บทความสุขภาพ

โรคข้อเข่าเสื่อม รู้ทันอาการและสาเหตุพร้อมวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ข้อเข่าเสื่อม

อาการปวดเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ในวัย 50 ปีขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคข้อเข่าเสื่อม แม้อาการเบื้องต้นจะไม่รุนแรงแต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการทรุดและรุนแรงขึ้นตามลำดับ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

ดังนั้นผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานควรสังเกตอาการ และไปโรงพยาบาลในกรณีที่อาการเจ็บปวดไม่มีท่าทีจะดีขึ้น เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและหาหนทางการรักษาต่อไปให้ทันท่วงที
 


สารบัญบทความ

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คืออะไร?

สาเหตุข้อเข่าเสื่อม

อาการส่งสัญญาณข้อเข่าเสื่อม

อาการข้อเข่าเสื่อมที่ควรพบแพทย์

การวินิจฉัยโรค

วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อม

วิธีป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม

รักษาข้อเข่าเสื่อม ที่ไหนดี

ข้อสรุป ข้อเข่าเสื่อม

 

 

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คืออะไร?

 

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือ การที่กระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมในด้านของรูปร่างและโครงสร้าง ส่งผลต่อการทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ และอาจเสื่อมสภาพ อาการรุนแรงกว่าเดิมตามลำดับ

อาการปวดมักสัมพันธ์กับอิริยาบถที่ส่งแรงกดทับข้อเข่า เช่น การนั่งงอเข่า การย่อตัว การเดินเป็นระยะเวลานาน การกระโดด หากปล่อยไว้โดนไม่มีการบรรเทาใดใด อาจทำให้อาการทรุดและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตได้ เช่น เข่าโก่ง เดินลำบาก ไม่สามารถงอหรือยืดเข่าได้สุด


 

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากสาเหตุใด

โรคข้อเข่าเสื่อมมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อเข่าที่ถูกใช้งานเป็นระยะเวลานาน จนทำให้บริเวณนั้นเกิดการสึกหรอ เมื่อไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ จึงส่งผลให้โครงสร้างการทำงานของกระดูก รวมไปจนถึงกระดูกใกล้ๆ ข้อเข่าเปลี่ยนแปลงไป จนความเสื่อมทวีคูณความรุนแรงขึ้น โดยแบ่งสาเหตุหลักออกเป็น 2 ประเภท

1. การเสื่อมแบบปฐมภูมิเป็นความเสื่อมแบบไม่รู้สาเหตุ เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนตามวัย โดยมักจะเริ่มพบโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้วก็มีปัจจัยอื่นที่อาจเร่งให้กระดูกข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นได้

  • เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย
  • น้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน
  • พฤติกรรมบางแบบทำให้มีแรงกดต่อข้อเข่าที่มากกว่าเดิม เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งพับเพียบ-ขัดสมาธิ 
  • ความบกพร่องในส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อต่อหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  • กรรมพันธุ์ 

2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิเป็นความเสื่อมแบบรู้สาเหตุเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุ หรือ อาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ เส้นเอ็น เอ็นเข่าอักเสบ จากกีฬาหรือการทำงาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ กระดูกรอบหัวเข่าแตกหัก การติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ ฯลฯ

>> อยากรู้เสียงในหัวเข่าอันตรายไหม อ่านเพิ่มเติมได้ที่ "หัวเข่ามีเสียงกรอบแกรบ"


 

อาการส่งสัญญาณข้อเข่าเสื่อม


ข้อเข่าเสื่อม อาการ

โดยปกติร่างกายของเราจะส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นซึ่งจะมีระดับความรุนแรงของอาการหลายระยะ ได้แก่…


ระยะแรก

  • มีอาการปวดเข่า เจ็บข้อเข่า ในท่าทางที่มีแรงกดต่อผิวข้อเข่าเยอะ เช่น การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ-ขัดสมาธิ การเดินเป็นระยะเวลานาน
  • อาจมีอาการข้อเข่าติด ฝืดตึงร่วมด้วย เช่น การขยับเข่าได้ลำบากในช่วงหลังตื่นนอน หรืองอเข่าได้ไม่สุด
  • ในระยะแรก อาการปวดตึงจะอยู่ไม่นานและหายได้เอง 


ระยะปานกลาง

  • นอกจากการปวดและรู้สึกตึงแล้ว ข้อเข่าจะมีเสียงดังกรอบแกรบในขณะที่ขยับบริเวณข้อเข่า
  • เริ่มลุกจากเก้าอี้ได้ลำบาก งอเข่าแทบไม่ได้
  • หากใช้มือกดแล้วจะมีความรู้สึกเจ็บ และบริเวณข้อเข่าจะเกิดอาการ เข่าบวม


ระยะรุนแรง

  • มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น ปวดตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอิริยาบถที่มีแรงกดผิวต่อข้อเข่า
  • หากสัมผัสบริเวณข้อจะมีอาการบวม ร้อน หรือมีส่วนกระดูกงอ
  • มีการตรวจพบน้ำในช่องข้อ ข้อเข่าโก่ง หลวม บิดเบี้ยวผิดรูป
  • อาการปวดสามารถแล่นไปถึงกระดูกสะบ้าได้เมื่อเกร็งช่วงต้นขา และกล้ามเนื้อต้นขาลีบ ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก

สำหรับผู้ที่ทีอาการปวดเข่า เข่าบวม อาจจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปวดเข่าห้ามกินอะไร เพิ่มเติมได้ที่นี่ 


 

อาการข้อเข่าเสื่อมที่ควรพบแพทย์

หากมีอาการปวดเป็นๆ หายๆ รับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาให้รวดเร็วและเหมาะสมที่สุดเพื่อป้องการอาการรุนแรงในอนาคต


 

การวินิจฉัยโรค

ข้อเข่าเสื่อม รักษา

 แพทย์จะทำการตรวจประเมิน รวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยแยกโรค โดยแนวทางการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม มีดังนี้

  • แพทย์จะทำการประเมินเบื้องต้นก่อนสำหรับผู้เข้ารักษาทั่วไป 
  • การส่งตรวจเอกซเรย์ แพทย์อาจส่งผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมตรวจเอกซเรย์เพื่อหาช่องว่างระหว่างกระดูกบริเวณข้อเข่าว่ามีช่องว่างมากเพียงใด และหาแนวโน้มปุ่มกระดูกที่อาจเกิดบริเวณรอบข้อเข่า ซึ่งนอกจากการเอกซเรย์แล้วอาจมีสั่งให้ทำ MRI ด้วยหากต้องการภาพของกระดูก เนื้อเยื่อ และกระดูกอ่อนรอบข้อเข่าที่ชัดขึ้น เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆออกไป
  • การเจาะเลือด โดยการเจาะเลือดช่วยให้แยกสาเหตุอื่นออกได้ เช่น โรคข้ออักเสบ

 

วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม ออกกําลังกาย

1. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อต้นขาและบริเวณรอบข้อเข่า ทำให้พยุงข้อเข่าได้ดีขึ้น ถ่ายเทน้ำหนักไปที่กล้ามเนื้อได้ดี ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป

2. การรักษาโดยการใช้ยา ใช้ยาแก้ปวดเข่าเพื่อลดอาการปวดข้อ ช่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นยาแบบรับประทานหรือฉีดก็ได้

3. 
การทำกายภาพบำบัด ช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อ เช่น การใช้เลเซอร์รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายผู้ป่วยช่วงก่อนและหลังการผ่าตัด

4. การรักษาทางชีวภาพ (Biological Therapy) เป็นวิธีการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงข้อเข่า โดยฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Hyaluronic Acid) หรือ สารสกัดจากเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูง กว่าปกติของผู้ป่วย (Platelet Rich Plasma หรือ PRP) เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดอาการฝืดตึงของข้อเข่า

5. การรักษาด้วยวิธีการธรรมชาติโดยการใช้ สมุนไพรแก้ปวดเข่า เช่น เถาวัลย์เปรียง ขิง และ เพชรสังฆาต เป็นต้น

6. การผ่าตัด สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทในปัจจุบัน

  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) คือการผ่าตัดรูปแบบใหม่โดยการสอดกล้องวิดีโอขนาดเล็กเข้าไปในข้อเข่าและเชื่อมสัญญาณเข้ากับจอภาพทีวี ทำให้เห็นส่วนต่างๆภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองข้อเข่าขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก ข้อเข่าล็อค โดยดูอาการประกอบกับการพิจารณาของแพทย์
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมที่ช่วยลดอาการปวดของเข่า และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวให้ข้อเข่าได้ ทำให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมใช้ชีวิตได้ง่ายดายขึ้น โดยปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด และ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน โดยแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

 

รักษาข้อเข่าเสื่อม ที่ไหนดี

ศูนย์ผ่าตัดข้อเข่าเทียมโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในการรักษาผู้ป่วย ครอบคลุมทั้งดูแลช่วงข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ ข้อศอก ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยตลอดจนถึงการดูแลรักษาโดยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด รวมถึงการผ่าตัดรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

ข้อเข่าเสื่อม รักษาหายไหม

 

 


 

ข้อสรุป ข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่อาการในระยะแรกไม่รุนแรงมากสามารถป้องกันให้อาการไม่รุนแรงกว่าเดิมได้หากดูแลรักษาสุขภาพและปรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อแรงกดข้อเข่าได้

หากมีอาการที่คล้ายกับโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถประเมินอาการเบื้องต้นเองได้ที่บ้าน และเข้าพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและหาหนทางการรักษา ยับยั้งการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นบริเวณข้อต่อได้อย่างทันท่วงที หากต้องการสอบถามเพิ่มเติมหรือเข้ารับการปรึกษาแพทย์ สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้ที่เบอร์โทร 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอดไลน์โรงพยาบาล Line: @samitivejchinatown 

สมิติเวช ไชน่าทาวน์..มั่นใจมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน

สนใจปรึกษา ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช รักษาข้อเข่าเสื่อมกว่า 30 ปี ด้วยประสบการณ์การรักษาผ่าตัดเปลี่ยนเข่ากว่า 10,000 เคส

 

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 

 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​