บทความสุขภาพ

ปวดเข่าห้ามกินอะไร? พาส่องอาหารที่สุขภาพเข่าไม่ปลื้ม

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

เคยสังเกตไหมว่าเวลาทานอาหารบางอย่างทำไมถึงทำให้ปวดเข่ามากกว่าเดิม จากปกติที่มีอาการปวดเข่าอยู่แล้ว เพราะเวลาปวดเข่าไม่ว่าจะครั้งไหนๆ ก็รู้สึกทรมานเสมอ จะดีกว่าไหมถ้ารู้ว่าเวลาปวดเข่าห้ามกินอะไร และควรกินอะไรเพื่อสุขภาพเข่าที่ดี วันนี้ทาง Samitivej chinatown นำสาระสุขภาพดีๆ กับเมื่อมีอาการปวดหัวเข่าห้ามกินอะไรมาฝากในบทความนี้


สารบัญบทความ
 


ปวดเข่าห้ามกินอะไร

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่นอกจากจะสร้างทั้งความรำคาญใจ และความเจ็บปวดบริเวณเข่าเมื่อเกิดอาการปวดแล้ว ยังสร้างข้อสงสัยให้กับผู้ที่มีอาการดังกล่าวด้วยว่าเมื่อปวดเข่าห้ามกินอะไร? เพราะอาหารการกินก็ส่งผลต่อการปวดได้เช่นกัน เพราะอาหารบางชนิดจะส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ยิ่งน้ำหนักตัวเพิ่มก็จะทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เช่น อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสหวาน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ของมัน ของทอด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของเข่าโดยตรง ทั้งส่งผลต่อกระดูก และทำให้เกิดการอักเสบของเข่า เช่น แป้งขัดขาว แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น


อาการปวดเข่า

อาการปวดเข่า (Knee Pain) เป็นอาการที่เกิดความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อเข่าข้างใดข้างหนึ่ง หรือเกิดขึ้นทั้งสองข้าง โดยมักจะรู้สึกว่าไม่สามารถยืดเข่าได้อย่างเต็มที่ รู้สึกตึง ซึ่งอาการปวดเข่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย และอาการปวดเข่ายังอาจนำไปสู่อาการอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างโรคข้อเข่าเสื่อม ไขข้ออักเสบ เป็นต้น


สาเหตุอาการปวดเข่า

สาเหตุของอาการปวดเข่ามีหลากหลายสาเหตุ ดังนี้
 

  • อุบัติเหตุ ทั้งจากการเล่นกีฬา และการใช้ชีวิตประจำวัน
  • การออกกำลังกายที่หนักหน่วงรุนแรง 
  • ยืนนานๆ หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ 
  • นั่งท่าที่ไม่เหมาะสมบ่อยๆ 
  • คุกเข่าหรือใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
  • มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้เข่ารับน้ำหนักร่างกายไม่ไหว
  • โรคข้อเข่าเสื่อมที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
  • โรคข้อเข่าอักเสบ
  • โรคกล้ามเนื้อต้นขาอักเสบ และโรคกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง

อาหารส่งผลต่ออาการปวดเข่าอย่างไร

ก่อนจะไปตอบข้อสงสัยว่าปวดเข่าห้ามกินอะไร ทราบหรือไม่ว่าอาหารมีผลต่ออาการปวดเข่าด้วยเช่นกัน ซึ่งการรับประทานอาหารในแต่ละวันนั้นร่างกายจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปบำรุง ซ่อมแซมเซลล์ ส่วนต่างๆ ในร่างกายที่มีความเสียหายให้ดีขึ้น แต่ถ้าเลือกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จะทำให้ร่างกายได้รับอนุมูลอิสระ ที่เข้าไปทำให้เกิดการอักเสบ เร่งให้ร่างกายเกิดการสึกหรอเร็วขึ้น รวมไปถึงบริเวณข้อเข่าด้วย จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ


10 อาหารที่ควรเลี่ยง..ปวดเข่าห้ามกินอะไร

ปวดเข่าห้ามกินอะไร ชวนมาดู 10 อาหารที่อยากให้คนปวดเข่าหลีกเลี่ยงเพื่อสุขภาพข้อเข่าของตัวเราเอง โดยอาหาร 10 อย่างที่ควรเลี่ยงมีดังต่อไปนี้

 

1. แป้งขัดขาว

อาหารอย่างแรกที่คนปวดเข่า ข้ออักเสบควรหลีกเลี่ยงคือแป้งขัดขาว เพราะการรับประทานแป้งขัดขาวจะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น เนื่องจากแป้งขัดขาวเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวเมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ยิ่งรับประทานแป้งขัดขาวจะเพิ่มน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจนส่งผลดังกล่าวได้
 

2. อาหารแปรรูป

อาหารแปรรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์เช่น แฮม ไส้กรอก เบคอน หรือจะเป็นอาหารแปรรูปจากผักผลไม้ อาหารกระป๋อง ฯลฯ หากผู้ที่อาการปวดเข่ารับประทานจะยิ่งเพิ่มอาการ ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หรือการรับประทานเนื้อแดงในปริมาณมากอาจทำให้นำไปสู่โรคข้ออักเสบได้
 

3. อาหารรสหวาน

สำหรับผู้ที่ปวดเข่าอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงอีกหนึ่งอย่างคืออาหารที่มีรสหวาน มีน้ำตาลเยอะ ซึ่งมักพบได้ทั่วไปในน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไอศกรีม เค้ก คุกกี้ และขนมหวานอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าเมื่อยิ่งรับประทานอาหารที่มีรสหวานจะยิ่งส่งผลไม่ดีต่ออาการปวดเข่า เนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นเนื้อเยื่อ และข้อต่อให้เกิดการระคายเคือง ยิ่งไปกว่านั้นอาจนำไปสู่โรคอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น
 

4. อาหารรสเค็ม

การบริโภคอาหารรสเค็มที่มีส่วนประกอบของเครื่องปรุงอย่างเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ฯลฯ มาก จะทำให้ร่างกายเกิดอาการบวมน้ำได้ และยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้คนที่ปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม มีอาการกำเริบเพิ่มขึ้นอีก 
 

5. อาหารโซเดียมสูง

อาหารที่มีโซเดียมสูงอาจจะไม่ได้มีรสเค็มเสมอไป โซเดียมจะกระตุ้นให้เซลล์กักเก็บน้ำไว้มากเกินไป ทำให้ร่างกายบวมน้ำมีน้ำหนักตัวมากขึ้น ส่งผลต่อการรับน้ำหนักของหัวเข่า ทำให้หัวเข่าเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนี้โซเดียมยังส่งผลให้เกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
 

6. อาหารไขมันสูง

 

อาหารที่มีไขมันสูง เช่น  อาหารติดมัน ของทอด ซึ่งส่วนใหญ่มักมีวิธีการปรุงอาหารด้วยน้ำมันทำให้อาหารประเภทนี้จะมีไขมันอิ่มตัวสูงมาก นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่นๆ แล้ว ยังส่งผลเสียต่ออาการปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อมอีกด้วย เพราะจะยิ่งเพิ่มอาการอักเสบให้กับข้อมากขึ้น ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เปลี่ยนวิธีการปรุงจากทอดเป็นการอบแทนเพื่อลดปริมาณไขมันจะดีกว่า
 

7. อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-6

แหล่งอาหารธรรมชาติที่มีกรดไขมันโอเมก้า-6 เช่น ข้าวโพด ดอกคำฝอย ถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน น้ำมันคาโนลา ถั่ว และเนื้อสัตว์ มีส่วนทำให้อาการอักเสบแย่ลงหากบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-6 ในปริมาณมาก
 

8. เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูง

การปรุงเนื้อสัตว์ด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดสาร AGEs หรือสารเร่งความชรา ซึ่งจะเข้าไปทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ทำให้อวัยวะเสื่อมเร็วขึ้น เป็นต้นตอของโรคต่างๆ มากมาย รวมถึงโรคข้อเข่าเสื่อม
 

9. คาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากกว่าปกติทางปัสสาวะ เมื่อร่างกายสูญเสียแคลเซียมเป็นปริมาณ ก็อาจทำให้มวลกระดูกบางลง เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมด้วยเช่นกัน
 

10. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ดีต่ออาการปวดเข่า ปวดข้อต่อ เพราะจะไปรบกวนประสิทธิภาพการทำงานของยาบรรเทาอาการปวดเข่า และยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ดื่มมาเป็นเวลานานอาจยิ่งทำให้เพิ่มความรุนแรง ละความถี่ของโรคเก๊าท์ได้


ปวดเข่ากินอะไรหาย? รวม 5 อาหารบำรุงหัวเข่า

หลายคนสงสัยว่าปวดหัวเข่ากินอะไรหาย แค่เลือกกินอาหารจะสามารถช่วยลดอาการปวดเข่าได้จริงหรือ? กินอะไรบำรุงหัวเข่าได้บ้าง? อันที่จริงมีอาหารหลากหลายชนิดที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูก ข้อต่อ หัวเข่า ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยทำให้อาการเจ็บเข่าหายไปในพริบตา แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าให้ดีขึ้น จากการสร้างเสริมกระดูกและข้อต่อให้แข็งแรง โดยอาหารที่ช่วยบำรุงหัวเข่ามีดังนี้
 

1. นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว

อาหารอย่างแรกที่ทานแล้วช่วยบำรุงหัวเข่าคือ นมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เนื่องจากในนมวัวและผลิตภัณฑ์นมวัวมีแคลเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การรับประทานนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวจึงช่วยบำรุงหัวเข่า ลดโอกาสการปวดเข่า เจ็บข้อเข่าให้น้อยลง และที่สำคัญยังช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนอีกด้วย
 

2. ธัญพืชที่ไม่ขัดสีมากนัก

ธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสีจะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และสารอาหารต่างๆ มากกว่าธัญพืชที่ผ่านการขัดสีแล้ว โดยสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูก ทำให้ลดอาการปวดเข่าลงได้ และยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
 

3. ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 

การรับประทานปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 จะช่วยให้ข้อเข่าลดการอักเสบ บวมน้อยลง เพิ่มความหนาแน่นของกระดูก และยังช่วยลดอาการปวดข้อให้ดีขึ้น ซึ่งปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลากระพงขาว  ปลาสวาย ปลาจะละเม็ดขาว ปลาช่อน ปลาทู เป็นต้น 

นอกจากปลาบางชนิดจะมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่เป็นประโยชน์ต่อกระดูกข้อแล้ว ยังมีแหล่งอาหารอื่นๆ ที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ด้วย เช่น น้ำมันมะกอก ถั่วเขียว บร็อคโคลี่ สตอเบอร์รี่ เป็นต้น
 

4. ชาเขียว

ชาเขียวมีสารคาเทชิน (catechins) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบ สร้างความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อ เพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกายดูดซึมวิตามินได้มากขึ้น ลดการเกิดรอยฟกช้ำ และชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อน จึงทำใช้ช่วยบำรุงข้อเข่าได้เป็นอย่างดี
 

5. ผักและผลไม้

ผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่มีอยู่ในทั้งผักและผลไม้ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผักใบเขียวยังมีวิตามินดีที่ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง และช่วยลดโอกาสที่จะเกิดข้อเข่าอักเสบ


แนวทางการรักษาอาการปวดเข่า

ในข้างต้นได้กล่าวถึงเรื่องอาหารที่คนปวดเข่าห้ามกินอะไร และอาหารที่คนปวดเข่าควรกินไปแล้ว แต่นอกจากเรื่องอาหารการกินยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นสาระดีๆ สำหรับคนปวดเข่านั่นคือแนวทางการรักษา ซึ่งแนวทางการรักอาการปวดเข่ามีหลากหลายวิธีตั้งแต่วิธีเบื้องต้นไปจนถึงวิธีที่ควรพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งมีดังต่อไปนี้
 

ตรวจร่างกายภายนอกเบื้องต้น

เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดเข่าเพื่อวางแผนทำการรักษาต่อไป โดยสามารถตรวจหาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

 

  • เอ็กซเรย์เป็นการตรวจขั้นต้นเพื่อหาจุดแตกหักของกระดูกหรือข้อต่อ
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT SCAN (Computerized Tomography Scan) เป็นการตรวจที่คล้ายการเอ็กซเรย์ โดยจะใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยสร้างภาพสามมิติ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดเข่าได้ละเอียดมากขึ้น
  • อัลตร้าซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงสะท้อน เพื่อสร้างภาพเนื้อเยื่อภาพใน ทำให้สามารถตรวจดูความเสียหายคร่าวๆ เพื่อประเมินสาเหตุการปวดเข่าจากการตรวจได้
  • MRI เป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยจะได้ภาพที่ละเอียดสามารถเห็นได้ทั้งเส้นเอ็น กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ ทำให้วิเคราะห์อาการปวดเข่าได้ละเอียดขึ้น
  • ตรวจเลือด สามารถตรวจหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ ซึ่งสามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์อาการปวดเข่าได้เช่นกัน


การรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง

หากเป็นอาการปวดเข่าที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยตัวเอง เช่น

 

  • ควบคุมน้ำหนัก เมื่อมีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะทำให้หัวเข่าต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็จะทำให้อาการปวดเข่าดีขึ้นด้วย
  • กินอาหารให้เหมาะสม การกินอาหารเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะอาหารบางชนิดจะช่วยซ่อมแซมเข่าที่สึกหรอได้ แต่อาหารบางชนิดก็จะทำำให้อาการปวดเข่าแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นจึงควรรู้ว่าปวดเข่าห้ามกินอะไร และกินอะไรบำรุงหัวเข่าได้
  • ทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง การออกกำลังกายเบาๆ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อเข่าสม่ำเสมอจะช่วยให้หัวเข่าแข็งแรงขึ้น ทำให้อาการปวดเข่าดีขึ้นได้
  • ใช้ยาระงับการปวดเบื้องต้น ในกรณีที่มีอาการปวดเล็กน้อย หรือเกิดจากโรคไขข้ออักเสบหรือโรคเกาต์ สามารถใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า และช่วยรักษาอาการปวดเข่าได้


การรักษาโดยแพทย์

ถ้าหากเป็นอาการปวดเข่าที่รุนแรงจนต้องแพทย์ช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยรักษา เช่น 

 

  • ฉีดสารสเตียรอยด์ หากมีอาการปวดเข่ามาก แพทย์อาจใช้วิธีฉีดสารสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่ก็ต้องรักษาควบคู่กับวิธีอื่นไปด้วยเพื่อให้อาการปวดเข่าดีขึ้น
  • ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะเข้าไปทำให้บริเวณข้อเข่าเกิดความยืดหยุ่นขึ้น ดูดซับแรงกระแทกได้ดีขึ้น ลดการอักเสบ ทำให้อาการปวดเข่าบรรเทาลง
  • ผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยนำเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปตรวจสอบความเสียหายของหัวเข่า แล้วทำการรักษา เช่น รักษากระดูกอ่อน รักษาเส้นเอ็นบริเวณเข่า
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดนำชิ้นส่วนข้อเข่าที่เสื่อมสภาพแล้วออกมา แล้วนำวัสดุสังเคราะห์เข้าไปใส่ทดแทนข้อเข่าเดิม ทำให้ลดอาการปวดเข่าลง และสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ดียิ่งขึ้น

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อปวดเข่า

เมื่อเกิดอาการปวดเข่าขึ้น ไม่ว่าจะปวดเข่าจากสาเหตุอะไรก็ตาม จะต้องมีวิธีดูแลตัวเอง และดูแลหัวเข่าให้สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ หรือทำให้อาการปวดเข่าบรรเทาลง นอกจากปวดเข่าห้ามกินอะไรแล้วยังมีวิธีดูแลหัวเข่าในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

 

  • ออกกำลังกายประเภทที่ไม่ลงน้ำหนักตัวที่เข่ามาก เช่น ว่ายน้ำ 
  • หากเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่า ควรออกกำลังเบาๆ บริหารกล้ามเนื้อเข่าสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนัก เพื่อให้เข่าไม่ต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ปวดเข่า เช่น นั่งยองๆ ย่อตัว นั่งกับพื้น 
  • ไม่ใช้งานหัวเข่าหนักเกินไป เช่น ยืนนานๆ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
  • ควรนั่งเก้าอี้ที่มีระดับความสูงเหมาะสม (เบาะของเก้าอี้จะสูงประมาณหัวเข่า)
  • เลือกรองเท้าที่พื้นมีความนุ่ม ขนาดกระชับพอดีเท้า ไม่ใส่ส้นสูง
  • หากมีอาการบาดเจ็บหรือปวดเข่ามาก ให้ประคบร้อน เย็น และใช้ยานวด
  • หลีกเลี่ยงห้องน้ำที่เป็นโถนั่งยอง
  • หากปวดเข่ามากจนทำให้เดินลำบาก ควรใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยัน

คำถามที่พบบ่อย

ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเมื่อเกิดอาการปวดเข่าห้ามกินอะไร
 

สารอะไรทำให้ปวดข้อ

แม้ว่าอาการปวดข้อจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่การรับประทานสารบางอย่างเข้าสู่ร่างกายก็สามารถส่งผลทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้เช่นกัน เช่นสาร AGE (advanced glycation end product) ที่พบได้ในอาหารที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูง และน้ำตาล โดยสารชนิดนี้จะเข้าไปทำลายโปรตีนบางชนิดที่ช่วยลดการอักเสบ เมื่อโปรตีนถูกทำลาย ก็จะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น ทำให้ปวดข้อได้นั่นเอง
 

ข้อเข่าเสื่อมกินกาแฟได้ไหม

ผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมไม่ควรดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนเป็นสารที่ทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุหลายชนิดออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แมกนีเซียม สังกะสี และที่สำคัญคือแคลเซียม เมื่อร่างกายสูญเสียแคลเซียมก็จะทำให้มวลกระดูกเสื่อมลง ส่งผลต่ออาการข้อเข่าเสื่อมได้
 

ข้อเข่าเสื่อมกินไข่ได้ไหม

ผู้ที่ปวดเข่าห้ามกินอะไร กินไข่ได้หรือไม่ แม้ว่าไข่จะมีวิตามินดี และแคลเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก แต่ก็ไม่ควรกินไข่ในปริมาณมากเกินไป เพราะกรดไขมันโอเมก้า 6 ในไข่แดง ก็อาจส่งผลให้อาการข้อเข่าเสื่อมแย่ลงได้
 

ปวดเข่าห้ามกินผักอะไร

หลายคนคงสงสัยว่าปวดเข่าห้ามกินผักอะไรบ้าง? จริงๆ แล้วผักเป็นสิ่งที่สำคัญที่คนปวดเข่าควรกิน เพราะมีวิตามินดีสูง ช่วยซ่อมแซมกระดูกให้แข็งแรง แต่ไม่ควรกินผักที่ผ่านกระบวนการหมักดอง เช่น ผักกาดดอง เนื่องจากผักเหล่านี้จะมีโซเดียมสูง ทำให้ร่างกายบวมน้ำเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น นอกจากนี้ยังไปกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเข่าได้


ข้อสรุป

เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการปวดเข่า ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม ควรใส่ใจที่รักดูแลรักษาอาการปวดเข่าตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะระวังเรื่องการใช้งานหัวเข่าแล้ว อาหารการกินก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะถ้าเลือกกินอาหารที่เหมาะสม มีประโยชน์ต่อร่างกายก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าดีขึ้นได้ และป้องกันการปวดเข่าร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับท่านใดที่มีปัญหาปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม เข่าบวม รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกจากเข่า เช่น นิ้วล็อคหรือปวดข้อเท้า ฯลฯ ไม่มั่นใจว่าจะตรวจร่างกายเบื้องต้นที่ไหน หากมีความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มากด้วยประสบการณ์และพร้อมที่จะดูแลสุขภาพของคุณ ผ่านช่องทางการติดต่อต่างๆ ได้ที่

Line @samitivejchinatown 

เบอร์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง


References

 

Ashley Braun. (December 01, 2021). 12 Foods To Avoid When You Have Arthritis. https://www.verywellhealth.com/foods-to-avoid-with-arthritis-5090739#toc-fried-foods

Footsolutions. (May 14, 2014). How Does Food Affect Knee Pain? The Best Food for Knee Pain. https://www.footsolutions.ie/how-does-food-affect-knee-pain-the-best-food-for-knee-pain/

Jon Johnson. (October 22, 2018). Causes and tips for coping with chronic knee pain. https://www.medicalnewstoday.com/articles/311308

Mayo Clinic Staff. (May 11, 2021). Knee pain. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/knee-pain/diagnosis-treatment/drc-20350855


 

 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​