บทความสุขภาพ

HIV คืออะไร ทำความเข้าใจเพื่อรู้เท่าทัน ป้องกันได้

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

HIV

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเผยข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2565 สถานการณ์ HIV ในประเทศไทย เรื่องแนวโน้มการแพร่ระบาดของ HIV ในประเทศไทยพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง 45% เมื่อนับจากปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา 

แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 9,230 คนต่อปี (เฉลี่ย 25 คนต่อวัน) ซึ่งช่องทางการรับและถ่ายทอดเชื้อ HIV ที่พบมากที่สุด มาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบชายกับชายอยู่ที่ 68% เนื่องจากในกลุ่มนี้มักคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการไม่ป้องกันนี้ นอกจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แล้วยังสามารถนำไปสู่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย และที่น่าเป็นห่วงคือ พบการติดเชื้อ HIV รายใหม่กว่าครึ่งเป็นเยาวชน ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความรู้ในการป้องกัน และการตระหนักถึงอันตรายจากการติดเชื้อ HIV

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมและความไม่ตระหนักถึงการป้องกัน เป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HIV สูงขึ้น จนนำไปสู่การติดเชื้อ HIV และมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ในระยะสุดท้าย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้หายขาด


สารบัญบทความ


HIV (Human Immunodeficiency Virus) คืออะไร?

HIV ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เมื่อเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเซลล์ CD4 เหล่านี้ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องลงเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษา ระดับ CD4 จะลดต่ำลงจนไม่สามารถต้านทานโรคต่าง ๆ ได้ ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงโรคเอดส์ (AIDS) 

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ (AIDS) และ HIV เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว HIV คือเชื้อไวรัสที่โจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วน AIDS คือ ผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคฉวยโอกาสเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงจากของการติดเชื้อ HIV  ซึ่งการติดเชื้อ HIV นั้นอาจยังไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของเราต่ำลงทันทีจนป่วยจากโรคฉวยโอกาส ถ้าหากมีการดูแล ป้องกัน และรักษาระดับของ CD4 ไว้ได้ การติดเชื้อ HIV ก็จะไม่พัฒนาต่อไปเป็นเอดส์ เพราะฉะนั้นผู้ติดเชื้อ HIV ทุกคนไม่ได้ป่วยเป็นเอดส์ด้วยเหตุผลดังกล่าว


สาเหตุการติดเชื้อ HIV เกิดจากอะไร? 

การติดเชื้อ HIV เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ HIV ในร่างกายอยู่แล้ว โดย HIV สาเหตุของการติดเชื้อสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่องทางหลัก ดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือช่องปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HIV
  • การแพร่เชื้อ HIV ทางเลือด เกิดได้โดยการรับเลือดที่มีเชื้อ HIV โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ยูนิต เมื่อสัมผัสกับเลือดที่ปนเปื้อน HIV จะมีโอกาสติดเชื้อ 92.5% โดยการติดเชื้อผ่านทางเลือดมักจะเกิดจากการถูกของมีคม การปลูกถ่ายอวัยวะ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติด การสัก และการเจาะร่างกาย 
  • การติดต่อจากแม่สู่ลูก หรือ HIV ในหญิงตั้งครรภ์ ทารกสามารถติดเชื้อ HIV จากแม่ได้ระหว่างตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรือให้นมบุตร

ระยะการติดเชื้อของ HIV

ผู้ติดเชื้อ HIV มีลักษณะอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อ HIV และระดับภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่ง HIV แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 Acute HIV

ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV หรือ Acute HIV ในระยะนี้ไวรัส HIV จะแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน จากนั้นจะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรามีการต่อสู้โดยเพิ่มจำนวน CD4 เช่นกัน การติดเชื้อในระยะแรกนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะยังไม่มีอาการผิดปกติปรากฏแต่อย่างใด หรืออาจมีเพียงแค่อาการคล้ายไข้หวัด 

นอกจากนั้น การตรวจเลือด HIV ในระยะนี้จะให้ผลบวกหลังรับเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ขึ้นไป หากตรวจเร็วไปอาจทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัส HIV จึงไม่ได้ป้องกันการแพร่กระจายของ HIV จนเป็นเหตุของการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ 

ซึ่งการรักษา HIV และการดูแลระยะนี้มีความสำคัญ เพราะสามารถช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ในระยะต้น หากรับประทานยาต้าน HIVเพื่อควบคุมได้ทัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ด้วย

ระยะที่ 2 Chronic HIV

ระยะติดเชื้อ HIV โดยไม่มีอาการ หรือ Chronic HIV ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการที่ชัดเจนหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สุขภาพโดยรวมจะเหมือนคนปกติ แต่หากตรวจเชื้อ HIV ก็จะพบผลบวก

ในระยะนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเริ่มถูกโจมตี เนื่องจากเชื้อไวรัส HIV จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ระดับของเชื้อไวรัส HIV ในเลือดจะสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าการติดเชื้อที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในระยะนี้ต้องรีบเข้ารับการรักษา HIV อย่างเร่งด่วนด้วยยาต้านไวรัส HIV เพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส

ระยะที่ 3 Progression to AIDS

ระยะโรคเอดส์ คือระยะที่ระบบภูมิต้านทานของผู้ติดเชื้อ HIV ถูกทำลายอย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่ภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการติดเชื้อโรคที่มักไม่เป็นในคนปกติ หรือเรียกกันว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection: OI) เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ, เยื่อหุ้ม, สมองอักเสบ, มะเร็งหลอดเลือด, มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น


อาการของผู้ติดเชื้อ HIV

hiv negative คือ

อาการของผู้ติดเชื้อ HIV ในแต่ละระยะมี ดังนี้

ระยะที่ 1 Acute HIV

ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV มักเกิดขึ้น 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ในช่วงนี้ร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อไวรัส HIV เรียกว่า ภาวะ Acute retroviral syndrome (ARS) ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้, ปวดศีรษะ, มีผื่นขึ้นบนผิวหนัง และอาจมีอาการบวมหรืออักเสบบริเวณต่อมน้ำเหลืองในคอ อาการเหล่านี้อาจหายไปเองหลังจากไม่กี่สัปดาห์

ระยะที่ 2 Chronic HIV

ระยะที่ 2 Chronic HIV เรียกอีกอย่างว่า การติดเชื้อ HIV ที่ไม่มีอาการหรือระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) ระยะนี้สามารถเกิดขึ้นในช่วง 5-10 ปีหลังจากการติดเชื้อ HIV ความรุนแรงของอาการในระยะนี้จะมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล 

โดยในระยะนี้สามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 อาการย่อย

  • อาการเล็กน้อย ในระยะนี้สามารถตรวจระดับ CD4 พบมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งอาการที่พบ ได้แก่ มีไข้, อาการปวดใบหน้า, น้ำมูกไหลข้างเดียว, ฝ้าขาวที่ลิ้น, มีผื่นเล็กบนผิวหนัง และเจ็บคอ 
  • อาการปานกลาง ในระยะนี้สามารถตรวจระดับ CD4 ระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งอาการที่พบ ได้แก่ การติดเชื้อทางเดินหายใจซ้ำ ๆ, น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ, งูสวัด, ไซนัสอักเสบ, โรคปอดอักเสบ และท้องเสียเรื้อรัง

ระยะที่ 3 Progression to AIDS

ระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ เป็นระยะที่เชื้อ HIV มีการดำเนินโรคมาจนถึงขั้นตอนที่ร่างกายไม่สามารถป้องกันหรือทนต่อการติดเชื้อและโรครุมเร้าได้ต่อไป เนื่องจากมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง โดยอาการและโรครุมเร้าที่พบในระยะนี้ มีดังนี้

  • โรคติดเชื้อร้ายแรง ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ในระยะนี้มักมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อร้ายแรง เช่น วัณโรค, โรคปอดอักเสบ (Pneumocystis pneumonia - PJP) และโรคหวัดใหญ่
  • ติดเชื้อเริมเรื้อรัง ที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศนานกว่า 1 เดือนหรือ เป็นๆ หายๆ นานมากกว่า 1 เดือน
  • มีอาการตกขาวผิดปกติในเพศหญิง
  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อคริปโตคอคคัส (Cryptococcus neoformans) อาจเข้าทำลายระบบประสาทส่วนกลางและทำให้เกิดอาการอักเสบในสมอง
  • อาการทางจิตเวช ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ในระยะที่มีการทำลายระบบประสาทอาจประสบกับปัญหาทางจิต เช่น ซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือหากอาการรุนแรงอาจมีอาการของโรคจิต (Brief psychosis) ได้เช่นกัน
  • โรคมะเร็ง เป็นอันดับหนึ่งของอาการที่พบในผู้ที่ติดเชื้อ HIV กับเอดส์ ในระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย ซึ่งโรคมะเร็งที่พบในผู้ป่วยเอดส์มีหลากหลายชนิด เช่น มะเร็งในช่องปากและลำคอ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งนอกเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย HIV

การตรวจหาเชื้อ HIV เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว หากท่านใดที่รู้สึกว่าตนมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อ สามารถรีบเข้ารับการวินิจฉัยได้เลย ยิ่งพบการติดเชื้อเร็วเท่าใด ก็จะได้รับยาต้านไวรัสยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เร็วเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันการพัฒนาเชื้อไวรัส HIV เป็นโรคเอดส์ในระยะหลัง

  • การตรวจสอบแอนติเจนที่จำเพาะต่อเชื้อ HIV (Antigen Tests) 

Antigen Tests เป็นวิธีตรวจหาเชื้อ HIV ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การตรวจเลือด HIV แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนของเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า p24 (HIV p24 antigen testing) ก่อนที่ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีต่อไวรัส โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV นี้หลังจากสงสัยว่า อาจติดเชื้อ HIV หลังจากการสัมผัสกับเชื้อระยะเวลา 14-15 วัน

  • การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ HIV (Antibody Tests)

Antibody tests เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือการตรวจหาแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อ HIV โดยปกติแล้วร่างกายจะใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ในการสร้างแอนติบอดี้ขึ้น ซึ่งเราสามารถตรวจพบผลบวกที่แสดงถึงการเชื้อ HIV ได้หลังสัมผัสเชื้อแล้วประมาณ 23-90 วัน 

  • การตรวจหาสารทางพันธุกรรมของเชื้อ HIV (Nucleic Acid Test: NAT)

Nucleic Acid Test: NAT สามารถตรวจพบเชื้อ HIV ได้เร็วกว่าการทดสอบประเภทอื่น ๆ ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม RNA หรือ DNA ของเชื้อไวรัสในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย โดยสามารถตรวจพบเชื้อ HIV ได้หลังจากสัมผัสเชื้อประมาณ 10-33 วัน ปัจจุบันมักนำวิธีการนี้ไปใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิต


วิธีการรักษาโรค HIV มีอะไรบ้าง?

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อ HIV กับ เอดส์ให้หายขาดได้ วิธีการรักษาโรค HIV จึงมุ่งเน้นไปที่การยับยั้งการแพร่กระจายและควบคุมปริมาณเชื้อไวรัส HIV ในร่างกาย โดยยาต้านไวรัส HIV ถูกแบ่งออกเป็นหลายชนิด ตัวยาแต่ละชนิดมีสรรพคุณที่เหมาะสมกับอาการในระยะต่าง ๆ ของการติดเชื้อ HIV และเรียกยาต้านไวรัสนี้ว่า ARV (Antiretroviral Drugs) 

หลังจากการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV แล้ว แพทย์จะให้ยากลุ่ม ARV ลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายน้อยลง ลดความเสี่ยงการพัฒนาโรคเอดส์ในอนาคต และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสให้กับบุคคลอื่น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาป้องกันการติดเชื้อ HIV คือ ยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) ใช้ในกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HIV โดยไม่ได้รับการป้องกัน ต้องใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการสัมผัสโรค และยาPrEP(Pre-Exposure Prophylaxis) ใช้ในกรณีผู้ที่ไม่มีเชื้อ HIV แต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ การใช้ PrEP เหมาะสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เช่น คนที่มีคู่สมรสที่ติดเชื้อ HIV หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยง


การป้องกันโรค HIV ที่เราควรรู้

HIV รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้โดยเริ่มที่การปรับพฤติกรรมและมีทัศนคติที่ดีต่อการป้องกันโรค HIV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยวิธีการป้องกันโรค HIV มีดังนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัย (condoms) การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศอื่น ๆ ได้เช่นกัน
  • มีคู่นอนคนเดียว และตรวจคัดกรอง HIV ร่วมกัน ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีคู่นอนเพียงคนเดียวที่รู้สถานะ HIV ของตน และไม่ติดเชื้อจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ปลอดภัย ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เข็มฉีดยาที่ใช้แล้วควรทิ้งในภาชนะที่ปลอดภัย 
  • เข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีเมื่อรู้ว่าตนเองเสี่ยง และรับยาต้านไวรัสมารับประทานโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ไวรัสพัฒนาไปจนสามารถตรวจพบ นอกจากนี้ยังช่วยลดการถ่ายทอดเชื้อไวรัส HIV ให้แก่บุคคลอื่นได้ด้ว
  • ตรวจสุขภาพ และตรวจ HIV ก่อนมีลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก 
  • การตรวจสุขภาพเป็นประจำ การตรวจสุขภาพและตรวจเลือดเป็นประจำสามารถช่วยให้พบการติดเชื้อ HIV ได้เร็ว เพื่อการรักษาและการดูแลต่อไป

HIV ภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ 

เอดส์กับhiv

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ HIV เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงมาก จนไม่สามารถต่อสู้กับโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และมักพบในระยะที่ 3 หรือที่เรียกกันว่าโรคเอดส์ ซึ่งผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีโอกาสสูงในการเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งจะมีอาการรุนแรงและเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตสูง ภาวะแทรกซ้อน HIV และโรคแทรกซ้อน เช่น วัณโรค, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ภาวะปอดอักเสบ,เชื้อราในช่องคลอด, โรคเริม, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับHIV 

เชื้อ HIV สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

เชื้อ HIV สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม มีวิธีป้องกันการแพร่เชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกได้ เช่น รักษา HIV ด้วยการรับยาต้านไวรัส ยาต้านไวรัสสามารถช่วยลดจำนวนเชื้อ HIV ในร่างกายได้

เชื้อ HIV ติดต่อทางน้ำลายได้ไหม?

เชื้อ HIV ไม่สามารถติดต่อทางน้ำลายได้ เนื่องจากเชื้อ HIV อยู่ในน้ำลายในปริมาณน้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนอื่นติดเชื้อ แต่เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี แนะนำให้ หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย HIV หรือไม่ก็ตาม

HIV สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดจากการติดเชื้อ HIV แต่สามารถควบคุมและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ HIV ด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัส HIV พัฒนาสู่ระยะของโรคเอดส์ ซึ่งต้องรับประทานยาเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ


สรุปเรื่อง HIV ไม่ได้น่ากลัว รู้ทัน ป้องกันได้

ในอดีต HIV และเอดส์เคยเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ HIV ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงเข้าใจโรคอย่างถูกต้องและป้องกันถูกวิธี แต่หากพบการติดเชื้อ HIV ต้องเข้ารับการรักษาและรับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมเชื้อไวรัส HIV ในร่างกาย และสามารถลดระดับเชื้อไวรัสลงได้มาก ยิ่งควบคุมเชื้อได้ในช่วงระยะแรก ยิ่งช่วยลดโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น 

หากท่านใดที่สนใจตรวจ HIV สามารถติดต่อสอบถาม ราคาตรวจเลือด HIV หรือรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่

  • Line : @samitivejchinatown
  • Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

อ่านสาระอื่น ๆ น่าสนใจ: hpv คือ, หนองใน


References
 

HIV.gov. (2023, January 13). What Are HIV and AIDS?.

https://www.hiv.gov/hiv-basics/overview/about-hiv-and-aids/what-are-hiv-and-aids/

Mayo Clinic Staff. (2024, February 9). HIV/AIDS.

https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/symptoms-causes/syc-20373524

กรมควบคุมโรค. (2022, September). สถานการณ์เอชไอวีประเทศไทย ปี 2565.

https://hivhub.ddc.moph.go.th/Download/RRTTR/HIV_Factsheet2022_TH_Final_220966.pdf

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​