูแลตัวเองหลังติดโควิด สังเกตอาการลองโควิดอยู่เสมอ

หากผู้ป่วยติดโควิดรอบ 2 มีอาการลองโควิด สนใจโปรแกรมตรวจภาวะลองโควิด หรือโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยการให้วิตามินทางเส้นเลือด หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

References วิจัยอ้างอิง

Abu-Raddad, L. J., Chemaitelly, H., & Bertollini, R. (2021). Severity of SARS-COV-2 reinfections as compared with primary infections. New England Journal of Medicine, 385(26), 2487–2489. https://doi.org/10.1056/nejmc2108120 

Ratini, M. (2022, July 15). Can you get covid twice? WebMD. Retrieved August 9, 2022, from https://www.webmd.com/lung/can-you-get-covid-twice

Tillett, R. L., Sevinsky, J. R., Hartley, P. D., Kerwin, H., Crawford, N., Gorzalski, A., Laverdure, C., Verma, S. C., Rossetto, C. C., Jackson, D., Farrell, M. J., Van Hooser, S., & Pandori, M. (2021). Genomic evidence for reinfection with SARS-COV-2: A case study. The Lancet Infectious Diseases, 21(1), 52–58. https://doi.org/10.1016/s1473-3099(20)30764-7  


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​