บทความสุขภาพ

ฉีดวัคซีน HPV สำคัญกว่าที่คิด ป้องกันให้ดีก่อนสายเกินไป

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

วัคซีน HPV

ในบรรดาคุณผู้หญิงคงจะเคยได้ยินหรือรู้จักโรคมะเร็งปากมดลูกกันมาบ้าง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV บริเวณปากมดลูกจนเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง โดยการติดเชื้อ HPV จะสามารถสังเกตได้ว่าตกขาวมีกลิ่นเหม็น, มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการแสบร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ และอย่างที่เราทราบกันดีว่าวิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัสนั้นสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน ดังนั้น วัคซีนที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ก็คือวัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง


สารบัญบทความ


ทำความรู้จักกับวัคซีน HPV คืออะไร?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีน HPV คือ วัคซีนที่มีหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทางช่องคลอด, ติดต่อทางทวารหนัก, ติดต่อทางปาก หรือแม้แต่อวัยวะเพศชายก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ ซึ่งวัคซีนนั้นจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส HPV ได้อีกด้วย เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งช่องคลอด, โรคมะเร็งช่องปาก, โรคมะเร็งทวารหนัก หรือหูดที่อวัยวะเพศ เป็นต้น


ทำไมเราถึงควรฉีดวัคซีน HPV?

ทำต้องฉีดวัคซีน HPV

วัคซีน HPV นั้นเป็นวัคซีนที่ควรฉีด เนื่องจากในปัจจุบันนี้ยังไม่มียาที่จะสามารถกำจัดไวรัส HPV ได้ และยังไม่มียาที่สามารถรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ HPV โดยตรง จึงควรที่จะฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส HPV 

โดยวัคซีน HPV ไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้เท่านั้น แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งทวารหนัก, โรคมะเร็งช่องคลอด, โรคมะเร็งช่องปาก รวมไปถึงหูดที่อวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เรียนรู้จักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่บทความ “หนองในคืออะไร?” และ “เริม อันตรายหรือไม่?”


วัคซีน HPV มีกี่ชนิด?

สำหรับวัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั้นในปัจจุบันนี้มีอยู่ทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ชนิด CERVARIX, ชนิด GARDESIL และชนิด Human Papillomavirus 9 - Valent Vaccine โดยวัคซีน HPV ทั้ง 3 ชนิดนี้จะมีความแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์เชื้อไวรัส HPV ที่สามารถป้องกันได้นั่นเอง

CERVARIX

วัคซีน HPV ชนิด CERVARIX เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ 2 สายพันธุ์ นั้นก็คือเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ 70%

GARDASIL

วัคซีน HPV ชนิด GARDASIL เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ 4 สายพันธุ์ นั้นก็คือเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16, 18, 6 และสายพันธุ์ 11 ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ 90%

Human Papillomavirus 9 – Valent Vaccine

วัคซีน HPV ชนิด Human Papillomavirus 9 - Valent Vaccine เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ 9 สายพันธุ์ นั้นก็คือเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58, 6 และสายพันธุ์ 11 ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 99%


เราควรฉีดวัคซีน HPV เมื่อไหร่?

เราควรฉีดวัคซีน HPV เมื่อไหร่?

การฉีดวัคซีน HPV ให้เกิดประสิทธิภาพดีที่สุดนั้นควรเลือกฉีดตอนที่ร่างกายยังอยู่ในช่วงวัยที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งช่วงวัยที่เหมาะแก่การฉีดวัคซีน HPV มากที่สุดนั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 9 ปีขึ้นไป โดยผู้หญิงจะสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้จนถึงอายุ 45 ปี และในส่วนของผู้ชายจะสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้จนถึงอายุ 45 ปีเช่นเดียวกัน แต่หากฉีดวัคซีนก่อนอายุ 26 ปีจะดีที่สุด


ข้อดีของการฉีดวัคซีน HPV 

การฉีดวัคซีน HPV หรือการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั้นมีข้อดีอยู่มากมายทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทุกเพศเท่านั้น แต่ยังสามารถฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย 

นอกจากนี้การฉีดวัคซีน HPV ยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย โดยจะมีเพียงแค่อาการปวด, บวม, คัน, มีไข้, คลื่นไส้, อาเจียน และปวดศีรษะ ซึ่งสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรับการรักษา


การฉีดวัคซีน HPV เหมาะและไม่เหมาะกับใครบ้าง?

สำหรับผู้ใดที่มีความกังวล หรือไม่มั่นใจว่าตนเองเหมาะที่จะฉีดวัคซีน HPV หรือไม่ ในหัวข้อนี้เราก็ได้ทำการรวบรวมคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้ที่เหมาะและไม่เหมาะกับการฉีดวัคซีนไวด้านล่างนี้แล้ว

ผู้ที่เหมาะกับการฉีดวัคซีน HPV

  • ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 9-26 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้ที่เคยผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมีผลตรวจผิดปกติ
  • ผู้ที่เคยผ่านการตรวจ HPV Testing และมีผลตรวจผิดปกติ
  • ผู้ที่เคยเป็นหูดบริเวณอวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่
  • ผู้ที่เคยเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งบริเวณปากมดลูก
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนก่อนที่จะมีความเสี่ยงติดเชื้อ HPV จะสามารถป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าฉีดวัคซีน HPV หลังตรวจ HPV Testing หรือตรวจมะเร็งปากมดลูกแล้วพบความผิดปกติ

ผู้ที่ไม่เหมาะกับการฉีดวัคซีน HPV

  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ Yeast (วัคซีนยี่ห้อ Gardasil และ Gadasil9)
  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนขั้นรุนแรง
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิไวเกินต่อสารประกอบในวัคซีน

ฉีดวัคซีน HPV ราคาเท่าไหร่?

ราคาวัคซีน HPV นั้นจะมีช่วงราคาที่แตกต่างกันไปตามชนิดของวัคซีน HPV ที่เลือก 

  • วัคซีนชนิด CERVARIX ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 6,800 บาท 
  • วัคซีนชนิด GARDASIL ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 7,800 บาท 
  • วัคซีนชนิด Human Papillomavirus 9 - Valent Vaccine ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 19,000 บาท 

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังจากฉีดวัคซีน HPV

ผลข้างเคียงจากฉีดวัคซีน HPV

การฉีดวัคซีน HPV นั้นมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ทั้งยังสามารถหายได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลในส่วนของผลข้างเคียงเท่าไหร่นัก แต่ในผู้ที่รับวัคซีนบางรายอาจพบผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน HPV มีดังนี้

  • ปวด
  • บวมแดง
  • คัน 
  • มีไข้
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดศีรษะ

ข้อแนะนำหลังการฉีดวัคซีน HPV

สำหรับการฉีดวัคซีน HPV นั้นแม้ว่าจะมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย แต่ก็ควรใส่ใจและปฏิบัติตามข้อแนะนำหลังจากที่ฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วเช่นกัน เพื่อให้วัคซีนที่ฉีดเข้าไปมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยข้อแนะนำหลังการฉีดมีอยู่ดังนี้

  • หลังจากฉีดควรนอนพักสังเกตอาการของตนเองจนกว่าจะครบ 30 นาที
  • หลังจากฉีดวัคซีนไม่ควรเดินทางกลับด้วยตัวคนเดียว ควรพาเพื่อนหรือผู้ปกครองมาด้วย
  • ขงดการออกกำลังกายอย่างน้อย 1 วัน
  • ขหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ควรป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV อีกขั้นด้วยการสวมใส่ถุงยางอนามัยหรือการมีคู่นอนเพียงคนเดียว
  • หลังจากที่ฉีดวัคซีน HPV จนครบตามจำนวนเข็มที่กำหนดแล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามที่แพทย์นัดหรือเมื่อถึงวัยอันควร
  • ในกรณีที่ยังฉีดวัคซีน HPV ไม่ครบตามจำนวนเข็มที่กำหนด ควรมีการคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัดจนกว่าจะฉีดวัคซีนครบไปแล้ว 1 เดือน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV

ควรฉีดวัคซีน HPV ต่อเนื่องกี่ครั้ง?

การฉีดวัคซีน HPV ควรฉีดต่อเนื่องกันทั้งหมด 3 ครั้งหรือ 3 เข็ม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส HPV อย่างดีที่สุด โดยการฉีดวัคซีน HPV ครั้งแรกจะฉีดในวันที่เลือกหรือกำหนดไว้ ส่วนการฉีดวัคซีน ครั้งที่สองจะฉีดห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และสำหรับการฉีดครั้งที่สามนั้นจะฉีดห่างจากครั้งแรก 6 เดือน

แต่ในกรณีที่ฉีดวัคซีน HPV ครั้งแรกก่อนอายุ 15 ปีก็จะฉีดวัคซีน HPV ต่อเนื่องเพียง 2 ครั้งเท่านั้น โดยการฉีดวัคซีนครั้งที่สองในกรณีนี้จะฉีดห่างจากครั้งแรก 6-12 เดือน

ฉีดวัคซีน HPV แล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกมั้ย?

ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีน HPV จนครบตามจำนวนเข็มที่กำหนดไปแล้ว แต่เมื่อถึงวัยอันควรก็ยังคงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ


สรุปเรื่องวัคซีน HPV

การฉีดวัคซีน HPV ไม่เพียงแต่จำเป็นต่อผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต่อผู้ชายด้วยเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV เองก็รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งช่องปาก รวมไปถึงหูดหงอนไก่ที่สามารถพบได้ในผู้ชาย

หากคุณกำลังมองหาศูนย์ฉีดวัคซีน HPV อยู่ เราขอแนะนำศูนย์วัคซีน สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพราะไม่เพียงแค่มีบริการฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ยังมีบริการให้คำปรึกษาเรื่องวัคซีนสำหรับเด็ก, ผู้ใหญ่, ผู้หญิง, ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่าง ๆ อีกด้วย

สนใจสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

  • Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

References

Mayo Clinic Staff. (2023, August 25). HPV vaccine: Who needs it, how it works. mayoclinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hpv-infection/in-depth/hpv-vaccine/art-20047292

Cleveland Clinic medical professional. (2023, September 11). HPV Vaccine: Age, Schedule, Importance & Side Effects. clevelandclinic. https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/21613-hpv-vaccine

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​