บทความสุขภาพ

สายตาสั้น 50 75 150 200 300 ควรใส่แว่นไหม? รักษาอย่างไรได้บ้าง ?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

สายตาสั้น 50 75 150 200 300 ควรใส่แว่นไหม สายตาสั้น 100 อันตรายไหม แว่นสายตาสั้น 150 ควรใส่ไหม สายตาสั้น 300 เยอะไหม คอนแทคเลนส์ สายตาสั้น 50 200 รู้จักความแตกต่างของค่าสายตาสั้น การอ่านค่าสายตา พร้อม 5 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตาสั้น

ผู้ที่สายตาสั้นและใช้สายตามากในการเรียกหรือการทำงาน มักจะเริ่มรู้ตัวตั้งแต่สายตาสั้น 50 เนื่องจากภาพการมองเห็นจะเริ่มไม่ชัด หลายคนจึงมีคำถามว่า เมื่อพบสายตาสั้นแล้ว ควรใส่แว่นหรือไม่ สายตาสั้น 50, 75 ไม่ได้มีผลกับการใช้ชีวิตอะไร ต้องใส่ด้วยหรือ แล้วต้องสายตาสั้นแค่ไหนจึงควรใส่แว่น

ในบทความนี้ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ จะให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับค่าสายตา สายตาสั้น ว่าค่าสายคืออะไร วัดได้อย่างไร สายตาสั้น 50, 100, 200, หรือ 300 แตกต่างกันอย่างไร สั้นแค่ไหนจึงควรใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ พร้อมวิธีอ่านค่าสายตา วิธีรักษาค่าสายตา และ 5 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตาสั้น

 


สารบัญบทความ

 

 


 

ทำความเข้าใจ ‘ค่าสายตา’

สายตาสั้น 50 75 150 200 300 หน่วยอะไร อ่านค่าสายตาอย่างไร วิธีวัดสายตาทำอย่างไร


เวลาไปวัดสายตาประกอบแว่น ไม่ว่าจะวัดที่โรงพยาบาลหรือร้านแว่นตา นักทัศนมาตรจะให้นั่งหน้าเครื่องบางอย่าง จากนั้นจะให้เรามองเข้าไปที่เครื่อง ภาพจะชัดและมัวสลับกันไปเรื่อยๆ สักพักนักทัศนมาตรจะได้ตัวเลขออกมาสองชุด เป็นค่าสายตาของดวงตาแต่ละข้าง แต่ค่าสายตาดังกล่าว คืออะไร?ฃ

ค่าสายตา คือค่าความสามารถในการมองเห็น วัดจากกำลังของกระจกตาและเลนส์ตารวมกัน ค่าสายจะมีหน่วยสากลคือไดออปเตอร์ (Diopter หรือ D.) ซึ่งหมายถึงกำลังของเลนส์ (Optical Power) 

เราอาจจะคุ้นเคยการเรียกค่าสายตาเป็น สายตายาว หรือสายตาสั้น 50 75 150 200 หรือ 300 ซึ่งการเรียกค่าสายตาดังกล่าวไม่ใช่วิธีเรียกแบบสากล หากนับตามหน่วยไดออปเตอร์แล้วจะนับเป็นเลขทศนิยมสองตำแหน่ง

วิธีอ่านค่าสายตา

RE -2.00 -0.50x180
 

  1. RE และ LE คือการบอกว่าค่าสายตานี้เป็นของดวงตาข้างใด RE หรือ OD จะหมายถึงตาด้านขวา ส่วน LE หรือ OS จะหมายถึงตาด้านซ้าย จากในตัวอย่างจึงแสดงว่าค่าสายตานี้เป็นของตาด้านขวา
  2. ค่าสายตาสั้นหรือยาว หากเครื่องหมายด้านหน้าตัวเลขเป็นเครื่องหมายลบ (-) แสดงว่าเป็นค่าสายตาสั้น ถ้าเป็นเครื่องหมายบวก (+) แสดงว่าเป็นค่าสายตายาว ดังนั้นจากตัวอย่าง “-2.00” จึงหมายถึงสายตาสั้น 2.00 ไดออปเตอร์ หรือสายตาสั้น 200 นั่นเอง
  3. ค่าสายตาเอียง ค่าสายตาเอียงจะมีค่าที่บอกว่าค่าสายตาเอียงเท่าไหร่ หน่วยเป็นไดออปเตอร์ และมีค่าที่บอกองศาการเอียงด้วย ดังนั้นจากตัวอย่าง “-0.50x180” หมายถึงสายตาเอียง -0.50  ไดออปเตอร์ หรือสายตาเอียง 150 ที่มุม 180 องศา

 

การวัดค่าสายตา

การวัดค่าสายตา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อตรวจสอบการมองเห็นเบื้องต้น หลังจากรู้สึกว่าการมองเห็นไม่ชัดเท่าเดิม เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา หลังผ่าตัดดวงตา ทำในขั้นตอนการตรวจสุขภาพดวงตา หรือทำเพื่อวัดสายตาประกอบแว่น เพื่อให้แว่นตามีค่าสายตาที่พอดีกับดวงตาผู้ใช้งาน

วิธีวัดค่าสายตา

วิธีวัดสายตามักจะเริ่มจากการวัดด้วยเครื่องวัดสายตาระบบคอมพิวเตอร์ (Auto Refractometer) เป็นการวัดในเบื้องต้น เนื่องจากบางครั้งการวัดสายตาแบบนี้อาจให้ค่าไม่ตรงกับความจริง หลังจากวัดด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว จะต้องวัดสายตาแบบถามตอบด้วย (Subjective Refraction) 

ในการวัดสายตาแบบถามตอบ นักทัศนมาตรจะให้ดูภาพเพื่อการวัดสายตาหลายๆแบบ เพื่อวัดสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง แล้วจึงใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินค่าสายตาต่อไป

 


 

สายตาสั้นเท่าไหร่ควรใส่แว่น

สายตาสั้น 50 75 150 200 300 สายตาสั้น 50 75 100 ควรใส่แว่นไหม แว่นสายตาสั้น 150 สายตาสั้น 100 อันตรายไหม สายตาสั้น 300 เยอะไหม
 

สายตาสั้น 50 

สายตาสั้น 50 ควรใส่แว่นไหม? สายตาสั้น 50 จะใส่แว่นหรือไม่ใส่ก็ได้ เนื่องจากสายตาจะค่อนข้างใกล้เคียงกับสายตาปกติ จึงสามารถเลือกที่จะไม่ใส่ได้ บางคนเลือกใส่แค่เฉพาะตอนที่ใช้สายตามากๆ เช่นตอนใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือไม่ใส่เลยก็ได้เช่นกัน
 

สายตาสั้น 75 ถึงสายตาสั้น 100 

สายตาสั้น 75, 100 ควรใส่แว่นไหม? ค่าสายตาสั้น 75 และ 100 เป็นค่าสายตาที่ก้ำกึ่ง บางคนรู้สึกว่าทำให้ใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้น บางคนอาจรู้สึกว่าไม่ได้ต่างจากค่าสายตาปกติ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่สายตาสั้นว่าต้องการใส่แว่นหรือไม่

หลายคนสงสัยว่าสายตาสั้น 100 อันตรายไหม คำตอบคือไม่อันตราย สายตาสั้น 100 เป็นอาการสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยที่เกิดได้จากทั้งพันธุกรรมและความผิดของดวงตาที่ไม่อันตราย แต่หากมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามาก ค่าสายตาเปลี่ยนเร็ว ให้รีบพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
 

สายตาสั้น 150 ถึงสายตาสั้น 200 

สายตาสั้น 150 - 200 ส่วนใหญ่จะเริ่มมองเห็นไม่ชัด หากมีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานก็ควรใส่แว่นสายตาเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างวัน หรือหากไม่ได้มีผลกระทบกับการใช้ชีวิต แต่ต้องเพ่งสายตาเพื่อให้มองเห็นก็ควรใส่แว่นเช่นกัน เพื่อลดอาการตาเมื่อ ตาล้า ปวดหัวจากการใช้สายตามากเกินไป
 

สายตาสั้น 300 ถึงมากกว่า 300 

สายตาสั้น 300 เยอะไหม? ถือว่าค่อนข้างเยอะ และมีผลกับการมองเห็นมากแล้ว ผู้ที่สายตาสั้น 300 ขึ้นไปควรใส่แว่นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตาเมื่อย ตาล้า และจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากการมองเห็นไม่ชัดด้วย

 


 

เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตาสั้น

5 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตาสั้น แว่นเด็กควรใส่ไหม สายตาสั้นไม่ใส่แว่นได้ไหม สายตาสั้นตาบอดไหม สายตาสั้นสายตายาวพร้อมกันได้ไหม
 

1. ถ้าไม่ใส่แว่นตลอดเวลาจะสายตาสั้นลง

เรื่องนี้ไม่ได้จริงเสมอไป เพราะจะเกิดแค่กับเด็กเท่านั้น เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ดวงตายังเติบโตได้อยู่ หากไม่ได้ใส่แว่นตลอดเวลาจนทำให้ใช้สายตาเพ่งมองอยู่บ่อยครั้ง ลูกตาจะยืดออกผิดปกติ (Elongation) ทำให้สายตาสั้นมากขึ้นกว่าเดิมได้

แต่ในผู้ใหญ่จะไม่เกิดขึ้น เพราะการเพ่งสายตาชั่วขณะของผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้ลูกตายืดตาออก เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการตาเมื่อย ตาล้า ปวดศีรษะเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สายตาสั้นขึ้นแต่อย่างใด
 

2. ไม่ควรให้เด็กใส่แว่นตามค่าสายตา เพราะจะทำให้สายตาสั้นลง

หลายคนเข้าใจว่าดวงตาของเด็กยังอ่อนแอเกินกว่าจะใส่แว่น หากใส่แว่นค่าสายตามากๆตามค่าสายตาจริง จะเป็นการทำร้ายดวงตามากเกินไปและทำให้สายตาสั้นมากขึ้น ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย

เพราะถ้าเด็กไม่ได้ใส่แว่นตามค่าสายตาที่ควรเป็น เด็กจะเพ่งมองและทำให้ลูกตายืดออกจนสมดุลระยะสายตาผิดปกติและทำให้สายตาสั้นมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าสายตาเปลี่ยน หรือเปลี่ยนน้อยลง ควรให้เด็กได้ใส่แว่นตาที่เหมาะกับค่าสายตาตั้งแต่ต้น
 

3. สายตาสั้นไม่ทำให้ตาบอด

ความจริงแล้ว สายตาสั้นอาจทำให้ตาบอดได้ หากสายตาสั้นมากเกินไปและไม่ได้รักษาด้วยการปรับค่าสายตา อย่างการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิก จนทำให้มองเห็นเพียงภาพเบลอๆ ก็จะถือว่าเป็นอาการตาบอด นอกจากนี้สายตาสั้นมากๆอาจจะทำให้เกิดโรคที่ทำให้ตาบอดสนิทหรือตาบอดบางส่วนได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม, น้ำวุ้นตาเสื่อม, จอตาฉีกขาดและหลุดลอก เป็นต้น
 

4. ค่าสายตายาวและสายตาสั้น สามารถหักลบกันได้

สายตายาวและสายตายาวไม่สามารถหักลบกันได้ เพราะเป็นความผิดปกติคนละส่วนกัน กรณีส่วนใหญ่ที่พบได้มากคือเป็นผู้ที่สายตาสั้นจากสรีระดวงตามาตั้งแต่ต้น เมื่ออายุมากขึ้นเกิดเป็นสายตายาวตามอายุจากกล้ามเนื้อควบคุมเลนส์ตาเสื่อม ทำให้มองใกล้ไม่ชัด มองไกลก็ไม่เห็น

ค่าสายตาที่วัดออกมาได้ จึงจะมีทั้งค่าสายตาสั้น แยกกับค่าสายตายาว เช่น “LE -1.00 +2.00 add” ตัวเลข +2.00 add นั่นคือค่าสายตายาวที่เพิ่มขึ้นมา

ในการประกอบแว่น หากอยากให้แว่นแก้ไขได้ทั้งสองค่าสายตา เลนส์จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ครึ่งบนจะเป็นค่าสายตาสั้นใช้สำหรับมองไกล ส่วนครึ่งล่างจะเป็นค่าสายตายาวใช้สำหรับมองใกล้นั่นเอง
 

5. สายตาสั้นจะกลับมาเป็นปกติเมื่ออายุมากขึ้น

มีกรณีที่เด็กสายตาสั้น เมื่อโตขึ้นค่าสายตาสั้นน้อยลงเช่นกัน เกิดจากการเติบโตของลูกตาที่สมดุลมากขึ้น แต่ส่วนที่คนมักเข้าใจผิดคือหากตอนอายุน้อยสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นและสายตายาว จะหักล้างทำให้ค่าสายตาสั้นหายไป ซึ่งไม่เป็นความจริง 

จากที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้วว่าค่าสายตายาวและสายตาสั้นไม่สามารถนำมาหักลบกันได้ ดังนั้นสายตาสั้นจะไม่หายไป แม้จะอายุมากขึ้นจนเกิดอาการสายตายาวก็ตาม

 


 

สายตาสั้นแต่ไม่อยากใส่แว่น รักษาอย่างไรได้บ้าง

นอกจากการใส่แว่นแล้ว การรักษาสายตาสั้นยังมีการรักษาอยู่หลายวิธี ดังนี้
 

1. การใส่คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์เป็นวิธีการรักษาสายตาสั้นแบบหนึ่งที่นิยมกันมาก เนื่องจากไม่ต้องใส่แว่น ไม่ต้องผ่าตัด ราคาถูกกว่าการทำเลสิกมาก บางครั้งถูกกว่าการตัดแว่นในกรณีที่ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย 

คอนแทคเลนส์ สายตาสั้น 50 ก็สามารถใส่ได้แล้ว คอนแทคเลนส์ สายตาสั้น 200 หรือมากกว่า กับสายตาสั้น 50 ความหนาไม่ต่างกันเลย แค่ความโค้งจะต่างกัน ทำให้เกิดการหักเหแสงที่เหมาะกับค่าสายตาที่ต่างกันเท่านั้น

การใส่คอนแทคเลนส์ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน คือผู้ที่ใส่ต้องมีวินัยในการรักษาความสะอาดดวงตาและคอนแทคเลนส์อย่างมาก หากไม่ถอดออกก่อนนอน ไม่ล้างด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ และไม่เปลี่ยนคอนแทคเลนส์ในเวลาที่กำหนด จะทำให้ดวงตาเสี่ยงติดเชื้อจนเกิดการอักเสบ และเกิดโรคอื่นๆขึ้นกับดวงตาได้
 

2. การทำเลสิค (Laser-Assisted In-Situ Keratomileusis หรือ LASIK)

การทำเลสิค เป็นการรักษาค่าสายตา โดยการปรับความโค้งกระจกตาด้านนอกให้แบนลงด้วยเลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ให้แสงถูกถ่างออกเล็กน้อย จากเดิมที่จุดตัดของแสงอยู่หน้าจอตาเกิดเป็นสายตาสั้น ให้จุดตัดแสงถอยไปจนเกิดที่จอตาได้พอดี

ข้อจำกัดคือ ผู้เข้ารับการรักษาต้องกระจกตาหนาเพียงพอ ค่าสายตาต้องคงที่แล้วขณะทำ เนื่องจากทำซ้ำได้ยาก และสามารถแก้ไขสายตาสั้นได้มากที่สุดที่สายตาสั้น 1400 หรือ -14.00 ไดออปเตอร์

 

3. รีแลกซ์สมายล์ (Relex Smile)

การทำ ReLEX SMILE เป็นวิธีแก้ไขค่าสายตาโดยใช้เลเซอร์ในทุกขั้นตอน ทั้งขั้นตอนการแยกชั้นกระจกตา และการแก้ไขกระจกตา ทำให้การทำรีแลกซ์สมายล์มีความแม่นยำสูงมาก ไม่ทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเสียหายในระหว่างแก้ไขค่าสายตา แผลเล็ก หายได้เร็ว

ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับสายตา ตาแห้งเกินไป หรือผู้ที่แผลหายได้ช้าจากผลของโรคอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ และสามารถแก้ไขค่าสายตาสั้นได้สูงสุดที่ 1000 หรือ -10.00 ไดออปเตอร์

 

4. เฟมโตเลสิค (Femto LASIK)

Femto LASIK หรือที่รู้จักกันในชื่อการผ่าตัดเลสิคไร้ใบมีด เป็นการแก้ไขค่าสายตาโดยใช้เลเซอร์ที่ทันสมัยในการแยกชั้นกระจก ทำให้มีความแม่นยำสูง เฟมโตจะโดดเด่นในเรื่องความแม่นยำในการแยกชั้นกระจกตา ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าวิธีการอื่นๆ

ข้อจำกัดของเฟมโตเลสิค คือตาจะแห้งมากหลังผ่าตัดอีกทั้งแผลผ่าตัดยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่เกือบรอบกระจกตา ทำให้ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดวิธีนี้ต้องระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาอยู่เสมอ ส่วนการรักษาค่าสายด้วยเฟมโตเลสิค สามารถแก้ไขสายตาสั้นได้เพียงระหว่างสายตาสั้น 100 - 1000 หรือ -1.00 ถึง -10.00 ไดออปเตอร์เท่านั้น

 

5. พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy หรือ PRK)

PRK เป็นการแก้ไขค่าสายตาโดยการปรับแต่งความโค้งกระจกตาด้านนอกโดยไม่ต้องเปิดชั้นกระจกตา ทำให้พีอาร์เคเป็นการผ่าตัดรักษาค่าสายตาวิธีเดียวที่ผู้มีอาชีพที่อาจก่ออุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตาสามารถทำได้ เช่น ตำรวจ ทหาร หรือนักบิน

อีกทั้งวิธีนี้ยังเหมาะกับผู้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถผ่าตัดรักษาค่าสายตาด้วยวิธีอื่นๆได้ เช่น ตาแห้งเกินไป กระจกตาบางเกินไป ผู้ที่ตาแห้งหรือกระจกตาบาง หากได้รับการยืนยันจากจักษุแพทย์แล้วก็จะสามารถรักษาค่าสายตาด้วยวิธีพีอาร์เคได้

ข้อจำกัดของการทำพีอาร์เค คือค่าสายตาสั้นที่รักษาได้ค่อนข้างน้อย สามารถแก้ไขได้สูงสุดแค่สายตาสั้น 500 หรือ -5.00 ไดออปเตอร์เท่านั้น อีกทั้งหลังผ่าตัดต่องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษไว้ระยะหนึ่งเพื่อให้ดวงตาสร้างเยื่อหุ้มกระจกตาขึ้นมาใหม่ ระหว่างที่ดวงตาไม่มีเยื่อหุ้มกระจกตาสามารถทำให้ผู้เข้ารับการรักษาระคายเคืองได้มากกว่าการทำเลสิควิธีอื่นๆ

 

6. Implantable Collamer Lens หรือ ICL

ICL เป็นการแก้ไขค่าสายตา โดยการใส่เลนส์เทียมเข้าไปที่หน้าเลนส์ตาของผู้เข้ารับการรักษา เพื่อปรับการหักเหแสงให้ค่าสายตาหายไป ICL เป็นวิธีการผ่าตัดรักษาค่าสายตาที่ปลอดภัยอย่างมาก เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการทำเลสิกอื่นๆ

แผลจากการทำมีขนาดเล็กเพียง 3 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังสามารถรักษาผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากๆได้ และใช้เวลาผ่าตัดเพียง 10 - 15 นาทีเท่านั้น ผู้ที่ตาแห้งหรือกระจกตาบาง สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน

ข้อจำกัดของ ICL คือความดันตาอาจผิดปกติในช่วงหลังการผ่าตัด แต่ในช่วงนี้จะควบคุมดูแลโดยแพทย์ การรักษาจึงไม่ได้เป็นอันตรายอะไร


 

ข้อสรุป

หากรู้ตัวว่าการมองเห็นเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ชัดเท่าเดิม ควรเข้าตรวจวัดสายตาเพื่อหาค่าสายตา เพราะนอกจากควรจะวัดสายตาเพื่อการประกอบแว่นหรือรักษาค่าสายตาด้วยวิธีอื่นๆแล้ว ยังเป็นการตรวจเช็คสุขภาพของดวงตาในเบื้องต้น เพื่อป้องกันโรคที่ทำให้สายตามีปัญหาลุกลามจนยากจะรักษา

ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีบริการตรวจวัดสายตาออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่โรงพยาบาล ได้ตรวจวัดค่าสายตาในเบื้องต้น ผู้ที่สนใจสามารถแอดไลน์ของทางโรงพยาบาลได้ที่ Line @samitivejchinatown เพื่อวัดสายตาออนไลน์ และนัดพูดคุยกับจักษุแพทย์ต่อไป

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​