บทความสุขภาพ

หัวเข่ามีเสียงก๊อกแก๊ก เกิดจากอะไร อันตรายไหม มีวิธีรักษาอย่างไร?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



เวลานั่งนานๆ แล้วลุกขึ้นยืนอยู่ๆ ก็มีเสียงดังกรอบแกรบ
ที่หัวเข่าเกิดจากอะไรกันแน่ ? หากคุณมีเสียงกรอบแกรบที่ดังมาจากหัวเข่า เวลาเดินขึ้น-ลงบันไดแล้วหัวเข่ามีเสียง หรือ ขยับหัวเข่าแล้วเกิดเสียง นั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างจากร่างกาย ทั้งนี้หากหัวเข่ามีเสียงดัง ก๊อกแก๊ก อย่าเพิ่งกังวลไป คุณควรสังเกตอาการอย่างอื่นร่วมด้วยว่า เวลาหัวเข่ามีเสียงดังจากการลุกขึ้นยืน, เดินขึ้นลงบันได หรือ จากการทำกิจกรรมอื่นๆ มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยหรือไม่ หรือ เพียงแค่หัวเข่ามีเสียงเท่านั้น 

บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจอาการหัวเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขึ้นบันได และเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายจริงหรือไม่ สาเหตุที่ทำให้หัวเข่ามีเสียงเกิดจากอะไร พร้อมทั้งแนวทางรักษาและวิธีดูแลป้องกันหัวเข่า


สารบัญบทความ
 


หัวเข่ามีเสียง (Knee Crepitus)

หัวเข่ามีเสียงเวลาลุกขึ้นยืนเมื่อนั่งนานๆ หรือ หัวเข่ามีเสียงเมื่อเดินขึ้น-ลงบันได อาการเหล่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า Knee Crepitus 

สาเหตุของเสียงกรอบแกรบดังออกมาจากหัวเข่ามีหลายสาเหตุ และมีปัจจัยอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ การใช้งานหัวเข่า หรือ อุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อหัวเข่า อาจจะทำให้หัวเข่ามีเสียงดังก๊อกแก๊กได้ 

ทั้งนี้ก่อนที่จะไปทราบเหตุที่ทำให้หัวเข่ามีเสียงเวลาขยับตัวหรือเวลาทำกิจกรรม ควรทำความเข้าใจกับโครงสร้างของหัวเข่าก่อน เพื่อให้เข้าใจและมองภาพออกมากขึ้น

หัวเข่าของมนุษย์ประกอบไปด้วยกระดูก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 
 

  • กระดูกต้นขา (Femur) เป็นกระดูกส่วนบนของเข่า 
  • กระดูกหน้าแข้ง (Tibia) เป็นกระดูกส่วนล่างของเข่า 
  • กระดูกสะบ้า (Patella) เป็นกระดูกส่วนหน้าของเข่า 

โดยกระดูกทั้ง 3 ส่วนนี้ เชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็น ซึ่งมีเยื่อบุข้อ เซลล์ประสาทรับความรู้สึก และกระดูกอ่อนคลุมไว้อยู่ กระดูกอ่อนจะทำหน้าที่รับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย และภายในข้อเข่าจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า เพื่อช่วยในการหล่อลื่นข้อเข่าและช่วยในเรื่องของการถ่ายน้ำหนัก โดยทางการแพทย์เรียกว่า Synovial Fluid


หัวเข่ามีเสียงเกิดจากสาเหตุใด

หัวเข่านับเป็นอวัยวะที่สำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้หัวเข่ายังเกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนักตัว รับแรงกระแทก ซึ่งหัวเข่าหรือข้อเข่านั้น นับเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายของมนุษย์ ที่ประกอบไปด้วยกระดูก กระดูกอ่อน เยื่อบุข้อ และเส้นเอ็นต่างๆ 

อาการเข่าลั่น หรือ หัวเข่ามีเสียงเวลางอเข่า สามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ หัวเข่ามีเสียงเมื่อขยับตัวอย่างเดียวไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ และ หัวเข่ามีเสียงเมื่อขยับตัวพร้อมทั้งอาการปวดบริเวณเข่า ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้

สาเหตุที่หัวเข่ามีเสียงแต่ไม่มีอาการปวดร่วม 

ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการสะสมของแก๊สที่อยู่รอบๆ หัวเข่า และก่อตัวขึ้นเป็นฟองแก๊สในน้ำเลี้ยงข้อเข่า ทำให้เมื่อขยับตัวหรือขยับหัวเข่าทำให้ฟองอากาศที่อยู่ในน้ำเลี้ยงข้อเข่าแตกตัวออก ทำให้เกิดเสียงขึ้นมา อาการหัวเข่ามีเสียงจึงเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยเมื่องอเข่าเป็นเวลานาน เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งพับเพียบเป็นเวลา หรือลุกขึ้นจากเก้าอี้ และสามารถพบได้กับทุกคน

สาเหตุที่หัวเข่ามีเสียงพร้อมความรู้สึกปวดบริเวณเข่า

เสียงที่ดังก๊อกแก๊กจากหัวเข่าและมีอาการปวดร่วมด้วย เป็นสัญญาณเตือนจากร่างกาย ที่เตือนว่าหัวเข่าของคุณกำลังมีปัญหา และอาจจะเข้าข่ายโรคร้ายแรง โดยสาเหตุที่ทำให้หัวเข่ามีเสียงเมื่อขยับร่างกาย ส่วนใหญ่มักมาจากความผิดปกติของข้อเข่า ข้อเข่าเสื่อมสภาพ กระดูกอ่อนมีการสึกกร่อนตามธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า ทั้งนี้การสึกกร่อนตามธรรมชาติสามารถทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ 
 

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดเสียงดังในเข่า

นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้หัวเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับร่างกาย มีดังนี้ 
 

  • อายุ อาการเข่าเสื่อมหรือที่เรียกกันว่าโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ จะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 40 ปี เนื่องจากเป็นการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าตามธรรมชาติ 
  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเข่าเสื่อม หรือมีปัญหากระดูกอ่อนผิวข้ออ่อนแอ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเข่าเสื่อมได้สูงกว่าคนทั่วไป 
  • น้ำหนักตัว หากมีน้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อที่รับน้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมทั้งเซลล์ไขมันที่มีมากเกินไป ทำให้เซลล์กระดูกและเซลล์กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้ปวดหัวเข่า หัวเข่ามีเสียงดังเวลาขยับร่างกายได้ง่าย 
  • เพศ โรคเข่าเสื่อมสามารถเกิดได้กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2-3 เท่า เนื่องจากสรีระร่างกายของผู้หญิงมีสะโพกผาย กล้ามเนื้อขายาวไปถึงข้อเข่ามีลักษณะโค้งนิดๆ เมื่อขยับร่างกายจะทำให้หัวเข่ามีเสียงดังได้ง่ายกว่า
  • ความผิดปกติของข้อเข่า เช่น เข่าโก่ง เข่าแอ่น ขายาวไม่เท่ากัน เข่าชิดกันมากกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย
  • กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดมากเกินไป ได้แก่ การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่าเป็นเวลานานๆ การเดินขึ้น - ลงบันได้ การยกของหนักติดกันเป็นประจำ หรือการวิ่งมาราธอน สามารถทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้น
  • การเล่นกีฬาผาดโผน หรือ กีฬาที่ทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดมากกว่าปกติ เช่น ฟุตบอล รักบี้ อเมริกันฟุตบอล ฟรีรันนิ่ง วิ่งมาราธอน สามารถทำให้เป็นข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าปกติ เนื่องจากหัวเข่ารับแรงกดมากกว่าปกติ 
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้กรดยูริกในร่างกายสูงขึ้น และอาจจะตกผลึกตามข้อ ทำให้รู้สึกเจ็บหัวเข่า ปวดตามหัวเข่า ข้อเข่าได้ 
  • โรคประจำตัว โรคประจำตัวที่มีผลต่อข้อเข่า ได้แก่ โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 

หัวเข่ามีเสียงและอาการที่มักเกิดร่วม

อาการหัวเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ หัวเข่ามีเสียงแต่ไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย นั้นไม่ใช่สัญญาณอันตรายอย่างใด เป็นเพียง “อาการขบกันระหว่างเนื้อเยื่อ, เส้นเอ็น กับผิวของกระดูกอ่อน” เพียงเท่านั้น ไม่น่ากังวลใดๆ แต่ถ้าหากหัวเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบร่วมกับอาการเจ็บหรือปวดบริเวณเข่า นั้นคือสัญญาณอันตรายที่อาจเกิดจากโรคต่างๆ หรือบริเวณหัวเข่าได้รับการบาดเจ็บ ได้แก่ โรคข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าอักเสบเฉียบพลัน หรืออาจจะเป็นหมอนรองกระดูกฉีด
 

1.หัวเข่ามีเสียง เข่าลั่น แต่ไม่มีอาการเจ็บ

อาการหัวเข่ามีเสียงเมื่อขยับร่างกายแต่ไม่มีอาการปวดร่วมด้วย หรือ อาการเข่าลั่น ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการสะสมของแก๊สที่อยู่รอบๆ หัวเข่า และก่อตัวขึ้นเป็นฟองแก๊สในน้ำเลี้ยงข้อเข่า ทำให้เมื่อขยับตัวหรือขยับหัวเข่าทำให้ฟองอากาศที่อยู่ในน้ำเลี้ยงข้อเข่าแตกตัวออก และเกิดเสียงขึ้นมาจากหัวเข่า 

นอกจากนี้การนั่งยองๆ หรือขยับขาบนเก้าอี้ทำให้เอ็นรอบข้อเข่า เยื้อหุ้มข้อ และกระดูกสะบ้าเกิดการเคลื่อนไหว และส่งผลต่อความดันในน้ำเลี้ยงข้อเข่าเปลี่ยนแปลง จึงทำให้หัวเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบขึ้นมา 
 

2.หัวเข่ามีเสียง และมีอาการเจ็บ ปวดเข่าร่วมด้วย

หากหัวเข่ามีเสียง และมีอาการเจ็บข้อเข่าร่วมด้วย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากการที่หัวเข่ามีเสียงร่วมอาการเจ็บ ปวดเข่า ร่างกายกำลังเตือนว่าคุณอาจจะเข้าข่ายโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับข้อและกระดูก ซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาการข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า งอเข่าได้ไม่เต็มที่ หรือไม่สามารถลงน้ำหนักเวลาเดินได้ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายลำบากกว่าปกติ


หัวเข่ามีเสียงเป็นสัญญาณเตือนโรคใดได้บ้าง

  • โรคข้อเข่าเสื่อม หรือ Knee Osteoarthritis 

โรคข้อเข่าเสื่อม สามารถพบได้บ่อยกับผู้ที่เข้าสู่ช่วงวัยกลางคน และมีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุของโรคนี้มาจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลง หรือผิวข้อสึกกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้โครงสร้างของข้อเข่ามีการเปลี่ยนแปลงมีน้ำสะสมในข้อเพิ่ม กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน และกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักเสื่อมสภาพ 

และร่างกายที่ไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการที่ถูกทำลาย ทำให้มีอาการเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีแนวแกนขาผิดปกติ ขาโก่งเข้าด้านในหรือบิดออกข้างนอก และไม่สามารถรับน้ำหนักได้เหมือนเก่า 
 

  • หมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด หรือ Meniscus Tear 

อาการหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด เป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลัน มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม การเล่นกีฬาที่อาศัยความเร็วและเกิดการปะทะในระหว่างแข่งขัน เช่น ฟุตบอล รักบี้ อเมริกันฟุตบอล หรือ โดนรถชน รถเฉี่ยว ตกบันได จนทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า 

อาการหมอนรองกระดูกเข่าฉีดขาดจำเป็นต้องรีบรักษา เพื่อไม่ให้ความเจ็บปวดทวีความรุนแรงไปมากกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าความเจ็บปวดจากหมอนรองกระดูกฉีดส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการปวดขณะเดินลงน้ำหนัก 
 

  • โรคข้อเข้าติดเชื้อ 

โรคข้อเข้าติดเชื้อ  มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ข้อเข่า แบคทีเรียส่วนใหญ่มาจากการที่หูชั้นกลางอักเสบ แผลถลอก คออักเสบ ฟันผุ ติดเชื้อที่บริเวณลิ้นหัวที่ผิดปกติ หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยสามารถสังเกตอาการได้จากหัวเข่ามีลักษณะบวม แดง ร่วมกับอาการปวดข้อเข่า และมีไข้ร่วมด้วย 
 

  • โรคข้อเข่าอักเสบเฉียบพลัน 

โรคข้อเข่าอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากกิจกรรมบางในชีวิตประจำวันอย่าง เช่น การลงน้ำหนักเท้าเวลาขยับร่างกายผิดวิธี หรือการยกของหนักเป็นประจำทุกวันจากการทำงาน ซึ่งเป็นอาการอักเสบในข้อเข่าหรือการเสื่อมสภาพข้อเข่าทำให้รู้สึกปวดหัวเข่าขึ้นมาทันที


หัวเข่ามีเสียง..เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

หากคุณมีอาการหัวเข่ามีเสียงร่วมกับอาการปวดบริเวณเข่า ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะนั้นเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่าคุณอาจจะเข้าข่ายโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับกระดูกข้อเข่า ซึ่งอาการปวดบริเวณข้อเข่าส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำ ไม่ว่าจะเป็นในขณะเดิน นั่ง และนอนก็ตาม 

หากคุณมีอาการปวดเข่าพร้อมกับหัวเข่ามีเสียงควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจเช็คร่างกาย และรับการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด


การวินิจฉัยอาการหัวเข่ามีเสียง

การวินิจฉัยอาการหัวเข่ามีเสียง มีดังนี้ 
 

  • เริ่มแรกแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย 
  • ตรวจร่างกายโดยส่วนใหญ่มักเน้นตรวจที่ข้อเข่า 
  • X-ray MRI เพื่อดูภายในข้อเข่า 

สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่ามีโรคที่เกี่ยวกับข้อหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่าเพื่อหาความผิดปกติของแรงดัน แรงกระเพื่อมของน้ำบริเวณผิวด้านนอกข้อเข่า ความแข็งแรงของข้อ และการเสียดสีภายในข้อ พร้อมทั้งเอกซเรย์เพื่อดูความเสียหายในข้อเข่า ทั้งนี้การตรวจแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ 


แนวทางการรักษาเมื่อหัวเข่ามีเสียง

1. หมั่นออกกำลังกาย บริหารข้อเข่า

หากเป็นอาการหัวเข่ามีเสียง และไม่มีอาการปวดบริเวณเข่า สามารถรักษาโดยการออกกำลังกาย บริหารให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบหัวเข่าแข็งแรง การออกกำลังกายสามารถช่วยลดอาการหัวเข่ามีเสียงเวลาขยับร่างกายได้ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมผาดโผนที่อาจส่งผลเสียต่อข้อเข่า ซึ่งอาจจะทำให้ข้อเข่ารับแรงกดหรือแรงกระแทกมากกว่าเดิมจนทำให้ข้อเข่าเกิดความเสียหาย
 

2. รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงข้อกระดูก

คำถามที่มักได้ยินบ่อยๆ “หัวเข่ามีเสียง ควรกินอะไร เพื่อบำรุงกระดูกและข้อ?” เนื่องจากอาการหัวเข่ามีเสียงเกี่ยวข้องกับกระดูกและข้อเข่าโดยตรง การรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมให้กระดูกและข้อแข็งแรงขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ อาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกและข้อ ได้แก่ 
 

  • นมและโยเกิร์ต

นม ไม่ว่าจะเป็น นมวัว นมแม่ นมถั่วเหลือง หรือนมตัวเลือกอื่นๆ เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม โปรตีน และไขมัน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง นอกจากนี้โยเกิร์ตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ทำให้มีแคลเซียมสูง แล้วยังมีแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามิน D ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง 
 

  • ปลาทะเล 

ปลานับเป็นอาหารแหล่งที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นยอด โดยเฉพาะปลาแซลมอล ปลาทู ปลาทูน่า และปลาซาร์ดีน ที่มีกรดไขมันอย่างโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกอ่อน และข้อต่างๆในร่างกาย
 

  • ไข่ 

ในไข่หนึ่งฟองอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณภาพ ในไข่แดงจะมีวิตามินดีที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย และไข่ดาวอุดมไปด้วยโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยเสริมสร้างให้กระดูดแข็งแรง นอกจากนี้ไข่ยังถือเป็นตัวเลือกที่มีราคาย่อมเยาแต่กลับอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย 
 

  • ผักตระกูลกะหล่ำ

ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักกาด ผักคะน้า ผักน้ำ และผักเคล อุดมไปด้วยไฟเบอร์ โฟเลต แมงกานีส ธาตุเหล็ก วิตามินบี6 แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างมวลกระดูกให้แก่ร่างกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
 

  • พืชตระกูลถั่ว และ งาดำ

อัลมอนด์ถือเป็นถั่วที่นิยมนำมาปรุงอาหารคาวและอาหารหวาน ซึ่งถั่วอัลมอนด์ถือเป็นแหล่งของแมงกานีส ไบโอติน คอปเปอร์ วิตามินอี และไบโอฟลาวิน ที่ช่วยเสริมสร้างให้กระดูกแข็งแรง นอกจากนี้งาดำมีแคลเซียมสูงถึง 975 มก. ต่อ 100 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการต่อวัน 

สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องข้อและกระดูก หัวเข่ามีเสียง โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ควรทานที่มีน้ำตาลมาก เนื่องจากจะกระทบต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เนื้อบริเวณหัวเข่าเกิดการอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ขนมปังข้าว ซีเรียล และพาสต้าอาจจะกระตุ้นให้การอักเสบของข้อต่อกระดูกได้ นอกจากนี้กาแฟและเครื่องดื่มคาเฟ่อีนมีส่วนทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งอาจจะทำให้แคลเซียมในร่างกายขาดความสมดุล 
 

3. รักษาด้วยยาแก้ปวดและยาบำรุงข้อเข่า

ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non - Steroidal antiinflammatory drugs; NSAIDs) หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยในชื่อ ยาแก้ปวดข้อ หรือ ยาแก้อักเสบ สามารถยับยั้งอาการปวด อาการอักเสบ และไข้ได้ มักนิยมนำมาใช้รักษาโรคข้ออักเสบต่างๆ เช่น ข้อกระดูกเสื่อม ข้อกระดูกสันหลังอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และรักษาอาการอักเสบอื่นๆ 

ยาแก้ปวดที่นิยมใช้บรรเทาอาการปวดเข่า ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin), เซเลค็อบสิบ (Celecoxib), ไอบูโฟรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac), นาพร็อกเซน (Naproxen) และ เมล็อกซิแคม (Meloxicam)
 

4. การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า


หากหัวเข่ามีเสียงดังเวลาขยับร่างกาย และได้ทำการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งยืดเวลาการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมออกไปได้ 

โดยการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเหมาะกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อในระยะแรกจนถึงระยะกลาง ผู้ป่วยที่ใช้วิธีรักษาด้วยยาและการทำกายภาพไม่ได้ผล ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ยังไม่สามารถผ่าตัดข้อเข่าได้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดข้อเข่ามา การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ไวขึ้น

ทั้งนี้วิธีการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าไม่ได้ทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมอยู่แล้ว เสื่อมน้อยลงหรือหายขาด การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเป็นเพียงวิธีรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการของโรค และทำให้สามารถใช้เข่าได้มากขึ้น การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะมีผลอยู่ 3 - 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าผู้ป่วย และ ความรุนแรงของโรค 
 

5. การทำกายภาพบำบัด

สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หัวเข่ามีเสียงพร้อมอาการปวดเล็กน้อย ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก การทำกายภาพบำบัดจะช่วยชะลอ และป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัด ได้ดังนี้ 
 

  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะช่วยให้ในเรื่องของการรับน้ำหนักและลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า ลดการผิดรูปของขา และช่วยให้อาการปวดลดลง 
  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการยึดติดของข้อ และป้องกันการบาดเจ็บจากการทำกิจกรรมอื่นๆ 
  • การขยับข้อต่อ (Mobilization) วิธีนี้สามารถลดการยึดติดของข้อ และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อ
  • การใช้เครื่องมือในการทำกายภาพบำบัด ได้แก่ Hot pack ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น พร้อมทั้งลดความตึงของกล้ามเนื้อ, Ultrasound ช่วยซ่อมแซม ลดความตึงของกล้ามเนื้อพร้อมช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และ TENS เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง สามารถช่วยลดอาการปวดลงได้ 

6. การผ่าตัดข้อเข่า

สำหรับผู้ช่วยที่มีปัญหาหัวเข่ามีเสียง พร้อมอาการปวดร่วมด้วย โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมาก จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 

ในปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมักใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Arthroscopic surgery ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการผ่าตัด Minamal invasive surgery (MIS) เป็นการผ่าตัดที่มีความแม่นยำ แผลผ่าตัดเล็ก ไม่ค่อยเจ็บมากใช้เวลาพักฟื้นน้อย ที่สำคัญวิธีผ่าตัดแบบส่องกล้องมีความปลอดภัยสูง ทำให้ในปัจจุบันแพทย์มักใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม


วิธีดูแลป้องกันหัวเข่า

ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ข้อเข่าได้รับแรงกดมากกว่าเดิม และทำให้หัวเข่ามีเสียง เวลาเปลี่ยนท่าได้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ขยับเปลี่ยนท่าเรื่อยๆ 
 

  • หลีกเลี่ยงการยกของน้ำ เนื่องจากจะทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปวดเข่าสะสมได้
  • เลือกใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่รองแขน เมื่อเวลาลุกขึ้นยื่นให้ใช้แขนช่วยพยุงตัวขึ้นเพื่อไม่ให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากเกินไป 
  • หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานทำให้กระดูกอ่อนขาดออกซิเจน ดังนั้นควรมีการยืดขาบ้าง 
  • การควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากหากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อข้อเข่าโดยตรง ทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ 
  • ทั้งนี้หากมีอาการหัวเข่าลั่น หรือ หัวเข่ามีเสียงดังก๊อบแก๊บเมื่อขยับตัว ร่วมกับอาการปวดรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมรับการรักษา เพื่อบรรเทาอาการและความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย

ข้อสรุป

หัวเข่ามีเสียง หรือ เข่าลั่น เป็นอาการปกติที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่มีอันตรายแต่อย่างไร แต่เมื่อใดก็ตามที่หัวเข่ามีเสียงเวลาเดิน ร่วมกับอาการเจ็บข้อเข่าหรือปวดร่วมด้วย อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่าหัวเข่าของคุณกำลังมีปัญหาและผิดปกติ ซึ่งอาจจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือ ความผิดปกติอื่นๆที่เกี่ยวกับข้อเข่า ดังนั้นหากคุณมีอาการควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหัวเข่ามีเสียงสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

References

Bishop, S. (2013, Dec 06). By Itself, Knee “Crunching” Sound GenerallyNot Cause For Concern. Mayo Clinic. https://newsnetwork.mayoclinic.org/discussion/by-itself-knee-crunching-sound-generally-not-cause-for-concern/
 

Leonard, J. (2017, Sep 19). Patellofemoral pain syndrome (runner’s knee). Medical news today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/319458


Vandever, L. (2020, Jun 01). Knee Noise: Crepitus and Popping Explained. Healthline. https://www.healthline.com/health/osteoarthritis/crepitus


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​