บทความสุขภาพ

หนองใน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อันดับหนึ่ง! สำรวจทุกข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับหนองใน

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

หนองใน

หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย ถึงแม้ว่าหนองในจะไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนกับโรคอื่น ๆ อย่างเช่นวัคซีน HPV แต่อาการหนองในก็สามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โรคหนองในก็อาจลุกลามจนก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย จึงเป็นโรคที่ควรให้ความสำคัญและรักษาอย่างเร่งด่วน


สารบัญบทความ


หนองใน (Gonorrhea) คืออะไร?

หนองใน คือ หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบมากที่สุดถึง 40-50% มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิสพยาธิในช่องคลอด หรือมะเร็งทวารหนัก โดยหนองในแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • หนองในแท้เกิดจากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ มีรูปร่างกลม และอยู่เป็นคู่ มักอาศัยอยู่ตามอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือทางปาก สามารถติดเชื้อได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะไม่มีการหลั่ง แต่หากสัมผัสถูกหนองก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน
  • หนองในเทียมเกิดจากเชื้อ Chlamydia trachomatis เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบเช่นเดียวกับหนองในแท้ พบได้ในน้ำอสุจิ และเยื่อเมือกช่องคลอด สามารถติดเชื้อได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลักเช่นเดียวกัน

สาเหตุของหนองในคืออะไร?

หนองในเกิดจากอะไร

หนองในเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศ ดังนั้น จึงแพร่กระจายได้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งแม้ไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็แพร่เชื้อได้ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศที่ติดเชื้อ โดยมักเกิดกับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน และมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรค


อาการของหนองในเป็นอย่างไร?

เมื่อเป็นหนองใน อาการของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันไป โดยมีลักษณะทั่วไปที่พบบ่อย ดังนี้

อาการของหนองในที่พบในเพศหญิง

หนองในผู้หญิงอาจเจอได้ทั้งรูปแบบมีอาการและไม่มีอาการ โดยเฉพาะหนองในเทียมในผู้หญิงบางคนอาจไม่แสดงอาการเป็นเดือน โดยมีอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ตกขาวผิดปกติ หรือมีกลิ่นเหม็น
  • เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ 
  • ปวดท้องน้อยบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • คันช่องคลอด
  • ปัสสาวะแสบขัด มีสีขุ่น

อาการของหนองในที่พบในเพศชาย

โดยส่วนใหญ่หนองในผู้ชายอาการมักสังเกตเห็นหลังได้รับเชื้อ 3-5 วัน ซึ่งหากไม่ได้รับยาแก้หนองในเชื้ออาจลุกลามได้ โดยหนองในอาการผู้ชายที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะแสบขัด มีสีขุ่น
  • มีหนองออกมาจากท่อปัสสาวะชาย
  • ลูกอัณฑะมีลักษณะบวม
  • มีสารคัดหลั่งจากทวารหนัก

อาการหนองในแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?

เมื่อเริ่มมีอาการปวด ปัสสาวะแสบขัด หรือมีผื่นแถวอวัยวะเพศ ควรงดมีเพศสัมพันธ์และไปพบแพทย์ทันที ซึ่งหากเป็นหนองในควรรักษาและกินยารักษาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควรแจ้งคู่นอนให้ไปทำการตรวจและรักษา


ภาวะแทรกซ้อนจากหนองในมีอะไรบ้าง อันตรายมากแค่ไหน?

ภาวะแทรกซ้อนจากหนองใน

การติดเชื้อหนองในแท้หนองในเทียมไม่เพียงสร้างปัญหาสุขภาพทางเพศเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนได้ โดยภาวะแทรกบ่อยที่เกิดขึ้นบ่อย มีดังนี้ 

  • การติดเชื้อในกระแสเลือดและโรคข้ออักเสบ
  • หนองในมักทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น
  • ภาวะลูกอัณฑะอักเสบที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก 
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบและอาจนำมาซึ่งการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • การคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร 
  • ทารกอาจเยื่อบุตาอักเสบถ้าคลอดตอนแม่ติดเชื้อหนองใน

โดยหากสงสัยว่าตนเองหรือคู่นอนติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อหาวิธีรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา


การตรวจวินิจฉัยหนองใน

การตรวจวินิจฉัยหนองใน มีวิธีดังนี้

  • เก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณปากมดลูกของผู้หญิง ซึ่งแพทย์จะใช้อุปกรณ์เก็บของเหลวแล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อย้อมแกรม (gram stain) ตรวจหาเชื้อ (Nucleic acid amplification tests; NAAT)
  • ตรวจปัสสาวะในผู้ชาย โดยส่งตัวอย่างตรวจด้วยวิธีย้อมแกรมและตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย (polymerase chain reaction : PCR) เช่นเดียวกับแบบแรก

การรักษาหนองใน สามารถทำอย่างไรได้บ้าง?

เมื่อไปพบแพทย์และพบว่าเป็นหนองใน ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังคู่นอน โดยแพทย์จะทำการรักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ 1 ครั้ง และรักษาร่วมกับการรับประทานยาต่อเนื่อง หลังรักษาควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอหากไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที 

และเนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อหนองใน มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ จึงควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หลังรักษาครบ 3 เดือน


วิธีการป้องกันหนองในแบบเบื้องต้นที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

วิธีป้องกันหนองใน

หลังรู้แล้วว่าหนองในเกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง ต่อไปก็มาดูวิธีป้องกันที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งก็มีวิธีดังนี้ 

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ 
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก หรือมีประวัติเสี่ยง
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี
  • รักษาความสะอาดอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ 

วิธีการปฏิบัติตัวขณะเป็นหนองใน ควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหนองในก็มีวิธีการปฏิบัติขณะรักษาตัว ดังนี้

  • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วัน
  • แยกใช้ห้องน้ำและอุปกรณ์ส่วนตัวกับผู้อื่น
  • รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศ
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หากมีอาการอักเสบหรือปวดรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


สรุปเรื่องหนองใน รู้ทัน ป้องกันได้ รักษาหาย!

หนองในสามารถป้องกันได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และควรต้องเข้ารับการรักษาทันทีหากตรวจพบว่าติดเชื้อ 

ถ้าหากคุณมีข้อสงสัยเรื่องสุขภาพ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ซึ่งมีพร้อมทั้งทีมแพทย์และบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยสามารถติดต่อได้ที่ Line : @samitivejchinatown หรือโทร 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง


References
 

STD Facts - Gonorrhea. (n.d.). https://www.cdc.gov/std/gonorrhea/stdfact-gonorrhea.htm

What is gonorrhea & how do you get it? (n.d.). Planned Parenthood. https://www.plannedparenthood.org/learn/stds-hiv-safer-sex/gonorrhea

 Smith, L. (2024, January 11). What to know about gonorrhea. MedicalNewsToday .https://www.medicalnewstoday.com/articles/155653

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​