บทความสุขภาพ

‘โพรไบโอติกส์’ เสริมภูมิคุ้มกัน แนะนำอาหารโพรไบโอติกสูงที่ควรทาน

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

 
รู้หรือไม่ว่า ในร่างกายของเรามีแบคทีเรียและจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะมีทั้งชนิดที่มีประโยชน์ และชนิดที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือจุลินทรีย์บางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หนึ่งในจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในเรื่องการทำงานของระบบย่อยอาหารหาร เสริมสร้างภูมิคุ้มกันคือ “จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์” หรือโพรไบโอติกส์นั่นเอง

สารบัญบทความ
 


ทำความรู้จัก ‘โพรไบโอติกส์’

โพรไบโอติกส์ (Probiotic) คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนระบบทางเดินอาหาร รวมถึงในระบบอื่นๆ ของร่างกาย โพรไบโอติกส์ถือเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยดูดซึมอาหาร ป้องกันโรค สังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดก่อโรคเกิดขึ้นในร่างกาย
 

จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์พบในส่วนใดของร่างกาย

 

จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ส่วนมากสามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย โพรไบโอติกส์ในระบบทางเดินอาหารจะทนทานต่อกรดและด่าง เมื่ออยู่ที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้จะสามารถผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดีได้ ทำให้ลำไส้แข็งแรง 

นอกจากในระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังพบโพรไบโอติกส์ในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในระบบทางเดินหายใจ ภายในช่องปาก บริเวณผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ และมดลูก เป็นต้น


ประเภทของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์

จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในร่างกายของเราไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว แต่มีอยู่หลากหลายประเภท ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อร่างกายแตกต่างกันไป ประเภทของโพรไบโอติกส์ มีดังนี้
 

1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)

แลคโตบาซิลลัส พบมากที่สุดในกลุ่มโพรไบโอติกส์ แบคทีเรียแลคโตลาซิลลัสเป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่เกาะติดลำไส้ มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้ อาหารที่พบแลคโตบาซิลลัส เช่น อาหารหมักดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
 

2. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces Boulardii)

แซคคาโรไมซิสเป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มโพรไบโอติกส์ ไม่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติ แซคคาโรไมซิสช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านทางเดินอาหาร
 

3. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)

บิฟิโดแบคทีเรียมเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่เรียกกันได้ว่าดีที่สุด เพราะช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน จากงานวิจัยพบว่าโพรไบโอติกส์ชนิดนี้ช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานในร่างกายได้ บิฟิโดแบคทีเรียมพบได้ในอาหารประเภทนม
 

4. จุลินทรีย์โพรไบโอติกประเภทอื่น

ทั้งนี้ยังมีโพรไบโอติกส์ชนิดอื่นๆ ที่ใช้ทางด้านการแพทย์อีกด้วย เช่น Enterogermina – Bacillus clausii, Bacillus subtilis, Longum, B. Breve, B.infantis, Streptococcus thermophilus เป็นต้น
 


ความแตกต่างโพรไบโอติกส์กับพรีไบโอติกส์

โพรไบโอติกส์

โพรไบโอติกส์จะเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถพบได้ในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร สร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ กระตุ้นระบบการย่อยอาหารในร่างกายจากการสร้างเอมไซม์ รวมถึงช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายที่เสียไป
 

พรีไบโอติกส์รวม

พรีไบโอติกส์คือสิ่งมีชีวิตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ แต่สามารถย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ทำให้โพรไบโอติกส์เติบโต กล่าวคือ พรีโบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง พรีไบโอติกส์พบได้ใน ถั่วเหลือง ถั่วดง กระเทียม หัวหอม ไฟเบอร์จากผักผลไม้ เป็นต้น

 


ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์


1. สร้างสมดุลให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย

โพรไบโอติกส์สามารถป้องกันและบรรเทาได้ทั้งอาการท้องเสียและท้องผูก เป็นตัวช่วยในการสร้างสมดุลให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายของร่างกาย โพรไบโอติกส์กลุ่มแลคโตบาซิลลัส ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ ปรับสภาพของระบบทางเดินอาหารให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้
 

2. กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

โพรไบโอติกส์สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ การมีโพรไบโอติกส์ในระบบทางเดินอาหารที่เพียงพอจะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายป้องกันการติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น ลดการติดเชื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ลดการติดเชื้อในบริเวณปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันในลำไส้และกระแสเลือด 
 

3. รักษาบรรเทาโรคกระเพาะ

การใช้โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ร่วมกันจะสามารถป้องกันและบรรเทาโรคในระบบทางเดินอาหารได้ โรคกระเพาะก็เช่นกัน ด้วยวิธีนี้จะสามารถป้องกันโรคกระเพาะและและกรดไหลย้อนซึ่งเป็นโรคในกลุ่มทางเดินอาหารที่มักจะพบร่วมกันได้
 

4. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่มีโอกาสสร้างสารก่อมะเร็งหรือเป็นตัวร่วมในการก่อมะเร็งได้ สารในกลุ่มไนโตรเจนและอะโรมาติคเอมีนจากอาหารประเภทไขมันและเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถเพิ่มขึ้นจากสะสมของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ การมีโพรไบโอติกส์จะช่วยเปลี่ยนสภาพแบคทีเรียในลำไส้ ป้องกันการเกิดสารดังกล่าวได้
 

5. ลดอาการอักเสบและภูมิแพ้

การมีโพรไบโอติกส์ในร่างกายที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้นกันต่อการติดเชื้อได้ดี โพรไบโอติกส์จะช่วยปรับสภาพภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดอาการอักเสบ ช่วยให้ปัญหาภูมิแพ้ลดลง แก้อาการภูมิแพ้ มีน้ำมูก ผื่นคัน หอบหืด หรือบรรเทาอาการเรื้อรังของโรคภูมิแพ้ได้
 

6. ช่วยเรื่องระบบทางเดินปัสสาวะ

แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย ลดการสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปัสสาวะอักเสบ รวมถึงป้องกันปัญหาการติดชื้อในช่องคลิดและปากช่องคลอดของผู้หญิงที่เป็นส่วนให้เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย

 


โพรไบโอติกส์ช่วยบรรเทาโรคใดได้บ้าง

โพรไบโอติกส์สามารถป้องกันและบรรเทาโรคได้ จากการเพิ่มปริมาณโพรไบโอติกส์ในร่างกาย โดยการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีโพรไอโอติกส์สูง โรคที่บรรเทาอาการได้จากการรับประทานโพรไบโอติกส์ เช่น

 
  • โรคท้องเสีย
  • โรคท้องผูก
  • การติดเชื้อราในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ภาวะอ้วน
  • โรคภูมิแพ้ 
  • โรคผิวหนังอักเสบ
  • โรคตับ
  • ภาวะไขมันพอกตับ
  • โรคโคลิคในเด็ก
  • โรคเชื้อราในช่องคลอด

โพรไบโอติกส์กับภาวะลองโควิด

การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่หายไปจากสังคม ทำให้จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ในประเทศไทย แม้จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ต้องระวังอาการลองโควิด หรือในช่วง Home Isolation ระหว่างการกักตัว 14 วัน ก็ต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายไม่ให้ภูมิคุ้มกันตก เกิดผื่นแดงโควิด ซึ่งอาการเหล่านี้ สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้โพรไบโอติกส์

นายแพทย์ กฤษดา ศิรามพุช แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย กล่าวว่า ผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 แล้วจะมีจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่ปกติ ส่งผลให้มีอาการในระบบทางเดินอาหาร การรับประทานโพรไบโอติกส์จะช่วยปรับสมดุล

แบคทีเรียในลำไส้ ช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานได้ปกติ ทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย จึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง ร่วมกับการทานยารักษาโรคโควิด เช่น ฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาอาการลองโควิด ช่วยให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง


แนะนำ 10 อาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง

1. โยเกิร์ต

โยเกิร์ตเป็นอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ รับประทานง่าย มีรสชาติอะไร ในการรับประทานโยเกิร์ตโพรไบโอติกส์ควรเลือกโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์สดๆ ระบุฉลากผลิตภัณฑ์ชัดเจน เช่น Active Probiotic, Live Probiotic และควรเลือกโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร เช่น Bifidobacterium,  Lactobacillus casei,  Lactobacillus acidophilus
 

2. นมเปรี้ยว

 

นมเปรี้ยวคือนมที่ผ่านการหมักจนเกิดโพรไบโอติกส์ขึ้นในตัวนม ในการเลือกรับประทานนมเปรี้ยว ก็ควรเลือกรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์สายพันธุ์เดียวกับที่มีในโยเกิร์ต เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทานแล้วช่วยเรื่องระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ควรเลือกนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น นมเปรี้ยวที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์

3. อาหารหมักดอง

 

การหมักดองอาหาร นอกจากเพื่อเพื่อมรสชาติ หรือถนอมอาหารให้มีระยะเวลาที่กินได้ยาวนานขึ้นแล้ว อาหารที่นำไปหมักดอง เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง จะมีเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เกิดขึ้นมา 

เมื่อรับประทานแล้วจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถกระตุ้นเซลล์แมคโครฟาจซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันช่วยเพิ่มการสร้างสารภูมิต้านทานชนิด IgA 
 

4. ดาร์กช็อคโกแลต

 

ดาร์คช็อคโกแลตช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ในดาร์กช็อคโกแลตจุลินทรีย์โพรไบโอติก สายพันธุ์แลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) และไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
 

ผู้ที่ทานดาร์คช็อตโกแลตจะมีสัดส่วนจุลินทรีย์ในกลุ่มคลอสทริเดียม (Clostridia) และสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ลดน้อยลงกว่าในผู้ที่ไม่ทาน จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นต้นเหตุของอาการท้องเสียหรือท้องร่วงเฉียบพลันได้
 

5. น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล

 

น้ำส้มสายชูหมักนั้นสามารถทำได้จากผลไม้แทบทุกชนิดที่มีรสหวาน แต่ผลไม้ที่นิยมที่สุดคือ แอปเปิ้ล เมื่อหมักผลไม้ น้ำ และจุลินทรีย์เข้าได้กัน จะได้น้ำส้มสายชูน้ำหมัก ซึ่งจะมีสภาพเป็นกรดน้ำส้ม มีสีน้ำตาลจากตะกอนตามธรรมชาติ และยังมีจุลินทรีย์ที่ยังมีชิวิตเพราะกระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูหมักนั้นไม่ผ่านความร้อน หรือการกรองใดๆ ทำให้ได้โพรไบโอติกส์มานั่นเอง 
 

6. ชีสบางประเภท

 

ชีสมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะมีขั้นตอนการผลิตและระยะเวลาการผลิตที่แตกต่างกันไป วิธีสังเกตชีสที่มีโพรไบโอติกส์คือ ฉลากผลิตภัณฑ์ของชีสชนิดนั้นจะต้องระบุไว้ว่า “live cultures” หรือ “active cultures” ชีสที่มีโพรไบโอติกส์ เช่น มอสซาเรลล่า เชดด้า คอทเทจ เกาด้า เป็นต้น
 

7. ถั่วนัตโตะ

 

ถั่วนัตโตะ หรือเรียกอีกชื่อว่า ถั่วเน่า หรือถั่วหมัก เป็นอาหารพื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น เกิดจากการนำถั่วไปหมักดอง จนมีเส้นใยเหนียวๆ ยืดได้ มีกลิ่น ถั่วนัตโตะเป็นแหล่งที่ดีของโพรไบโอติกส์ การกินนัตโตะอยู่เสมอๆ จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกัน
 

8. ซุปมิโซะ

 

ซุปมิโสะเป็นซุปญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ส่วนผสมหลักๆ คือน้ำสต๊อกดาชิและเต้าเจี้ยวมิโซะ มิโสะที่นำมาปรุงเป็นเครื่องปรุงรสที่ทำจากถั่วเหลืองหมักกับเหลือและเชื้อราชนิดดี จึงทำให้มีโพรไบโอติกส์สูง ถือเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี รับประทานง่าย คล่องคอ
 

9. เทมเป้

 

เทมเป้ เป็นอาหารที่มีที่มาจากประเทศอินโดนิเซีย เป็นอาหารที่เกิดจากการหมักถั่วเหลืองจนกลายเป็นแท่งคล้ายเค้ก โดยหมักกับเชื้อรา Rhizopus Oligosporus ซึ่งเป็นเชื้อราสายพันธุ์ดี จนได้โพรไบโอติกส์ออกมา มีโปรตีนสูง ทั้งยังช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง
 

10. ชาหมักคอมบูชา

 

คอมบูชาหรือชาหมักเกิดจากการหมักชาโดยใช้ชาเขียวหรือชาดำผสมกับน้ำตาล ยีสต์ และหัวเชื้อจุลินทรีย์ มีรสเปรี้ยวนำ มีรสหวานเล็กน้อย มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ อุดมไปด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย
 


วิธีกินโพรไบโอติกส์อย่างปลอดภัย

พรีไบโอติกส์กินตอนไหน

ควรรับประกานพรีไบโอติกส์ก่อนอาหาร หรือระหว่างมื้อ เนื่องจากโพรไบโอติกส์จะถูกทำลายได้ด้วย น้ำย่อย แอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด ช่วงก่อนอาหารกระเพาะจะมีความเป็นกรดต่ำ ส่งผลให้โพรไบโอติกส์ถูกทำลายจากน้ำย่อยลดลง

ควรกินโพรไบโอติกส์ปริมาณเท่าไหร่

ปริมาณโพรไบโอติกส์ที่ควรรับประทานต่อวันคือ ตั้งแต่ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน หรืออย่างต่ำ 10,000 ล้าน CFU โดย CFU คือ หน่วยที่ใช้ตรวจปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในสินค้าและอาหารไม่ว่าจะเป็น นมเปรี้ยว หรือ อาหารเสริม

กินไพรไบโอติกส์มากไป ส่งผลอะไรไหม

การรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินความจำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวัน อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ผลข้างเคียงของการรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินไป เช่น
 

  • เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • เกิดอาการปวดหัว จากสารเอมีน (Amines)
  • เกิดอาการต้านยาปฎิชีวนะ
  • เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

หากรับประทานโพรไบโอติกส์แล้วมีอาการ หรือปฏิกริยา ควรหยุดรับประทานทันที และควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอาการต่อไป


ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาหารเสริมโพรไบโอติกส์

โพรไบโอติกส์ นอกจากจะเจอได้ในอาหารเช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ของหมักดองต่างๆ แล้ว ยังสามารถรับประทานได้จากอาหารเสริมโพรไบโอติกส์อีกด้วย การรับประทานอาหารในแต่ละวันบางครั้งอาจไม่ได้จำนวนโพรไบโอติกส์ตามที่ร่างกายต้องการ 

นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถสูญเสียโพรไบโอติกส์ธรรมชาติไปจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เช่น การความเครียดในการทำงาน การทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง อาหารเสริมโพรไบโอติกส์จึงถือเป็นทางเลือกในการรับประทานโพรไบโอติกส์ที่สะดวกสะบาย พกพาติดตัวได้ ทานได้เมื่อต้องการ ช่วยปรับสมดุลให้ระบบต่างๆ ในร่างกาย


โพรไบโอติกส์ยี่ห้อไหนดี

ข้อควรคำนึงในการเลือกอาหารเสริมโพรไบโอติกส์
 

  • เลือกจากวิธีรับประทาน เช่น แบบผง แบบเม็ด แบบเยลลี่ แบบเคปซูล
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการจดทะเบียน อย. เสมอ
  • เลือกทานจุลินทรีย์ที่ถูกชนิด เช่น แล็กโทบาซิลลัส เหมาะสำหรับกระตุ้นระบบขับถ่าย
  • เลือกจากปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ โดยปริมาณเชื้อแบคทีเรียต่อซองไม่ควรต่ำกว่า 1,000 ล้าน CFU
  • ทานควบคู่กับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ทานโพรไบโอติกส์กับน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำยเ็น จะช่วยดึงประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และวันหมดอายุก่อนรับประทาน

 


ข้อสรุป

โพรไบโอติกส์กับโปรไบโอติก คือ ชื่อเรียกชื่อเรียกจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เมื่ออยู่ที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้จะสามารถผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดีได้ ทำให้ลำไส้แข็งแรง จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์มีหลายชนิด เช่น แลตโตลาซิลลัส แซคคาโรไมซิส บิฟิโดแบคทีเรียม เป็นต้น

นอกจากช่วยสร้างสมดุลให้ระบบทางเดินอาหารแล้ว โพรไบโอติกส์ยังส่งผลต่อต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายอีกด้วย เพราะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ ลดอาการอักเสบและภูมิแพ้ รวมถึงช่วยบรรเทาโรคกระเพาะ และโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม ควรทานโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน คือ 10,000 ล้าน CFU หากรับประทานโพรไบโอติกส์แล้วมีอาการปวดหัว เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ให้หยุดรับประทานและเข้าพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุอาการ

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโพรไบโอติกส์ หรือรับประทานโพรไบโอติกส์แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

เอกสารอ้างอิง

Amara, A. A., & Shibl, A. (2015). Role of probiotics in health improvement, infection control and
disease treatment and management. Saudi Pharmaceutical Journal, 23(2), 107–114.
https://doi.org/10.1016/j.jsps.2013.07.001 

Katherine Zeratsky, R. D. (2022, July 2). Probiotics and Prebiotics: What you should know. Mayo
Clinic. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy
-eating/expert-answers/probiotics/faq-20058065

Probiotics: What is it, benefits, side effects, food & types. Cleveland Clinic. (n.d.).
https://my.clevelandclinic.org/health/articles/14598-probiotics   


บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​