บทความสุขภาพ

HPV คืออะไร? ไวรัสใกล้ตัวที่น่ากลัวกว่าที่คิด

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

ไวรัส HPV คือ

เชื้อ HPV คือ เชื้อที่พบได้บ่อยในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยสามารถติดต่อได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางปาก, ช่องคลอด, ทวารหนัก หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง นอกจากนี้เชื้อ HPV ยังเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องคลอด รวมถึงมะเร็งปากมดลูกที่เป็นโรคหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อ HPV ซึ่งในปี 2023 ประเทศไทยมีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึงปีละ 4,700 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 13 คน จึงถือว่าเป็นภัยเงียบที่อันตรายสำหรับทั้งเพศชายและหญิงเลยก็ว่าได้ 

บทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลของเชื้อ HPV รวมถึงปัจจัยเสี่ยง และวิธีการป้องกันมาให้ทุกคนทำความเข้าใจเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV 


สารบัญบทความ


HPV คืออะไร? ภัยเงียบแสนอันตรายที่คุกคามได้แบบไม่รู้ตัว

HPV (Human Papillomavirus) คือ กลุ่มไวรัสที่พบได้บ่อยตามเยื่อบุผิวอวัยวะเพศ ในปัจจุบันค้นพบไวรัส HPV แล้วกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วนมากไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงในการก่อมะเร็ง

การติดเชื้อ HPV มักเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อ HPV บริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนัก, ช่องปาก และลำคอทั้งเพศชายและหญิง ผู้ที่ติดเชื้อ HPV มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมา และอาจจะใช้เวลา 10-20 ปี หรือนานกว่านั้นในการพัฒนาจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง 

เพราะระยะเวลาการดำเนินโรคกินเวลาไปกว่าค่อนชีวิต ที่สำคัญผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวหลังติดเชื้อ HPV จึงทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อ HPV ไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด และที่น่ากลัวกว่านั้น ผู้ติดเชื้อมักไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ จึงทำให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เชื้อ HPV จึงเป็นภัยเงียบที่เป็นสาเหตุหลักของโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อไวรัส HPV คืออะไร? 

เชื้อ HPV คือเชื้อที่ติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์เป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าการมีคู่นอนเพียงคนเดียวจะทำให้ไม่ติดเชื้อ HPV เพราะหากคู่นอนของเราได้รับเชื้อ HPV เราก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้ติดเชื้อมีดังนี้

  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีบุตรเป็นจำนวนมาก
  • ไม่สวมถุงยางอนามัย
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ

รู้จักประเภทของ HPV ว่ามีกี่สายพันธุ์ 

ประเภทของ HPV

เชื้อ HPV สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำและสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่กลุ่มเสี่ยงสูงที่สามารถก่อให้เกิดโรคในปัจจุบันมีอยู่เพียงแค่ประมาณ 20 สายพันธุ์เท่านั้น โดยเฉพาะเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อมากที่สุด ซึ่งแต่ละสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

HPV สายพันธุ์ 16

HPV สายพันธุ์ 16 หรือ HPV Type 16 คือ เชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงที่พบบ่อยได้ที่สุด ผู้ที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการที่เห็นได้ชัดเจน และส่งผลให้เซลล์ที่ปากมดลูกเปลี่ยนแปลง จนเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึง 50% ทั่วโลก นอกจากนี้ HPV สายพันธุ์ 16 ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนัก และมะเร็งลำคออีกด้วย

HPV สายพันธุ์ 18

HPV สายพันธุ์ 18 หรือ HPV Type 18 คือ ชนิดของ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับ HPV สายพันธุ์ 16 โดยทั่วไปมักจะไม่แสดงอาการเช่นเดียวกัน และมักเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก


อาการของ HPV มีอะไรบ้าง?

HVP คือเชื้อไวรัสที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคอันตรายมากมาย ซึ่งระยะในการดำเนินโรคมักใช้เวลานานมากกว่า 10-20 ปี โดยช่วงระยะดังกล่าว ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการที่บ่งชี้ชัดเจน แต่อาจพบอาการทั่วไปที่สังเกตได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น

  • หูดหงอนไก่ : หูดหงอนไก่ คือ ตุ่มเล็ก ๆ มีลักษณะขรุขระ อาจมีอาการคันแต่ไม่รู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง บริเวณปากช่องคลอด หรือปากมดลูก เชื้อHPV ในผู้ชายก็สามารถทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศชายหรือทวารหนักได้เช่นกัน 
  • ตกขาวผิดปกติ : ผู้ป่วยอาจพบตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดปนตกขาว หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด อาการจะเป็น ๆ หายๆ เมื่อร่างกายอ่อนแอก็อาจเกิดความผิดปกติในภายหลังได้ แต่ผู้ป่วยหญิงที่ได้รับเชื้อ HPV หลายรายก็มักจะไม่แสดงอาการ
  • ต่อมน้ำเหลืองผิดปกติ : ผู้ป่วยอาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากทวารหนัก รวมถึงมีอาการคัน โดยอาการดังกล่าวมักจะเป็นอาการของโรคมะเร็งทวารหนักซึ่งเป็นลักษณะการติดเชื้อ HPV ในผู้ชาย
  • องคชาตผิดปกติ : ผู้ป่วยชายอาจพบหนังองคชาตซีดและหนาตัวขึ้น มีก้อนหรือแผลบริเวณหนังองคชาตแต่ไม่รู้ตัว ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการของมะเร็งองคชาตหรืออาการหลังติดเชื้อ HPV ในผู้ชาย

วิธีป้องกัน HPV ลดพฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงการแพร่เชื้อ HPV 

วิธีป้องกัน hpv

เชื้อ HPV คือกลุ่มเชื้อไวรัสที่อาจไม่แสดงอาการออกมาแต่แรกเริ่ม จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้ตัวช้า แต่ปัจจุบันมีวิธีการป้องกันโรค HPVทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ HPV ได้ก่อนที่อาการของโรคจะร้ายแรงหรือเซลล์มะเร็งลุกลามไปทั่ว โดยมีวิธีป้องกันดังนี้

  • การตรวจ HPV เป็นขั้นตอนตรวจคัดกรองความเสี่ยงในการรับเชื้อ HPV ปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ได้รับความนิยมจะเป็นการตรวจแบบ HPV DNA Test คือ การตรวจสอบระดับพันธุกรรมด้วยการเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกช่องคลอดด้านใน และส่งตรวจด้วยน้ำยา 

วิธีนี้จะใช้เวลาไม่นานในการตรวจ มีความสะดวก รวดเร็ว หากผลการตรวจเป็นHPV Positive คือ พบเชื้อ HPV หากพบในระยะที่ยังไม่ลุกลามการรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • การฉีดวัคซีน HPV โดยวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV คือ วัคซีนที่ใช้ในการฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยปัจจุบันมีวัคซีนอยู่ 3 ประเภท คือ ประเภท 2 สายพันธุ์ ประเภท 4 สายพันธุ์ และประเภท 9 สายพันธุ์ ซึ่งวัคซีนมะเร็งปากมดลูกผลข้างเคียงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
  • การปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น งดการมีคู่นอนหลายคน และใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ HPV ได้ นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกาย รวมถึงลดโอกาศการติดเชื้อ HPV ได้มากขึ้น

วิธีการรักษาหากติดเชื้อ HPV ทำอย่างไรเมื่อได้รับเชื้อ

หากได้รับการ HPV Screening หรือการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส HPV แล้วพบว่ามีการติดเชื้อ ในปัจจุบันแพทย์จะทำเพียงการคอยเฝ้าระวังเท่านั้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยได้รับเชื้อที่เป็นสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงอย่างสายพันธุ์ 16 และ สายพันธุ์ 18 ก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคหูด หรือโรคมะเร็งได้ ซึ่งแพทย์ก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามอาการดังนี้ 

  • หากวินิจฉัยว่าเป็นโรคหูดหงอนไก่ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยปัจจุบันมีวิธีการรักษาหูดหงอนไก่หลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยยาทา, การจี้ด้วยไฟฟ้า, การผ่าตัดชิ้นเนื้อ หรือการเลเซอร์ ถึงแม้ว่าจะกำจัดหูดออกไปได้ แต่ก็จะไม่สามารถกำจัดไวรัสที่แฝงอยู่ในร่างกายได้
  • หากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะต้องพิจารณาแนวทางในการรักษาให้ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เคมีบำบัด การฉายแสง หรือการผ่าตัด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรคว่าอยู่ในระยะใด

สรุปเรื่อง HPV ต้นเหตุโรคร้ายที่ป้องกันได้ก่อนสายเกินแก้

เชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรงไม่แพ้โรคหนองใน โรคซิฟิลิส หรือโรคเอดส์อีกทั้งยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด รวมทั้งยังไม่แสดงอาการอีกด้วย การป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่ดีที่สุดคือการตรวจคัดกรองเชื้อ HPV และการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง 

หากคุณกำลังมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการตรวจคัดกรองเชื้อ HPV ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์มีทีมแพทย์ดูแลการตรวจอย่างใกล้ชิด และมีวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ที่ครอบคลุมถึง 9 สายพันธุ์ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลหรือนัดหมายรับบริการได้ที่


References
 

Chen, AA. Gheit, T. Franceschi, S. Clifford, GM. Tommasino, M. & IARC HPV Variant Study 

Group. (2015). Human Papillomavirus 18 Genetic Variation and Cervical Cancer Risk Worldwide. Journal of Virology, 89(20): 10680-10687. https://journals.asm.org/doi/10.1128/jvi.01747-15

Strains of Human Papillomavirus (HPV). (n.d.). https://www.hpv.org.nz/about-hpv/hpv-strains

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ