บทความสุขภาพ

โรคพยาธิในช่องคลอด ภัยเงียบที่หลายคนอาจละเลย

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

พยาธิในช่องคลอด

เมื่อพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วหลาย ๆ คนมักอาจจะนึกถึงโรคซิฟิลิส โรคหนองใน รวมถึงโรคเอดส์ที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกหนึ่งชนิดที่คนส่วนมากลืมกันไป อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้หญิงไม่น้อยเลยก็คือโรคพยาธิในช่องคลอดนั่นเอง

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้โรคพยาธิในช่องคลอดจะพบเจอได้น้อยลง แต่ก็ไม่ควรละเลยในการสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพราะอาการของโรคพยาธิในช่องคลอดถือว่าค่อนข้างรุนแรงทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนได้รู้เท่าทันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดนี้ เราจึงจะมาบอกข้อมูลที่สำคัญของโรคพยาธิในช่องคลอดกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการของโรค, สาเหตุการเกิด, การวินิจฉัย, วิธีการรักษา, ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิด รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพยาธิในช่องคลอด


สารบัญบทความ


โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) คืออะไร?

โรคพยาธิในช่องคลอด คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Trichomoniasis ซึ่งโรคพยาธิในช่องคลอดมักพบในเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่และพบในเพศชายเป็นส่วนน้อย อีกทั้งจะมีผู้ป่วยเพียง 20-30% เท่านั้นที่แสดงอาการของโรค จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทันรู้ตัวว่าเป็นโรคพยาธิในช่องคลอด จนเกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย


สาเหตุของโรคพยาธิในช่องคลอด

สาเหตุของโรคพยาธิในช่องคลอดมาจากการติดเชื้อโปรโตชัวที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับเม็ดเลือดขาว โดยเชื้อโปรโตชัวชนิดที่ทำให้เกิดโรคพยาธิในช่องคลอดนี้มีชื่อว่า Trichomonas vaginalis ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อได้จากน้ำในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิ 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้การแพร่เชื้อหรือการติดต่อของโรคพยาธิในช่องคลอดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก นอกจากนี้ อาการคันในผู้ป่วยติดเชื้อนั้นเกิดจากเชื้อโปรโตชัว Trichomonas vaginalis มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลานั่นเอง


อาการของโรคพยาธิในช่องคลอด

อาการของโรคพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดจะมีการแสดงอาการตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง ซึ่งช่วงเวลาการแสดงอาการของโรคในแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันไป ในบางคนอาจแสดงอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนในบางคนก็จะแสดงอาการภายใน 5-28 วันหลังจากเกิดการติดเชื้อ โดยโรคพยาธิในช่องคลอดอาการจะแตกต่างกันตามเพศที่เป็น ดังนี้

อาการโรคพยาธิในช่องคลอดผู้ชาย

  • แสบเวลาปัสสาวะ
  • ปวดอัณฑะ
  • เกิดการอักเสบที่หนังหุ้มปลายองคชาต
  • มีมูกใสออกมาทางท่อปัสสาวะ

อาการโรคพยาธิในช่องคลอดผู้หญิง

  • มีอาการคันช่องคลอด
  • แสบเวลาปัสสาวะ
  • มีปริมาณตกขาวมากผิดปกติ
  • ตกขาวจากพยาธิในช่องคลอดจะมีสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงสามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ ถึงแม้ว่าโรคพยาธิในช่องคลอดจะถูกนับเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าหากมีการใช้งานโถสุขภัณฑ์ร่วมกับผู้ป่วยก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดจะได้แก่

  • ผู้ที่มีประวัติหรือเคยเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดมาก่อน
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับหลายคนหรือผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่มีประวัติหรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ มาก่อน เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส หรือโรคเอดส์ เป็นต้น

ดังนั้นหากต้องการลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพยาธิช่องคลอดก็ไม่ควรที่จะเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และเลือกป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้ากังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้น เช่น ถุงยางขาด ก็สามารถรับประทานยา PrEP ซึ่งเป็นยาต้าน HIV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน


การวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอด

การวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอด

ถ้าหากสังเกตจากอาการของโรคพยาธิในช่องคลอดจะสามารถเห็นได้ว่ามีอาการใกล้เคียงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ การวินิจฉัยของแพทย์จึงไม่ได้มีเพียงแค่การซักประวัติหรือสอบถามอาการเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องวินิจฉัยโดยการตรวจภายในและตรวจดูเชื้อพยาธิในช่องคลอดจากตกขาวของผู้เข้ารับการตรวจร่วมด้วย

ซึ่งการวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอดนี้จะใช้เวลาเพียง 1 วันก็จะได้รับผลการตรวจแล้ว และถ้าหากผลการตรวจหาเชื้อออกมาเป็นบวก หรือสรุปแล้วว่าเกิดการติดเชื้อโรคพยาธิในช่องคลอดขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยการเจาะเลือดร่วมด้วย เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส หรือโรคเอดส์ เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ผลตรวจหาเชื้อพยาธิในช่องคลอดออกมาเป็นลบ แต่ยังคงมีอาการอยู่ ควรเข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้งในภายหลัง


วิธีการรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด

วิธีรักษาพยาธิในช่องคลอดนั้นจะเป็นการรักษาด้วยการรับประทานยา โดยแพทย์จะทำการจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยนำไปรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งควรรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าจะไม่มีอาการของโรคพยาธิในช่องคลอดเหลืออยู่แล้วก็ตาม

และถึงแม้ว่าโรคพยาธิในช่องคลอดจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกันในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด นอกจากนี้ ในระหว่างที่กำลังรับการรักษาโรคพยาธิในช่องคลอดด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนกว่าจะรับประทานยาเม็ดสุดท้ายผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อยารักษาพยาธิในช่องคลอดที่รับประทานได้


โรคและภาวะแทรกซ้อนของโรคพยาธิในช่องคลอด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดนั้นถ้าหากผู้ติดเชื้อไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องจนหายขาด ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรในอนาคต เนื่องจากโรคพยาธิในช่องคลอดอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดบุตรก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ได้ ทั้งยังอาจส่งผลให้บุตรมีปัญหาทางด้านพัฒนาการและสุขภาพ รวมไปถึงมีน้ำหนักตัวน้อยเกินกว่าปกติอีกด้วย


หากเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดควรทำอย่างไร?

หากสังเกตอาการตัวเองแล้วเกิดความสงสัยว่าจะเป็นโรคพยาธิในช่องคลอด ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาเชื้อและรับการรักษาอย่างเร็วที่สุด โดยในระหว่างที่รับการรักษาก็ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน รวมถึงหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาโรคพยาธิในช่องคลอดจนหายขาดเป็นที่เรียบร้อย


สรุปเรื่อง โรคพยาธิในช่องคลอด โรคติดต่อที่ไม่ควรละเลย

นอกจากโรคซิฟิลิส โรคหนองใน และโรคเอดส์แล้ว โรคพยาธิในช่องคลอดก็เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้ในทุกเพศ ซึ่งโรคพยาธิในช่องคลอดอาการของโรคจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามรายบุคคล รวมถึงอาการของโรคยังอาจกระตุ้นให้หญิงตั้งครรภ์คลอดบุตรก่อนกำหนดได้อีกด้วย ทั้งนี้โรคพยาธิในช่องคลอดเองก็สามารถรับประทานยาตามแพทย์สั่งเพื่อรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน

ทว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เพียงแค่ควรระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเช่นโรคพยาธิในช่องคลอดเท่านั้น แต่ยังควรระวังการติดเชื้อไวรัส HPV อีกด้วย โดยเชื้อไวรัส HPV คือสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนัก ซึ่งในปัจจุบันนี้สามารถฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้

และถ้าคุณกำลังวางแผนที่จะฉีดวัคซีน HPV ขอแนะนำมาที่ สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพราะไม่เพียงแค่มีศูนย์วัคซีนไว้คอยบริการเท่านั้น แต่ยังมีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดย HPV DNA typing และ Thin prep Pap test อีกด้วย หากสนใจสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

  • Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

References
 

Mayo Clinic Staff. (2022, May 17). Trichomoniasis - Symptoms & causes. mayoclinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trichomoniasis/symptoms-causes/syc-20378609

Cleveland Clinic medical professional. (2022, December 27). Trichomoniasis: Causes, Symptoms, Testing & Treatment. clevelandclinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4696-trichomoniasis

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​