บทความสุขภาพ

ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) คืออะไร ใครคือกลุ่มเสี่ยงและต้องตรวจอะไรบ้าง?

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 12 มิถุนายน 2567

ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องน่าอายอย่างที่ใครหลายคนคิด อย่าปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจลุกลาม และทวีคูณความรุนแรงขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งรู้ตัวไว ยิ่งรักษาหายได้เร็ว

สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองปลอดภัยเพราะมีเพศสัมพันธ์ภายนอกไม่ได้สอดใส่ หรือใครที่มีคู่นอนคนเดียวอาจวางใจว่าตัวเองจะไม่มีทางติดโรค ทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อที่ผิดเพราะทุกคนต่างมีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เหมือนกัน


สารบัญบทความ

ทำไมเราถึงต้องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

อาการของผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ใครบ้างที่ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ตรวจได้จากอะไรบ้าง?

สรุปเรื่องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณ และคนที่คุณรัก


ทำไมเราถึงต้องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

หลาย ๆ คนมักจะละเลยการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ Sexual Transmitted Disease (STD) เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นมีทั้งแบบแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ดังนี้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่แสดงอาการ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในระยะแรกนั้นจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีโรคเข้าสู่ระยะรุนแรง ภูมิต้านทานร่างกายถูกทำลายและเกิดโรคแทรกซ้อนมากมายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีโรค HPV คืออีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่แสดงอาการ ภูมิต้านทานในร่างกายอาจทำให้มันกลายเป็นหูดที่รักษาหายได้ง่าย แต่ในระดับรุนแรงก็สามารถลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แสดงอาการให้เราทราบได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นนั้นก็มีเหมือนกัน เช่น โรคเริม โรคซิฟิลิส หรือโรคหนองในที่จะมีลักษณะอาการเป็นรอยแผล ผื่น หรือตุ่มใส เป็นต้น จากสาเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้ทุกคนควรที่จะตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประจำปี หรือตรวจในช่วงที่รู้ตัวว่าตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเพื่อให้พบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระยะที่รักษาให้หายได้ง่าย


อาการของผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อาการของผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นมีทั้งรูปแบบแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถสังเกตอาการตัวเองได้ในเบื้องต้น เราสามารถเริ่มสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

ผู้หญิง

  • ตกขาวเยอะผิดปกติ
  • รู้สึกเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ
  • ปัสสาวะแสบ มีเลือดปน
  • ผื่น รอยแผลเป็น มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง
  • มีอาการคันระคายเคือง
  • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์

ผู้ชาย

  • มีตุ่ม ผื่น หรือรอยแผลเป็น
  • มีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศ
  • ปัสสาวะแสบมีเลือดปน
  • รู้สึกปวด
  • รู้สึกระคายเคือง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นหากปล่อยให้ลุกลามรุนแรงอาจส่งอันตรายถึงชีวิต หากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยอาการ และรับการรักษาที่เหมาะสม


ใครบ้างที่ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

ตรวจกามโรค

โดยทั่วไปแล้วการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์นั้นจะไม่ได้ถูกจัดอยู่แพ็คเกจของการตรวจโรคประจำปีทั่วไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ควรที่จะตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมหรือแผนในอนาคต ดังนี้

  • ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใส่ถุงยาง 

เนื่องจากโรคทางเพศสัมพันธ์นั้นสามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งในน้ำอสุจิ ช่องคลอดได้ เพราะฉะนั้นหากเพิ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้มีการใส่ถุงยางอาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะติดโรคสูง

  • เปลี่ยนคู่นอน

หากมีการเปลี่ยนคู่นอนควรชวนกันไปตรวจโรค เพื่อให้มั่นใจว่าต่างฝ่ายนั้นปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างแน่นอน

  • คนรักหรือคู่นอนคนปัจจุบันแอบไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น

เนื่องจากโรคทางเพศสัมพันธ์สามารถติดต่อกันได้ง่าย หากคนรักหรือคู่นอนของเราแอบไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อให้มั่นใจทั้งคู่ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และให้มั่นใจว่าคนรักหรือคู่นอนของเราไม่ได้ไปติดเชื้อมาจากที่อื่น 

  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การถูกล่วงละเมิดมีความเสี่ยงสูงที่ได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากได้รับการช่วยเหลือหรือเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าวได้แล้ว ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยด่วน

  • วางแผนแต่งงานและมีบุตร

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คู่สมรสและบุตรควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว

  • มีอาการที่บ่งชี้ถึงโรคติดต่อทางเพศ

หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่ผิดปกติ ตุ่ม หนอง หรือมีเลือดออกขณะปัสสาวะ ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยโรค


ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือตรวจ STD ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายจะครอบคลุมโรค ดังต่อไปนี้ 

  1. การตรวจหาเชื้อเอชไอวี
  2. การตรวจสุขภาพโดยแพทย์ 
  3. การตรวจไวรัสตับอักเสบบี/ซี
  4. การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส 
  5. การตรวจเริม
  6. การตรวจหนองใน
  7. การตรวจภายใน (*มะเร็งปากมดลูก)

ทั้งนี้แพ็คเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจแตกต่างกันออกไป ควรสอบถามรายละเอียดของสถานพยาบาลแต่ละแห่งทุกครั้งก่อนตรวจ


การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ตรวจได้จากอะไรบ้าง?

ตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีหลากหลายวิธี ดังนี้

  • การตรวจจากปัสสาวะ (Urinalysis) 
  • การตรวจเลือด (Blood Test) 
  • การตรวจจากสารคัดหลั่ง (Body fluid analysis) 
  • การตรวจภายใน (Pervic Exam) 
  • การตรวจร่างกาย (Physical Examination : PE) 

เริ่มต้นแพทย์จะวินิจฉัย พร้อมซักประวัติคนไข้อย่างละเอียดเพื่อเลือกวิธีตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมที่สุด โดยทั่วไปแล้ววิธีที่นิยมมากที่สุดคือการตรวจผ่านการเจาะเลือด และการตรวจร่างกาย/ตรวจภายใน 

โดยการตรวจร่างกายหรือตรวจภายในนั้นจะใช้เพื่อวิเคราะห์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แสดงอาการ เช่น โรคเริม หูด หนองใน หรือซิฟิลิสเป็นต้น ส่วนในกรณีของการตรวจเลือดจะนิยมใช้เพื่อตรวจหาโรคที่ไม่แสดงอาการ เช่น HPV, HIV เป็นต้น

*ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ การบอกประวัติกับแพทย์อย่างละเอียด เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนของผลวินิจฉัยและให้ได้รับวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด


สรุปเรื่องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณ และคนที่คุณรัก

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและความปลอดภัยของคู่นอนหรือคนรัก  ควรจับมือกันไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เมื่อตกอยู่ในภาวะเสี่ยง รวมไปถึงควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประจำทุกปี 

สำหรับใครที่ต้องการรับคำปรึกษาและรับการตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เรามีทีมแพทย์มากประสบการณ์พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่ Line : @samitivejchinatown หรือโทร 02-118-7893 


Sexually transmitted diseases (STDs) - Symptoms and causes - Mayo Clinic. (2023, September 8). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sexually-transmitted-diseases-stds/symptoms-causes/syc-20351240 

Sharkey, L. (2023, April 11). Everything you need to know about sexually transmitted diseases. Healthline. https://www.healthline.com/health/sexually-transmitted-diseases 


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​