บทความสุขภาพ

ยาแก้ปวดเข่า มีอะไรบ้าง? ทำไมกินยารักษาข้อเข่าเสื่อมแล้วยังไม่ดีขึ้น?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดเข่า ปวดข้อเข่า หรือผู้ป่วยที่เข้าข่ายโรคข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าอักเสบมักจะมีอาการปวดร่วมด้วย โดยส่วนใหญ่หากอาการปวดไม่รุนแรงนิยมรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่า แต่ผู้ป่วยบางรายเมื่อหยุดยาแล้ว กลับมีอาการปวดเข่าอีกเหมือนเดิม ทำให้เกิดคำถามว่า ยาแก้ปวดเข่าได้ผลจริงๆ หรือไม่, ยาแก้เข่าเสื่อม ยาแก้ปวดเข่ายี่ห้อไหนดี ? นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่อยากรับประทานยาต่อเพราะรู้สึกว่าไม่ได้ผล 
 

บทความนี้จะช่วยทำให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับยาแก้ปวดเข่า หากมีอาการปวดเข่าควรรับประทานยาอะไร ข้อควรระวังในการรับประทานยาแก้ปวดข้อเข่า พร้อมแนะนำวิธีรักษาอาการปวดเข่าที่รุนแรงและยาแก้ปวดเข่าที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ 


สารบัญบทความ
 


รู้จักยาแก้ปวดเข่า

ยาแก้ปวดเข่าเป็นวิธีรักษาอาการปวดเข่า โรคข้ออักเสบ อันดับแรกๆ ที่ผู้ป่วยรวมไปถึงแพทย์มักเลือกเป็นวิธีแรกในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดตามข้อ โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายาแก้ปวดเข่า ข้ออักเสบ ในปัจจุบันมีหลากหลายชนิดและหลายยี่ห้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ ยาแก้ปวดเข่ามีทั้งแบบทานและยาแก้ปวดเข่าแบบทา 
 

ส่วนใหญ่แล้วสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) โรคเก๊าท์ (Gout) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) หรือ เข่าอักเสบเฉียบพลันที่มาจากการทำกิจกรรมบางอย่างหรืออุบัติเหตุ ซึ่งอาการที่กล่าวมาข้างต้นมักมาพร้อมกับอาการปวดเวลาขยับร่างกาย ทำให้มีส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ยาแก้ปวดหัวเข่าในปัจจุบันเป็นยาในกลุ่มลดการอักเสบ หรือ ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ 


การรู้ข้อมูลพร้อมทั้งสรรพคุณของยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบจะช่วยทำให้ใช้ยาได้อย่างถูกวิธี และไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว เช่น อาการดื้อยาที่ทำให้รักษาอาการปวดเข่า ข้ออักเสบ ปวดเรื้อรังไม่หายสักที


ใครบ้างที่ควรใช้ยาแก้ปวดเข่า

ผู้ที่ควรใช้ยาแก้ปวดเข่าเพื่อรักษาและบรรเทาอาการปวด รวมไปถึงอาการอักเสบบริเวณข้อเข่า ได้แก่
 

  • ผู้ที่มีอาการข้ออักเสบ 
  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
  • ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) 
  • ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ (Gout)
  • ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีอาการปวดหัวเข่าจากการทำกิจกรรมบางอย่าง 
  • ผู้ที่มีอาการปวดเนื่องจากหัวเข่าอักเสบเฉียบพลัน เพราะได้รับอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 

ยากินแก้ปวดเข่า มีอะไรบ้าง

ยาแก้ปวดเข่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และยารักษาข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะ ซึ่งยาแต่ละกลุ่มมีสรรพคุณช่วยลดอาการบาดเจ็บแตกต่างกันออกไป พร้อมทั้งยังเหมาะผู้ป่วยที่มีอาการความรุนแรงแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 

1. กลุ่มยาแก้ปวด

กลุ่มยาแก้ปวดเข่าที่นิยมใช้ คือ ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด เป็นยาแก้ปวดที่ได้รับความนิยมสูง สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายทั่วไป มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงน้อยไปจนถึงอาการปวดที่มีความรุนแรงปานกลางจากสาเหตุต่างๆ ได้หลากหลายสาเหตุ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดข้อเข่าเสื่อมไม่รุนแรง และสามารถใช้เป็นยาลดไข้ได้ 

โดยยาแก้ปวดประเภทนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการติดยา ยาแก้ปวดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน “พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน” เป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถทานเพื่อรักษาอาการปวดที่มีความรุนแรงเล็กน้อยได้ ทั้งนี้การใช้ยาพาราเซตามอนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ตับเป็นพิษได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย 
 

2. กลุ่มยาแก้อักเสบ

กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal antiinflammatory หรือ NSAIDs) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ยาแก้ปวดข้อ หรือ ยาแก้ข้ออักเสบ เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อรักษาอาการข้ออักเสบ หัวเข่าอักเสบ บรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อม 

ยาแก้อักเสบสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมากได้ ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ลดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย นิยมใช้รักษาอาการเส้นเอ็นอักเสบ ข้ออักเสบ ข้อเข่าเสื่อม แผลฟกช้ำจากอุบัติเหตุ ปอดบวม แก้ปวดศีรษะ และสามารถใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน กลุ่มยาแก้อักเสบที่นิยมใช้ มีดังนี้ 
 

  • ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  • แอสไพริน (Aspirin)
  • ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)
  • นาพรอกเชน (Naproxen)
  • อินโดเมธาซิน (Indomethacin)

กลุ่มยา NSAIDs เหมาะสำหรับผู้ใช้บางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยา NSAIDs สามารถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจวาย โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง ดังนั้นการใช้ยาควรอยู่ในภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น 
 

3. กลุ่มยารักษาข้อเข่าเสื่อม

กลุ่มยารักษาข้อเข่าเสื่อม หรือ กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเสื่อมของผิวข้อ ยาในกลุ่มนี้จะช่วยชะลอ หรือ รักษาสภาพความเสื่อมของผิวข้อ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่ายาในกลุ่มนี้ช่วยชะลอความเสื่อมของผิวข้อ หรือ เปลี่ยนแปลงโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดีระดับหนึ่ง จัดอยู่ในยากลุ่มทางเลือก โดยปัจจุบันยารักษาข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับความนิยมมี 2 ตัว ได้แก่ 
 

  • กลูโคซามีน (Glucosamine)
  • โคลชิซิน (Chondroitin)

ทั้งนี้ยาในกลุ่มรักษาข้อเข่าเสื่อมสามารถลดอาการปวดข้อลงได้บางส่วน แต่ไม่สามารถทำให้อาการปวดหายสนิท หรือ หายขาดจากโรคข้อเข่าเสื่อม สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าการรักษาข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่เพียงแค่ทานยารักษาข้อเสื่อมเท่านั้น 


ยาทาแก้ปวดเข่า มีอะไรบ้าง

นอกจาการยาแก้ปวดเข่าแบบทานแล้ว ยาแก้ปวดเข่าแบบทาถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน สำหรับบางคนที่มีคำถามที่สงสัยว่า “ยาทาแก้ปวดเข่าช่วยได้จริงไหม” คำตอบคือ ยาแก้ปวดเข่าแบบทา หรือ ยานวดแก้ปวดเข่า สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่เป็นการบรรเทาอาการปวดที่ผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอาการข้ออักเสบ หรือรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ โดยยาทาแก้ปวดเข่า ลดข้ออักเสบ ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีสองแบบ ได้แก่
 

1. ครีมหรือเจลแก้ปวดเข่า

การใช้ครีมหรือเจลชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่า สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณผิวหนังชั้นนอก และเป็นการบรรเทาอาการปวดเฉพาะจุด เมื่อรู้สึกปวดที่บริเวณใดสามารถทายาเพื่อบรรเทาอาการปวดที่บริเวณที่รู้สึกปวดได้ทันที โดยยาทาแก้ปวดเข่าชนิดครีมหรือเจล นอกจากจะบรรเทาอาการปวดได้แล้ว ยังมีผลเคียงน้อยกว่ายาทานเนื่องจากปริมาณยาที่ใช้ในทามีน้อยกว่า

ในท้องตลาดยาทาแก้ปวดเข่ามี 2 สูตร ได้แก่ สูตรร้อนช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นบรรเทาอาการปวด ควรใช้หลังจากได้รับอาการบาดเจ็บที่ข้อเข่า มากกว่า 48 - 72 ชั่วโมง และสูตรเย็นทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดหยุดชะงักลดบรรเทาอาการปวดและอาการปวด เช่น ข้อเท้าพลิก ควรใช้หลังจากที่ได้รับการบาดเจ็บทันที หรือ ภายใน 1 - 3 วัน 
 

2. สเปรย์แก้ปวดเข่า

สเปร์ยแก้ปวดเข่ามีสรรพคุณและคุณสมบัติเหมือนกับยาทาแก้ปวดเข่าทั้งชนิดครีมหรือเจล สเปรย์แก้ปวดเข่าเป็นการบรรเทาและระงับอาการปวดชั่วคราว ไม่ได้ช่วยลดอาการข้ออักเสบ หรือ รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแต่อย่างใด การใช้เช่นเดียวกับยาทา คือ ปวดที่บริเวณใดสามารถฉีดสเปร์ยที่บริเวณนั้นได้ 

ทั้งนี้การใช้สเปร์ยเหมาะสำหรับผู้ที่มีเพิ่งได้รับอาการบาดเจ็บใหม่ๆ เนื่องจากหากเพิ่งได้รับอาการบาดเจ็บใหม่ๆ “ไม่ควรนวด” เพราะอาจจะทำให้มีอาการรุนแรงกว่าเดิม สเปร์ยแก้ปวดจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยป้องกันการนวดที่อาจจะทำให้อาการรุนแรงมากกว่าเดิม 


ทำไมกินยาแก้ปวดเข่าแล้วอาการไม่ดีขึ้น

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเมื่อไปพบแพทย์ มักจะได้ยาแก้ปวดเข่า ยาลดอาการข้ออักเสบมารับประทาน ซึ่งการทานยาสามารถช่วยให้อาการปวดข้อเข่าดีขึ้นได้ แต่เมื่อหยุดยาหลายๆ คนกลับมามีอาการปวดอีกครั้ง ไม่หายขาดทำให้ต้องกลับมากินยาอีก ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสงสัยว่ายาที่ใช้ไม่ได้ผลหรือไม่?  กินยาแล้วก็ไม่หาย ส่งผลให้ไม่อยากกินยาต่อ 
              

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยาแก้ปวดเข่าที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบัน เป็นยาในกลุ่มลดการอักเสบ หรือ ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ไปเปลี่ยนแปลง หรือ รักษาสภาพความเสื่อมของผิวข้อแต่อย่างใด แต่จะช่วยลดอาการปวดโดยการไปลดการอักเสบซึ่งเกิดขึ้นในข้อ หรือ ไปกดการรับรู้ความเจ็บปวดของร่างกายโดยตรง 
 

ดังนั้นเมื่อใช้ยาแก้ปวดเข่า หรือยาที่ลดอาการอักเสบไปซักพักอาการปวดข้อจึงมีอาการดีขึ้น และถ้าตอนนั้นการอักเสบในข้อไม่มีแล้ว ผู้ป่วยอาจจะสามารถหยุดยาได้ แต่เมื่อเกิดการอักเสบขึ้นในข้อเข่าอีกอาการปวดก็จะกลับมา ทำให้เหมือนกับโรคไม่หาย กลับมามีอาการปวดซ้ำๆเดิม 
 

มีผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ข้อเข่ามีความสึกหรอ เสียหายค่อนข้างมาก ผิวข้อมีการขัด เสียดสีกันอยู่ตลอด ส่งผลให้เกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตลอด ขณะใช้ยาอาจจะมีอาการปวดร่วมด้วย แม้จะไม่มากเท่าตอนแรกแต่อาการปวดคงอยู่ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหยุดยาได้ หากหยุดยาจะมีอาการปวดเพิ่มขึ้นมาทันที เป็นเหตุให้ต้องกินยาต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดยาได้ เหมือนกินยาเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้นนั่นเอง
 

นอกจากยาลดอักเสบ ยาแก้ปวดเข่าแล้ว ยังมียากลุ่มอื่นที่ใช้ในโรคข้อเข่าเสื่อมอีก นั่นคือ ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเสื่อมของผิวข้อ (ยาในกลุ่ม Glucosamine และ Chondroitin) ซึ่งยาในกลุ่มนี้มุ่งหวังจะใช้เพื่อชะลอ หรือ รักษาสภาพความเสื่อมของผิวข้อ แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่ายาในกลุ่มนี้ช่วยชะลอความเสื่อมของผิวข้อ หรือ เปลี่ยนแปลงโรคข้อเสื่อมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ได้ผลในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมระยะที่ไม่รุนแรงนัก
 

ดังนั้นแพทย์จะเลือกให้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยบางคนที่มีระยะของโรคเหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มนี้สามารถลดอาการปวดข้อได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อาการปวดหายสนิท หรือ หายขาดลงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง หรือ ระยะรุนแรงแล้ว 
 

จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่การกินยาแก้ปวดเข่าแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่การกินยาเพียงชุดเดียวแล้วจะหายเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค สภาพความเสื่อมของข้อเข่า และ การใช้งานข้อเข่าของผู้ป่วยในชีวิตประจำวันอีกด้วย


ยาสมุนไพรแก้ปวดเข่าได้จริงไหม

ในปัจจุบันยังในทางการแพทย์ไม่มีงานวิจัยรองรับว่ายาสมุนไพรสามารถแก้ปวดเข่า หรือ รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ แต่มีสมุนไพรบางชนิดที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวด ลดอาการอักเสบได้ เช่น ขิง ว่านหางจระเข้ ชาเขียว  ยูคาลิปตัส หรือ เถาพระเจ้าฟ้ารอง (Thunder god vine) ทั้งนี้เป็นเพียงสรรพคุณของสมุนไพรเพียงเท่านั้น ยังไม่มีงานวิจัยรองรับใดๆ ว่าสามารถรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม หรือลดอาการอักเสบได้ 


ทางเลือกอื่นในการรักษาอาการปวดเข่า

นอกจากการทานยา ทายาแก้ปวดเข่าแล้ว ยังมีทางอื่นๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบ ได้ดังนี้
 

1. ปรับพฤติกรรมร่วมกับทานยา

การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า และชะลอความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบได้ เพียงแค่หลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบเป็นเวลานาน พร้อมทั้งทำการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบ และน้ำหนักตัวมาก ควรหลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยงให้เกิดอาการปวดเข่า เช่น พับเพียบ นั่งยอง คุกเข่า หรือ งอเข่า เป็นต้น 
 

2. ประคบเย็นบรรเทาอาการปวด

การประคบเย็นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า หรือ เจ็บข้อเข่าได้ การประคบเย็นจึงเหมาะกับผู้ที่เพิ่งได้รับอาการบาดเจ็บ โดยสามารถประคบได้ทันทีที่ได้รับอาการบาดเจ็บ หรือภายใน 1 - 3 วัน ซึ่งจะช่วยให้เส้นเลือดหดตัว และช่วยลดอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ที่เกิดจากการอักเสบได้ สามารถใช้เป็นเจลประคบเย็นสำหรับรูปหรือถุงผ้าห่อน้ำแข็งได้เช่นกัน โดยให้ประคบประมาณ 20 - 30 นาที ควรประคบวันละ 2 -3 ครั้ง
 

3. การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นอีกทางเลือกนอกจากการทานยา หรือทายาแก้ปวดเข่า ที่สามารถช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บข้อเข่า และชะงักความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบได้ นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรง และช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบกลับมาใช้ชีวิตประจำได้ปกติ ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม
 

4. การฉีดยาแก้ปวดเข่า

 

  • ฉีดสเตียรอยด์

การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “ยาฉีดแก้ปวดเข่า” เป็นการลดอาการอักเสบของข้อเข่า และสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ 

ทั้งนี้การฉีดคอร์ติโคสเตียด์เป็นเพียงการฉีดเพื่อบรรเทาอาการอักเสบเท่านั้น ไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม หรือทำให้ข้ออักเสบหายขาดได้ ซึ่งการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ 1 ครั้ง จะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 1 - 3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายขอแต่ละบุคคล 

 

  • ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า

การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยยืดเวลาในการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมออกไปสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมผ่าตัด วิธีนี้ไม่ใช่วิธีรักษาหรือลดอาการอักเสบโดยตรง 

ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกจนถึงระยะกลาง หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาด้วยยาแก้ปวดเข่า หรือการทำกายได้ นอกจากนี้การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าสามารถทำให้ข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ไวขึ้น สำหรับผู้ที่เพิ่งผ่าตัดข้อเข่าใหม่ๆ
 

5. การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีความปลอดภัยสูงในปัจจุบัน โดยแพทย์ส่วนใหญ่มักเลือกวิธีผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการผ่าตัดแบบ Minamal invasive surgery (MIS) การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องเป็นวิธีที่ไม่เจ็บมาก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน แผลผ่าตัดเล็ก 
 

นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมมาก เจ็บข้อเข่ามาก ผู้ป่วยที่ขาโก่ง และไม่สามารถใช้รักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด (Total knee replacement) วิธีนี้สามารถแก้ความผิดปกติทุกอย่างของโรคได้ และช่วยให้รูปข้อเข่าที่ผิดปกติกลับมาเหมือนเดิม เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้น 
 

และการผ่าตัดข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน (Unicompartmental knee replacement) เหมาะกับผู้ป่วยที่อาการเสียหายของข้อเข่ามีเพียงบางบริเวณเท่านั้น การผ่าตัดข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนจะมีขนาดเล็กกว่า เก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ดีไว้ และทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยกว่า ใช้เวลาการพักฟื้นร่างกายน้อยกว่า


ข้อสรุป

สำหรับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า  ข้ออักเสบ และผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมและมีอาการปวดร่วมด้วย หากมีอาการปวดเล็กน้อยสามารถเลือกทานยาแก้ปวดเข่าเพื่อบรรเทาอาการปวด และลดอาการอักเสบได้ หรือใช้ยาทาแก้ปวดเข่า เพื่อบรรเทาอาการปวดอย่างเดียว ทั้งนี้การทานยาแก้ปวดเข่าควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เพื่อความปลอดภัย และผู้ที่มีอาการปวดที่มีความรุนแรงมากแนะนำให้ไปพบแพทย์ และทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด การอักเสบของข้อ และเข้ารับวิธีรักษาทันที เนื่องจากอาการปวดเข่าสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ เช่น ไม่สามารถลงน้ำหนักขณะเดิน หรือ ยืนได้  

หากผู้ป่วยมีอาการปวดเข่า ข้อเข่าอักเสบสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สนใจปรึกษา ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช รักษาข้อเข่าเสื่อมกว่า 30 ปี ด้วยประสบการณ์การรักษาผ่าตัดเปลี่ยนเข่ากว่า 10,000 เคส

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

References

Mayo Staff. (n.d.) Knee pain. Mayoclinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/knee-pain/symptoms-causes/syc-20350849


Smith, M. (2021, Sep 16). What’s Causing My Knee Pain ?. WebMD. https://www.webmd.com/pain-management/knee-pain/knee-pain-causes


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​