บทความสุขภาพ

“จอประสาทตาเสื่อม” อาการเริ่มต้นที่ควรระวัง! สาเหตุ วิธีรักษา วิธีป้องกัน

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

จอประสาทตาเสื่อม อาการเริ่มต้น อาการโดยรวมเป็นอย่างไร ทำให้ตาบอดได้ไหม เกิดจากอะไร อายุน้อยเกิดได้ไหม ค่ารักษา รักษาอย่างไร รักษาที่ไหนดี วิธีป้องกันจอประสาทตาเสื่อม วิตามินที่ควรทาน

“จอประสาทตาเสื่อม” โรคที่พบมากในผู้สูงอายุ มักจะแสดงอาการไม่มากในระยะแรก ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ จนหลายคนชะล่าใจ ทิ้งโรคร้ายนี้ไว้ให้ลุกลามจนสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปโดยไม่รู้ตัว

ในบทความนี้ สมิติเวช ไชน่าทาวน์จะมาให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับจอประสาทตาเสื่อมว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นอย่างไร อันตรายถึงขั้นทำให้ตาบอดได้หรือไม่ และสามารถป้องกันภัยร้ายนี้ได้อย่างไร

 


สารบัญบทความ

 

 


 

ทำความรู้จัก “จอประสาทตาเสื่อม”

จอประสาทตาเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อมคือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจอประสาทตาบนจอตา

จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) คือโรคที่เกิดจากจอประสาทตาในลูกตาเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถรับภาพได้ดีเท่าเดิม โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้จะทำให้การมองเห็นแย่ลงเรื่อยๆ มองภาพบิดเบี้ยว มองเห็นสีได้น้อยลง การมองเห็นช่วงกลางภาพหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปในที่สุด

จอประสาทตาเสื่อมมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมาจากความเสื่อมของอวัยวะตามอายุ บางครั้งจึงเรียกโรคจอประสาทตาเสื่อมที่มักเกิดในผู้สูงอายุว่า Age – Related Macular Degeneration หรือที่เรียกว่า AMD นั่นเอง

ผู้ป่วยโรคนี้มักรู้ตัวช้า เนื่องจากในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการของโรคจะค่อยๆเกิด บางครั้งก็เกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้าง เมื่อผู้ป่วยใช้ดวงตาสองข้างในการมองจึงไม่ทราบว่าภาพการมองเห็นของตนกำลังผิดเพี้ยนไป

 


 

จอประสาทตาเสื่อม แบ่งเป็น 2 ชนิด

จอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามสาเหตุของโรค ได้แก่
 

1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)

จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry Age – Related Macular Degeneration หรือ Dry AMD) คือโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เกิดจากตัวเซลล์ในจอประสาทตาเสื่อมสภาพและจอตาบางลงเองตามอายุการใช้งานเมื่อมีอายุมากขึ้น พบได้มากถึง 85 - 90% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด 

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งจะค่อยๆแสดงออกมา ผู้ป่วยจะเริ่มมองไม่เห็นในที่มืด จำหน้าคนรู้จักไม่ได้ ภาพที่เห็นเริ่มเบลอ เบี้ยวผิดรูป และการมองเห็นจะแย่ลงเรื่อยๆ หากไม่ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้ให้หายขาดอีกด้วย
 

2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) 

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet Age – Related Macular Degeneration หรือ Wet AMD) คือโรคจอประสาทตาเสื่อมอันเกิดจากเส้นเลือดที่ผิดปกติภายในจอตา เมื่อเส้นเลือดที่ผิดปกตินั้นแตกออก เลือดและของเหลวในเลือดจะไหลออกและคั่งอยู่ในบริเวณจอประสาทตา ทำให้บริเวณนั้นบวมผิดปกติจนการรับภาพของจอประสาทตาผิดเพี้ยนไปจากเดิม

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกพบได้เพียง 10 - 15% เท่านั้น และมักเป็นความผิดปกติที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ดังนั้นแม้จะเป็นรูปแบบที่พบได้น้อย แต่มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกมาก่อน โดยที่จอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นมาได้เองทันที หรือสามารถเกิดต่อเนื่องหลังเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งก็ได้

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกนี้ อาการจะรุนแรงมากกว่าชนิดแห้ง อาการจะเกิดขึ้นเร็วและผู้ป่วยสามารถสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และมีโอกาสที่จะทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดด้วย 

 


 

จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากสาเหตุใด

โรคจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม เกิดจาก

โดยปกติแล้ว จอประสาทตา (Macula หรือ Macula lutea) เป็นกลุ่มของเซลล์ในพื้นที่หนึ่งของจอตา (Retina) จอประสาทตาจะมีหน้าที่ทำให้คนเรามองจุดโฟกัสกลางสายตาชัดกว่าภาพการมองเห็นในส่วนอื่นๆ

อย่างเช่นเวลาอ่านหนังสือ ผู้อ่านจะอ่านออกแค่ตัวหนังสือในบริเวณกลางภาพในตำแหน่งที่เรามองไปเท่านั้น เราอาจจะอ่านคำที่อยู่ติดกันได้ แต่ไม่สามารถอ่านคำที่ห่างออกไปมากกว่านั้นได้ เนื่องจากภาพตัวหนังสือที่อยู่รอบๆจะไม่ชัดเท่าตรงกลางนั้นเอง

ดังนั้นเมื่อจอประสาทตาเสื่อมสภาพลง จะทำให้ภาพการมองเห็นมีผลกับตรงกลางภาพมากกว่าส่วนอื่นๆของภาพนั่นเอง

แล้วจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากอะไร? ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าปัจจัยใดทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม แต่จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งส่วนใหญ่เกิดจากอายุที่มากขึ้น เซลล์ที่ตอบสนองต่อแสงในจอประสาทตาค่อยๆเสื่อมสภาพและหายไปอย่างช้าๆ หรือเยื่อหุ้มในชั้นที่อยู่ใกล้จอตาค่อยๆบางลงจนมีผลต่อจอประสาทตา ทำให้ภาพการมองเห็นส่วนกลางภาพค่อยๆแย่ลงนั่นเอง

ส่วนจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกนี้ คาดว่าส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรมที่เมื่อถึงอายุหนึ่งเส้นเลือดที่ผิดปกติหลังจอตาจะบวมหรือแตกออก ทำให้เกิดเลือดคั่งจนดันให้จอตา (Retina) บวมมากกว่าปกติจนส่งผลต่อจอประสาทตา (Macula) ทำให้เกิดจุดบอดตรงกลางภาพได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

 


 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากปัจจัยเสี่ยงดังนี้

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าจอประสาทตาเสื่อมเกิดจากอะไร แต่ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมมักจะมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ดังนี้
 

  1. อายุ จอประสาทตาเสื่อมพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  2. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อมมีโอกาสที่จะส่งต่อทางพันธุกรรมได้ทั้งชนิดแห้งและชนิดเปียก คนในครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าคนทั่วไป
  3. เชื้อชาติ จอประสาทตาเสื่อมจะพบในคนเชื้อชาติคอเคเซียน (Caucasians) หรือที่เรียกว่าคนผิวขาว ได้มากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ
  4. การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้มาก
  5. โรคเบาหวาน มักทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอประสามตาเสื่อมชนิดเปียกได้มาก
  6. โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกี่ยวกับความดันโลหิด และไขมันในเลือด ซึ่งปัจจัยทั้งสองอย่างเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้มากเช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดอย่างมากเกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อม คือการใช้สายตามากไป อย่างการเล่นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแสงยูวีจากแดด ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย 

แม้การใช้สายตามากเกินไป หรือรังสียูวีในแสงแดดจะทำให้เกิดโรคต้อ หรือโรคอื่นๆกับดวงตาได้ แต่ไม่ได้มีผลทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้แต่อย่างใด

 


 

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม 

อาการจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม อาการเริ่มต้น

อาการจอประสาทตาเสื่อมทั้งสองชนิด โดยทั่วไปมีดังนี้
 

  • การมองเห็นแย่ลง โดยเฉพาะส่วนกลางภาพ จะเห็นเป็นภาพเบลอหรือเห็นเป็นสีเทาดำมืดไปเลย อาจจะเกิดขึ้นกับตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้
  • ภาพการมองเห็นบิดเบี้ยวผิดรูป
  • ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นชัด และมองเห็นได้น้อยลงเมื่ออยู่ในที่แสงน้อย
  • ต้องใช้แสงมากขึ้นเพื่อมองเห็นสี โดยปกติแล้วหากอยู่ในที่มืดดวงตาคนเราจะเห็นภาพเป็นสีขาวดำ เมื่อมีแสงสว่างประมาณหนึ่งจึงจะเห็นสี แต่ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจะต้องใช้แสงสว่างมากกว่าคนทั่วไปในการมองเห็นสีนั่นเอง
  • แยกใบหน้าได้น้อยลง เนื่องจากภาพการมองเห็นไม่ชัดเท่าเดิม
  • อ่านหนังสือยากขึ้น

อาการจอประสาทตาเสื่อมทั้งชนิดเปียกและชนิดแห้ง ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่อาการของโรคในชนิดเปียกจะเกิดขึ้นรุนแรง และรวดเร็วกว่าชนิดแห้ง ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นเกือบทั้งหมดได้หากไม่รีบรักษา

แม้จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งจะอาการไม่รุนแรงเท่ากับชนิดเปียก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้พบแพทย์ ไม่ได้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ก็จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนสูญเสียการมองเห็นเกือบทั้งหมดได้เช่นกัน 

นอกจากนี้จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งยังสามารถกลายเป็นชนิดเปียกได้ด้วย ทำให้อาการลุกลามอย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าเดิม โดยอาการเริ่มแรกของผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมพัฒนาจากชนิดแห้งไปชนิดเปียก จะเริ่มมองเห็นภาพบิดเบี้ยวคล้ายกับการลืมตาในน้ำ หากมีอาการนี้ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
 

สัญญาณเตือน อาการเริ่มต้นของโรคจอประสาทตาเสื่อม

จอประสาทตาเสื่อม อาการเริ่มต้นของแต่ละชนิดนั้นต่างกัน หากเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกจะสามารถสังเกตอาการได้ง่ายกว่า เนื่องจากอาการจะรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน

แต่ในโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งนั้น ในช่วงแรงผู้ป่วยจะสังเกตอาการได้ยากมาก หรือในบางรายจะไม่แสดงอาการเลย แต่สามารถตรวจพบได้หากเข้าพบกับจักษุแพทย์

ในกรณีที่โรคแสดงอาการ โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งจะทำให้ผู้ป่วยเริ่มเห็นภาพมัวลง ไม่ชัดเท่าเดิม เส้นที่เคยเห็นเป็นเส้นตรงจะดูเบี้ยวและคดเคี้ยวมากขึ้น เมื่อเริ่มเป็นหนักขึ้นช่วงกลางภาพการมองเห็น จะเป็นสีเทาหรือสีดำ ซึ่งเป็นการสูญเสียการมองเห็นไปบางส่วนนั่นเอง

 


 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคจอประสาทตาเสื่อม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคจอประสาทตาเสื่อมมักจะเป็นอาการที่ตามมาจากการมองเห็นที่ปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้แบบเดิม เช่น ไม่สามารถแยกหน้าคนอื่นๆได้ ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ตามปกติ ใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวกเพราะปัญหาสายตา ขับรถไม่ได้

ด้วยอาการหลายอย่างนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลและความเครียดตามมาจากการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จนอาจเกิดเป็นภาวะวิตกกังวลหรือเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

 


 

การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น

ในเบื้องต้น จอประสาทตาเสื่อมสามารถทดสอบได้ด้วยตารางตรวจจุดภาพชัด หรือ Amsler Grid โดยตารางตรวจจุดภาพชัดนี้ จะเป็นภาพพื้นขาว มีเส้นตารางสีดำ ที่มีช่องตารางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายช่อง และจะมีจุดสีดำจุดเล็กๆ ที่เป็นจุดตัดของเส้นตารางที่กลางภาพ


Amsler Grid ตารางตรวจจุดภาพชัด วิธีทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น

ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จะใช้ตารางตรวจจุดภาพชัดทดสอบสายตาตามวิธีการดังนี้
 

  1. อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอต่อการมองเห็น เตรียมรูปตารางตรวจจุดภาพชัด แล้วให้ผู้ทดสอบยืนห่างจากรูปประมาณ 15 นิ้ว
  2. หากผู้ทดสอบมีค่าสายตา ให้ใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ได้ตามปกติ
  3. ทดสอบดวงตาทีละข้าง ด้วยการปิดตาข้างหนึ่ง แล้วใช้ดวงตาข้างที่ไม่ได้ปิดไว้ มองจุดดำกลางภาพ แล้วสังเกตการมองเห็น ทำแบบเดียวกันกับดวงตาทั้งสองข้าง

หากผู้ทดสอบมองเห็นเป็นตารางตามปกติก็จะถือว่ายังไม่มีอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม แต่ถ้าเห็นพื้นที่สีดำหรือสีทาอยู่ตามตาราง ตารางบิดเบี้ยวไม่เป็นเส้นตรง อาการจะเกิดขึ้นอย่างเดียวหรือทั้งสองอย่าง กับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ หากมีอาการดังกล่าวจะถือว่ามีอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้การทดสอบนี้ยังใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมที่ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากอยากทราบว่าตนเองเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่ ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือเฉพาะอื่นต่อไป

 


 

การตรวจวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อม

การตรวจวินิจฉัยในขั้นแรกแพทย์จะทำโดยใช้ตารางตรวจจุดภาพชัดเพื่อประเมินการมองเห็นคร่าวๆ ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ส่องจากภายนอกผ่านม่านเพื่อดูความผิดปกติของจอตาและจอประสาทตา 

หากสงสัยว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแพทย์จะตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีการอื่นๆต่อ อย่างการถ่ายภาพจอประสาทตาด้วยเครื่องถ่ายภาพที่ให้ผลออกมาเป็นแบบดิจิตัล เพื่อตรวจดูความผิดปกติโดยละเอียด และจะใช้การฉีดสีร่วมกับการเอ็กซเรย์เพื่อดูเส้นเลือดที่ผิดปกติบริเวณจอประสาทตา เพื่อวินิจฉัยแยกชนิดของโรคจอประสาทตาเสื่อมต่อไป

 


 

แนวทางการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

จอประสาทตาเสื่อม รักษา รักษาจอประสาทตาเสื่อมที่ไหนดี ยารักษาจอประสาทตาเสื่อม

จอประสาทตาเสื่อม รักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันตามชนิดของโรค หากเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้เพื่อไม่ให้โรคลุกลามมากกว่าเดิม และไม่ให้พัฒนาไปเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกที่อันตรายกว่า

โดยแนวทางการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการลุกลามของโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งที่แพทย์แนะนำ มีดังนี้
 

  1. มาตามนัดติดตามผลของจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากอาการแย่ลงจะได้รักษาได้ทัน
  2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการมองเห็นที่เสียไปแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นแบบเดิมได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีวินัยอย่างมาก
  3. งดสูบบุหรี่
  4. ควบคุมโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการดูแลตัวเองและทำตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยชะลอจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่อาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน แร่ธาตุสังกะสี ทองแดง และลูทีน ซึ่งพบได้ในผักผลไม้ และจะพบมากในผักใบเขียว หากไม่สามารถทานผักผลไม้เป็นประจำ สามารถทานเป็นอาหารเสริมแทนได้ แต่ก็ไม่ควรทานเยอะจนเกินไป

ในกรณีที่สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางภาพไปแล้ว จะมีวิธีรักษาที่เรียกว่า The implantable miniature telescope (IMT) เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดใส่กล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กเข้าไปที่ดวงตา เพื่อเปลี่ยนจุดรับแสงที่เป็นจุดโฟกัสกลางภาพ จากจอประสาทตาที่เสียหายไปแล้ว เป็นจอตาในส่วนอื่นๆที่ยังสุขภาพดีอยู่ เพื่อให้การมองเห็นกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงกับปกติ

แต่การรักษานี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง ผู้เข้ารับการรักษาต้องอายุ 75 ปีขึ้นไป เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งที่อาการหนัก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้อีก และต้องไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาในการรักษาโรคต้อกระจกมาก่อน

ส่วนในผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการดังนี้
 

1. การฉายแสงเลเซอร์ 

การฉายเลเซอร์เพื่อรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกมี 2 วิธี ได้แก่

 

  1. Laser Photocoagulation วิธีการฉายเลเซอร์แบบนี้ จะใช้เลเซอร์พลังงานสูงยิงเข้าที่จอตาในส่วนที่มีเส้นเลือดผิดปกติ ความร้อนของเลเซอร์จะทำให้เลือดไม่ไหลออกจากเส้นเลือด หรือทำให้เลือดออกช้าลง สามารถชะลออาการของโรคได้ แต่วิธีการนี้มีข้อเสียคือความร้อนของเลเซอร์จะทำให้จอตาบางส่วนถูกทำลายไปด้วย ผู้ป่วยจะเกิดจุดมืดที่บางตำแหน่งของการมองเห็นอย่างถาวร
  2. Photodynamic Therapy หรือ PDT เป็นวิธีการรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ร่วมกับการใช้ยา โดยแพทย์จะฉีดยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย เมื่อยาไปจับบนเส้นเลือดผิดปกติที่ดวงตาแล้ว แพทย์จะยิงเลเซอร์เข้าไปในบริเวณจอตา ตัวเลเซอร์จะไปกระตุ้นตัวยาให้ออกฤทธิ์ ทำให้เส้นเลือดที่ผิดปกติอุดตันและฝ่อไปในที่สุด
    การรักษาด้วยวิธีนี้ตัวยาและเลเซอร์จะออกฤทธิ์เฉพาะที่ทำให้หลังการรักษาจอตาไม่ถูกทำลายไปด้วยเหมือนกับวิธีแรก แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือตัวยาที่ฉีดเข้าร่างกายอาจทำให้เกิดอันตรายกับดวงตาหากถูกแสงโดยตรงในช่วงแรก และอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ปวดหลังหรือร่างกายส่วนอื่นๆได้

 

2. การฉีดยาในกลุ่ม Anti-VEGF 

ยา Anti - VEGF หรือ Anti - Vascular Endothelial Growth Factor เป็นยาสำหรับฉีดโดยแพทย์ ช่วยให้เส้นเลือดผิดปกติที่เป็นต้นเหตุของโรคฝ่อไป แพทย์จะฉีดยานี้เข้าที่ตาขาว เพื่อให้ตัวยาเข้าไปที่น้ำเลี้ยงในลูกตา และไปออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดผิดปกติโดยตรง เป็นวิธีรักษาที่ต้นเหตุ เห็นผลเร็ว และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเจ็บขณะฉีดยา

แต่วิธีการนี้มีข้อเสียเช่นกัน คือผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อย ช่วงแรกๆอาจจะต้องมาพบแพทย์เพื่อฉีดยาประมาณเดือนละ 3 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะลดจำนวนลงโดยแพทย์จะดูตามอาการอีกครั้งหนึ่ง

 

3. การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาเสื่อม

การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาเสื่อมจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเส้นเลือดที่ผิดปกติ หรือนำเลือดที่คั่งอยู่หลังจอตาออกไป โดยวิธีการนี้เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นการรักษาที่ไม่เห็นผลเท่าที่ควร

ผู้ป่วยแต่ละรายต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใดนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจักษุแพทย์เจ้าของไข้ ส่วนอาการหลังการรักษาก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดใด และเป็นในระยะใด

หากเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง จะยังไม่มีวิธีรักษา อาการหลังปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะไม่ได้หายขาดหรือการมองเห็นดีขึ้น แต่จะช่วยไม่ให้สายตาแย่ลงกว่าเดิม 

ส่วนผลการรักษาหลังจากเข้ารับการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกนั้น หากอาการก่อนการรักษาไม่หนักมาก ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมามีสายตาที่ปกติหรือใกล้เคียงกับปกติได้ แต่ถ้าอาการแย่อยู่แล้วตั้งแต่ต้น หลังการรักษาอาการจะไม่ได้ดีขึ้นมากนัก แต่ก็จะไม่แย่ลงไปกว่าเดิม

ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย

 


 

วิธีป้องกันจอประสาทตาเสื่อม

ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม วิตามิน

วิธีการป้องกันจอประสาทตาเสื่อมนั้น คล้ายกับการรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง คือต้องงดสูบบุหรี่ ควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาเสื่อม และทานอาหารที่มีประโยชน์

หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควรทานอาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน แร่ธาตุสังกะสี ทองแดง และลูทีน เพื่อป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีที่สุด

 


 

รักษาจอประสาทตาเสื่อมที่ไหนดี

จอประสาทตาเสื่อม รักษาได้ แต่วิธีรักษาแต่ละวิธีนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะที่ทันสมัย และได้มาตรฐานทางการแพทย์ ประกอบกับเป็นหัตถการที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก จักษุแพทย์ผู้ดำเนินการต้องมีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการรักษาให้ได้น้อยที่สุด อีกทั้งหัตถการเกี่ยวกับดวงตายังก่อให้เกิดความเคียดต่อผู้เข้ารับการรักษาด้วย

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราให้ความสำคัญกับความสบายใจของผู้เข้ารับการรักษา เราจึงดูแลผู้เข้ารับการรักษาทุกคนเหมือนเป็นเพื่อบ้านของเรา การรักษาในทุกขั้นตอนดำเนินการโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเครื่องมือทันสมัยอย่างครบครัน เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษารู้สึกมั่นใจ และรู้สึกไว้วางใจในระหว่างการรักษา

 


 

FAQs โรคจอประสาทตาเสื่อม

จอประสาทตาเสื่อม สามารถเกิดในคนอายุน้อยได้หรือไม่

จอประสาทตาเสื่อม อายุน้อยก็สามารถพบได้ เนื่องจากจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง โรคนี้สามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี ส่วนจอประสาทตาเสื่อมที่พบในช่วงอายุ 30 ถึง 40 ปีก็อาจจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมบวกกับอายุที่มากขึ้นได้เช่นกัน 

ช่วงอายุที่โรคจะแสดงอาการขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ส่วนใหญ่สาเหตุจะเกิดจากสรีระของดวงตาที่ผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้มากอยู่แล้ว เมื่ออายุมากขึ้นจอประสาทตาเสื่อมก็มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นอีกนั่นเอง'

 

จอประสาทตาเสื่อม มีโอกาสทำให้ตาบอดได้จริงไหม

ในผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อม ตาบอดไม่ใช่กรณีที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่หากป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะท้ายๆ จะสูญเสียการมองเห็นแค่ส่วนตรงกลางภาพ แต่จะยังมองเห็นในบริเวณรอบข้างอยู่

มีผู้ป่วยบางรายที่สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดเช่นกัน แต่จะพบได้น้อยมาก และพบเฉพาะจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกเท่านั้น ดังนั้นจอประสาทตาเสื่อมก็มีโอกาสทำให้ตาบอดได้เช่นกัน

 

มียารักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาจอประสาทตาเสื่อมที่เป็นยาสำหรับใช้ทาน หยอด หรือทา ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาที่ใช้ฉีดเข้าที่ดวงตา หรือฉีดเข้าร่างกายและใช้ร่วมกับเลเซอร์เท่านั้น

 

จอประสาทตาเสื่อม ควรทานวิตามินอะไรบ้าง

จอประสาทตาเสื่อม วิตามินที่ควรทานคือวิตามินที่เป็นวิตามินต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant vitamin) ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยให้เซลล์บริเวณจอประสาทตาเสื่อมช้า และเสื่อมน้อยลงจากผลของอนุมูลอิสระ (Free radical) นั่นเอง

 


 

ข้อสรุป

จอประสาทตาเสื่อมส่วนใหญ่ เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ ทำได้แค่ชะลอให้เกิดช้าลง เพื่อให้ใช้งานดวงตาได้นานขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้อื่นๆให้มากที่สุด เพราะหากสูญเสียการมองเห็นบางส่วนไปแล้ว ก็จะเสียไปเลย ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยาก การใช้ชีวิตประจำวันก็จะยากขึ้นมากอีกด้วย

สงสัยว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม มองไม่ชัด หรือสงสัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา สามารถติดต่อสอบถามหรือนัดเวลากับจักษุแพทย์จากทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​