บทความสุขภาพ

มะเร็งทวารหนัก รู้ทันภัยเงียบจากภายใน รักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 15 พฤษภาคม 2567

มะเร็งทวารหนักและลำไส้ใหญ่

หลายคนอาจมองข้ามอาการท้องผูกสลับท้องเสีย คิดว่าเป็นเพียงปัญหาการย่อยอาหารทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่า อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งทวารหนัก โรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ เพราะผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว จนกว่าโรคจะลุกลามไปมากแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งทวารหนักมีโอกาสรอดชีวิตน้อย

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการมะเร็งทวารหนัก สัญญาณเตือน วิธีการตรวจคัดกรอง และแนวทางการรักษามะเร็งทวารหนัก เพื่อให้คุณสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที อย่ารอช้า! มาเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งทวารหนัก เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและร่างกายที่แข็งแรงของคุณ


สารบัญบทความ


มะเร็งทวารหนัก คืออะไร? โรคที่เป็นสาเหตุการตายใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็ง!

มะเร็งทวารหนัก คือหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนไทยและน่ากลัวไม่แพ้มะเร็งชนิดอื่น โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรกในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และพบได้ในทุกเพศ

สาเหตุของมะเร็งทวารหนักเกิดจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่เรียกว่าโพลิป (Polyp) เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยจะใช้เวลาในการพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งประมาณ 5-10 ปี ในระหว่างนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถสังเกตอาการที่ผิดปกติได้ชัดเจนหากไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ซึ่งในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทวารหนักอยู่ไม่มาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่โรคมะเร็งทวารหนักสามารถคร่าชีวิตคนมากเป็นอันดับ 3 รองมาจากโรคมะเร็งตับและมะเร็งปอด


อาการของโรคมะเร็งทวารหนักเป็นอย่างไร?

แม้เนื้องอกในทวารหนักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มมีอาการปรากฏขึ้นมักเป็นสัญญาณเตือนว่ามะเร็งกำลังลุกลาม โดยอาการเด่น ๆ ที่สังเกตได้ มีดังนี้

  • มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นแถวทวารหนัก : อาจจะสังเกตเห็นได้เลยหรือคลำเจอเมื่ออุจจาระ โดยก้อนเนื้ออาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง
  • มีมูกเลือดปนมาในอุจจาระหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด : อาการนี้อาจเกิดขึ้นเล็กน้อยหรือมีปริมาณมาก สังเกตได้จากอุจจาระมีสีดำคล้ำหรือมีมูกปนเลือด
  • มีพฤติกรรมการขับถ่ายต่างจากปกติ : อาจจะถ่ายอุจจาระลำบาก รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด อยากถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นหรือถ่ายอุจจาระได้น้อยลง ในบางรายอาจท้องผูกสลับกับท้องเสียเรื้อรัง
  • น้ำหนักลด ปวดท้องเรื้อรัง : มาจากการสูญเสียเลือดจากลำไส้เรื้อรัง 
  • มีอาการปวดทวารหนัก : โดยอาการปวดอาจเป็นแบบตื้อ ๆ หรือปวดแสบร้อน มักรู้สึกปวดมากขึ้นเวลานั่งถ่ายอุจจาระ
  • มีสารคัดหลั่งไหลออกจากทวารหนัก : โดยสารคัดหลั่งอาจเป็นเลือด มูกใส หรือหนอง
  • มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต : โดยอาการนี้มักพบในผู้ป่วยที่ตัวโรคมะเร็งทวารหนักอยู่ในระยะท้าย ๆ หรือช่วงที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว

ระยะของโรคมะเร็งทวารหนัก แต่ละระยะอาการต่างกันอย่างไร

การเข้าใจระยะของโรคมะเร็งทวารหนักเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งช่วยให้รู้ถึงความรุนแรง แนวทางการรักษา โอกาสหายขาด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ในหัวข้อนี้จะพาไปทำความรู้จักกับระยะของมะเร็งทวารหนักกัน

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 1

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้นของโรค โดยก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร และก้อนเนื้อนี้จะยังอยู่ภายในชั้นผนังลำไส้ ไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในระยะนี้มักไม่มีอาการผิดปกติที่สังเกตเห็น หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือปวดทวารหนัก แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรอง ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดชิ้นเนื้อมะเร็ง

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 2

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งเริ่มโตขึ้นจากเดิม แต่ยังจำกัดอยู่ภายในผนังลำไส้ ไม่ได้ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง โดยผู้ป่วยในระยะนี้มักมีอาการชัดเจนขึ้น เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน, ปวดทวารหนัก, รู้สึกอึดอัดในทวารหนัก, ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง แต่ยังโอกาสสูงที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ถึงประมาณ 70-80%

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 3

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 3 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียง โดยผู้ป่วยในระยะนี้มักมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดและรุนแรงมากขึ้น เช่น อ่อนเพลีย, น้ำหนักลด, เบื่ออาหาร, ถ่ายอุจจาระลำบาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งทวารหนักในระยะนี้มีโอกาสในการรักษาให้หายขาดลดลงอยู่ที่ประมาณ 40-50% และการรักษามักเน้นการชะลอความรุนแรงของโรค

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 4

มะเร็งทวารหนักระยะที่ 4 เป็นระยะที่อันตรายในระดับสูงสุด โดยเชื้อมะเร็งมีการลุกลามและแพร่กระจาย สู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไปผ่านกระแสเลือดหรือต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผู้ป่วยในระยะนี้มักมีอาการรุนแรงมาก เช่น ปวดทวารหนักอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระลำบาก อ่อนเพลีย โดยการรักษาในระยะสุดท้ายนี้จะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการ


สาเหตุของการเกิดมะเร็งทวารหนัก

สาเหตุหลักของมะเร็งทวารหนักมาจากไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) โดยเฉพาะสายพันธุ์ HPV-16 และ HPV-18 ซึ่งติดต่อได้ผ่านการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อโดยตรงหรือติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และ HPV ยังสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับหนองในหรือซิฟิลิส โดยมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น 

  • การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทวารหนักและมะเร็งชนิดอื่น ๆ
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น คนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันหรือผู้ติดเชื้อ HIV
  • อายุที่มากขึ้น โดยโอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 50 ปี
  • พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

วิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งทวารหนักมีวิธีอย่างไรบ้าง

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งทวารหนักเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยแนะนำให้ตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง ซึ่งถ้าตรวจพบในระยะแรก ๆ ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ 

โดยปกติแล้วมะเร็งทวารหนักจะสามารถตรวจเบื้องต้นได้ด้วยการสังเกตอุจจาระของตนเองว่ามีเลือดปนมูก แบนผิดปกติ ถ่ายยาก ท้องผูก หรืออ่อนเพลียหรือไม่ นอกจากนี้ ยังตรวจคัดกรองได้ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ ยกตัวอย่างเช่น

  • การตรวจตัวอย่างอุจจาระ
  • การตรวจเลือด 
  • การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • การตรวจอัลตราซาวนด์
  • การสวนแป้งแบเรียมเข้าไปทางบริเวณทวารหนัก แล้วทำการเอกซเรย์ (X-ray)
  • การตรวจชิ้นเนื้อ

ซึ่งการส่งตรวจด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หากตรวจพบว่ามีสัญญาณของโรคมะเร็งทวารหนัก แพทย์มักจะพิจารณาส่งตรวจ CT Scan หรือ MRI เพิ่มเติมเพื่อดูว่ามะเร็งทวารหนักมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่


วิธีการรักษามะเร็งทวารหนักในปัจจุบันทำอย่างไร

วิธีรักษามะเร็งทวารหนัก

ปัจจุบันมีวิธีการรักษามะเร็งทวารหนักที่มีประสิทธิภาพสูง โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะของโรค สุขภาพโดยรวม และความต้องการของผู้ป่วยด้วย ในหัวข้อนี้เราจะพาไปรู้จักกับวิธีการรักษามะเร็งทวารหนักอย่างละเอียด โดยมีข้อมูลดังนี้

การรักษามะเร็งทวารหนักด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งทวารหนักที่ใช้กันมานาน โดยแพทย์จะตัดเนื้อเยื่อที่มีเซลล์มะเร็งออก รวมถึงเนื้อเยื่อปกติบริเวณใกล้เคียงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็ง ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดก็มีหลายรูปแบบ ถือเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง มักใช้รักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบชิ้นเนื้อที่อยู่ในระยะก่อนมะเร็งหรือเป็นโรคมะเร็งทวารหนักในระยะแรก แต่ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญกับผลข้างเคียง เช่น แผลผ่าตัด, การติดเชื้อ, ปัญหาการขับถ่าย และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ 

การรักษามะเร็งทวารหนักด้วยการฉายรังสี

การฉายรังสีเป็นการรักษาโรคมะเร็งทวารหนักที่ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งทวารในระยะที่ 2-3 โดยแพทย์จะใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปยังบริเวณที่เป็นมะเร็งทวารหนัก เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโต มักใช้ควบคู่กับการรักษาแบบอื่น ๆ เช่น การเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น โดยผลข้างเคียงของการฉายรังสีอาจทำให้ผิวหนังเป็นแผล มีรอยแดง คัน ระคายเคือง

การรักษามะเร็งทวารหนักด้วยการทำเคมีบำบัด

การทำเคมีบำบัดหรือคีโมเป็นการรักษาที่แพทย์จะสั่งยาให้ผู้ป่วยรับประทานหรือฉีดยาเข้าเส้นเลือด ซึ่งยาเหล่านี้จะกระจายไปทั่วร่างกายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักที่รักษาด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเลือดออกง่าย เพราะเซลล์ที่ดีมีโอกาสถูกทำลายไปด้วย

การรักษามะเร็งทวารหนักด้วยการผ่าตัดทวารเทียมทางหน้าท้อง

การผ่าตัดทวารเทียมทางหน้าท้องเป็นการสร้างทางเปิดระหว่างลำไส้ใหญ่กับหน้าท้องเพื่อช่วยระบายอุจจาระ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักลุกลาม มักใช้ร่วมกับการทำเคมีบำบัด โดยการผ่าตัดทวารเทียมอาจมีผลข้างเคียง เช่น แผลติดเชื้อหรือปัญหาด้านการย่อยอาหาร จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์และเรียนรู้วิธีดูแลทวารเทียมอย่างละเอียด


ข้อแตกต่างระหว่างริดสีดวงและมะเร็งทวารหนัก

ริดสีดวงและมะเร็งทวารหนักเป็นโรคสองชนิดที่พบได้บ่อย แม้มีอาการคล้ายกันแต่ทั้งสองโรคนี้มีความแตกต่างกันมาก มาดูกันว่าริดสีดวงและมะเร็งทวารหนักแตกต่างกันอย่างไร

  • สาเหตุ : โดยริดสีดวงเป็นการโป่งพองของหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก มักเกิดจากความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น ส่วนมะเร็งทวารหนักเกิดจากการเติบโตผิดปกติของเซลล์ในทวารหนักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
  • อาการ : ทั้งสองโรคมีอาการเหมือนกันคือมีเลือดออกปนกับอุจจาระ แต่ริดสีดวงมักจะคัน ระคายเคือง และบางรายอาจมีก้อนเนื้อออกมาจากด้วย ขณะที่มะเร็งทวารหนักจะถ่ายอุจจาระลำบาก ถ่ายไม่สุด น้ำหนักลด
  • ระยะเวลา : ริดสีดวงมักมีอาการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ส่วนมะเร็งทวารหนักส่วนใหญ่จะเป็นอาการเรื้อรัง และอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น

สรุปเรื่อง มะเร็งทวารหนัก โรคร้ายที่ควรรู้เท่าทัน

มะเร็งทวารหนัก คือ ภาวะที่เซลล์บริเวณทวารหนักแบ่งตัวผิดปกติ ในเบื้องต้นอาจไม่พบสัญญาณโรค และมักจะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อโรคได้ไปสู่ระยะหลัง ๆ แล้ว โดยสัญญาณที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทวารหนัก ยกตัวอย่างเช่น อุจจาระมีเลือดปน, ปวดท้อง, น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ, อ่อนเพลีย ส่วนความรุนแรงของโรคสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและฉายแสง 

หากใครมีอาการหรือสงสัยว่าเป็นมะเร็งทวารหนัก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดได้ สำหรับใครที่กำลังมองหาโรงพยาบาลที่มีบริการส่องกล้องลำไส้ใหญ่หรือตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ขอแนะนำโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ซึ่งมีทีมแพทย์เฉพาะทางพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อผ่าน Line : @samitivejchinatown หรือโทร 02-118-7893


References
 

Centers for Disease Control and Prevention. (2021, December 1). What Is Colorectal Cancer? | CDC. Www.cdc.gov. https://www.cdc.gov/cancer/colorectal/basic_info/what-is-colorectal-cancer.htm#:~:text=Colorectal%20cancer%20is%20a%20disease

Cleveland Clinic. (2022, November 14). Colorectal (colon) cancer. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14501-colorectal-colon-cancer

Mayo Clinic. (2022, October 8). Colon Cancer - Symptoms and Causes. Mayo Clinic; Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/colon-cancer/symptoms-causes/syc-20353669

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​