บทความสุขภาพ

ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่วัยรุ่นไม่ควรมองข้าม

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

ซิฟิลิส

ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสังคมมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคนในสังคมขาดความรู้ ความเข้าใจ และการระมัดระวังในขณะร่วมเพศ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น หนึ่งในโรคที่เหล่าวัยรุ่นหรือนักรักทั้งหลายมักมองข้ามคือ ‘โรคซิฟิลิส’ 

โดยโรคซิฟิลิสนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับทุกเพศและทุกวัยที่มีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัย เช่น การไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือสวมเพียงชั่วครู่แล้วถอดออก ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่สวมถุงยางอนามัย โดยอาการโรคซิฟิลิสก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล หากรู้เท่าทันโรคได้ไวก็สามารถรักษาซิฟิลิสให้หายขาดได้ 


สารบัญบทความ


ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร? ภัยเงียบที่ต้องระวัง

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ผู้ที่ติดเชื้อโรคซิฟิลิสระยะแรกนั้นสามารถพบแผลซิฟิลิส หรือแผลริมแข็ง ลักษณะเป็นตุ่มนูน แตกออกเป็นแผลกว้างบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก โดยที่อาการโรคซิฟิลิสในระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บบริเวณแผลแต่อย่างใด

ซึ่งโรคซิฟิลิสมักจะตรวจพบได้ยาก เพราะเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ตัวเชื้อซิฟิลิสอาจแสดงอาการออกมาไม่ชัด เช่น เป็นแผลริมแข็งในบริเวณที่สังเกตยาก ในบางรายอาจไม่แสดงอาการจนกว่าเวลาจะผ่านไปนานหลายปี หรือจนกว่าผู้ที่ติดเชื้อจะได้รับการตรวจเลือด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาซิฟิลิสตั้งแต่ระยะแรก ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคซิฟิลิสก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องจากการกระจายตัวของเชื้อเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย 

ดังนั้น ผู้ที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคซิฟิลิสหรือเข้าข่ายมีอาการซิฟิลิสก็ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยทันที


สาเหตุของซิฟิลิสคืออะไร?

สาเหตุของซิฟิลิส

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีสาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อดังกล่าวจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบริเวณที่มีแผลหรือตามเยื่อบุต่าง ๆ บนร่างกาย โดยโรคซิฟิลิสจะติดต่อผ่านการรับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย, การทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex), การจูบกับผู้ติดเชื้อ หรือการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตร ซึ่งผู้ที่เสี่ยงกับการติดเชื้อซิฟิลิสมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่ไม่ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ และกลุ่มคนรักร่วมเพศ 


อาการของซิฟิลิสในแต่ละระยะ

โรคซิฟิลิสจะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือในผู้ติดเชื้อบางรายก็ไม่แสดงอาการนานถึงปี อาจจะรู้ตัวว่าเป็นโรคซิฟิลิสก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะที่ 2 แล้ว สำหรับอาการของโรคซิฟิลิสนั้น ทางการแพทย์ได้แบ่งระยะของโรคซิฟิลิสออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ ซึ่งในแต่ระยะก็อาจจะมีอาการของโรคที่คาบเกี่ยวกันไปตามแต่ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 (Primary syphilis)

อาการของซิฟิลิสระยะแรกจะเป็นอาการของซิฟิลิสระยะฟักตัวเกิดขึ้นเมื่อผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อมาประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้ว จะปรากฏตุ่มเล็กขนาด 2-4 มิลลิเมตร มีลักษณะขอบนูนแข็ง หรือที่เรียกว่า ‘แผลริมแข็ง’ บริเวณอวัยวะเพศ, ริมฝีปาก, ลิ้น, ท่อปัสสาวะ, เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอด อาจจะมีแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการดังกล่าวจะไม่รู้สึกเจ็บที่แผล และแผลริมแข็งจะสามารถหายไปได้เองภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะไม่ได้รับการรักษา 

ระยะที่ 2 (Secondary syphilis)

สำหรับอาการของซิฟิลิสระยะที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า ‘ระยะออกดอก’ โดยระยะนี้จะปรากฏอาการภายใน 3 -12 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเชื้อ และจะปรากฏอาการของโรคหลายอย่าง เนื่องจากเป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดภายในร่างกาย เช่น ผื่นขึ้นตามร่างกาย หรือซิฟิลิสฝ่ามือ แต่จะไม่มีอาการคัน และอาจจะพบเนื้อตายจากผื่นเป็นหย่อม ๆ ได้ด้วย 

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วม เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต, มีไข้, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยตามร่างกาย, มีเชื้อราในปาก ผมร่วง และหากตรวจเลือด ผลเลือดมักจะออกมาเป็นบวก โดยอาการดังกล่าวจะเป็น ๆ หาย ๆ คล้ายกับการติดเชื้อระยะแรก

ระยะที่ 3 (Latent syphilis)

อาการซิฟิลิสระยะที่ 3 ทางการแพทย์เรียกว่า ‘ระยะแฝง’ ผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาจาก 2 ระยะที่ผ่านมาจะเข้าสู่สภาวะอาการสงบ ซึ่งจะไม่ปรากฏอาการของโรคซิฟิลิส โดยเชื้อซิฟิลิสจะแฝงตัวอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานนับหลายปีก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือซิฟิลิสระยะสุดท้าย

ผู้ที่ติดเชื้อในระยะนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยการผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือมารดาที่ตั้งครรภ์ในระยะนี้ก็สามารถแพร่เชื้อซิฟิลิสไปยังทารกในครรภ์ได้ผ่านทางรก และทำให้ติดเชื้อระหว่างการคลอด สำหรับทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสจะมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินผิดปกติ มีโครงสร้างฟันหรือจมูกผิดปกติ มีลักษณะเฉพาะตัว เรียกว่า ‘จมูกแบบซิฟิลิส’

ระยะที่ 4 (Tertiary syphilis)

สำหรับผู้ติดเชื้อซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาจนผ่านเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้ายของโรคซิฟิลิส จะพบรอยโรคเป็นแผล มีตุ่มซิฟิลิสขึ้นนูนตามตัว ในระยะนี้เชื้อโรคได้แพร่กระจายเข้าสู่ระบบต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด ทำลายอวัยวะในระบบต่าง ๆ เช่น ระบบประสาทและสมอง, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ตับ, ดวงตา, กระดูกและข้อต่อ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนภายในร่างกาย เช่น เป็นอัมพาต, ตาบอด, หูหนวก, ภาวะสมองเสื่อม, ลิ้นหัวใจรั่ว จนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด 


วิธีสังเกตซิฟิลิสในผู้ชายและผู้หญิง

ซิฟิลิส คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถเป็นได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย โดยจะมีลักษณะอาการร่วมคล้าย ๆ กัน แต่ก็จะมีจุดสังเกตที่แตกต่างตามลักษณะทางกายภาพของเพศ ดังนี้

ซิฟิลิสที่พบในผู้หญิง

  • ลักษณะเด่นของโรคซิฟิลิสที่พบทั้งในผู้หญิงและผู้ชายก็คือ อาการของแผลริมแข็งซิฟิลิส ถ้าสัมผัสกับแผลจะไม่รู้สึกเจ็บ
  • ซิฟิลิสอาการผู้หญิงจะมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง มีฝ้าขาวขึ้นที่ลิ้น เป็นแผลที่ริมฝีปาก มีตกขาวและอาจมีเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งการที่เกิดเชื้อราอาจจะทำให้มีอาการคันช่องคลอดได้ 
  • มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย และผมร่วงเป็นหย่อม ๆ 
  • นอกจากนี้ยังเป็นแผลในเยื่อบุช่องคลอด และปากมดลูก 

ซิฟิลิสที่พบในผู้ชาย

  • ซิฟิลิสอาการผู้ชายก็จะปรากฏลักษณะของตุ่มนูนที่เรียกว่า ‘แผลริมแข็ง’ เช่นเดียวกับซิฟิลิสที่พบในผู้หญิง โดยแผลริมแข็งนี้จะมีลักษณะคล้ายเริม และสำหรับผู้ชายที่มีอาการหนองในก็ควรจะไปตรวจเช็กให้ละเอียด เผื่อมีการติดเชื้อซิฟิลิสร่วมด้วย 
  • รอยโรคของซิฟิลิสที่พบในผู้ชายมักจะปรากฏที่ส่วนหัวองคชาต, ลำองคชาต, ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต, บริเวณรอบถุงอัณฑะ, ขาหนีบ, ภายในท่อปัสสาวะ และบริเวณทวารหนัก สำหรับกลุ่มรักร่วมเพศ
  • นอกจากนี้จะมีผื่นซิฟิลิสขึ้นตามมือ และตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณฝ่าเท้า และบริเวณหลัง 

ผลกระทบจากซิฟิลิส และโรคแทรกซ้อน ที่อันตรายถึงชีวิต 

ผลกระทบจากซิฟิลิส

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาซิฟิลิสที่เหมาะสม ปล่อยทิ้งไว้จนถึงระยะสุดท้ายนั้น อาจส่งผลถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อซิฟิลิสไปทำลายระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท และระบบหัวใจ ส่งผลให้ระบบภายในล้มเหลวได้ ซึ่งอาการที่มักจะพบจากผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสจะมีลักษณะอาการ ดังนี้

  • ประสาทสัมผัสการรับรู้ด้านการมองเห็น การได้ยินผิดปกติ อาจนำไปสู่การตาบอด หรือหูหนวก
  • โรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง และโรคหัวใจวาย
  • โรคกระดูกเสื่อมและข้อต่อผุบาง
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ทำให้เกิดสภาวะสมองเสื่อม เป็นอัมพาต
  • เกิดตุ่ม หรือเนื้องอกกัมม่า (Gummas) ในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อซิฟิลิส (Late stage of infection) มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่บนผิวหนัง หรือเกิดในอวัยวะภายใน เช่น กระดูก ตับ ซึ่งจะรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

เนื่องจากการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ผ่านจากแผลซิฟิลิส หรือรอยโรคที่ปรากฏบนร่างกายของผู้ติดเชื้อเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อ รวมไปถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ในระหว่างที่ติดเชื้อซิฟิลิสก็จะส่งผลกระทบไปยังทารกในครรภ์ อาจจะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด โดยทารกที่เกิดมามักจะมีภาวะแทรกซ้อนตามที่กล่าวไปข้างต้น 

นอกจากนี้ หนึ่งในเรื่องเข้าใจผิดของสังคมคือ ‘ซิฟิลิสคือเอดส์' แต่ในทางการแพทย์นั้น ทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกัน โดยผู้ที่เป็นซิฟิลิสจะมีโอกาสหายขาดได้หากรักษาภายในระยะแรก หรือระยะที่ 2 และผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสนั้นมีโอกาสในการติดเชื้อHIV มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อซิฟิลิส


การตรวจวินิจฉัยซิฟิลิส

ในการตรวจซิฟิลิส แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษา อาการที่ปรากฏรวมไปถึงพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียดด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  • การส่องกล้อง Dark-field (Dark-field microscopic test: DF) เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิสสำหรับผู้ติดเชื้อซิฟิลิสที่มีรอยโรคปรากฏ โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ
  • การตรวจเลือด (Blood test) เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันต่อโรคซิฟิลิสโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำสูง รู้ผลไว และสามารถตรวจเช็กได้ตั้งแต่เป็นซิฟิลิสระยะแรก โดยวิธีการตรวจเลือดจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ตรวจเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงและแบบไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) สำหรับผู้ที่มีอาการของซิฟิลิสระยะที่ 3 แพทย์จะใช้วิธีการตรวจน้ำไขสันหลังของผู้ติดเชื้อ เพื่อใช้ในการยืนยันโรค

วิธีการรักษาซิฟิลิส ให้หายขาดและปลอดภัย

ในปัจจุบันโรคซิฟิลิสมีวิธีรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ขนาดสูงเพื่อฆ่าเชื้อและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อซิฟิลิส โดยแพทย์จะฉีดให้ผู้ติดเชื้อโดยดูจากระยะเวลาในการติดเชื้อว่าติดมาเป็นเวลานานเท่าใด 

  • ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสระยะแรก แพทย์จะฉีดยาเพนิซิลลินเข้ากล้ามเนื้อเพียง 1 ครั้ง แม้จะไม่ได้แสดงอาการป่วย
  • ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสระยะที่ 2 และระยะที่ 3 แพทย์จะฉีดเพนิซิลลินเข้ากล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ และหลังจากผู้ติดเชื้อซิฟิลิสฉีดยาครบ 3 เข็มแล้ว แพทย์จะนัดตรวจเลือดหลังรับการรักษา 3 เดือนและ 6 เดือน และนัดตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามอาการของซิฟิลิสและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ 
  • สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตัวอื่นทดแทน

ทั้งนี้การใช้ยารักษาซิฟิลิสอาจจะมีผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ผู้ติดเชื้อควรระมัดระวังและป้องกันให้ดี และควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าผลเลือดจะเป็นลบ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อซิฟิลิสไปยังผู้อื่น 


วิธีการป้องกันซิฟิลิส ให้ห่างไกลจากโรค

วิธีการป้องกันซิฟิลิส

ในทางการแพทย์นั้น โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนการฉีดวัคซีน HPV แต่เราสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อซิฟิลิสได้ โดยยึดหลักการมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย เมื่อรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิฟิลิสก็ควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกันซิฟิลิส ดังนี้

  • สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการทำออรัลเซ็กส์ในบริเวณที่เป็นแผล
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย 
  • ไม่ใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีโอกาสที่จะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน
  • งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส
  • ตรวจสุขภาพประจำปี และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • สำหรับบุคคลที่ตั้งครรภ์ควรเข้าโปรแกรมฝากครรภ์ เพื่อตรวจเช็กโรคซิฟิลิส

สรุปเรื่องซิฟิลิส โรคติดต่อที่หายได้ หากรักษาถูกวิธี

โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าหากเราไม่รู้จักป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ให้ถูกต้องและปลอดภัย โดยเชื้อซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidumผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโดยตรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย การทำออรัลเซ็กส์ ทำให้เมื่อร่างกายได้รับเชื้อดังกล่าวก็จะแพร่กระจายไปยังระบบต่าง ๆ ของร่างกาย 

ในระยะแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการมาก อาจจะมีแค่ตุ่มนูนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ที่เรียกว่า ‘แผลริมแข็ง’ แล้วก็หายไปได้เองโดยที่ไม่ต้องรักษา ส่วนมากผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสจะรู้ตัวว่าตนเองได้รับเชื้อก็เข้าขั้นระยะ 2 ที่เรียกว่า ‘ระยะออกดอก’ 

หากได้รับการรักษาภายในระยะนี้ก็สามารถหายขาดได้ โดยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ได้รับการดูแลโดยแพทย์ และโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัย ได้รับมาตรฐานทางสากล อย่างเช่น โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ที่พร้อมดูแลผู้ติดเชื้อซิฟิลิส โดยให้บริการด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรค 

นอกจากนี้โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ยังมีบริการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ซึ่งรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคHPV โรคเริมมะเร็งทวารหนัก หรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค เช่น หนองในตกขาว มีเชื้อราในช่องคลอด ก็สามารถมาปรึกษากับแพทย์ได้โดยตรง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามข้อมูลด้านล่าง

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​