บทความสุขภาพ

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นปัญหาคู่พนักงานออฟฟิศ ทำให้เกิดอาการปวดร่างกายโดยเฉพาะในบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก อาการปวดมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ไปจนถึงระดับรุนแรง หรือมีอาการตาพร่า หูอื้อ ชา ปวดหัวไมเกรนรวมด้วย ในบทความนี้โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ จะพาไปทำความรู้จักออฟฟิศซินโดรมคืออะไร สาเหตุโรคออฟฟิศซินโดรม วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรม รวมถึงตอบคำถามออฟฟิศซินโดรมรักษาหายไหม?


สารบัญบทความ
 


ภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการที่พบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานที่มีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องนานๆ ทั้งในขณะนั่ง ยืน เดิน ทำงาน เช่น การนั่งหรือยืนหลังค่อม ไหล่ห่อ หรือยกไหล่ ก้มคอมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยหรือชาตามบริเวณต่างๆ และอาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อตามมาได้ เช่น
 

  • กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)
  • เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
  • ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)
  • กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)
  • นิ้วล็อก (trigger finger)
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
  • ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
  • หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

ออฟฟิศซินโดรมเกิดจากสาเหตุใด

โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆเป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องแล้วยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น

 

สาเหตุจากสภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ไม่เหมาะกับโครงสร้างร่างกาย เช่น เก้าอี้หรือโต๊ะทำงานที่สูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่รองรับสรีระร่างกาย เมื่อนั่งทำงานเป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกายก็จะก่อให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้

 

สาเหตุจากสภาพร่างกาย

ออฟฟิศซินโดรมสามารถเกิดจากสาเหตุทางสภาพร่างกายได้เช่นกัน สภาพร่างกายอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียง การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น


 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์


5 อาการออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อย

 

1. ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะจากออฟฟิศซินโดรม มึนหัว ปวดหัว เกิดจากการลุกลามของอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนไม่สามารถไหลไปเลี้ยงส่วนหัวได้ตามปกติ จนเกิดเป็นอาการปวดศีรษะได้ ในบางกรณีอาจเกิดจากการจ้องหน้าจอคอมจนตาแห้ง ปวดตา จนร้าวไปปวดหัว หากอาการรุนแรงมีความเสี่ยงเกิดไมเกรนได้
 

2. ปวดหลัง คอ บ่า ไหล่

ปวดบ่าออฟฟิศซินโดรม ปวดไหล่สะบักบ่า ปวดคอออฟฟิศซินโดรม อาการเหล่านี้เกิดจากการนั่งในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เกร็งตัว ก้มหรือเงยบ่อยจนเกินไป ไม่มีการเคลื่อนไหวระหว่างวันเท่าที่ควร เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อตึงเครียดจนปวดหลัง คอ บ่า ไหล่ได้
 

3. ปวดตา สายตาเบลอ ตาพร่า

สาเหตุอาการปวดตา สายตาเบลอ ตาพร่า ได้แก่การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจนเกินไป ทำให้ใช้สายตาหนักเป็นเวลานาน ตาล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา สายตาพร่า หรืออาจมองเห็นภาพซ้อนได้จนไม่สามารถทำงานต่อได้
 

4. ปวดขา เหน็บชา

การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานจะทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติจนเกิดอาการเหน็บชา ปวดขาได้ง่าย หากพบอาการปวดขา เหน็บชาจากออฟฟิศซินโดรมควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้ออฟฟิศซินโดรมอาการหนักจนชาลามไปถึงเท้า ขาไม่มีเรี่ยวแรง
 

5. ปวดข้อมือ นิ้วล็อค

อาการปวดข้อมือ นิ้วล็อค เกิดจากจับเมาส์เป็นเวลานานในการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือพิมพ์เอกสารต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนกล้ามเนื้อกดทับจนพังผืดทับเส้นประสาท ก่อให้เกิดอาการปวดข้อมือ ข้อมือล็อค นิ้วล็อกได้


พฤติกรรมเสี่ยงออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง

พฤติกรรมที่เสี่ยง Office Syndrome ได้แก่
 

  • นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ไม่เปลี่ยนอิริยาบถให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว
  • นั่งทำงานในโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย
  • ตั้งจอคอมพิวเตอร์สูงหรือต่ำกว่าระดับสายตา จนทำให้ต้องเงยหรือก้มทำงานตลอดเวลา
  • ใช้เมาส์ คีย์บอร์ดผิดท่าทาง ห่างจากลำตัวเกินไป 
  • นั่งไขว่ห้าง เพิ่มความเสี่ยงให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและเลือดไหลเวียนผิดปกติ
  • นั่งห่อไหล่ นั่งหลังค่อม
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • มีภาวะเครียดสะสม เครียดจากการทำงาน
  • ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

ใครมีโอกาสเป็นภาวะออฟฟิศซินโดรมได้บ้าง

โรคออฟฟิศซินโดรมจะเกิดในผู้ที่ใช้งานกล้ามเนื้อในรูปแบบซ้ำๆ เป็นเวลานาน ซึ่งมีทั้งงานแบบนั่งสำนักงาน และงานใช้แรงงานประจำ ผู้ที่มีโอกาสเป็นภาวะออฟฟิศซินโดรม เช่น

 

  • ผู้ที่ต้องนั่งเป็นเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ
  • ผู้ที่ต้องยืนทำงานทั้งวัน เช่น พนักงานขาย
  • ผู้ที่ทำงานที่ใช้แรงมือและแขนซ้ำๆ เช่น พนักงานขายกาแฟ
  • ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะทำงานไม่เหมาะกับสรีระ
  • ผู้ที่ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้แรงเป็นประจำ เช่น พนักงานแบกหาม 
  • ผู้ที่เล่นกีฬาเป็นประจำ
  • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย ไม่ต่อยได้เคลื่อนไหว
  • ผู้ที่เครียดจากการทำงานสูง
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการออฟฟิศซินโดรมแบบใดที่ควรพบแพทย์

อาการออฟฟิศซินโดรมที่ควรเริ่มพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาเนื่องจากมีอาการที่รุนแรงขึ้น มีดังต่อไปนี้
 

  • เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมบ่อยๆ
  • มีอาการเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด
  • ไม่สามารถชี้ตำแหน่งปวดได้ชัดเจน
  • มีอาการเหน็บชา รู้สึกซ่าๆ
  • ปวดตลอดเวลา
  • มีอาการของโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เอ็นข้อมืออักเสบ

การตรวจวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม

การตรวจวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
 

1.ซักประวัติผู้ป่วย ถามประวัติที่สอดคล้องกับสาเหตุอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม เช่น ท่าทางในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง อุบัติเหตุ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ
 
2.ตรวจร่างกาย เป็นการประเมินลักษณะทั่วไปตามอาการและตำแหน่งโรคที่เกิด คลำหาจุดเจ็บ ดูแนวกระดูกสันหลัง สังเกตอิริยาบถในการเคลื่อนไหว

3.ประเมินความเจ็บปวด แบ่งเป็น 2 วิธี คือ

 

  • การบอกความรู้สึกเป็นตัวเลข  (numerical rating scales: NRS) ใช้ตัวเลขระบุความเจ็บปวด
  • เฟเชียล สเกลส (facial scales) ใช้รูปภาพสีหน้าแสดงความเจ็บปวด

4.รักษาและฟื้นฟูสภาพ ทั้งการงานใช้เทคโนโลยีทางกายภาพ หรือใช้ยาร่วมด้วย

5.ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เพื่อส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสภาพร่างกาย ปรับพฤติกรรมหลักกายศาสตร์

6.ประเมินผลและติดตามการรักษา แบ่งเป็นการวัดระดับความเจ็บปวด การวัดความถี่ของการปวดต่อวัน การตรวจประเมินการเคลื่อนไหวแต่ละอิริยาบถ


วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

การรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) นั้นมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อรักษาปวดหลังเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย การรักษาด้วยคลื่นกระแทก เป็นต้น

 

1. การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา

การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยาใช้ในผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมที่มีอาการรุนแรง ต้องใช้ยาในการบรรเทาอาการปวด ยารักษาออฟฟิศซินโดรม เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ต้องทานยาที่ผ่านการพิจารณาของแพทย์เสมอ

 

2. การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ควรปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับการทำงาน เช่น ใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่รับกับสรีระของร่างกาย เปลี่ยนบรรยากาศห้องทำงาน มีแสงสว่างที่เพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก

 

3. การปรับอิริยาบถให้ถูกต้องเหมาะสม

ในการนั่งทำงานควรนั่งในอิริยาบถที่ถูกต้องเหมาะสม นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังค่อม เอนหลัง ไหล่ห่อ นั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง เลือดไหลเวียนไม่ดี ชาตามตัว 

 

4. การออกกำลังกายเป็นประจำ

ออกกำลังกายช่วยแก้ออฟฟิศซินโดรม เพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความเครียด ป้องกัน Office Syndrome ได้เป็นอย่างดี 

 

5. การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ

ยืดกล้ามเนื้อออฟฟิศซินโดรมจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็งตึง ทั้งยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นอีกด้วย ข้อควรระวังในการยืดเส้นออฟฟิศซินโดรมคือควรยืดบริหารให้ถูกวิธี

 

6. การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือก


 

  • การฝังเข็ม

การฝังเข็มรักษาออฟฟิศซินโดรมจะฝังลงบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการปวดได้

 

  • การนวดแผนไทย

การนวดแผนไทยเป็นการนวดคลายกล้ามเนื้อในบริเวณที่มีการแข็งเกร็งตัว ช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดลมไหลเวียนสะดก ขจัดของเสียที่ค้างอยู่ตามกกล้ามเนื้อ

 

7. การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy)

การรักษาด้วยคลื่นกระแทก Shockwave เป็นการใช้เทคโนโลยีทางกายภาพบำบัด โดยใช้ส่งผ่านคลื่นกระแทกไปยังบริเวณที่มีอาการปวดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บใหม่และซ่อมแซมสร้างเนื้อเยื่อในจุดนั้น Shockwave Therapy เป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาเร็ว ทั้งยังไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์


อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากออฟฟิศซินโดรม

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากออฟฟิศซินโดรม เช่น

 

  • ปวดตา ตาพร่า
  • ปวดตึงที่ขา
  • เหน็บชา 
  • ปวดหลัง คอ บ่าไหล่
  • นิ้วล็อค
  • เอ็นข้อมืออักเสบ
  • มึนหัว ปวดศีรษะ
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

แนวทางการป้องกันภาวะออฟฟิศซินโดรม

ในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ได้
 

  • ไม่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานเกินไป
  • ลุกจากที่นั่งเพื่อขยับตัวระหว่างวัน เปลี่ยนอิริยาบถ
  • จัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสม ถูกต้องตามหลักกายวิภาคของร่างกาย
  • เปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน จัดให้มีแสงเพียงพอ อากาศถ่ายเท
  • ยืดกล้ามเนื้อระหว่างทำงานเป็นระยะๆ
  • ผ่อนคลายระหว่างทำงาน
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต นั่งหลังตรง ไม่ก้มหรือเงยนานเกินไป
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

รักษาออฟฟิศซินโดรมที่ไหนดี

ออฟฟิศซินโดรมรักษาที่ไหนดี? รักษาออฟฟิศซินโดรมโรงพยาบาลไหนดี? ในการเลือกสถานพยาบาลรักษาออฟฟิศซินโดรม ควรเลือกที่ที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาออฟฟิศซินโดรมโดยตรง มีนักกายภาพบำบัดที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งมีการให้บริการที่ใส่ใจ มีห้องรองรับคอยดูแลความสะดวก

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีบริการรักษาออฟฟิศซินโดรมครบวงจร มีเทคโนโลยีกายภาพบำบัดที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้จริง ใช้เครื่องมือในการรักษาที่ทันสมัย ดูแลร่างกายของท่านด้วยแพทย์และนักกายภาพบำบัดมืออาชีพ 

โปรแกรมรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วย Shockwave และ Ultrasound
สำหรับท่านไหนที่มีอาการปวดเมื่อยที่มีสาเหตุมาจากภาวะออฟฟิศซินโดรม ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีโปรแกรมรักษาที่จะช่วยรักษาออฟฟิศซินโดรมและอาการปวดเมื่อยตามจุดต่างๆ บนร่างกายไม่ว่าจะเป็น คลื่นกระแทก Shockwave แผ่นร้อน ยืดกล้ามเนื้อ หรือการ Ultrasound


หมายเหตุ

1.ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าแพทย์ แต่รวมค่าบริการโรงพยาบาลแล้ว
2.โปรแกรมดังกล่าวทำการรักษาโดยนักกายภาพบำบัดวิชาชีพ
3.กรณีซื้อเป็นแพ็กเกจที่มากกว่า 1 ครั้ง ไม่สามารถโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่นได้
4. ราคาดังกล่าว ตั้งแต่วันนี้ - 28 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

                                                                                                                                                                                                   

ข้อสรุป

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำๆ ไม่มีการเปลี่ยนท่าทางเป็นเวลานาน จนปวดสะสมและปวดเรื้อรังในที่สุด ออฟฟิศซินโดรมสามารถรักษาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ออกกำลังกาย ใช้ยา หรือใช้การรักษาด้วยคลื่นกระแทก

หากผู้ป่วยมีอาการออฟฟิศซินโดรม ปวดหลังคอ บ่า ไหล่ หรือมีอาการปวดเรื้อรังต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามการบำบัดรักษากับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์


References

Pain Away Clinic. (2018, September 26). What is office syndrome and how is it treated? Pain Away Clinic. Retrieved September 26, 2022, from https://www.painawayclinic.com/en/what-is-office-syndrome-and-how-is-it-treated/ 
 

Sick building syndrome: A study of 4373 office workers. (1987). The Annals of Occupational Hygiene. https://doi.org/10.1093/annhyg/31.4a.493 
 

Yeo, M. (2021, December 30). Office syndrome - causes, symptoms treatments: Dr tan & partners. DTAP Medical Clinic | GP STD HIV Testing Clinic Singapore. Retrieved September 26, 2022, from https://www.dtapclinic.com/articles/office-syndrome-causes-symptoms-treatments/   

 

pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​