บทความสุขภาพ

ปวดคอ เมื่อยคอ กล้ามเนื้อคอตึงเกิดจาก? วิธีบรรเทาอาการปวดคอด้วยตนเอง

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

เคยไหม? จู่ๆ ก็มีอาการปวดคอแบบไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด บางครั้งปล่อยทิ้งไว้ก็สามารถหายเองได้ แต่บางครั้งถึงแม้จะบรรเทาด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว ก็ยังไม่หายสักที หรือในบางรายมีอาการแบบเป็นๆหายๆ เรื้อรังยาวนานอยู่อย่างนั้น แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เราเป็นอยู่อันตรายรึเปล่า? 

ปวดคอหรือปวดต้นคอ เป็นอาการที่มีโอกาสพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ที่มีความเสี่ยงอันเนื่องมาจากลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันและสภาพร่างกายที่เสื่อมลง 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อาการปวดคอ กลายเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ควรหยิบยกมาพูดคุยกันว่า อาการปวดคอที่ทั่วไปมักเป็นบ่อยๆ เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่? ปวดคอแบบไหนถึงเรียกว่าอันตราย ควรเข้าพบแพทย์ด่วน? รวมไปจนถึงวิธีการบรรเทาอาการปวดคอแบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น  


สารบัญบทความ

 


ปวดคอ (Neck Pain)

ปวดคอ (Neck Pain) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีโอกาสพบเจอได้มากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักและอยู่กับท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้โรคออฟฟิศซินโดรม นิ้วล็อค เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นโรคหลักยอดฮิตที่เจอได้ในกลุ่มคนเหล่านี้

อาการปวดคอ จะมีหลายระดับความรุนแรง โดยทั่วไป อาจรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อคอตึง ปวดคอไม่หาย บางรายเมื่อระดับความรุนแรงของโรคมากขึ้น ก็จะมีเรื่องของการปวดร้าวต้นคอ ปวดคอ ขยับไม่ได้ กล้ามเนื้อคออักเสบ กล้ามเนื้อกระตุกหรือตึงตัว รวมไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างการปวดกระดูกต้นคอ เป็นต้น 

นอกจากนี้ หากอาการดังกล่าวยังไม่ชัดเจน คุณสามารถสังเกตเพิ่มเติมจากการเคลื่อนไหวหรือขยับศีรษะว่า มีความยากลำบากหรือแตกต่างออกไปจากปกติหรือไม่   


อาการปวดคอเกิดจากสาเหตุอะไร

อาการปวดคอหรือเมื่อยคอ สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักที่พบได้บ่อย มีดังนี้  

 

1. อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม

อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม หมายถึง การที่เรามีพฤติกรรมหรือลักษณะท่าทางการนั่ง ยืน เดิน นอน ที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทำเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้ร่างกายส่งสัญญาณบ่งชี้ด้วยอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปวดกล้ามเนื้อคอ คอเคล็ด ไม่สามารถขยับได้ตามปกติ

โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่พบได้ในคนส่วนใหญ่ ได้แก่…

 

  • สถานที่ทำงานไม่เหมาะสม เช่น การที่ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ทำงานไม่สัมพันธ์กัน
  • การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นระยะเวลานาน
  • การที่มีลักษณะท่าทางที่ก้มหน้าหรือเงยหน้ามากจนเกินไป
  • ท่าทางการนอนไม่เหมาะสม หรือหมอนสูงเกินไป ไม่สัมพันธ์กับสรีระร่างกาย
  • พฤติกรรมชอบสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากจนเกินไป   

 

2. เครียดสะสม

หลายๆ คน อาจไม่คาดคิดว่า การที่เรามีความเครียดสะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดการปวดคอหรือปวดบริเวณท้ายทอยได้ เพราะความเครียด จะทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ เกิดการหดเกร็งเป็นระยะเวลานาน เมื่อไม่มีการคลายตัวลง ก็จะส่งผลให้อาการปวดคอยังคงอยู่ และในบางรายที่มีลักษณะงานหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ตึงเครียดเป็นประจำ ก็อาจทำให้เกิดเป็นอาการปวดก้านคอเรื้อรัง รักษาได้ยากขึ้น เป็นต้น   

 

3. พักผ่อนไม่เพียงพอ

การพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดการปวดคอได้เช่นกัน เนื่องจากการนอน เป็นการดูแลระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล มีการซ่อมแซมฟื้นฟูตนเองเกิดขึ้นในหลายๆ จุด รวมไปจนถึงเรื่องของฮอร์โมนและสารเคมีภายในร่างกาย 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบหนักมาก เมื่อมีการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอเกิดขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ปวดคอเรื้อรังหรือปวดเมื่อยตามตัวเท่านั้น แต่อาจมีทั้งเรื่องของการเกิดโรค อารมณ์แปรปรวน และระบบภายในทำงานรวนได้อีกด้วย 

 

4. กล้ามเนื้ออักเสบ

กล้ามเนื้ออักเสบเกี่ยวข้องกับการปวดคออย่างไร? ภาวะกล้ามเนื้อคออักเสบ อาจทำให้บุคคลนั้น เกิดอาการปวดตึงบริเวณคอหรือต้นคอ ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอได้สะดวก หรือมีอาการลามไปยังศีรษะ ไหล่ และหลังได้  

 

5. กระดูกต้นคอเสื่อม

กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นสาเหตุที่มักพบได้บ่อยในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุมากขึ้น จะทำให้ข้อต่อหรือกระดูกต่างๆ เกิดการเสื่อมและบางลง เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาการปวดคอเรื้อรัง ไม่หายไปเสียที

นอกจากเรื่องของกระดูกต้นคอเสื่อม ก็ยังมีเรื่องกระดูกคออักเสบที่คล้ายคลึงกัน โดยหากผู้ที่มีประวัติเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้ออักเสบ เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ หรือโรครูมาตอยด์ ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อคออักเสบเรื้อรัง หรือชาตามแขนขาได้เช่นกัน

 

6. เคยบาดเจ็บบริเวณกระดูกคอ

การบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณกระดูกคอ เป็นการที่อวัยวะส่วนนั้นต้องเคลื่อนไหวแบบผิดทิศทางหรือท่าทางไม่เหมาะสมในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการคอเคล็ด การฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่อยู่ภายใน รวมไปจนถึงเรื่องของกระดูกคอเคลื่อนจากจุดที่เหมาะสมหรือกระดูกคอหักได้


กลุ่มอาการปวดคอ


 

1. กลุ่มอาการปวดคอเพียงอย่างเดียว

กลุ่มอาการปวดคอเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาได้ง่ายกว่าประเภทอื่นๆ เนื่องจากระดับความรุนแรงค่อนข้างน้อย และไม่ซับซ้อนมากนัก 

แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดคอ กล้ามเนื้อคอตึงบ่อยๆ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุว่าเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมหรือไม่ เนื่องจากการเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรม ยิ่งรู้ตัวเร็ว ก็จะส่งผลให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาณและมีโอกาสที่จะรักษาหายได้เร็วกว่าผู้ที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมระยะที่มีความรุนแรงมาก

 

2. กลุ่มอาการปวดคอจากการกดทับเส้นประสาท

กลุ่มอาการปวดคอจากการกดทับเส้นประสาท จุดเด่นที่สามารถสังเกตได้ง่าย คือ การที่เรามีอาการปวดคอร้าวขึ้นหัว ปวดร้าวลงไปยังแขนขา บางรายอาจมีอาการชาตามบริเวณใกล้เคียงและอ่อนแรงร่วมกับอาการปวดคอด้วย โดยกลุ่มอาการนี้ อาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคพังผืดทับเส้นประสาท

หากคุณมีอาการดังกล่าว หรือเริ่มมีอาการขยับไหล่ ขยับนิ้วหรือยกข้อมือลำบากไม่เหมือนอย่างที่เคยเป็น อย่ารอช้า รีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว 

 

3. กลุ่มอาการปวดคอจากการกดทับไขสันหลัง

กลุ่มอาการปวดคอจากการกดทับไขสันหลัง เป็นกลุ่มที่สังเกตได้ยากที่สุด เนื่องจากระยะอาการแรกเริ่มน้อย ไม่ค่อยแสดงอาการชัดเจน จนถึงจุดที่ระดับความรุนแรงมาก จึงจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยทั่วไปจะมีลักษณะอาการปวดคอ ชาหรืออ่อนแรงตามส่วนต่างๆ เจ็บกล้ามเนื้อ มีความยากลำบากในการทรงตัว


ปวดคอ..เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

อาการปวดคอมีระดับความรุนแรงอยู่หลายระดับ หลายๆ คนอาจสงสัยว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าควรเข้าพบแพทย์” เพราะบางครั้งอาการปวดคอก็สามารถหายได้เอง แต่บางครั้งก็ปวดคอเป็นระยะเวลานาน ไม่หายสักที

ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณเริ่มมีการปวดคอที่รุนแรงมากขึ้น ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้เรารู้ตัว โดยบุคคลที่มีอาการปวดคอและอยู่ในระยะการเฝ้าระวัง ควรสังเกตอาการ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ดังนี้

 

  • ระยะเวลาในการปวดคอนานกว่า 2 สัปดาห์
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวทิศทางได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถหมุนคอไปทางทิศใดทิศหนึ่งได้ มีความยากลำบาก หรือติดขัดในการหันมองไปยังทิศทางต่างๆ
  • เกิดอาการปวด ชา อ่อนแรง ที่อวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกแขนขาไม่ค่อยมีแรง ปวดร้าวลงแขน ปวดข้อต่างๆ ตามร่างกาย
  • หลังจากประสบอุบัติเหตุ เริ่มมีอาการปวดคอขึ้น 
  • พบลักษณะอาการอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เริ่มมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เจ็บหน้าอก ฯลฯ

การวินิจฉัยอาการปวดคอ

การวินิจฉัยอาการปวดคอ จะเริ่มจากการซักประวัติเบื้องต้น เช่น หากคุณมีอาการปวดเส้นเอ็นคอ ก็จะมีการสอบถามเรื่องของระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ประวัติการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ อาการร่วมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นนอกจากการปวดคอ ฯลฯ นอกจากนี้ เมื่อซักประวัติเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป โดยจะมีวิธีการตรวจต่างๆ ดังนี้

 

1. การตรวจเลือด

การตรวจเลือด (Blood Test) เป็นการตรวจพื้นฐานที่จำเป็นต่อการวินิจฉัย เนื่องจากผลของเลือด สามารถดูระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายว่า มีการทำงานกันอย่างสมดุลหรือไม่? มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ความผิดปกติต่างๆ หรือเกี่ยวข้องกับอาการแสดงที่ปรากฏอยู่รึเปล่า? เพื่อที่จะได้รักษาอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น 

 

2. การเอกซเรย์ (X-ray)

การเอกซเรย์ (X-ray) คือ การปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย เพื่อสร้างภาพถ่ายเอกซเรย์อวัยวะภายในร่างกายออกมาให้เห็นแบบชัดเจน โดยการเอกซเรย์นี้ สามารถดูได้ทั้งเนื้อเยื่อ กระดูก อวัยวะต่างๆ จึงเหมาะอย่างมากที่จะนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดคอ คอเคล็ดหลังจากประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา  

 

3. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) คล้ายกับการทำเอกซเรย์ (X-ray) ทั่วไป เพียงแต่จะแตกต่างกันตรงที่การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะมีความละเอียดกว่า เนื่องจากเป็นการนำภาพถ่ายจากมุมต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นภาพตัดขวางของส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย จึงทำให้การใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดคอ ขยับไม่ได้ หลังจากประสบอุบัติเหตุรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ 

 

4. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการใช้สนามแม่เหล็กกับคลื่นความถี่วิทยุ สร้างภาพจำลองรายละเอียดของอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกาย โดยจะมีการประมวลผลให้อยู่ในรูปแบบภาพ 3 มิติ ความละเอียดสูง ซึ่งเครื่องนี้สามารถตรวจได้ทั้งบริเวณ สมอง ลำตัว กล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง ข้อต่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งเส้นเลือดเลยทีเดียว  

 

5. การเจาะน้ำไขสันหลัง

การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เป็นการใช้เข็มเจาะเข้าไปยังช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง เพื่อนำน้ำไขสันหลังบางส่วนออกมาตรวจ การเจาะน้ำไขสันหลังนี้ สามารถดูเรื่องของการติดเชื้อ ความผิดปกติของระบบประสาท และมะเร็งได้ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในบริเวณที่สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น

 

6. การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า

การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (Electromyography : EMG) คือ การตรวจประเมินเส้นประสาทและกล้ามเนื้อว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ รวมไปจนถึงเรื่องการส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ ด้วย 


วิธีรักษาบรรเทาอาการปวดคอ

วิธีรักษาบรรเทาอาการปวดคอ มีดังนี้

 

1. ปรับอิริยาบท

ให้คุณลองสังเกตท่าทางการนั่ง ยืน เดิน นอน ของตนเองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การนั่งในท่าทางเดิมเป็นระยะเวลานาน มักจะชอบพกของติดตัวเยอะๆ ทำให้กระเป๋าสะพายหนัก หรือมักใช้การเอียงคอแนบโทรศัพท์ในช่วงที่วุ่นวายบ่อยๆ ฯลฯ ควรพยายามปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมทุกครั้งที่รู้ตัว 

โดยจุดที่ควรให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ได้แก่…

 

  • การนั่ง ยืน เดิน ด้วยไหล่และหลังที่ตั้งตรงในระนาบเดียวกัน
  • จัดสรรแบ่งเวลาพักให้ตนเอง ไม่ทำงานต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน 
  • สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี เช่น การปรับระดับความสูงระหว่างโต๊ะกับเก้าอี้ให้สัมพันธ์กัน เลือกใช้เก้าอี้สุขภาพที่เข้ากับสรีระร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการสะพายกระเป๋าหนัก
  • งดการคุยโทรศัพท์แบบเอียงคอหรือแนบคอ
  • เปลี่ยนหมอนให้ไม่สูงเกินไป พอดีกับสรีระร่างกาย

 

2. ประคบร้อน-เย็น

คุณสามารถบรรเทาอาการปวดคอได้ด้วยการประคบร้อน-เย็น บริเวณที่ปวด ประมาณ 15-20 นาที ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวมากขึ้น อากรปวดคอต่างๆ จะค่อยๆทุเลาลง

 

3. กายภาพบำบัด

การเข้ารับการทำกายภาพบำบัด เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในศาสตร์ของกายภาพบำบัด จะมีทั้งเรื่องของการใช้เครื่องพยุงคอ เครื่องช่วยนวด และการฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอต่อไป

 

4. รักษาด้วยการใช้ยา

เบื้องต้นคุณสามารถลดอาการปวดตึงต้นคอด้วยการรับประทานยาแก้ปวดทั่วไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นเพียงแค่การบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นเท่านั้น หากเฝ้าดูอาการประมาณ 5-7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม

 

5. รักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่บุคคลนั้นรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล หรือเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากอาการปวดคอเป็นอย่างมาก เช่น เจ็บปวดบริเวณคอเป็นระยะเวลานาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีอาการปวดคอร่วมกับอาการทางระบบประสาทของแขนและขา เริ่มมีปัญหาทางด้านการทรงตัว ยืน หรือเดิน เป็นต้น

 

6. รักษาด้วยคลื่นกระแทก Shockwave Therapy

การรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ Shockwave เป็นการส่งคลื่นกระแทกเข้าไปยังบริเวณที่มีอาการปวด ทำให้บริเวณนั้นเกิดการบาดเจ็บใหม่ (Re-Injuries) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมตนเอง สร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นที่บริเวณนั้น ส่งผลให้เมื่อรักษาด้วยวิธีคลื่นกระแทกไปสักระยะ บริเวณนั้นจะมีอาการปวดคอหรือการอักเสบน้อยลง และการไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นจะดีขึ้นได้อีกด้วย


ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากอาการปวดคอ

ภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากอาการปวดคอ มีดังนี้

 

  • เกิดความเสียหายที่บริเวณเส้นประสาท
  • พบอาการชาหรืออ่อนแรงตามแขนและขา
  • ความวิตกกังวลและความเครียดเพิ่มสูงขึ้น
  • มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การออกกำลังกาย และการเข้าสังคม
  • กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นและความแข็งแรงน้อยลง
  • เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณคอได้น้อยกว่าปกติ
  • น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
  • จากอาการปวดคอ อาจลามไปยังบริเวณข้างเคียงได้ เช่น มีอาการปวดไหล่ขึ้น 

แนวทางการป้องกันอาการปวดคอ

หากคุณไม่อยากมีอาการปวดคอ การปฏิบัติตนตามคำแนะนำเหล่านี้ อาจช่วยป้องกันการปวดคอได้ โดยคุณสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ ดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการแบกของหนักจนเกินไป
  • บริหารกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ เป็นประจำ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และป้องกันการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือปวดคอออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย
  • แบ่งเวลาการพักผ่อนและการทำงานให้เหมาะสม ไม่ควรนั่งทำงานติดกันเป็นระยะเวลานานเกินไป ให้ลุกเดิน พักสายตาเป็นระยะ
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน เช่น ปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้มีความสัมพันธ์กัน เลือกใช้เก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระร่างกาย บริเวณโต๊ะทำงานมีแสงสว่างเพียงพอ จอคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ในตำแหน่งสายตา ไม่ต้องก้มหน้าหรือเงยหน้ามากเกินไป
  • ท่าทางการนอน จะต้องมีความเป็นระนาบใกล้เคียงกัน หมอนไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • เพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย
  • หากิจกรรมเพื่อลดความเครียด
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหรือเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

ข้อสรุป

“ปวดคอ” เป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก อีกทั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมาได้ เราควรสังเกตอาการปวดคอว่ามีลักษณะเป็นแบบใด หากเริ่มมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น มีไข้ เริ่มชาหรืออ่อนแรงตามแขนขา หรืออาการปวดเพิ่มขึ้น ลามไปยังบริเวณข้างเคียง ฯลฯ อย่ารอช้า ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อที่จะได้ค้นหาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที

หากใครที่มีอาการปวดคอ ปวดข้อต่างๆ และกำลังมองหาสถานที่เข้ารับการตรวจ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมดูแลคุณด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย ไม่ว่าจะมีอาการปวดคอ ปวดข้อเท้า ไหล่ติด หรือแม้กระทั่งเรื่องของรองช้ำ เอ็นร้อยหวายอักเสบ ก็สามารถรักษาได้ ให้คุณมั่นใจเหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ Line : @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893


เอกสารอ้างอิง

Mayo Clinic. (2022, January 06). CT Scan. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/ct-scan/about/pac-20393675

Mayo Clinic. (2022, August 25). Neck pain. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/neck-pain/symptoms-causes/syc-20375581

Michael, A.P. (n.d.). Neck Pain. American Association of Neurological Surgeons. https://www.aans.org/en/Patients/Neurosurgical-Conditions-and-Treatments/Neck-Pain

Pathak, N. (2021, August 30). Neck Pain. WebMD. https://www.webmd.com/pain-management/why-does-my-neck-hurt

What You Need to Know About Blood Testing. (n.d.). Medlineplus. https://medlineplus.gov/lab-tests/what-you-need-to-know-about-blood-testing/

X-ray. (n.d.). Medlineplus. https://medlineplus.gov/xrays.html


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​