บทความสุขภาพ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ให้ทัน ป้องกันอาการลุกลาม รักษาหายได้

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ไม่ว่าใครก็ต่างกลัว เพราะเมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้วจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าจะรักษาแล้วแต่ก็ยังมีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ ถึงแม้พยายามป้องกันแต่กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็อาจอยู่ในระยะที่อาการของโรครุนแรงจนยากต่อการรักษาเสียแล้ว 

อย่างไรก็ตามถ้ารู้ตัวเร็วว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรีบรักษาให้หายได้ ในที่นี้จะมาพูดถึงข้อมูลที่ควรทราบเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น ลักษณะอาการของโรค วิธีรักษาและป้องกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 


สารบัญบทความ


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากอะไร? ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดังนี้

  • อายุ

เมื่อร่างกายอายุเพิ่มขึ้นก็จะมีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ง่ายขึ้น มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เป็นหนึ่งในโรคที่มักพบในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

  • พันธุกรรม

ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งส่วนอื่น ๆ มากขึ้น

  • เคยมีติ่งหรือก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่

ถ้ามีก้อนเนื้อหรือติ่งในลำไส้ใหญ่ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ก้อนเนื้อหรือติ่งนั้นเปลี่ยนเป็นก้อนมะเร็งได้ รวมถึงในกรณีที่เคยมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้หรือมะเร็งทวารหนักก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซ้ำได้

  • ประวัติโรค

สำหรับผู้ที่เคยมีอาการป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) หรือโรคโครห์น (Crohn's disease) ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ในส่วนของผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ก็มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ

  • อาหารที่รับประทาน

เมื่อทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ทานอาหารปิ้งย่างที่มีส่วนไหม้เกรียมเยอะ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น

  • บุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งอื่น ๆ ได้


ลักษณะและอาการที่มักพบของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แม้ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรก ๆ อาจจะตรวจพบได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสัญญาณเตือนว่าร่างกายอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่เลย ดังนั้นจึงควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอเพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและรักษาทันทีที่พบความเสี่ยง สำหรับลักษณะและอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มักพบจะมีดังต่อไปนี้

  • ลักษณะการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น ท้องผูก ท้องเสีย
  • รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระออกมาไม่หมด
  • ลักษณะอุจจาระมะเร็งลำไส้จะลีบและเล็ก
  • อุจจาระมีเลือดปนอยู่
  • รู้สึกแน่นท้อง มีแก๊สอยู่ในท้อง
  • รู้สึกเบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • โลหิตจาง

กระบวนการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

เมื่อคุณสังเกตพบอาการผิดปกติบนร่างกายแล้ว อย่าปล่อยอาการเหล่านั้นทิ้งไว้แม้ว่าอาการจะไม่ได้รุนแรงมาก เพราะอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก ๆ ก็มีอาการใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ ดังนั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการน่าสงสัยแต่ควรเข้ารับการตรวจร่างกายเบื้องต้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง 

ในกรณีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ ก่อนอื่นแพทย์จะถามประวัติ และตรวจร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อประเมินสภาพร่างกายเบื้องต้น จากนั้นแพทย์จะให้เข้ารับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อไป โดยมีวิธีที่ใช้ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่มีดังนี้

  • Colonoscopy

เป็นวิธีที่มักนำมาใช้ตรวจมะเร็งลำไส้โดยส่องกล้องภายในลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจสภาพภายในลำไส้ใหญ่ และถ้ามีชิ้นเนื้อที่น่าสงสัยก็จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจต่อไป

  • Fecal Immunochemical Test - FIT

เป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระแล้วตรวจว่าในอุจจาระมีเลือดปนอยู่หรือไม่ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • CT Colonography - CTC

เป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถส่องกล้องทางทวารหนักได้โดยนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงแสกนผ่านช่องท้องแล้วสร้างภาพเสมือนภายในและนอกลำไส้ใหญ่ได้

  • Sigmoidoscopy

เป็นวิธีตรวจมะเร็งลำไส้ส่วนปลาย โดยใช้ท่อสอดรูทวารหนักเพื่อตรวจว่าภายในลำไส้ใหญ่มีก้อนเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือความผิดปกติอื่น ๆ ในกรณีที่มีก็จะตัดชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยต่อไป

หมายเหตุ

ในกรณีที่วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะเข้ารับการตรวจอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยระดับความรุนแรงของมะเร็ง และมะเร็งลำไส้ใหญ่ลุกลามไปจุดอื่น ๆ ของร่างกายหรือไม่


วิธีที่นำมาใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งก้อนมะเร็ง ระดับความรุนแรงของโรค และสภาพร่างกายของผู้เข้ารับการรักษา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสมเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น โดยวิธีที่นำมาใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีดังนี้

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการผ่าตัดแบบแผลเปิด (Open colectomy)

เป็นวิธีผ่าตัดรักษามะเร็งแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะเปิดแผลที่หน้าท้องเพื่อนำก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ออกมา วิธีนี้เหมาะกับก้อนมะเร็งที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ใช้ระยะเวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการผ่าตัดเจาะรูส่องกล้อง (Laparoscopic-assisted colectomy)

เป็นการผ่าเปิดรูขนาดเล็ก 4-6 แผลบนหน้าท้อง แล้วนำกล้องที่ติดเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กสอดเข้าไปเพื่อตัดก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ออกได้ วิธีนี้จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากการผ่าตัดลงและใช้เวลาพักฟื้นน้อย จึงทำให้ในปัจจุบันนิยมใช้วิธีนี้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ค่ารักษาจะค่อนข้างสูง

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการฉายรังสีรักษา

เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงฉายแสงเพื่อรักษาก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปกติแล้วมักจะฉายแสงควบคู่กับการผ่าตัดเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเลือกฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัดได้ขึ้นอยู่กับอาการของโรค วิธีรักษานี้จะเหมาะกับโรคมะเร็งลำไส้ที่อยู่ในระยะลุกลามแล้ว

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเคมีบำบัด (คีโม)

เป็นการรักษามะเร็งโดยนำยาที่มีคุณสมบัติทำลายและยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็งมาทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือด ในการรักษาสามารถให้ยาพร้อมฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตามความเหมาะสม วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้หรือโรคอยู่ในระยะลุกลาม แต่ก็จะมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น 

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

เป็นการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่โดยให้ยากลุ่ม Nivolumab และยา Pembrolizumab เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่จะไม่เหมาะกับผู้มีโรคประจำตัวบางกลุ่มและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการใช้ยาเฉพาะส่วน (Targeted Therapy)

เป็นการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยใช้ยาเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงเพื่อยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็งได้โดยที่ผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่จะมีข้อจำกัดทางด้านการทานยารักษาเพราะยาเฉพาะส่วนสามารถรักษาโรคมะเร็งได้เพียงบางส่วนเท่านั้น


การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ถ้ายังทำพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ก็จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ ดังนี้

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารหมักดองและอาหารแปรรูป
  • งดทานอาหารไหม้เพราะส่วนที่ไหม้มีสารก่อมะเร็ง
  • พยายามไม่กั้นอุจจาระ หากรู้สึกปวดท้องให้ถ่ายทันที

ข้อควรปฏิบัติ

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ร่างกายแข็งแรง
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเสมอ
  • เข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ทุก ๆ 3-5 ปี
  • เมื่ออายุ 50-60 ปีขึ้นไป หมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มเติม เพื่อติดตามความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่

1. เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4 สามารถหายได้หรือไม่?

มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะ 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามจากลำไส้ใหญ่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย จึงรักษาหายยากกว่าระยะแรก ๆ แต่มะเร็งลำไส้ระยะที่ 4 หายได้ถ้าก้อนมะเร็งที่ลุกลามนั้นอยู่ในจุดที่สามารถผ่าออกพร้อมกับลำไส้ใหญ่ได้ เช่น ตับ ปอด แพทย์จะผ่าก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่พร้อมกับตับหรือปอดที่มีมะเร็งลุกลาม แล้วจึงให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมเพื่อลดโอกาสเกิดซ้ำ

2. ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วจะมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายไหม?

เมื่อผ่าตัดก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ออกแล้ว แพทย์จะผ่าตัดทวารเทียมสำหรับใช้ขับถ่ายชั่วคราวจนกว่าลำไส้ใหญ่จะสมานตัว แล้วจึงปิดทวารเทียมอีกครั้งเพื่อให้ผู้ป่วยยังคงสามารถขับถ่ายผ่านทางทวารหนักได้ตามปกติ ยกเว้นกรณีเป็นมะเร็งลำไส้ส่วนปลายหรือมะเร็งทวารหนักที่จำเป็นต้องผ่านำกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออก แพทย์จะผ่าตัดทวารเทียมถาวรที่หน้าท้องเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้

มะเร็งลําไส้ใหญ่อาการ


สรุปเรื่อง มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาให้หาย ให้ร่างกายแข็งแรงอีกครั้ง

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคร้ายที่สามารถพบได้ทุกช่วงวัยและทุกเพศไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือว่าผู้หญิง ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพผู้ชายหรือตรวจสุขภาพผู้หญิงประจำปี รวมถึงสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอเพื่อเข้าตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกรณีที่พบความเสี่ยง และรับการรักษาในกรณีที่ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อไป

สำหรับผู้ที่กำลังสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยกับทางสมิติเวช ไชน่าทาวน์ที่มีทีมแพทย์เฉพาะทางพร้อมให้คำปรึกษาและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เหมาะสมตามระยะและอาการของโรคต่อไป โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามช่องทางนี้

ช่องทางการติดต่อ


References

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​