บทความสุขภาพ

ผู้หญิงพึงระวัง อาการปัสสาวะเล็ด เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม?

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 6 กรกฎาคม 2567

ปัสสาวะเล็ด

ปัสสาวะเล็ด ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลย เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ระหว่างวัน ปัสสาวะเล็ดตอนนอน ความรู้สึกไม่สบายตัว กังวลเรื่องกลิ่นและความสะอาด จนพาลรู้สึกไม่มั่นใจในทุกอิริยาบถ 

หากมีอาการฉี่เล็ดฉี่หยด อย่าปล่อยทิ้งเอาไว้นาน เนื่องจากการปัสสาวะเล็ดบ่อย ๆ อาจทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในอนาคต โดยเราจะรักษาอาการปัสสาวะเล็ดได้อย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ไปทำความรู้จักอาการนี้ให้ดีขึ้น เพื่อรับมือได้อย่างถูกต้องกัน


สารบัญบทความ


ปัสสาวะเล็ด คืออะไร? แบ่งเป็นกี่ประเภท?

ปัญหาปัสสาวะเล็ด เป็นความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการขับปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน หรือมีการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันของกระเพาะปัสสาวะและหูรูด ส่งผลให้มีน้ำปัสสาวะไหลซึมออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ 

โดยส่วนมากจะพบอาการปัสสาวะเล็ดในผู้หญิงสูงอายุ หรืออายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีโอกาสลดลงจนหย่อนตัว และไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดแรงดันในช่องท้องมากกว่าปกติ จึงทำให้กลั้นปัสสาวะได้ยาก

ทั้งนี้อาการฉี่เล็ดก็สามารถพบได้ในผู้หญิงอายุน้อยเช่นกัน หากยกของหนักเป็นประจำ หรือเป็นโรคอ้วน โดยอาการปัสสาวะเล็ดแบ่งเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

  • ปัสสาวะเล็ดจากแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence; SUI) เป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เมื่อมีแรงดันเพิ่มในช่องท้อง จนไปกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง เช่น มีฉี่เล็ดเวลาไอ จาม ยกของหนัก เดิน หรือวิ่ง เป็นต้น
  • ปัสสาวะราด (Urge Urinary Incontinence; UUI) เกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน จนรู้สึกปวดขึ้นมาแบบฉับพลัน ทว่าไปไม่ถึงห้องน้ำ จึงไม่ใช่แค่ปัสสาวะเล็ด แต่ราดออกมา เนื่องจากกลั้นไม่ได้ และไหลออกมาจนหมดอย่างควบคุมไม่อยู่
  • ปัสสาวะเล็ดราด (Mixed Urinary Incontinence; MUI) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยเป็นทั้งปัสสาวะเล็ดและราดร่วมกัน โดยขณะที่ออกแรง เช่น ไอ จาม จะมีปัสสาวะเล็ด หรือรู้สึกปวดเฉียบพลันจนฉี่ราดออกมาทันที 
  • ปัสสาวะล้น (Overflow Urinary Incontinence) เกิดจากการมีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ แต่ผู้ป่วยไม่สามารถอั้นได้ ทำให้ฉี่เล็ดบ่อยหรือแทบตลอดเวลาโดยไม่ได้ตั้งใจ

อาการปัสสาวะเล็ด ปัญหากวนใจที่ใครก็ไม่อยากเป็น

ปัสสาวะเล็ด คืออาการของคนที่ไม่สามารถควบคุมหรือกลั้นฉี่ได้ เมื่อมีการไอจาม หรือออกแรง อาจมีปัสสาวะเล็ดออกมา โดยปริมาณน้ำอาจมีลักษณะแบบฉี่ปริบหรือราดออกมาจนหมดกระเพาะปัสสาวะ โดยอาการฉี่ชอบเล็ดมักมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • ตามปกติคนเราจะปัสสาวะไม่เกิน 8 ครั้งต่อวัน หากมีภาวะปัสสาวะเล็ด มักมีอาการปัสสาวะบ่อย คือ มากกว่า 8 ครั้งต่อวันร่วมด้วย
  • มีอาการปัสสาวะเล็ดตอนกลางคืน อาจต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ หรือปัสสาวะรดที่นอน
  • หากปัสสาวะเล็ดเรื้อรัง อาจเสี่ยงติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ ได้

หากมีอาการปัสสาวะเล็ดควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะเป็นอาการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เสี่ยงติดเชื้อจนเรื้อรัง อีกทั้งยังกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ หรือหากปัสสาวะเล็ดในช่วงอายุที่สูงวัยแล้ว มีโรคประจำตัวมาก อาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ลูกหลานที่ต้องคอยดูแล จึงควรเข้ารักษาแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด โดยควรหมั่นตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อคัดกรองโรคได้อย่างทันท่วงที


สาเหตุอาการปัสสาวะเล็ดที่ควรรู้ 

ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัสสาวะเล็ด เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอาหารหรือยาบางชนิด กิจกรรมในแต่ละวัน และอาการเจ็บป่วยจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด ยกตัวอย่างเช่น

  • อาหารที่อาจทำให้ปัสสาวะเล็ด ได้แก่ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม คาเฟอีน รวมถึงยารักษาโรคหัวใจ ความดันโลหิต ยากล่อมประสาท และยาคลายกล้ามเนื้อ
  • อายุมากขึ้น กระเพาะปัสสาวะจะจุได้น้อยลง แต่มีการบีบตัวมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุได้
  • ปัสสาวะเล็ดตอนตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้กล้ามเนื้อ หูรูด และเส้นเอ็นบริเวณกระเพาะปัสสาวะ คลายตัวมากจนคุมการฉี่ได้ยากขึ้น และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ยังเป็นสาเหตุของเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งอาจมีอาการคันช่องคลอดร่วมด้วย
  • การเติบโตของทารกในครรภ์ อาจไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ เมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ คนท้องจึงปัสสาวะเล็ดง่าย
  • มดลูกหย่อน จนลงมากดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเล็ดง่าย มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมอ่อนแอ 
  • ต่อมลูกหมากมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็มีผลต่อการปัสสาวะเล็ดราดในผู้ชาย ทั้งนี้ การรักษาโรคดังกล่าว อาจทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถทำ Shock wave เพศชาย เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาปึ๋งปั๋งอีกครั้ง

วินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ด 

การวินิจฉัยปัสสาวะเล็ด แพทย์จะทำการตรวจร่างกายในส่วนที่เกี่ยวข้องหลายจุด เช่น 

  • การคลำบริเวณหน้าท้อง ว่าสามารถจับถึงกระเพาะปัสสาวะที่โป่งออกมาหรือมีก้อนเนื้อใดหรือไม่ 
  • ตรวจระบบประสาท 
  • ตรวจบริเวณหลังว่ามีการคดงอหรือร่องรอยการผ่าตัดไหม
  • สำหรับเพศหญิง บางรายอาจมีความจำเป็นต้องตรวจประเมินภาวะช่องคลอดตึง ความหย่อนของอุ้งเชิงกรานหรือมีอาการมดลูกหย่อนหรือไม่ ซึ่งอาการมดลูกหย่อน สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกวนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากปัสสาวะเล็ดได้ เช่น ตกขาวมากขึ้น หรือมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น
  • ส่วนอาการปัสสาวะเล็ดในผู้ชาย จะตรวจผ่านทางทวารหนัก เพื่อดูว่าต่อมลูกหมากโตจนขวางทางเดินปัสสาวะหรือไม่ รวมถึงกลไกการทำงานของหูรูดด้วย 
  • แพทย์อาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น ได้แก่ ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ อัตราซาวนด์ช่องท้อง การตรวจปัสสาวะ และการตรวจปัสสาวะพลวัตซึ่งสามารถประเมินการทำงานของท่อปัสสาวะ การยืดหดของกระเพาะปัสสาวะ และช่วยยืนยันภาวะปัสสาวะเล็ดจากการออกแรงได้ 

รวม 4 วิธีรักษาอาการปัสสาวะเล็ด 

การรักษาปัสสาวะเล็ด ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง ไปจนถึงการผ่าตัดที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

หากอาการปัสสาวะเล็ดไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยการฝึกขมิบช่องคลอดแก้ปัสสาวะเล็ด หรือที่เรียกว่าคีเกล (Kegel) ได้ ทำ 30 ครั้งขึ้นไปต่อวัน โดยจับเวลาการขมิบให้สามารถเกร็งถึง 10 วินาที หากยากเกินไป ให้เริ่มจาก 2 วินาทีก่อน แล้วจึงไต่ระดับความยากขึ้นไป จะเห็นผลดี 40-60% หลังทำ 3-6 เดือน แต่หากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานกลับมาอ่อนแอก็มีโอกาสที่จะกลับมาปัสสาวะเล็ดอีกได้

รักษาโดยการทานยา

ยาที่แก้ปัสสาวะเล็ด ได้แก่ ยากลุ่ม Alpha-blocker เป็นวิธีแก้ปัสสาวะเล็ดในผู้ชายอีกวิธีหนึ่ง โดยจะเข้าไปคลายกล้ามเนื้อคอกระเพาะปัสสาวะ ให้ฉี่หมดง่ายขึ้น หรือยาเอสโตรเจนชนิดทาเฉพาะที่ของผู้หญิงที่ใช้แก้ปัสสาวะเล็ด ด้วยการฟื้นฟูเนื้อเยื่อในทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด นอกจากนี้ยากลุ่ม Anticholinergic และยามิราเบกรอน (Mirabegron) ก็ช่วยรักษาได้เช่นกัน

รักษาโดยวิธีการผ่าตัด

วิธีแก้ปัสสาวะเล็ดที่จะใช้ต่อมา หากวิธีอื่นไม่ได้ผล ก็คือการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายเทคนิค เช่น การผ่าตัดด้วยสายคล้อง, การผ่าตัดแก้ไขการหย่อนตัว, การผ่าตัดใส่หูรูดท่อปัสสาวะเทียม และผ่าตัดยกเนื้อเยื่อรอบคอกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

รักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการทำ BTL EMSELLA

เก้าอี้ Emsella เป็นเทคโนโลยีที่สามารถรักษาปัสสาวะเล็ดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความเข้มข้นสูงแบบเฉพาะเจาะจง (HIFEM) ช่วยให้กล้ามเนื้อหย่อนคล้อยกลับมากระชับ นั่งเพียง 28 นาที เทียบเท่าการขมิบถึง 11,200 ครั้ง 

ระหว่างทำไม่ต้องถอดเสื้อผ้า แต่ควรสวมใส่ชุดที่กระชับกับร่างกาย ไม่หลวมหรือโคร่งเกินไป หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่มีวัสดุเป็นโลหะ ไม่เหมาะกับคนตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เนื้องอก เลือดแข็งตัวช้า หากสนใจรับบริการที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ ปัจจุบันมีโปรโมชัน ดังนี้

  • คอร์ส 6 ครั้ง จาก 15,000 บาท เหลือเพียง 11,250 บาท
  • คอร์ส 9 ครั้ง จาก 20,250 บาท เหลือเพียง 14,900 บาท
  • คอร์ส 12 ครั้ง จาก 24,000 บาท เหลือเพียง 16,900 บาท

วิธีป้องกันปัสสาวะเล็ด รู้ไว้ห่างไกลโรค

การป้องกันปัสสาวะเล็ด สามารถปฏิบัติได้ตามนี้ 

  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำและต่อเนื่อง
  • ไม่กลั้นปัสสาวะ เมื่อปวดให้เข้าห้องน้ำทันที
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  • ตรวจร่างกายผู้ชายและตรวจสุขภาพผู้หญิงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ

สรุป ปัสสาวะเล็ด เรื่องไม่เล็กที่ควรรักษา

ปัสสาวะเล็ด คืออาการที่ปัสสาวะไหลซึมออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น อายุ การตั้งครรภ์ มดลูกหย่อน ต่อมลูกหมากโต ฯลฯ หากมีอาการฉี่บ่อยเกิน 8 ครั้งต่อวัน ปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม กลั้นฉี่ไม่ได้ และต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหลายครั้ง ควรไปพบแพทย์หรือมาที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพื่อวินิจฉัยอาการว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และควรใช้แนวทางไหนในการรักษาจึงจะตรงจุดมากที่สุด

สอบถามรายละเอียด 

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์

Line : @samitivejchinatown

Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


References

Shenot, PJ. (2023). Urinary Incontinence in Adults. Msd manuals. https://www.msdmanuals.com/home/kidney-and-urinary-tract-disorders/disorders-of-urination/urinary-incontinence-in-adults

Newma, T. (2017, December 14). Urinary incontinence: What you need to know. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/165408

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​