บทความสุขภาพ

อาการคันช่องคลอด ปัญหากวนใจที่ไม่ควรปล่อยไว้

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 15 พฤษภาคม 2567

คันช่องคลอด

คันช่องคลอดเป็นหนึ่งในอาการที่ผู้คนบางส่วนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่กลับเป็นหนึ่งในอาการของโรคต่าง ๆ ที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น หรืออาจเป็นอาการของโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นหากพบอาการคันช่องคลอดหรือมีความผิดปกติเพิ่มเติมควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตตนเองและบุคคลรอบข้าง


สารบัญบทความ


ทำความรู้จักกับอาการคันช่องคลอดคืออะไร? 

คันช่องคลอด (Vaginal Itching) เป็นอาการคันอวัยวะเพศหญิง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณรอบนอกช่องคลอดและภายในช่องคลอดขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น การติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา พยาธิ หรือว่าอาจเกิดอาการคันจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วย 


อาการคันช่องคลอดมีสาเหตุจากอะไร

อาการคันช่องคลอดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณภายนอกและภายใน โดยอาการคันแต่ละบริเวณอาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

สาเหตุของอาการคันภายในช่องคลอด 

อาการคันในช่องคลอดส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อภายใน แต่ก็จะมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้รู้สึกคันช่องคลอดได้ ดังนี้

  • เชื้อแบคทีเรีย

โดยปกติภายในช่องคลอดจะมีเชื้อแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสซึ่งคอยทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียไม่ดีอยู่ แต่ถ้าปริมาณแบคทีเรียดีลดลงก็จะส่งผลให้สภาพภายในช่องคลอดไม่สมดุล มีโอกาสที่เชื้อก่อโรคเจริญเติบโตและทำให้รู้สึกคันช่องคลอดได้

  • เชื้อที่รับจากการมีเพศสัมพันธ์

กรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใส่ถุงยางก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น เช่น โรคหนองใน โรคพยาธิในช่องคลอด ซึ่งโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการคันในช่องคลอด

  • เชื้อรา

อาการคันตรงช่องคลอดเกิดจากเชื้อรา Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อที่แต่เดิมมีอยู่ในร่างกายในปริมาณน้อย แต่ถูกสิ่งต่าง ๆ กระตุ้นจนทำให้เชื้อรามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ จนนำไปสู่โรคเชื้อราในช่องคลอดได้

  • สิ่งแปลกปลอม

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมตกค้างอยู่ภายในช่องคลอด จะส่งผลทำให้รู้สึกระคายเคือง คันช่องคลอด และอาจนำไปสู่อาการอักเสบและติดเชื้อเพิ่มหากไม่นำสิ่งแปลกปลอมออกไป

สาเหตุของอาการคันภายนอกช่องคลอด

อาการคันภายนอกช่องคลอดที่มักพบเกิดจากสาเหตุดังนี้

  • การเสียดสี

หากใส่กางเกงในเนื้อผ้าแข็งหรือใส่ผ้าอนามัย อาจไปเสียดสีทำให้รู้สึกแสบคันรอบนอกอวัยวะเพศ และถ้ากางเกงในไม่สะอาดหรือใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดิมหลายชั่วโมงก็จะเกิดการหมักหมม ทำให้คันจุดซ่อนเร้นและตกขาวง่ายขึ้น

  • โกนขน

แม้ว่าการโกนขนบริเวณอวัยวะเพศจะช่วยดูแลความสะอาดง่ายขึ้น แต่เมื่อขนกลับมางอกใหม่อีกครั้ง ขนจะไปเสียดสีผิวทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือคันบริเวณกลีบและบริเวณใกล้เคียงได้

  • โรคต่าง ๆ 

กรณีเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ โรคเริม หรือมีอาการแพ้ก็จะทำให้คันบริเวณต่าง ๆ รวมถึงคันช่องคลอดได้ และถ้าในกรณีที่เป็นโรคมะเร็งปากช่องคลอด นอกจากจะมีอาการคันแล้ว อาจพบเลือดออกและอาจเจ็บปวดช่องคลอดด้วย


อาการคันช่องคลอดเป็นสัญญาณของโรคอะไรบ้าง?

หากมีอาการคันช่องคลอด มีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคดังนี้

  • โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติทำให้ผิวหนังมีผื่นแดงนูน มีสะเก็ดสีขาวบนผื่นหลุดลอก สามารถขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงบริเวณอวัยวะเพศที่มีการเสียดสีเป็นประจำได้

  • โรคผิวหนังอักเสบ

โรคผิวหนังอักเสบสามารถเกิดจากหลายปัจจัย เช่น แบคทีเรีย, เชื้อไวรัส, เชื้อรา, ภูมิแพ้ และอื่น ๆ อีกมากมายไปกระตุ้นให้เกิดอาการคันช่องคลอดขึ้นมา

  • โรคมะเร็ง

โรคมะเร็งในที่นี้สามารถเป็นได้ทั้งมะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer) มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) และมะเร็งบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีอาการคันในช่องคลอดเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือน

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เริม มักจะมีผื่นแดงขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและอาจมีอาการคันตกขาวร่วมด้วย นอกจากนี้แล้วในกรณีที่ติดเชื้อ HIV ก็อาจพบอาการคันช่องคลอดได้ด้วยเช่นกัน


ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้จากอาการคันช่องคลอด

อาการคันช่องคลอดอาจพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ ร่วมด้วย ถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและหาสาเหตุของโรคต่อไป เช่น

  • ตกขาวผิดปกติ เช่น ปริมาณตกขาวเยอะ ตกขาวเหม็น ตกขาวสีต่างจากเดิม
  • มีอาการระคายเคือง แสบคันเวลาปัสสาวะ
  • ปวดบวม เป็นแผล มีตุ่มหรือผื่นขึ้น
  • ไข้ขึ้น
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์หรือมีเลือดออกในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน

การวินิจฉัยอาการคันช่องคลอดจากแพทย์ 

รักษาคันช่องคลอด

คันช่องคลอดเป็นหนึ่งในอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของหลายโรคด้วยกัน ดังนั้น แพทย์จะทำการวินิจฉัย หาสาเหตุว่าทำไมถึงมีอาการคันอวัยวะเพศหญิง ตามลำดับดังนี้

  • สอบถามประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียด ว่ามีโอกาสติดเชื้อจากปัจจัยใดบ้าง
  • ตรวจสภาพโดยรวมของช่องคลอด 
  • เก็บตัวอย่างของตกขาวที่อยู่ในช่องคลอดเพื่อส่งตรวจหาต้นตอของโรค

การรักษาอาการคันช่องคลอด

ในการรักษาอาการคันช่องคลอดแพทย์จะรักษาตามโรคที่เป็นอยู่เพื่อให้อาการหายไป เช่น

  • ผู้ที่มีอาการคันช่องคลอดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น Metronidazole
  • ผู้ที่มีอาการติดเชื้อหรือตกขาวจากเชื้อราจะใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น Fluconazole ในการรักษา
  • ผู้ที่มีอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอกอาจให้ทายากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น Hydrocortisone ร่วมด้วย
  • ผู้ที่มีอาการคันช่องคลอดจากการแพ้ แพทย์จะให้ยาแก้แพ้มาทาน
  • ผู้ที่มีอาการคันตรงช่องคลอดจากสิ่งแปลกปลอมที่หลงเหลือภายใน แพทย์จะนำสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกก่อนพร้อมให้ยาอื่น ๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้เมื่อคันช่องคลอดหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยไม่ควรหาซื้อยามาทาหรือทานเอง เพราะอาจเป็นการรักษาไม่ตรงจุดและทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้


วิธีการดูแลตนเองหากมีอาการคันช่องคลอด

เมื่อคันช่องคลอด นอกจากจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อช่วยให้อาการคันดีขึ้นด้วย ดังนี้

  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบ ไม่ซื้อยาอื่น ๆ มาใช้หรือหยุดยาเอง
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดอวัยวะเพศหรือจุดซ่อนเร้นทุกครั้ง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยนต่อผิว
  • หลังทำความสะอาดอวัยวะเพศเสร็จแล้วให้ใช้กระดาษซับน้ำที่เกาะบนอวัยวะเพศและรอบ ๆ ให้แห้งสนิท
  • พยายามไม่แกะหรือเกาเมื่อรู้สึกคันช่องคลอด
  • ใส่กางเกงและกางเกงในที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดีเพื่อไม่ให้บริเวณอวัยวะเพศอับชื้น
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงในกรณีที่มีอาการคันจากเชื้อราในช่องคลอด
  • งดมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว

วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดอาการคันช่องคลอด

ป้องกันอาการคันช่องคลอด

คุณสามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการคันช่องคลอดได้ ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนการแต่งตัว โดยเน้นใส่เสื้อผ้าเนื้อบางที่สามารถระบายอากาศได้ดี และไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป
  • ใส่เสื้อผ้าสะอาด ไม่ใส่กางเกงในซ้ำ
  • ในช่วงที่มีประจำเดือนให้เปลี่ยนผ้าอนามัยสม่ำเสมอ
  • ไม่สวนล้างช่องคลอดบ่อยจนเกินไป
  • รับประทานอาการที่มีประโยชน์ และทานอาหารที่มีแลคโตบาซิลลัส เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว จะช่วยให้ภายในช่องคลอดสมดุลมากขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักในอยู่ตามเกณฑ์
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และฉีดวัคซีน HPV เมื่ออายุถึงเกณฑ์ก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงการติดโรคที่ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
  • หากมีอาการแพ้ คันช่องคลอด ไม่ควรหาซื้อยาปฏิชีวนะมาทานเอง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการคันช่องคลอด

หากมีอาการคันช่องคลอดไม่ควรทานอะไรบ้าง?

เมื่อมีอาการคันช่องคลอด ไม่ว่าจะเป็นจากการติดเชื้อหรือว่ามีสิ่งแปลกปลอมทำให้ระคายเคืองหรือคันปากช่องคลอดควรหลีกเลี่ยงการทานอาหาร ดังนี้

  • อาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เพราะอาจจะทำให้คันมากขึ้น 
  • อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน ผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง น้ำชง เพราะน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารของเชื้อรา
  • อาหารแปรรูป แป้งขัดขาว และแอลกอฮอล์ 

อาการคันช่องคลอดสามารถหายเองได้ไหม?

อาการคันช่องคลอดสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทานยาแต่โอกาสหายเองมีน้อยมาก อีกทั้งคันช่องคลอดเป็นอาการที่จะรักษาให้หายดีไม่กลับมาเป็นซ้ำได้ถ้ารักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นเมื่อมีอาการควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาต้นตอและรักษาตามอาการของโรคต่อไป

อาการคันช่องคลอดในผู้หญิงตั้งครรภ์คืออะไร ต่างจากอาการคันช่องคลอดปกติอย่างไร?

ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคนอาจพบอาการคันช่องคลอดได้เช่นเดียวกันกับผู้หญิงทั่วไป แต่มีโอกาสคันช่องคลอดที่เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงสูงกว่าปกติ ทำให้เมื่อตั้งครรภ์มีอาการคัน ระคายเคืองช่องคลอด และยังมีโอกาสเกิดอาการตกขาวร่วมด้วย แต่ในกรณีที่มีตกขาวสีผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์ควรรีบเข้าพบแพทย์เพราะอาจเป็นตกขาวจากการติดเชื้อได้


สรุปเรื่องคันช่องคลอดรักษาที่ไหนดี

หากรู้สึกคันช่องคลอดอย่าปล่อยไว้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการและรับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาการคันช่องคลอดนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายต่าง ๆ มากมาย 

สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจหาสาเหตุของอาการคันช่องคลอด สามารถติดต่อสมิติเวช ไชน่าทาวน์เพื่อปรึกษาก่อนเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยเฉพาะได้ตามช่องทางดังนี้

ช่องทางการติดต่อ


References
 

Ellen, AE. & Santos-Longhurst, A. (2023, November 7). What to Know About Vaginal Itching. Healthline. https://www.healthline.com/health/vaginal-itching#causes

Cassata, C. (2022, October 20). What Is Vaginal Itching? Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment, and Prevention. Everyday Health. https://www.everydayhealth.com/vaginal-itching/guide/

ธนวิชญ์ พูลสิน. (11 มิถุนายน 2021). มะเร็งช่องคลอด (Vaginal Cancer). สูติศาสตร์ล้านนา. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/6931/

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​