บทความสุขภาพ

โควิดลงปอด อันตรายไหม? รับมืออย่างไรเมื่อเผชิญอาการ

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 6 สิงหาคม 2567

โควิดลงปอด

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น นอกจากจะต้องรับมือในการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อเองก็ต้องรับมือกับอาการป่วยในระหว่างติดเชื้อเช่นเดียว เพราะนอกจากอาการป่วยจากการติดเชื้อหลากหลายอาการไม่ว่าจะเป็นไอแห้ง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รสแล้ว บางท่านอาจกำลังเผชิญกับอาการ
โควิดลงปอด ซึ่งอาการโควิดลงปอดนี้เป็นอาการที่หลายคนค่อนข้างกังวลกันส่วนใหญ่

วันนี้ทาง Samitivej Chinatown จึงขอนำสาระทางการแพทย์เกี่ยวกับวิธีรับมือกับอาการโควิดลงปอดมาแบ่งปัน ทั้งผู้ที่ติดเชื้อและยังไม่ติดเชื้อให้สามารถรับมือกับอาการโควิดลงปอดได้อย่างถูกต้อง และยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโควิดลงปอดอื่นๆ ที่พร้อมตอบในบทความนี้


สารบัญบทความ

 


โควิดลงปอด

โควิดลงปอด เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อเชื้อโควิดลงปอด ทำการแพร่กระจายเชื้อไวรัสภายในอวัยวะทำให้เกิดการอักเสบที่ถุงลมเล็กซึ่งมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งช่วยลำเลียงออกซิเจนให้กับร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะเชื้อไวรัสทำให้ถุงลมเล็กๆ ภายในปอดเกิดของเหลวและหนองจำนวนมาก


โควิดลงปอดเกิดจากสาเหตุใด

โควิดลงปอด เกิดจากสาเหตุที่เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ในบางรายที่เกิดอาการโควิดลงปอดนั้นเชื้อไวรัสได้มีการแพร่สู่อวัยวะอย่างปอดและรบกวนกลไกการทำงานในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนภายในร่างกาย 

ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโควิดที่เกิดอาการโควิดลงปอดจะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับปริมาณเชื้อไวรัสจำนวนมาก ทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายไปยังบริเวณปอด ยิ่งถ้าหากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือโรคที่ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดภาวะโควิดลงปอด


สังเกตอาการโควิดลงปอด

เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิดหลายคนมีทั้งที่แสดงอาการป่วยต่างๆ ทั้งเป็นไข้ ไอ เมื่อยตัว หรือแม้กระทั่งบางคนที่ไม่มีอาการใดๆ แต่ตรวจพบเชื้อ ซึ่งหลายท่านเกิดความกังวลใจสำหรับโควิดลงปอดว่าจะสังเกตอย่างไรได้บ้างโดยสำหรับอาการโควิดลงปอดนั้นจะสามารถสังเกตอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้ ดังนี้

 

  • รู้สึกเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก : เป็นความรู้สึกไม่สบายที่หน้าอก อาจมีอาการปวด หรือเจ็บเหมือนถูกบีบ อาการปวดอาจลามได้ถึงบ่าและไหล่
  • มีอาการเหนื่อยล้า รู้สึกเหนื่อยง่ายมากขึ้น ในขณะที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกแรงทำกิจกรรมใดๆ : เมื่อโควิดลงปอดจะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำลง จึงทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าง่าย
  • หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มปอด : หลังจากที่โควิดลงปอดทำให้ปอดเกิดพังผืด ยืดหยุ่นได้ไม่เหมือนเดิม เวลาหายใจจึงรู้สึกได้ว่าหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มปอด
  • มีอาการไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป : เมื่อโควิดลงปอดร่างกายจะตอบหนองด้วยการเป็นไข้ โดยถ้าหากมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าเป็นอาการไข้อ่อนๆ
  • ไอแห้ง ไอแบบมีเสมหะ หรือมีปริมาณเสมหะมาก : อาการไอไม่ว่าจะเป็นไอแห้ง ไอมีเสมหะ ถ้าหากมีอาการร่วมกับจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หรือมีไข้ ก็สามารถสรุปได้ว่าเป็นอาการโควิดลงปอด
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ : หากโควิดลงปอดอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ ไอ โดยส่วนมากจะปวดเมื่อยเพียงระยะแรกของการติดเชื้อ

 

อาการโควิดลงปอดที่ควรพบแพทย์

อย่างไรก็ตามนอกจากอาการเบื้องต้นที่สามารถบ่งบอกถึงอาการโควิดลงปอดได้แล้วนั้น ยังมีตัวอย่างอาการอื่นๆ ของโควิดลงปอดที่อยากให้สังเกตตัวเอง เพราะหากเกิดขึ้นควรพบแพทย์ ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้

 

  • เมื่อวัดค่าออกซิเจนในเลือดแล้วได้ต่ำกว่า 94 ลงไป
  • เริ่มหายใจถี่ หายใจไม่ออก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ

โควิดลงปอดอันตรายไหม

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีใครอยากให้โควิดลงปอด และหลายคนกังวลว่าโควิดลงปอด อันตรายไหม ? ต้องบอกเลยว่าค่อนข้างอันตราย เพราะเมื่อเชื้อโควิดลงปอดเราแล้ว ไวรัสจะไปทำลายเซลล์ในปอด ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดก็ถูกทำลายไปด้วย เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มีพังผืดที่ปอด มีอาการปอดบวม 

ถ้าหากติดเชื้อแล้วโควิดลงปอด จำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะยับยั้งไม่ให้เชื้อโควิดลงปอด 2 ข้าง ยิ่งรักษาเร็วยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 608 คือผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโควิดมากที่สุด


ใครบ้างที่เสี่ยงโควิดลงปอด

แม้ว่าอาการโควิดลงปอดจะเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยโควิด แต่จะมีคนบางกลุ่มที่จะมีแนวโน้มความเสี่ยงในการเกิดอาการโควิดลงปอดมากกว่าคนอื่น ซึ่งได้แก่

 

  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) 40 ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดโรคตับ โรคไตเรื้อรัง
  • ผู้ที่เป็นโรคปอดและทางเดินหายใจในความรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป เช่น โรคปอด วัณโรค
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอชไอวีหรือโรคเอดส์
  • ผู้ที่มีภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม สมองพิการ เป็นต้น
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่

การวินิจฉัยอาการโควิดลงปอด

สำหรับการวินิจฉัยว่าโควิดลงปอดหรือไม่แพทย์จะมีการซักถามเกี่ยวกับอาการโควิดที่เกิดขึ้นว่าในระหว่างที่เป็นคนไข้มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง 

โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ซึ่งจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมทั้งการฟังเสียงของปอด วัดความดันโลหิต ตรวจเลือด เก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสทางโพรงจมูก ดูค่าระดับออกซิเจนในเลือดว่ามีค่าเท่าไหร่ ซึ่งค่าออกซิเจนในเลือดโดยปกติไม่ควรต่ำกว่า 94 

นอกจากนั้นยังมีการเอกซเรย์ปอดหรือทำการ CT Scan บริเวณทรวงอก เพื่อดูภายในปอดทั้ง 2 ข้างว่าเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใดจากอาการโควิดลงปอด


เมื่อมีอาการโควิดลงปอด ควรทำอย่างไร

สำหรับท่านที่สงสัยว่าตัวเองมีอาการโควิดลงปอดหรือมั่นใจว่าตัวเองนั้นโควิดลงปอดแน่ๆ ขอให้หมั่นสังเกตอาการของตนเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากเริ่มหายใจลำบาก หายใจไม่ออก นั่งเฉยๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรแล้วรู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ขอให้รีบพบแพทย์โดยทันที 

ส่วนท่านใดที่มีคนใกล้ชิดที่ติดเชื้อโควิดและมีอาการโควิดลงปอด อยากให้คอยซักถาม หมั่นติดต่อคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอถึงอาการโควิดลงปอดว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากคนใกล้ชิดมีอาการที่น่าเป็นห่วงจะได้พาไปพบแพทย์ได้ทันที 


แนวทางการรักษาเมื่อมีอาการโควิดลงปอด

ในส่วนแนวทางการรักษาโควิดลงปอดนั้นหากได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการโควิดลงปอดแล้ว แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยการจ่ายยารักษาที่เกี่ยวข้องกับอาการ เช่น ยาต้านไวรัส ยาต้านการอักเสบ ยาอื่นๆ ตามอาการ เป็นต้น 

และยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมตามอาการที่แพทย์เห็นสมควร เช่น การให้ออกซิเจนเสริมในกรณีที่คนไข้มีออกซิเจนไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการรักษาระดับออกซิเจนในเลือด การใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นเครื่องที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่หายใจเองลำบาก หายใจไม่สะดวก ไม่สามารถหายใจเองได้ มีการหายใจที่ดีขึ้น เป็นต้น


ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อโควิดลงปอด

เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากให้โควิดลงปอดตัวเอง แต่ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเองแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลใส่ใจตนเอง จะต้องเรียนรู้วิธีการรับมือกับโรค รวมถึงวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและหายป่วยจากโควิด
 

1. การจัดท่านอนสำหรับผู้ป่วยโควิดลงปอด

ผู้ป่วยที่เชื้อโควิดลงปอดควรนอนในท่านอนคว่ำหรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำ เพื่อให้ปอดไม่ถูกกดทับและทำงานได้ดียิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงไปทางซ้าย เพื่อไม่ให้มดลูกไปกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ดีขึ้น

 

2. ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารให้เพียงพอ

การดื่มน้ำและทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ลำดับแรกควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอวันละ 2-2.5 ลิตร ส่วนการรับประทานอาหาร แม้ว่าเมื่อเกิดอาการป่วยอาจทำให้ไม่อยากอาหาร แต่ก็ควรทานอาหารให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค

 

3. การรับประทานยาเมื่อโควิดลงปอด

 

  • ยารักษาโรคโควิด จะจำแนกกลุ่มผู้ป่วยในการใช้ ถ้าหากมีอาการน้อยควรใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ถ้าหากมีอาการมากก็จะต้องใช้ยาต้านไวรัสโควิด เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ ยาเรมดิซิเวียร์ เป็นต้น
  • ยาประจำตัว ไม่ควรหยุดทานยารักษาโรคประจำตัว ยกเว้นยารักษาบางโรค เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาความดัน ยาลดน้ำตาลในเลือด
  • ยาที่ควรเลี่ยง ยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAID) ยาในกลุ่มนี้จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และอาจำให้เกิดภาวะไตวายได้

4. ระมัดระวังเมื่อต้องเข้าห้องน้ำ

เมื่อเชื้อโควิดลงปอดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบง่าย ถ้าหากผู้ป่วยรู้ตัวว่ามีอาการเหนื่อยมาก ควรระมัดระวังในการเข้าห้องน้ำ หรือควรมีผู้ช่วยพาไปเข้าห้องน้ำ เพื่อดูแลความปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

5. หมั่นติดต่อญาติและคนใกล้ชิดอยู่เสมอ

หลังจากที่รู้ว่าเชื้อโควิดลงปอด ควรติดต่อญาติและคนใกล้ชิดอยู่เสมอ ต้องคอยอัปเดตอาการของตัวเองบ่อยๆ เพราะถ้าหากอาการแย่ลงหรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ก็จะได้รับการช่วยเหลือได้ทันเวลา


แนะนำวิธีดูแลตัวเองหลังหายจากอาการโควิดลงปอด

การดูแลตัวเองหลังหายจากอาการโควิดลงปอด เพื่อฟื้นฟูปอดให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง มีระยะเวลาที่ต่างกันตามความรุนแรงของอาการในแต่ละคน ปกติแล้วเมื่อผ่านไป 3-4 สัปดาห์ก็จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดยจะต้องฝึกฝนการหายใจ ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อที่จะบริหารปอดให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยลดการเกิดพังผืดในปอดลงได้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

นอกจากนี้หลังหายจากอาการโควิดลงปอดต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ไม่กินอาหารปิ้งย่าง อาหารรสจัด ของทอด ของมัน ของดอง และงดการพบเจอผู้คนจำนวนมากในที่สาธารณะ
 

Long COVID ส่งผลอย่างไรต่อปอด

เมื่อเชื้อโควิดลงปอดถ้าหากรักษาหายแล้ว อาจจะยังส่งผลอยู่ในรูปแบบของลองโควิด (Long COVID) ถึงแม้ว่าจะไม่มีเชื้ออยู่ในตัวแล้ว ผลการตรวจเป็นบวกหรือขึ้น 2 ขีดแล้ว แต่ผลของโควิดลงปอดก็ยังคงอยู่ ทำให้เกิดการอักเสบที่ปอด เกิดพังผืดขึ้นในปอด ส่งผลให้คุณภาพการทำงานของปอดที่ใช้แลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง เนื่องจากเนื้อเยื่อปอดบางส่วนถูกทำลายไป

ผู้ที่มีอาการลองโควิดจะเหนื่อยหอบง่ายกว่าคนปกติ ออกแรงเพียงเล็กน้อยก็จะเหนื่อยล้า ต้องหยุดพักหายใจบ่อยๆ อีกทั้งยังรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่นเหมือนก่อนที่ติดโควิด แต่อาการลองโควิดจะดีขึ้นได้ ถ้ามีฟื้นฟูและดูแลตัวเองที่ถูกต้อง


การป้องกันอาการโควิดลงปอด

โควิดเป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่ติดเชื้อได้ค่อนข้างง่าย เชื้อโรคยังอยู่ได้ทั้งในอากาศและพื้นผิวสัมผัส   จึงต้องมีวิธีการป้องกันตัวเองที่เข้มงวดมากกว่าโรคอื่นๆ ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อและผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว เพื่อระวังการติดโควิดรอบ 2 อีกครั้ง เพราะหากติดเชื้อแล้วแต่ละคนมีอาการที่ไม่เหมือนกัน และบางคนอาจมีอาการโควิดลงปอดได้ 

ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการป้องกันตนเองจากอาการโควิดลงปอด แนวทางป้องกันมีดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูก ดวงตา ปาก โดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรค เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้
  • พยายามล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งอย่างน้อย 20 วินาที หรือในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่ได้ แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์แบบสเปรย์ แอลกอฮอล์แบบเจลในการทำความสะอาดมือแทน
  • ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากต้องเดินทางเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คน 
  • หากมีคนใกล้ชิด คนภายในครอบครัวติดโควิด ควรแยกพื้นที่ในการอยู่อาศัย 
  • ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องอยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อควรสวมหน้ากากอนามัย อาบน้ำ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • หมั่นทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว ไปจนถึงพื้นผิวที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ
  • ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันความรุนแรงของอาการโควิด

ตรวจสุขภาพหลังโควิด เช็คสุขภาพปอด

อาการโควิดแม้จะหายดีแล้วแต่อวัยวะหลายๆ อย่างในร่างกายอาจทำหน้าที่ได้ไม่เท่าเดิมก่อนติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ติดเชื้อและมีอาการโควิดลงปอดร่วมด้วยนั้น ปอดของคุณอาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่เหมือนในอดีต ด้วยเพราะเหตุนี้เองจึงทำให้การตรวจสุขภาพหลังหายจากการติดเชื้อแล้วเป็นสิ่งสำคัญ 

ทางโรงพยาบาล Samitivej Chinatown ขอแนะนำโปรแกรมตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด ที่จะช่วยเช็คสุขภาพปอดไปจนถึงสุขภาพของส่วนอื่นๆ ในร่างกาย เพื่อให้สามารถรับการฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกวิธี และยังสามารถทราบได้ถึงอาการลองโควิดที่จะตามมา


ข้อสรุป

โควิดลงปอดเป็นอาการที่หลายคนกังวลกันเป็นอย่างมาก เพราะด้วยอาการที่ต้องเผชิญทั้งเหนื่อยง่ายมากขึ้น หายใจลำบาก เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะมีกลุ่มเสี่ยงที่สามารถเกิดอาการโควิดลงปอดได้ง่ายกว่าผู้อื่นแล้ว ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่หากเกิดอาการลงปอดขึ้นมาอย่างกลุ่ม 608 ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้เช่นกัน 

ฉะนั้นสามารถป้องกันอาการโควิดลงปอดได้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด ล้างมือให้สะอาด และเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน

สำหรับท่านใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคโควิด-19  การดูแลตัวเองหลังติดโควิด รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ หรือมีความต้องการอย่างการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่มั่นใจว่าจะตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพที่ไหน หากมีความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มากด้วยประสบการณ์และพร้อมที่จะดูแลสุขภาพของคุณ ผ่านช่องทางการติดต่อต่างๆ ได้ที่

Line @samitivejchinatown 

เบอร์ 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

โควิดและฝุ่นควัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


References

 

Cleveland Clinic medical professional. (October 8, 2022). COVID Pneumonia. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24002-covid-pneumonia

Korin Miller. (October 14, 2022). COVID-19 Pneumonia—the Lung Infection Caused by Getting COVID-19.  https://www.health.com/condition/pneumonia/covid-19-pneumonia

Nicole Andonian. (December 7, 2022). Why Some People With COVID Get Pneumonia — And How to Recognize the Signs. https://www.goodrx.com/conditions/covid-19/can-covid-cause-pneumonia

Susan Bernstein. (December 31, 2022). Coronavirus and Pneumonia. https://www.webmd.com/covid/covid-and-pneumonia


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​