บทความสุขภาพ

ตอบคำถาม สมุนไพรแก้ปวดเข่า ช่วยบรรเทาได้จริงไหม?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

หลายคนพอเริ่มมีอายุมากขึ้น ก็เริ่มมีอาการปวดข้อเข่ามาให้เห็น บางรายอาจเป็นหนักหรือเป็นน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านกรรมพันธุ์และวิถีการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงเวลาที่ผ่านมา หนึ่งในทางเลือกรักษาอาการปวดเข่าคือ สมุนไพรแก้ปวดเข่า ปต่ก้มีคำถามที่ว่า สมุนไพรแก้รักษาอาการปวดเข่าได้จริงไหม ในบทความจะพูดถึงยาสมุนไพรแก้ปวดเข่า ใช้สมุนไพรชนิดไหน รักษาอย่างไร


สารบัญบทความ
 


อาการปวดเข่า..บรรเทาได้

อาการปวดเข่าเกิดมาได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้มีแรงกรพทบต่อข้อเข่ามากเกินไป อุบัติเหตุ รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรมและน้ำหนักตัว จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะพบอาการข้อเข่าเสื่อมมากกว่า เพราะข้อเข่าจะต้องรับภาระในการรองรับน้ำหนักตัว 

นอกไปจากนี้ อายุที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน ผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป กระดูกอ่อนที่ข้อเข่าจะเสื่อมสภาพและสึกหรอ เป็นสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ และยังพบอีกว่าอาการข้อเข่าเสื่อมพบในผู้หญิงมกกว่าผู้ชาย
 

โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่า

อาการข้อเข่าเสื่อมส่วนหนึ่งเป็นผลของโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่า โรคข้ออักเสบ  และความผิดปกติอื่นๆ ในบริเวณข้อเข่า เช่น
 

  • โรคเก๊าท์
  • โรครูมาตอยด์
  • โรคข้ออักเสบ
  • โรคข้อเข่าเสื่อม
  • โรคกระดูกพรุนอักเสบ
  • ภาวะกล้ามเนื้อต้นขาลีบ
  • ภาวะกระดูกเข่าตายจากการขาดเลือด

สมุนไพรแก้ปวดเข่า

สมุนไพรแก้ปวดเข่าเป็นแนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบใช้ความรู้ทางด้านแพทย์แผนไทย สมุนไพรใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งปปัจจุบันก็มีการนำสมุนไพรมาใช้ควบคู่กับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ

มักนำสมุนไพรแก้ปวดเข่าชนิดไม่รุนแรง สมุนไพรมีสรรพคุณช่วยขับลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและอาการปวดข้อ สมุนไพรที่มีรสร้อนจะไปช่วยกระจายลมและเลือดที่คั่งค้างอยู่ภายในข้อเข่า ช่วยให้อาหารปวดลดลง บรรเทาอาการข้อฝืด ทำให้ผู้ป่วยเหยียดและงอข้อเข่าได้ดีขึ้น ทั้งนี้ควบคู่กับการรักษาอื่นๆ ตามอาการ และควรปรับพฤติกรรมร่วมด้วย


สมุนไพรช่วยแก้ปวดเข่าได้จริงไหม

โรคข้ออักเสบ ในทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่า ลมจับโปง หมายถึง ลมที่ทำให้เกิดอาการบวม แดง ตามข้อที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ปวดข้อเท้า ไหล่ติด นิ้วล็อค ในส่วนของโรคข้อเข่าเสื่อม ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยพบว่ามีความใกล้เคียงกับ โรคลมจับโปงแห้งเข่า 

ซึ่งตามตำราแล้วสามารถใช้สมุนไพรในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ สมุนไพรแก้ปวดเข่า ปวดข้อ เช่น พริกไทย มีสาร piperine ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด กระเทียมมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ยั้งยับเดเอนไซม์ที่กระตุ้นสารที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นต้น


สมุนไพรช่วยแก้ปวดเข่ามีอะไรบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว สมุนไพรแก้ปวดเข่า ปวดข้อ จะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 
 

  • สมุนไพรที่ใช้ทาน อย่างน้ำสมุนไพรแก้ปวดเข่า สามารถทำมาจากสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน เถาวัลย์เปรียง ทานแล้วมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบ บำรุงกระดูกและข้อ ลดอาการปวดของข้อเข่า โดยเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ระงับอาการอักเสบได้เทียบเคียงยาไดโคลฟีแนค
  • การพอกยาสมุนไพร เป็นการนำสมุนไพรประคบแก้ปวดเข่า สารต่างๆ ในสมุนไพรจะไปลดอาการอักเสบ บวม และเจ็บปวด

สมุนไพรทานแก้ปวดเข่า

สมุนไพรแก้เข่าเสื่อม สมุนไพรรักษาเข่าเสื่อมมีหลายชนิด สามารเลือกใช้สมุนไพรแก้ปวดเข่าเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาอาการข้อเข่าอักเสบได้ แทนที่การใช้ยาแบบแผนปัจจุบันที่แม้อาจจะลดอาการเจ็บข้อเข่าได้ในระดับเดียวกัน แต่เทียบเคียงกันแล้วผลข้างเคียงต่อร่างกายงของการรับประทานสมุนไพรนับได้ว่าน้อยกว่าการเลือกใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาอาการปวดเข่า
 

1. ขมิ้นชัน

ขมิ้นชันแก้ปวดเข่าได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาแพทย์ปัจจุบัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสารเคอร์คูมินอยด์ ทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งสารเอมไซม์ที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดอาการออักเสบ ปวด และปวม จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564 พบว่าสารเคอร์คูมินอยด์ในขมิ้นชัน สามารถลดการอักเสบของข้อ ลดการปวดขาตอนกลางคืนได้เป็นอย่างดี
 

2. เถาวัลย์เปรียง

จากงานวิจัย “ประสิทธิผลของการใช้ยาเถาวัลย์เปรียง ในผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม” จากวารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย พบว่าเถาวัลย์เปรียงมีช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สามารถลดการปวด ข้อฝืดและยึด และเพิ่มความสามารถในการใช้ข้อเข่า มีผลเทียบเคียงกับยา Diclofenac แต่ต่างจากยา Diclofenac ตรงที่เถาวัลย์เปรียงไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
 

3. ขิง

งานวิจัยการใช้ขิงรักษาและบำบัดอาการโรคข้อเสื่อมจากวารสารสุขภาพกับการจัดการสุขภาพเผยว่า ขิงเป็นสมุนไพรมีสรรพคุณในการรักษาและบรรเทาอาการของโรคข้อเสื่อม สามารถยับยั้งการสร้าง พรอสตาแกลนดินและลิวโคทริอีนโดยมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า และประสิทธิผลดีกว่ายาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
 

4. เพชรสังฆาต

เพชรสังฆาตมีสรรพคุณแก้กระดูกแตกหักซ้น จากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดเมทานอลของเพชรสังฆาตพบว่า สารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและระงับปวดในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าบวมด้วย เพชรสังฆาตช่วยลดอาการปวด อาการอักเสบ ช่วยสมานกระดูก นับเป็นหนึ่งในสมุนไพรแก้ปวดหัวเข่า
 

5. ใบยอ

ใบยอเป็นสมุนไพรแก้ปวดข้อเข่า จากการศึกษาการบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อมของสารสกัดเอทานอลจากใบยอ พบว่า สารสกัดสามารถบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อมในหนูทดลองที่ถูกฉีดโมโนโซเดียมไอโอโดอะซีเตทได้ โดยไปยับยั้งกระบวนการอักเสบและกระบวนการสลายของกระดูกอ่อนในข้อต่อ


การพอกสมุนไพรแก้ปวดเข่า

การพอกสมุนไพรแก้ปวดเข่า เป็นศาสตร์แพทย์แผนไทย โดยใช้สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบใน “ตำรับยาทาพระเส้น” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ  โดยเป็นการนำสมุนไพรแห้งชนิดต่างๆ เช่น ตะไคร้ เมล็ดพริกไทย ขิง กระเทียม มาหมักดองด้วยเหล้าแล้วนำไปพอกบริเวณข้อเข่าที่มีอาการปวด พบว่ายาสมุนไพรแก้ปวดเข่า ลดอาการอักเสบ ทำให้องศาการเคลื่อนไหวข้อเข่าดีขึ้น ลดอาการหัวเข่ามีเสียงได้


วิธีรักษาอาการปวดเข่าทางการแพทย์

1. ใช้ยารักษาอาการปวดเข่า

ในการใช้ยาแก้ปวดเข่าทางการแพทย์ จะแบ่งยาออกเป็น 3 ชนิดดังนี้
 

  • ยาแก้ปวด

กลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรง ตัวอย่างยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดเช่น พาราเซตามอล อะเซมิโนเฟน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยยาทั่วไป ทั้งนี้ไม่ควรรับประทานพาราเซตามอลติดต่อกัยเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ตับเป็นพิษได้
 

  • ยาแก้อักเสบ

ยาแก้ข้ออักเสบ หรือยาแก้ปวดข้อสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในระดับรุนแรงปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรงมากได้ โดยตัวยาจะไปออกฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ รวมถึงข้อ กลุ่มยาแ้กอักเสบที่เป็นที่นิยม ได้แก่ แอสไพริน นาพรอกเซน ไอบูโปรเฟน 
 

  • ยารักษาข้อเข่าเสื่อม

ยารักษาข้อเข่าเสื่อมมีฤทธิ์บรรเทาการไม่ให้ผิวข้อเสื่อมสภาพ ช่วยชะลอความเสื่อมของผิวข้อ แต่ไมาสามารถทำให้อาการปวดข้อหายสนิทได้ จัดเป็นยากลุ่มทางเลือก ในทางการแพทย์ยารักษาข้อเข่าเสื่อมที่เป็นที่นิยมได้แก่ กลูโคซามีน และ โคลซิซิน
 

2. ฉีดยารักษาอาการปวดเข่า


 

  • ฉีดยาสเตียรอยด์

การฉีดยาสเตียรอยด์ โดยหลักแล้วเป็นการฉีดเพื่อระงับอาการอักเสบของข้อเข่า เอ็นเข่าอักเสบ มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ภายใน 1 ถึง 2 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าเสื่อมไม่รุนแรง ข้อเข่ามีความเสียหายไม่มากนัก เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์เป็นการช่วยยับยั้งอาการอักเสบเท่านั้น ในระยะยาวจะไม่ช่วยให้อาการปวดข้อเข่าหายไป ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดก่อนฉีดยาสเตียรอยด์
 

  • ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า

การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า เป็นการฉีด Hyalulonic Acid เข้าไปในข้อเข่า ทำหน้าที่เป็นน้ำไขข้อเทียมสังเคราะห์ให้กับผู้ป่วยที่มีน้ำเลี้ยงข้อเข่าตามธรรมชาติไม่เพียงพอ การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อเข่า ลดอาการปวด ทำให้สามารถใช้งานข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 

3. การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีการบริหารร่างกาย สามารถเลือกท่ากายบริหารที่เน้นแก้อาการปวดข้อเข่าได้ วิธีกายภาพบำบัดแก้อาการปวดข้อเข่า เช่น การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบข้อเข่า การยืดกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดช่วยในการรักษา เช่น การกระตุ้นไฟฟ้า ช็อคเวฟ
 

4. การผ่าตัดข้อเข่า

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะรุนแรง แบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่
 

  • การผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง 

โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ประกอบไปด้วยเลนส์ทำการสอดเข้าไปในแผลผ่าตัดเข่าของผู้ป่วย เลนส์ที่ติดไปกับอุปกรณ์ผ่าตัดจะฉายภาพภายในข้อเข่าของผู้ป่วยไปยังจอทีวี ทำให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้โดยง่าย
 

  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดนำข้อเข่าเทียมที่ทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไปแทนที่ข้อเข่าของผู้ป่วยมีที่อาการอักเสบ มีกระดูกงอก จนเกิดอาการปวดขั้นรุนแรง ข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนจะมีอายุใช้งานยืนยาว


วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่า

นอกเหนือจากการรักษาอาการปวดเข้าด้วยสมุนไพรรักษาอาการปวดเข่า และการรักษาทางการแพทย์ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ไม่เกิดการปวดข้อ คือ การปรับพฤติกรรม โดยพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงเมื่อมีอาการปวดเข่า มีดังนี้
 

พฤติกรรมที่ควรเลี่ยงเมื่อมีอาการปวดเข่า

 

  • เลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อข้อเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ การนั่งยองๆ การนั่งขัดสมาธิ
  • เลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได
  • เลี่ยงการก้มถูบ้าน
  • เลี่ยงการยกของหนัก
  • เลี่ยงการหมุนเข่า
  • เลี่ยงการออกกำลังกายที่ส่งแรงกระทำต่อเข้าเข่า เช่น การวิ่ง
  • เลี่ยงอาหารจำพวกหน่อไม้ เครื่องในสัตวฺ ของมัน ของทอด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้อาการปวดข้อเข่ารุนแรงกว่าเดิม

ข้อสรุป

สมุนไพรแก้ปวดเข่า เป็นหนึ่งในทางเลือกที่แก้รักษาอาการปวดข้อเข่า โดยการประยุกต์ใช้แพทย์แผนไทย ดึงเอาสรรพคุณตามธรรมชาติของสมุนไพรรักษาโรคเข่าเสื่อมมาใช้ในการบรรเทาอาการปวดให้ผู้ป่วย จากการวิจัยพบว่ายาสมุนไพรแก้เข่าเสื่อม ช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวด บวม ได้เทียบเท่ากับการใช้ยาแผนปัจจุบัน แต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายน้อยกว่า หรือไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเลย

หากผู้ป่วยมีอาการข้อเข่าเสื่อม สนใจการรักษาด้วยสมุนไพรแก้ปวดเข่า หรือสนใจผ่าตัดข้อเข่าเทียม สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


References

กระทรวงสาธารณสุข (ผู้รวบรวมเป็นเล่มเดียว). (2497). ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง (พิมพ์ ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พานิชศุภผล.

ธนกานต์ กิจนิธิประภา, และวรานนท์ อินทรวัฒนา. (2563). ยาน่ารู้: เพชรสังฆาต. วารสารศูนย์การศึกษา แพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า, 37(1), 76-78.

ยุทธพงษ์ศรีมงคล, ไพจิตร์วาชิต, ปราณีชวลิตธำรง, บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ,รัดใจไพเราะ,จันธิดาอินเทพ และคณะ. การเปรียบเทียบสรรพคุณของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงกับไดโคลฟีแนคเป็นยาบรรเทาอาการ ปวดหลังส่วนล่าง. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2015;5:17-23.

อรุณกมล ประดิษฐบงกช. (2552). การพัฒนาสูตรตำรับ ไมโครอิมัลชันเจลของสารสกัดขิงและการประเมิน ฤทธิ์ต้านอักเสบในหนูแรท (วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต วิทยาการเภสัชกรรมและเภสัช อุตสาหกรรม สาขาวิชา เภสัชกรรม). กรุงเทกพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Garcia, R., Ferreira, J. P., Costa, G., Santos, T., Branco, F., Caramona, M., de Carvalho, R., Dinis, A. M. , Batista, M. T. , Castel-Branco, M. , & Figueiredo, I. V. (2015) . Evaluation of antiinflammatory and analgesic activities of Cymbopogon citratus in vivo- polyphenols contribution. Research Journal of Medicinal Plant, 9(1), 1-13.


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​