บทความสุขภาพ

รู้จักโรครองช้ำ อาการปวดฝ่าเท้า เจ็บส้นเท้า สาเหตุและวิธีรักษา

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

คุณกำลังประสบปัญหาเจ็บส้นเท้า ปวดฝ่าเท้าเวลาลุกขึ้นยืน หรือเวลาเดินใช่ไหม ? ทั้งที่คิดว่าเป็นเพียงอาการเจ็บชั่วคราวเท่านั้น สักพักอาการปวดน่าจะดีขึ้น แต่ทว่ายิ่งนานวันอาการเจ็บฝ่าเท้ากลับยิ่งทวีคูณขึ้น ถ้าหากคุณมีอาการตามที่กล่าวมา นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายการเป็น “โรครองช้ำ” เข้าแล้ว 

ผู้ที่มีอาการรองช้ำส่วนใหญ่มักจะมีอาการเจ็บที่ส้นเท้า หรือ ฝ่าเท้าเวลาลุกขึ้นยืน โดยอาการเจ็บมักจะเป็นๆ หายๆ และเจ็บมากขึ้นตามการใช้งาน โดยที่ผู้ป่วยรองช้ำส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เมื่อเอกซเรย์มักพบหินปูนงอกบริเวณกระดูกส้นเท้าด้วย 

บทความนี้จะพาคุณไปหาคำตอบเกี่ยวกับโรครองช้ำ ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของรองช้ำเกิดจาอะไร อาการเป็นอย่างไร อาการเจ็บรองช้ำแบบใดที่ต้องรีบไปพบแพทย์ วิธีรักษารองช้ำให้หายขาด พร้อมแนะนำวิธีการดูแลเมื่อเป็นรองช้ำ และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโรครองช้ำ


สารบัญบทความ
 


โรครองช้ำ (Plantar Fasciitis)

โรครองช้ำ (Plantar Fasciitis) หรือที่ทางการแพทย์เรียกอีกชื่อว่า โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ เป็นภาวะที่มีอาการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า โดยผู้ป่วยรองช้ำจะรู้สึกเจ็บฝ่าเท้าบริเวณฝั่งที่เหยียบลงบนพื้น ซึ่งอาการมักจะมาเป็นๆ หายๆ และเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลักษณะการใช้งาน 

ทั้งนี้โรครองช้ำหากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีจะส่งผลรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้ไม่สามารถเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีการอักเสบ ปวด บวมใต้ฝ่าเท้า รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตลอดเวลา นอกจากนี้หากผู้ป่วยรองช้ำไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี ปล่อยไว้ให้อาการรองช้ำเรื้อรังอาจจะส่งผลร้ายแรงทำเส้นเอ็นฉีกขาดได้ 


โรครองช้ำเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรครองช้ำมักมาจากการใช้งานฝ่าเท้าหนักมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การใส่รองเท้าส้นสูง หรือการเล่นกีฬาบางประเภท ทำให้ฝ่าเท้าและอุ้งเท้าต้องรองรับแรงกระแทกจนทำให้เกิดเส้นเอ็นพังผืด ฝ่าเท้าอักเสบ และเกิดอาการเจ็บที่ใต้ฝ่าเท้าหรือส้นเท้า 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดอาการรองช้ำ เอ็นฝ่าเท้าตึง โดยสามารถแบ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรครองช้ำได้ทั้งหมด 6 สาเหตุ มีดังนี้ 

 

1. เอ็นรอยหวายหรือพังผืดฝ่าเท้าตึงเกินไป

สาเหตุของเอ็นรอยหวายหรือพังผืดฝ่าเท้าตึงเกินไป มักมีสาเหตุมาจากการไม่ค่อยได้ยืดกล้ามเนื้อเพื่อคลายเส้นเอ็น หรือผู้ป่วยอาจจะไม่เคยยืดเส้นเอ็นเลย ใช้งานอย่างเดียว เช่น ออกกำลังกาย วิ่ง เดิน และยืนเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้พังผืดที่ฝ่าเท้าและน่องตึง ส่งผลให้กลายเป็นรองช้ำในที่สุด 

 

2. เส้นเอ็นเสื่อมตามอายุ

เมื่ออายุมากขึ้นทำให้เส้นเอ็นเสื่อมสภาพตามกาลเวลา นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้วเส้นเอ็นอาจจะเสื่อมสภาพจากการใช้งานหนัก หรือผู้ที่มีน้ำหนักมากมีโอกาสที่เส้นเอ็นจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ ซึ่งเส้นเอ็นที่เสื่อมจะมีลักษณะบวม และอักเสบ และเป็นสาเหตุของอาการเจ็บบริเวณส้นเท้าเวลาลงน้ำหนัก หรือ อาการรองช้ำนั่นเอง 

 

3. ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย

ผู้ป่วยรองช้ำบางคนอาจจะมีรูปเท้าที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น อุ้งเท้า แบนอุ้งเท้าสูง ส้นเท้าบิดออกด้านนอก หรืออุ้งเท้าโกงมากเกินไป มีโอกาสเสี่ยงเป็นรองช้ำมากกว่าคนทั่วไป 

 

4. น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

สำหรับโรครองช้ำมีโอกาสเกิดกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากฝ่าเท้าจำเป็นต้องรองรับน้ำหนักและกระแทกมากกว่าปกติ ทำให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าและทำให้ฝ่าเท้าอักเสบได้

 

5. การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม

การสวมใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการรองช้ำ เช่น ผู้ที่สวมรองเท้าพื้นแข็ง แล้วยืนนานๆ ดังนั้นผู้ที่ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องยืนตลอดทั้งวัน หรือจำเป็นต้องเดินทั้งวัน หากใส่รองเท้าไม่ถูกสุขลักษณะอาจจะทำให้เป็นรองช้ำได้ 

 

6. ผลข้างเคียงจากโรครูมาตอยด์

นอกจากการใช้งานข้อเท้าที่หนักมากเกินไปจนทำให้เกิดอาการรองช้ำแล้ว โรคบางชนิดอาจจะทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นที่จุดเชื่อมต่อกับกระดูก และอาจจะทำให้เกิดพังผืดบริเวณฝ่าเท้าอักเสบได้ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อสันหลังอักเสบ โรคเบาหวาน และโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่เป็นรองช้ำสูงมากกว่าปกติ 


อาการของโรครองช้ำเป็นอย่างไร

รองช้ำ หรือ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ สัญญาณของการเกิดโรครองช้ำ เมื่อตื่นเช้ามาผู้ป่วยจะมีอาการ เมื่อลุกจากเตียงลงเดินก้าวแรกจะรู้สึกเจ็บ เพราะตอนนอนหลับกลางคืน เอ็นจะไม่ได้ใช้งาน เอ็นจึงเคยชินอยู่ในท่าที่หย่อน แต่เมื่อตื่นขึ้นและลุกขึ้นก้าวลงเดินจากเตียง เอ็นจะถูกดึงให้ยืดกลับมาเพื่อใช้งาน จึงทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบๆขึ้น เหมือนโดนเข็มทิ่ม

เมื่อเดินต่อสักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถกลับมาเดินได้อย่างปกติ ทั้งนี้อาการ อาจไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นแค่เฉพาะการเดินหลังจากที่ตื่นนอนตอนเช้าเท่านั้น แต่จะเกิดได้จากการเดินหลังจากที่เรานั่งนาน ๆ โดยที่ไม่ได้ใช้งานเท้า แล้วกลับมาเดินจึงค่อยเจ็บก็ได้ เช่น ขับรถนาน ๆ หรือ เวลาที่เราไม่ได้ใช้เท้าเดินนาน ๆ และเมื่อเราทำการเดินหลังจากไม่ได้เดินเป็นเวลานาน ก็จะรู้สึกเจ็บ เป็นต้น

ในช่วงแรกๆของอาการโรครองช้ำนั้นเหมือนจะแปปเดียวก็หาย  จึงทำให้ผู้ป่วยอาจเมินอาการนี้ หากปล่อยทิ้งไว้นาน โรครองช้ำนี้ก็จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ โดยจะทำให้เราเจ็บมากขึ้น เดินไม่ได้นานเหมือนปกติ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน


ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรครองช้ำ

แม้ว่าอาการรองช้ำจะเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการรองช้ำมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

 

  • ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรครองช้ำมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเอ็น กล้ามเนื้อ ไขมันส้นเท้าจะบางกว่า และฝ่าเท้าไม่แข็งแรงเท้าผู้ชาย 
  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากเส้นเอ็นเสื่อมและพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง 
  • ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบน หรือส่วนโค้งของเท้ามากผิดปกติ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกณฑ์ ทำให้ฝ่าเท้าต้องรองรับน้ำหนักและแรงกระแทกมากขึ้น
  • นักกีฬา และผู้ที่ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องใช้งานข้อเท้าหนัก ต้องยืน และเดินเป็นเวลานาน ตลอดทั้งวัน 

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีอาการรองช้ำ เจ็บส้นเท้า ปวดอุ้งเท้า หรือบริเวณฝ่าเท้า เมื่อลงน้ำหนักเท้าและอาการเจ็บเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือ ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมได้สะดวกเหมือนเดิม แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์และตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ 

ทั้งนี้โรครองช้ำสามารถกลายเป็นอาการป่วยเรื้อรัง หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษา หรือ รักษาไม่ถูกวิธี ซึ่งอาการปวดรองช้ำจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่อาการปวดอาจรุนแรงมากจนทำให้ผู้ป่วยโรครองช้ำไม่สามารถเดินได้ เนื่องจากอาการเจ็บเหมือนมีของแหลมมาทิ่มที่บริเวณฝ่าเท้า 


การวินิจฉัยโรครองช้ำ

สำหรับผู้ป่วยรองช้ำที่มาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรครองช้ำด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

 

1. การตรวจร่างกายเบื้องต้น

ขั้นแรกของการวินิจฉัยโรครองช้ำ แพทย์จะสอบถามอาการเจ็บฝ่าเท้าและส้นเท้าในตอนเช้า หรือ ที่เรียกว่า Morning Pain ก้าวแรกเจ็บหรือไม่ แล้วเมื่อเดินไปเรื่อยๆ แล้วอาหารเจ็บลดลงหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจดูลักษณะภายนอกของฝ่าเท้า ทั้งนี้เพียงแค่อาการ Morning Pain และ การกดจุดแล้วเจ็บที่ส้นเท้า ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นรองช้ำ 

 

2. การเอกซเรย์

การเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยอาการรองช้ำ เป็นการช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นรองช้ำจริงๆ โดยผู้ป่วยที่มีอาการรองช้ำเป็นเวลานาน หลายปี เส้นเอ็นมักจะมีการอักเสบตรงจุดเกาะพังผืดและมีการสร้างแคลเซียมมาพอกเอาไว้ เมื่อใช้เครื่องเอกซเรย์จะพบจะงอยกระดูกตรงบริเวณส้นเท้าของจุดเกาะเส้นเอ็น 

 

3. การอัลตร้าซาวด์

การอัลตร้าซาวด์เป็นการตรวจว่าเส้นเอ็นหนา หรือ มีอาการบวม อักเสบหรือไม่ โดยผู้ป่วยโรครองช้ำมักจะมีเส้นเอ็นพังผืดบริเวณฝ่าเท้าที่มีลักษณะบวมและหนามากกว่าปกติ ซึ่งเส้นเอ็นที่บวมและหนาเป็นลักษณะที่บ่งชี้ว่าเส้นเอ็นมีการอักเสบ 


แนวทางการรักษาโรครองช้ำ

วิธีรักษาโรครองช้ำจะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถแบ่งวิธีรักษารองช้ำได้ทั้งหมดออกเป็น 3 วิธีหลักๆ ดังนี้

 

1. การใช้ยารักษาอาการรองช้ำ

ผู้ป่วยโรครองช้ำที่มีอาการแรกเริ่ม แพทย์ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีรักษาด้วยการจ่ายยาแก้รองช้ำ ยาปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการใช้ข้อเท้า เพื่อไม่ให้ข้อเท้าทำงานหนักและรองรับแรงกระแทกมากเกินความจำเป็น ทั้งนี้การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากรองช้ำควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง 

อาการรองช้ำไม่แนะนำให้ใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการปวด เพราะจะทำให้การรักษายากขึ้นกว่าเดิม และมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกติดเชื้อหรือเอ็นฝ่าเท้าฉีกขาด 

 

2. การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาและบรรเทาอาการรองช้ำได้ดี โดยแพทย์อาจจะใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด หรือแนะนำการออกกำลังกายที่เป็นวิธีแก้อาการรองช้ำด้วยตัวเอง ที่สามารถช่วยลดการอักเสบของเส้นเอ็น และบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้ที่เป็นรองช้ำไม่จำเป็นต้องรับประทานในปริมาณมากๆ 

โดยเครื่องมือที่ช่วยในการทำกาบภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการรองช้ำ มีดังนี้ 

 

  • เครื่องคลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นการใช้คลื่นกระแทกผังพืดที่หนาตัวบริเวณฝ่าเท้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ และสามารถช่วยลดอาการปวดจากรองช้ำได้ 
  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) วิธีนี้สามารถช่วยลดความตึง และอาการปวดจากรองช้ำ โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้เกิดการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ 
  • คลื่นเหนือเสียง (Ultrasound Therapy) เป็นการใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่สูง ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อชั้นลึก พร้อมทั้งช่วยเร่งการซ่อมของเนื้อเยื่อและช่วยลดอาการปวด บวม และอักเสบลงได้ดี 
  • เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser) วิธีนี้เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารลดปวด และลดอาการอักเสบเฉียบพลันของเส้นเอ็น โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ 
  • คลื่นกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulator) เป็นการกระตุ้นเส้นประสาท โดยใช้แม่เหล็กไฟฟ้า โดยที่แม่เหล็กไฟฟ้ามีคุณสมบัติช่วยลดอาการปวด ชา จากการทำที่ผิดปกติของเส้นประสาท 

 

3. การผ่าตัดรองช้ำ

สำหรับผู้ป่วยรองช้ำส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นหลังจากที่ได้รับประทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โดยจากผลสำรวจผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นสูงถึง 80 - 90% แต่ถ้าหากผู้ป่วยได้ทดลองรักษาด้วยการรับประทานยา พร้อมทั้งทำกายภาพบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น วิธีสุดท้ายที่สามารถทำได้ คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีรักษาอาการรองช้ำเรื้อรัง

โดยการผ่าตัดรองช้ำ แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาพังผืดที่บริเวรฝ่าเท้าบางส่วนออก เพื่อช่วยลดความตึงของเส้นเอ็นลง เมื่อเส้นเอ็นคลายตัวมากขึ้นอาการรองช้ำจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไป 


การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรครองช้ำ

ผู้ที่มีอาการรองช้ำ รู้สึกเจ็บใต้ฝ่าเท้า หรือส้นเท้าเวลาลงน้ำหนักที่เท้า หรือในขณะที่เดินทำกิจกรรมต่างๆ สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงได้ โดยการแก้อาการรองช้ำด้วยตัวเองเบื้องต้น มีดังนี้
 

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้งานเท้าหนัก หรือกิจกรรมที่ฝ่าเท้าต้องรับแรงกระแทกเป็นเวลานาน 
  • ใช้รองเท้าที่สุขลักษณะ หรือเลือกสวมรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม เพื่อลดแรงกระแทก 
  • ออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อน่อง และยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าบ่อยๆ 
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อช่วยลดแรงกระแทกและแรงกดบริเวณฝ่าเท้า 
  • ปรับท่าเดินและท่าวิ่งให้ก้าวสั้นลงและพยายามลงน้ำหนักให้เต็มฝ่าเท้าอย่างนุ่มนวล
  • ประคบร้อนและประคบเย็น เพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ ที่บริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า 

แนะนำท่าบริหารสำหรับโรครองช้ำ

หากสังเกตุและเกิดอาการเจ็บใต้ฝ่าเท้า หรืออาการของโรครองช้ำ วิธีรักษาอาการเบื้องต้นสามารถทำตามได้เลยที่บ้าน โดยการฝึกบริหารฝ่าเท้า

ท่าที่ 1 นั่งเหยียดขาข้างหนึ่งไปข้างหน้า แล้วใช้ผ้าคล้องฝ่าเท้าไว้ แล้วออกแรงต้านผ้าที่ดึงไว้ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที ทำ 5-10 ครั้ง

ท่าที่ 2 ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือยันกำแพงไว้ โดยถอยเท้าข้างที่ต้องการยืดออก 2 ก้าว และย่อด้านหน้าลง ให้ขาด้านหลังเหยียดตึง และส้นเท้าติดพื้นอยู่ตลอด ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที ทำ 3-5 ครั้ง

ท่าที่ 3 ให้นั่งแล้วใช้ฝ่าเท้าคลึงลูกเทนนิส หรือขวดน้ำไว้ จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น


การป้องกันไม่ให้เกิดโรครองช้ำ

อาการรองช้ำเป็นอาการที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน ซึ่งถ้าหากคุณสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรครองช้ำได้น่าจะเป็นผลดีมากกว่า โดยวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรครองช้ำ มีดังนี้ 

 

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานานๆ หรือกีฬาบางประเภทที่ทำให้ฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมากๆ เช่น การวิ่ง หรือการปั่นจักรยาน 
  • เลือกใช้รองเท้าที่มีพื้นรองเท้านิ่มสามารถรองรับสรีระร่างกายของคุณได้ดี และไม่ควรเดินเท้าเปล่า
  • หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน แนะนำให้หาเวลาพักเพื่อถอดรองเท้าและยึดกล้ามเนื้อน่อง และยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าบ่อยๆ 
  • สำหรับผู้ที่มีฝ่าเท้าผิดรูป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และสั่งตัดรองเท้าพิเศษขึ้นมา เพื่อให้รองเท้าสามารถรองรับสระรีและน้ำหนักได้ดีขึ้น 

ข้อสรุปของอาการโรครองช้ำ

อาการรองช้ำ (Plantar Fasciitis) คือ อาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บใต้ฝ่าเท้าเวลาเดิน และบริเวณส้นเท้าโดยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยผู้ป่วยรองช้ำจะรู้สึกเจ็บบริเวณฝ่าเท้า และส้นเท้าที่สัมผัสลงบนพื้น และจะมีอาการปวดเรื้อรังรุนแรง เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งโรครองช้ำมีสาเหตุจากการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า 

หากผู้ป่วยมีอาการรองช้ำสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

References

Jennifer, L. (2022, Feb 24). Plantar Fasciitis. Healthline.
https://www.healthline.com/health/plantar-fasciitis

Mayo Staff. (2022, Jan 20). Plantar Fasciitis. Mayo Clinic.
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/plantar-fasciitis/symptoms-causes/syc-20354846


 

 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​