บทความสุขภาพ

12 อันดับโรคเท้าที่พบบ่อย รู้ทันอาการโรคเกี่ยวกับเท้า พร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 29 พฤศจิกายน 2567

โรคเท้า

โรคเท้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยสัญญาณเล็กน้อยอย่างเช่น คันเท้าบ่อย ๆ เท้าด้าน อาการเท้าบวมแดง รู้สึกปวดจี๊ด ๆ ตรงส้นเท้าเวลาเดิน ไปจนถึงเท้าเหม็น อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงโรคเท้าที่ซ่อนอยู่ได้ เช่น โรคตาปลา โรครองช้ำ หรือโรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเท้า และการรู้จักโรคเท้าต่าง ๆ จะช่วยให้เท้าของเรามีสุขภาพดีและอยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น


สารบัญบทความ


12 อันดับโรคเท้าที่พบบ่อย อาการและวิธีรักษาที่ควรรู้

คันฝ่าเท้า

อาการของโรคเท้าแต่ละประเภท เช่น เท้ามีกลิ่นเหม็น คันฝ่าเท้า เท้าเป็นตุ่ม แข็ง ๆ เจ็บ บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพของเท้าได้หลายโรค เพื่อให้คุณมีรู้ทันโรคเท้ามากขึ้น เรามาดูกันว่า 12 อันดับโรคเท้าที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง โรคแต่ละชนิดมีอาการอย่างไร และมีวิธีการรักษาโรคเท้าเหล่านี้อย่างไรบ้าง 

1. โรครองช้ำ

โรครองช้ำ เกิดจากการที่เอ็นพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบเรื้อรังจากการใช้งานเท้าซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องออกแรงกระแทก เช่น วิ่ง กระโดด หรือยืนเป็นเวลานาน และสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะกับเท้า ทำให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าจะถูกดึงรั้งและยืดออกบ่อยครั้ง เพราะต้องรองรับน้ำหนักและแรงกระแทก จนส่งผลทำให้รู้สึกปวดบริเวณส้นเท้า เกิดอาการอักเสบและป่วยเป็นโรครองซ้ำในที่สุด

วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการเดินและใช้ฝ่าเท้ามากเกินไป และสวมใส่แผ่นรองเท้าหรือ อินโซล (Insole) เพื่อรองรับเท้าในการเดินหรือวิ่ง

2. ตาปลาที่เท้า

ตาปลาที่เท้า คือภาวะที่ผิวหนังบริเวณเท้าหรือระหว่างนิ้วเท้านูนขึ้นมาจนเป็นก้อน ซึ่งเกิดจากการเสียดสีที่มากเกินไปเป็นเวลานาน สาเหตุหลักมาจากสวมใส่รองเท้าที่คับเกินไป ใส่รองเท้าส้นสูงเดินเป็นระยะเวลานาน ๆ ชอบเดินหรือวิ่งด้วยเท้าเปล่าจนทำให้เท้าเป็นตุ่ม แข็ง ๆ คัน โดยตาปลาที่เท้าสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตรงบริเวณนิ้วเท้า ฝ่าเท้า และด้านข้างเท้า

วิธีการรักษา สวมใส่ถุงเท้าเพื่อลดการเสียดสี หรือใช้แผ่นรองเพิ่มความยืดหยุ่น เลือกใส่รองเท้าให้เหมาะสมกับเท้าของตัวเองอย่างรองเท้าที่มีลักษณะหน้ากว้าง และวิธีการรักษาตาปลาด้วยตัวเองเบื้องต้นง่าย ๆ โดยใช้หินขัดเท้าหรือแปรงขัดเบา ๆ เพื่อขจัดผิวหนังที่ตายแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน

3. เล็บขบ

โรคเท้าที่พบได้บ่อยอย่าง เล็บขบ เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นตรงบริเวณด้านมุมขอบเล็บเท้าหรือข้างเล็บ ผู้ที่มีเป็นเล็บขบมักมีอาการเจ็บ รู้สึกปวด และมีหนองเกิดขึ้นตรงบริเวณเล็บนิ้วเท้า หากไม่ทำการรักษาและปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานอาจเกิดการติดเชื้อได้ สาเหตุของอาการเล็บขบมาจาก ตัดเล็บไม่ถูกวิธี ใส่รองเท้าที่คับเกินไป โครงสร้างการเติบโตของเล็บผิดปกติ และไม่รักษาความสะอาดเล็บเท้า

วิธีการรักษา : แช่เท้าในน้ำอุ่นผสมน้ำเกลือประมาณ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้งหลังแช่น้ำอุ่นให้เช็ดเท้าให้แห้ง จะช่วยลดอาการปวด บวม และใช้ยาทาแก้อักเสบ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทำการรักษาในทันที

4. แผลเบาหวานที่เท้า

แผลเบาหวานที่เท้า เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน สาเหตุที่แผลเบาหวานมักเกิดที่เท้า เพราะว่ามีภาวะปลายประสาทเสื่อมและมีความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดหรือแรงกดทับที่เท้าได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดบาดแผลได้โดยไม่รู้ตัว และเมื่อแผลเกิดขึ้นตรงบริเวณเท้าแล้ว แผลมักจะหายช้าและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย 

วิธีการรักษา : ต้องรักษาควบคู่ไปกับโรคเบาหวาน เบื้องต้นให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำความสะอาดแผลทุกวันป้องกันการติดเชื้อ และควรหลีกเลี่ยงการเดินมากเกินไปหรือระวังการกดทับบริเวณแผล

5. โรคเท้าแบน

โรคเท้าแบน หรือที่เรียกกันว่า เท้าบาน คือภาวะผิดปกติที่บริเวณอุ้งเท้าโดยลักษณะของเท้าจะไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางฝ่าเท้า เวลาลุกขึ้นยืนเท้าจะแบนราบไปกับพื้น ซึ่งอาการของโรคเท้าแบนส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงจะส่งผลให้มีอาการเจ็บตรงบริเวณอุ้งเท้าและข้อเท้า รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น เส้นเอ็นข้อเท้าและนิ้วเท้าบวมแดง เจ็บ ยืนทรงตัวยาก ไม่สามารถยืนเขย่งขาได้

วิธีการรักษา : ทำกายภาพยืดกล้ามเนื้อตรงบริเวณเอ็นร้อยหวาย กินยาแก้ปวดเพื่อลดอาการอักเสบ ใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้า และในกรณีที่อาการรุนแรงจนส่งผลกระทบการใช้ชีวิต แพทย์จะวินิจฉัยและรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อปรับรูปเท้า

6. โรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง

โรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง หรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า Hallux Valgus เป็นภาวะที่กระดูกบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า (นิ้วโป้งเท้า) เอียงไปทางนิ้วชี้ และกระดูกนิ้วโป้งเท้าด้านในปูดนูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้เท้าดูผิดรูป สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งกรรมพันธุ์ กระดูกผิดรูป การได้รับบาดเจ็บ หรือสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม ภาวะนี้อาจส่งผลทำให้รู้สึกเจ็บ นิ้วเท้าด้านแข็ง และทำให้เดินไม่สะดวก 

วิธีการรักษา : การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น สวมใส่รองเท้าให้เหมาะสม กินยาลดอักเสบ ทำกายภาพบำบัด หรือรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดแก้ไขกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าให้ตรง วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เห็นผล

7. โรคเส้นเอ็นร้อยหวายตึง

โรคเท้าต่อมาคือ โรคเส้นเอ็นร้อยหวายตึง เป็นภาวะที่เส้นเอ็นร้อยหวาย หรือเส้นเอ็นที่เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้าเกิดการอักเสบหรือยืดตึงมากเกินไป ส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวด บวม และเคลื่อนไหวไม่สะดวก โรคนี้มักพบได้บ่อยในผู้ที่ออกกำลังกายหนักหรือใช้เส้นเอ็นมากเกินไป โดยเฉพาะนักกีฬา หรือผู้ที่ชอบออกกำลังกายวิ่งและกระโดด

วิธีการรักษา : ประคบเย็น จะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด กินยาแก้อักเสบ และหมั่นทำกายภาพบำบัด

8. โรคเท้าเหม็น 

โรคเท้าเหม็น เป็นหนึ่งในโรคเท้าที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอก และการสะสมของเหงื่อที่เท้าส่งผลทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็น ลักษณะของเท้าเป็นรู พวกเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ตามที่รู้ตรงฝ่าเท้าและปล่อยสารเคมีที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมา โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีเหงื่อออกมากตรงบริเวณเท้าและเกิดจากการใส่รองเท้าเป็นเวลานาน 

วิธีการรักษา : ทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ตรงบริเวณเท้า เช็ดเท้าให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณระหว่างนิ้วเท้า และใช้ยาทาผิวหนัง

9. โรคเชื้อราที่เท้า

โรคเชื้อราที่เท้า หลายคนมักเรียกว่า “ฮ่องกงฟุต” หรือ “น้ำกัดเท้า”เป็นการติดเชื้อราสายพันธุ์ Dermatophytes ที่ผิวหนังบริเวณเท้าเชื้อราพวกนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ชื้น มักจะเกิดขึ้นกับผู้ออกกำลังกายหรือผู้ที่เล่นกีฬาเป็นประจำ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเชื้อราที่เท้ารู้สึกคันใต้ฝ่าเท้าตอนกลางคืน เท้ามีลักษะเปื่อย แดง และมีกลิ่นเหม็นที่เท้า หากเกาจะเกิดอาการอักเสบและมีตุ่มหนองเล็ก ๆ ขึ้นที่ง่ามนิ้วเท้า 

วิธีการรักษา : ใช้ยาทาต้านเชื้อรา ล้างเท้าเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการเอาเท้าแช่น้ำเป็นเวลานาน หากเท้าเปียกต้องเช็ดให้แห้งสนิท และใช้แป้งโรยที่เท้าเพื่อไม่ให้เท้าเปียกชื้น

10. โรคหูดที่เท้า

โรคหูดที่เท้า เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Human Papillomavirus (HPV) โดยโรคหูดที่เท้ามักจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีจุดดำอยู่ตรงกลางหูด ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณฝ่าเท้า หรือส้นเท้า ส่งผลทำให้รู้สึกเจ็บตอนเวลาเดิน วิ่ง และเวลาลงน้ำหนักที่เท้า โรคหูดที่เท้ายังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ หากไม่ทำการรักษา

วิธีการรักษา : ใช้ยาผลัดเซลล์ผิวแบบแปะและแบบทา ช่วยขจัดชั้นผิวหนังที่ติดเชื้อออกได้ และใช้ไนโตรเจนเหลวในการรักษาเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อไวรัส และหากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแต่ไม่ดีขึ้น อาจนำไปสู่การผ่าตัดถ้าหูดมีขนาดใหญ่หรือมีอาการรุนแรง

11. โรคเท้าหงิก

โรคเท้าหงิก เป็นภาวะที่ข้อตรงกลางนิ้วเท้าบิดโก่งจนทำให้นิ้วคดงอ มีรูปร่างคล้ายกงเล็บ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดและส่วนใหญ่มักจะพบในทารกแรกเกิด ส่งผลทำให้ไม่สามารถสวมใส่รองเท้าได้พอดี นิ้วแข็ง เท้ามีรูปทรงผิดปกติ และอาจเกิดการอักเสบได้ 

วิธีการรักษา : สำหรับทารกวิธีการรักษาโรคเท้าหงิก คือการดัดนิ้วเท้าและใส่เฝือกที่เท้าเพื่อลดการผิดรูป แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจะใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อปรับตำแหน่งของเท้าให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ

12. ส้นเท้าแตก

ส้นเท้าแตก มีลักษณะแห้ง แข็ง และหยาบจนเกิดรอยแยกหรือรอยแตกบริเวณส้นเท้า สาเหตุการเกิดส้นเท้าแตกมาจากหลายปัจจัย เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการเจ็บป่วยบางโรคร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หากปล่อยทิ้งไว้ผิวจะยิ่งแตกเป็นร่องที่ลึกขึ้น มีเลือดออก และติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ 

วิธีการรักษา : เลือกทาครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของยูเรีย วิตามินอี หรือกรดแลคติกช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และหากส้นเท้าแตกมากจนมีแผลลึก หรือมีอาการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์


อย่าปล่อยให้ปัญหาโรคเท้าเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

ส้นเท้าแตก บอกโรค

เท้ามักเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ถูกละเลยการดูแลจนอาจนำไปสู่การติดเชื้อ การสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเท้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเท้าเป็นรู โรครองช้ำ โรคตาปลา แผลเบาหวานที่เท้า หรืออาการฝ่าเท้าแข็งเป็นไตที่เกิดจากหูดที่เท้า อาการเหล่านี้สามารถสร้างความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานสะสมระยะยาวได้ถ้าไม่รีบรักษา

หากใครที่กำลังเผชิญกับอาการต่าง ๆ ของโรคเท้าหรือต้องการปรึกษาอาการเบื้องต้น สามารถเข้ารับบริการวินิจฉัย และรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เรามีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการที่มีความรู้ในด้านโรคเท้าโดยเฉพาะ พร้อมให้คำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้คุณกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ได้รับการรักษาเท้าที่ถูกต้องและทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงขึ้น

ช่องทางติดต่อ


References

JOHNS HOPKINS. (m.d.). Foot Pain and Problems. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/foot-pain-and-problems

National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. (2017, January). Diabetes & Foot Problems. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/foot-problems

Rachel Nall, MSN, CRNA. (2023, July 12). Ten common foot problems. https://www.medicalnewstoday.com/articles/319190#:~:text=From%20injuries%20to%20inflammation%2C%20various,intricate%20areas%20of%20the%20body

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​