บทความสุขภาพ

เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’’’’s Tenosynovitis) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ? เจ็บแปลบที่ข้อมือทุกครั้งที่ยกของหนัก, ปวดเอ็นข้อมือเวลาเขียนหนังสือ หรือ ข้อมือมีอาการบวมร่วมกับอาการปวดไม่สามารถขยับข้อมือได้ หากคุณมีอาการเจ็บบริเวณข้อมือแม้ว่าจะขยับเพียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นคือสัญญาณเตือนว่า เอ็นข้อมือของคุณอักเสบเข้าซะแล้ว  

อาการเอ็นข้อมืออักเสบ สามารถพบได้บ่อยโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ต้องทำงานและใช้ข้อมือบ่อยๆ รวมไปถึงนักกีฬาบางประเภท ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมือในทุกๆ วัน แม้ว่าเอ็นข้อมืออักเสบจะเป็นอาการที่พบได้บ่อย และอาการเอ็นข้อมืออักเสบทั่วไปมักจะใช้เวลาไม่กี่วันแล้วหายไปเอง ภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ถ้าหากคุณมีอาการปวดข้อมือเวลาขยับเล็กๆ น้อยๆ ไม่หายสักที เป็นเวลานาน นั้นอาจจะไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก และไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด 

บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาการเอ็นข้อมืออักเสบ พร้อมทั้งเผยสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ พร้อมทั้งวิธีรักษาและแนวทางป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบให้ข้อมือของคุณสามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ


สารบัญบทความ
 


ทำความรู้จักเส้นเอ็นข้อมือ

ข้อมือเป็นส่วนข้อต่อของร่างกายมนุษย์ที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยที่สุด และสามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ซึ่งบริเวณข้อมือและนิ้วนั้นมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมากมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการขยับมือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจะทำงานและส่งแรงผ่านไปยังเส้นที่เกาะอยู่บนปุ่มกระดูก 

Abductor pollicis longus (APL) และ Extensor pollicis brevis (EPB) คือเส้นเอ็นหลัก 2 เส้น ที่นิ้วหัวแม่มือและทำหน้าที่ยึดข้อต่อของนิ้วแม่มือ เส้นเอ็นเป็นโครงสร้างคล้ายกับเชือกทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อกระดูกทำให้กระดูกสามารถขยับไปในทิศทางต่างๆ ได้ โดยเส้นเอ็นจะถูกปกคลุมไปด้วยชั้นเนื้อเยื่อบางๆ เรียกว่า Synovium

ทั้งนี้หากเกิดการปวดบริเวณเส้นเอ็นข้อมือ และบริเวณปลอกหุ้มเอ็น นั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณเข้าข่ายอาการของโรค De Quervain’s Tenosynovitis หรือที่เรียกว่า เอ็นข้อมืออักเสบ นั้นเอง 


เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain's Tenosynovitis)

โรคเอ็นข้อมืออักเสบ หรือ De Quervain’s Tenosynovitis เป็นหนึ่งในโรคกลุ่มเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเอ็นข้อมือ โดยผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดบริเวณเอ็นโคนนิ้วหัวแม่มือ ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดข้อมืออย่างกะทันหัน หรือบางรายอาจจะค่อยๆปวด และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการชาที่นิ้วโป้งและนิ้วชี้หรืออาการบวมบริเวณข้อมือร่วมด้วย 

แม้ว่าเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือสามารถเกิดอาการปวด และการอักเสบได้บ่อย แต่ถ้าหากได้ลองพักการใช้งานข้อมือสักระยะแล้วยังคงรู้สึกเจ็บอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเข้ารับการรักษา เพราะอาการปวดข้อมือสามารถกลายเป็นการปวดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณ นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงไม่ควรมองข้ามเอ็นข้อมืออักเสบ


อาการสัญญาณเตือนเอ็นข้อมืออักเสบ

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบหรือไม่ ? คุณสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ร่างกายของคุณอาจจะทำส่งสัญญาณเตือนว่าคุณเข้าข่ายเป็นเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ 
 

  • รู้สึกปวดข้อมือแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน หรือขยับข้อมือ 
  • รู้สึกเจ็บเวลายืดหรือเหยียดข้อมือ หรือ เจ็บเมื่อขยับนิ้วหัวแม่มือ
  • ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้เหมือนเก่า เพราะรู้สึกปวดเวลาจับ 
  • มีอาการปวดบริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น นิ้วมือ มือ และแขน 
  • มีอาการชาที่ปลายนิ้วโป้ง หรือนิ้วชี้ 
  • บริเวณข้อมือมีอาการบวม แดง และร้อนเวลาสัมผัส 
  • มีไข้รวมกับอาการปวดข้อมือ 
  • แม้ว่าจะผ่านไปหลายวันแล้ว แต่อาการปวดข้อมือกลับยังไม่ดีขึ้น

หากคุณลองสังเกตอาการตัวเองแล้วพบว่า มีอาการที่ได้กล่าวไปขั้นต้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดเหล่านั้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเพราะคุณอาจจะเข้าข่ายเอ็นข้อมืออักเสบ


โรคอื่นๆที่อาการคล้ายเอ็นข้อมืออักเสบ

ข้อมือนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกาย แต่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก จึงทำให้คนที่มีอาการเจ็บปวดบริเวณนี้อาจจะมาจากหลายสาเหตุในบริเวณที่ใกล้เคียงกันได้ จากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยบางราย อาจจะใช้การรักษาแบบฉีดยา หรือได้ทำการผ่าตัดไปแล้ว แต่อาการเหล่านี้ก็ยังไม่หายทั้งหมดสักที ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อให้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยว่าแท้จริงแล้วเป็นอะไร 
 

และยังมีอาการเจ็บข้อมือที่ใกล้เคียงกับโรคเอ็นข้อมืออักเสบ ดังนี้
 

1.โรคข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อมและอักเสบ

 

  • จะพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้มือทำงานเยอะๆ
  • จะมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วโป้ง เนื่องจากจะใช้มือในการหยิบจับ หรือหนีบสิ่งของต่างๆ เป็นอาการเจ็บสะสมจนอาจจะทำให้ข้อนิ้วโป้งเสื่อม
  • กิจกรรมต่างๆที่อาจจะทำให้เกิดการอักเสบหรือเสื่อมสภาพได้ ดังนี้ ทำงานที่จะใช้แรงบีบของนิ้วโป้งมากเกินไป เช่น การจับกรรไกร และการซักผ้าด้วยมือ 
  • โรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่มีอาการเจ็บใกล้บริเวณโรคเอ็นข้อมืออักเสบ
  • คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคข้อโคนนิ้วโป้งอักเสบ อาจจะทำให้มีการเข้าใจผิดว่าเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบ
  • โรคข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อมนี้ จำเป็นมากที่จะต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการแยกโรค
     

2.โรคเอ็นอักเสบอื่นๆในข้อมือ

 

  • โรคเหล่านี้จะเป็นการอักเสบหรือการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงกัน
  • มีโอกาสสูงที่จะเป็นร่วมกับโรคเอ็นข้อมืออักเสบ
  • ทางโรงพยาบาลจำเป็นที่จะต้องมีแพทย์เฉพาะทางด้านมือ เพื่อเป็นการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
     

โดยการรักษาโรคเหล่านี้นั้นสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีการรักษาเหมือนกับโรคเอ็นข้อมืออักเสบ แต่ถ้าหากผู้ป่วยนั้นมีอาการเจ็บมากและมีอาการเจ็บในหลายๆส่วน ทางแพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยว่าควรที่จะทำการผ่าตัดตรงบริเวณไหนถึงจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะผู้ป่วยจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ


เอ็นข้อมืออักเสบเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของอาการเอ็นข้อมืออักเสบ มาจากการที่เยื้อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือด้านหลัง เกิดการหดตัวหรือการตีบตัว ส่งผลให้เส้นเอ็นหรือเยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ ส่วนใหญ่อาการเอ็นข้อมืออักเสบมักมาจากใช้งานข้อมือมากเกินไป หรือการขยับข้อมือผิดท่า 

นอกจากนี้การเสื่อมสภาพข้อมือจากอายุที่มากขึ้นก็มีผลต่ออาการเอ็นข้อมืออักเสบ รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์  และพังผืดที่เกิดจากการผ่าตัด สามารถมีโอกาสที่จะเป็นเอ็นข้อมืออักเสบได้เช่นเดียวกัน 


ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเอ็นข้อมืออักเสบ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดเอ็นข้อมืออักเสบ ปวดข้อมือ มีรายละเอียดดัง
 

อายุที่มากขึ้น 

เมื่ออายุมากขึ้นเป็นธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ที่อวัยวะภายในร่างกายจะมีการเสื่อมสภาพลงไป ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบส่วนใหญ่มักแสดงอาการของโรค ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้แม้ว่าอายุจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเอ็นข้อมืออักเสบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเอ็นข้อมืออักเสบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในวัยรุ่น อาการเอ็นข้อมืออักเสบสามารถพบในวัยรุ่นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการใช้งานหนัก เช่น พิมพ์งาน หรือ เล่นโทรศัพท์มากเกินไป
 

เพศ

อาการเอ็นข้อมืออักเสบมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมักต้องทำงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการกวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้าบิดผ้า หรือการยกของหนักเวลาทำความสะอาดบ้าน จัดสวน ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้งานข้อมือ และจากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสาเหตุของเอ็นข้อมืออักเสบส่วนใหญ่มักมาจากการใช้งานหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมักพบอาการเอ็นข้อมืออักเสบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนี้ 
 

อาชีพบางอาชีพ 

อาชีพบางอาชีพมักมาพร้อมกับโรคเอ็นข้อมืออักเสบ เช่น นักเขียนที่ต้องพิมพ์งานอยู่ตลอดเวลา, ช่างไม้ที่ต้องใช้ข้อมือในการทำงาน, พนักงานบริษัทที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา หรือ นักกีฬาบางประเภท เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ใช้งานข้อมือหนัก ซึ่งการใช้งานข้อมือหนักเป็นสาเหตุหลักของอาการเอ็นข้อมืออักเสบ 
 

ผู้ที่มีโรคประจำตัว 

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด อาจจะมีอาการปวดข้อมือ หรือเอ็นข้อมืออักเสบร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบเรื้อรังรูมาตอยด์ (Rheumatoid) โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง หรือผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดมาก่อนและเกิดพังผืด 
 

กิจวัตรประจำวัน 

กิจวัตรประจำวันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับอาการเอ็นข้อมืออักเสบ เช่น คุณแม่บางท่านที่ต้องเลี้ยงดูบุตรจำเป็นต้องต้องอุ้มบุตรตลอดเวลา และยังต้องทำงานบ้านด้วย การใช้งานข้อมือหนักทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่มักมีอาการเอ็นข้อมืออักเสบ 


กลุ่มเสี่ยงเอ็นข้อมืออักเสบ

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าคนทั่วไป มีดังนี้ 
 

  • ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้น
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนมีผลต่ออาการเอ็นข้อมืออักเสบ 
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง 
  • ผู้ที่มีประวัติประสบอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บบริเวณข้อมือมาก่อน 
  • ผู้ที่มีอาชีพ หรือ ผู้ที่ชอบทำกิจกรรม ที่จำเป็นต้องใช้งานของมือหนัก 

ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยที่มีโอกาสเป็นเอ็นข้อมืออักเสบปัจจัยส่วนใหญ่มักจะมาจากการใช้งานข้อมือหนัก ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน การทำกิจกรรม หรืองานอดิเรก ซึ่งการใช้งานข้อมือหนักเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดเอ็นข้อมืออักเสบ 


เอ็นข้อมืออักเสบ..เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

แม้ว่าอาการปวดข้อมือ หรือ เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย สามารถหายไปได้เอง แต่ถ้าหากคุณมีอาการปวดข้อมือจนไม่สามารถขยับข้อมือได้เนื่องจากรู้สึกปวดมาก ข้อมือบวมแดง ลองจับบริเวณข้อมือแล้วรู้สึกร้อนๆ หรือ มีอาการชาที่ข้อมือตลอดเวลา ไม่หายสักที นั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณเข้าข่ายเอ็นข้อมืออักเสบที่มีความรุนแรง จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และเข้ารับการรับรักษาโดยทันที 

ทั้งนี้อาการปวดข้อมือสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยสาเหตุอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้รักษาได้ตรงจุดมากที่สุด


การวินิจฉัยเอ็นข้อมืออักเสบ

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดข้อมือ ข้อมือบวม หรือ เอ็นข้อมืออักเสบ แพทย์มักจะวินิจฉัยอาการด้วยการแตะบริเวณข้อมือ หรือบริเวณนิ้วหัวแม่มือ เพื่อตรวจอาการ Tenosynovitis หรือผู้ป่วยบางรายอาจจะทำการทดสอบ Finkelsein / Eichhoff คือ การวางนิ้วหัวแม่มือไว้บนฝ่ามือ และงอข้อมือเข้าหานิ้วก้อย เพื่อตรวจว่าคุณมีอาการเจ็บหรือไม่ ? ส่วนใหญ่แล้วการวินิจฉัยเอ็นข้อมืออักเสบไม่จำเป็นต้องทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์ ทั้งนี้การวินิจฉัยอาการปวดข้อมือ มักจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ร่วมกับอาการของผู้ป่วย


วิธีรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ

1.การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบด้วยการใช้ยา

 

  • การทานยารักษาเอ็นข้อมืออักเสบ

สำหรับผู้ที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบในระยะเริ่มต้น รู้สึกปวดไม่มาก ยังสามารถขยับข้อมือได้ และต้องการบรรเทาอาการปวดด้วยการทานยา อาจจะเกิดคำถามว่าเอ็นข้อมืออักเสบควรกินยาอะไร ? สำหรับผู้ป่วยระยะเริ่มต้นสามารถรักษาอาการปวดและอาการอักเสบด้วยการรับประทานยาบรรเทาอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal antiinflammatory drugs, NSAIDs) หรือที่หลายๆ คนมักเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโฟนเฟน (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen) เป็นต้น 
 

  • การฉีดยาลดอาการอักเสบ

สเตียรอยด์ (Steroid) เป็นยาที่นิยมนำมาฉีดให้กับผู้ที่มีอาการปวดข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบ โดยจะฉีดสเตอรอยด์เข้าปลอกเอ็นเพื่อช่วยลดอาการอักเสบ เนื่องจากสเตียรอยด์มีความสามารถในการลดอาการอักเสบได้ดี และไม่มีผลข้างเคียงที่อันตรายแก่ผู้ใช้งาน 

สำหรับผู้ที่เคยฉีดสเตียรอยด์เกิน 2 ครั้ง แล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังคงปวดข้อมือ นั้นหมายความว่าความรุนแรงของภาวะโรคเอ็นข้อมืออักเสบรุนแรงเกินกว่ายาที่ใช้รักษาแล้ว การฉีดสเตียรอยด์จะไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาแบบอื่นแทน เช่น การผ่าตัด เป็นต้น
 

2.การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบด้วยกายภาพบำบัด

 

แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดร่วมกับวิธีการรักษาเอ็นข้อมืออักเสบแบบอื่นๆ เช่น การฉีดยา หรือการรับประทานยา ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดข้อมือ สามารถช่วยลดอาการอักเสบ ปวด บวม และช่วยคล้ายความตรึงของเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยเอ็นข้อมืออักเสบควรทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ นักกายภาพบำบัดเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
 

3.การรักษาด้วยการผ่าตัดเอ็นข้อมืออักเสบ

การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกสุดท้าย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาอาการเอ็นข้อมืออักเสบได้ด้วยวิธีอื่น โดยแพทย์จะผ่าตัดคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณที่มีการเสียดสีออก ช่วยทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น และการผ่าตัดรักษาเอ็นข้อมืออักเสบเป็นการผ่าตัดเล็ก ไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังผ่าตัด  ไม่เหมือนกับการผ่าตัดข้อเข่าที่เป็นการผ่าตัดใหญ่ สามารถอ่านรายละเอียดการผ่าตัดข้อเข่าเพิ่มเติมได้ที่ : ข้อควรรู้ ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด 

ทั้งนี้หากคุณมีอาการเอ็นข้อมืออักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาที่ตรงจุด เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดอากาอักเสบ ซึ่งวิธีรักษาแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์


แนวทางการป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบ

สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงอาการเอ็นข้อมืออักเสบ สามารถปฏิบัติการคำแนะนำได้ดังนี้ 
 

  • ปรับวิธีการใช้งานข้อมือ เนื่องจากการใช้งานหนักเป็นสาเหตุหลักของเอ็นข้อมืออักเสบ สำหรับผู้ที่ต้องทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงบุตร หรือ อื่นๆ ลองหาอุปกรณ์ช่วยทุ่นแรง เช่น ซักผ้าด้วยเครื่องซกผ้าหลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ 
  • สำหรับพนักงานบริษัททำงานที่ต้องใช้งานข้อมือหนัก ลองปรับเปลี่ยนท่าทางให้เหมาะสม เพื่อลดอาการปวดบริเวณข้อมือ
  •  สำหรับผู้ที่เล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องใช้งานข้อมือหนัก ควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือทุกครั้งก่อนเล่นกีฬา

ทั้งนี้อาการเอ็นข้อมืออักเสบ แม้ว่าจะไม่สามารถลุกลามไปเป็นโรคอื่นๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก หรือบางคนอาจจะรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถขยับข้อมือได้จากอาการเจ็บปวด ดังนั้นหากมีอาการปวด บวมบริเวณข้อมือ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเอ็นข้อมืออักเสบ

คำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดอยู่ภายในใจว่าโรคเอ็นข้อมืออักเสบนี้ จะพบในผู้หญิงหรือในผู้ชายมากกว่ากัน แล้วจะพบได้ในช่วงวัยไหน วันนี้ทางเรามีคำตอบให้หายข้อข้องใจกันค่ะ

 

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าผู้ชาย จริงไหม?

จากสถิติที่ได้วิเคราะห์มานั้น พบว่าในผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบได้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะจะพบในผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์เพราะมีเหตุมาจากการที่ร่างกายได้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และยังรวมไปถึงผู้หญิงที่มีการออกแรงในการทำงานบ้าน เช่นการกวาดบ้าน ถูกบ้าน ซักผ้าด้วยมือ บิดผ้าด้วยมือ จึงอาจจะทำให้เกิดอาการปวดข้อนิ้วมือได้

และนอกจากนี้ยังสามารถพบโรคเอ็นข้อมืออักเสบบ่อยในผู้หญิงในช่วงอายุ 30-60 ปี โดยเฉพาะคนที่ได้ทำงานเกี่ยวกับข้อมือหนักๆและนานๆ เช่นงานที่จะใช้แรงในการบีบนิ้วโป้งเยอะๆ ได้แก่ ช่างไม้ การใช้กรรไกร และพนักงานออฟฟิศที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นเวลานาน จึงอาจจะทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้แต่ก็สามารถพบได้ในนักกีฬาบางประเภทได้เหมือนกัน เช่น นักกีฬาแบตมินตัน เทเบิ้ลเทนนิส และยังรวมไปถึงคนที่เป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบเรื้อรังอีกด้วย 

แต่ถ้าหากว่าผู้ป่วยยังมีข้อสงสัยว่าเอ็นข้อมืออักเสบ กี่วันหาย ถ้าผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่เร็วอาการของเอ็นข้อมืออักเสบจะดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์เท่านั้น และถ้ายังมีความสงสัยอีกว่าถ้าเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ กินยาอะไร ส่วนใหญ่แพทย์จะจัดยาแก้อักเสบมาให้ ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโฟนเฟน (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen) เท่านั้น


ข้อสรุป

มือ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถหยิบอะไรได้สะดวก หรือผู้ป่วยบางคนที่มีอาการรุนแรงอาจจะถึงขั้นไม่สามารถขยับข้อมือได้ อาการเอ็นข้อมืออักเสบเป็นหนึ่งในโรคกลุ่มเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบที่สามารถพบได้บ่อย และมักพบกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุส่วนใหญ่ของเอ็นข้อมืออักเสบมักมาจากการใช้งานข้อมือหนัก และการเสื่อมสภาพของกระดูกและข้อจากอายุที่มากขึ้น 

สำหรับผู้ที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s syndrome) วิธีรักษาที่ดีที่สุด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาทันที เนื่องจากอากลายเอ็นข้อมืออักเสบ สามารถทำให้การเป็นอาการปวดเรื้อรังและเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากในอนาคต การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเอ็นข้อมืออักเสบ ปวดข้อมือ ข้อมือบวมแดง สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


เอกสารอ้างอิง

Mayo Staff. (n.d.). De Quervain’s tenosynovitis. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/de-quervains-tenosynovitis/symptoms-causes/syc-20371332

Thomas, T. (Feb 2022). De Quervain 's tenosynovitis. OrthoInfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/de-quervains-tendinosis


 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​