บทความสุขภาพ

รู้จักค่าสายตา พร้อมวิธีอ่านค่าสายตา ฉบับเข้าใจง่าย

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ค่าสายตา คอนแทคเลนส์ กับแว่นตา


“ค่าสายตา” เป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกได้ถึงประสิทธิภาพทางด้านการมองเห็นของบุคคลนั้นๆ ว่ามีการมองเห็นที่ชัดเจนเพียงใด หรือมีการเกิดปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ 

การวัดค่าสายตา จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและเชื่อว่า ทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้ คงเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับค่าสายตากันมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจยังไม่เคยลองเรียนรู้เกี่ยวกับค่าสายตาโดยตรง ว่าปกติแล้ว ค่าสายตาคืออะไร อ่านค่าสายตาได้อย่างไร และค่าสายตานี้สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เพราะดูเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ

ดังนั้น ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราจะเปลี่ยนเรื่องค่าสายตาที่ดูยาก ให้กลับไปเป็นฉบับเข้าใจง่ายๆ เพื่อให้คุณสามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปเรียนรู้พร้อมกันได้ในบทความนี้

 


สารบัญบทความ

 

 


 

ทำความรู้จัก ‘ค่าสายตา’

เริ่มจากเรื่องพื้นฐานเบื้องต้นง่ายๆ ก่อนอย่างคำถามที่ว่า “ค่าสายตา คืออะไร?”

ค่าสายตา คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถในการมองเห็นของบุคคลนั้นในปัจจุบันว่า ภาพที่มองเห็นมีความชัดเจนเพียงใด และมีปัญหาใดเกิดขึ้นบ้าง เช่น ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ซึ่งสามารถดูได้จากการตรวจวัดเลนส์ตา การทำงานของกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณนั้น ความโค้งของกระจกตา องศาต่างๆ ฯลฯ

โดยหากคุณมีการตรวจวัดค่าสายตาเรียบร้อยแล้ว จะได้รับใบค่าสายตา ที่มีการระบุรายละเอียดการตรวจต่างๆไว้ เพื่อให้สามารถอ่านค่าสายตาจากข้อมูลที่ได้ นำไปเป็นค่าอ้างอิงในการแก้ไขปัญหาค่าสายตานั้นๆ ซึ่งแต่ละปัญหาสายตา จะมีความแตกต่างกัน ได้แก่…
 

  • ปัญหาค่าสายตาสั้น คือ การที่บุคคลนั้นมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจนปกติ แต่กลับมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลๆได้ไม่ชัดเจน ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี หรือ กลุ่มเด็กวัยเรียน  
  • ปัญหาค่าสายตายาว คือ บุคคลนั้นจะสามารถมองเห็นวัตถุหรือสิ่งต่างๆในระยะไกลได้ชัดเจนตามปกติ แต่กลับมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ๆได้ไม่ชัดเจนแทน ซึ่งมีการแบ่งตามอายุออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิด ปัญหาสายตายาวทั่วไป และปัญหาสายตายาวตามอายุ 
  • ปัญหาค่าสายตาเอียง คือ มีการมองวัตถุในระยะใกล้ และระยะไกลไม่ชัดเจน มีการมองเห็นภาพเป็นเงาซ้อน หรือบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง ซึ่งสามารถเกิดร่วมกันกับปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาวได้   

Diopter คืออะไร

Diopter หรือ D เป็นหน่วยวัดค่าสายตาทางการแพทย์ ที่บ่งบอกได้ถึงกำลังหักเหแสงของเลนส์ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณตรวจวัดค่าสายตา แล้วพบว่า มีปัญหาค่าสายตาสั้น 100 ทางการแพทย์จะเรียกข้อมูลนี้ว่า สายตาสั้น -1 ไดออปเตอร์ นั่นเอง

 


 

ค่าสายตา ซ้าย-ขวา แตกต่างกัน

ค่าสายตา ตามอายุ
 

ในบางราย อาจมีค่าสายตาข้างซ้ายและข้างขวาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การอ่านค่าสายตาในใบค่าสายตาที่ได้รับมานั้น จะมีการแยกระบุค่าสายตาข้างซ้าย-ข้างขวาอย่างชัดเจน ดังนี้

ค่าสายตาข้างขวา จะถูกระบุด้วยตัวย่อคำว่า “OD” มาจากภาษาละตินชื่อเต็มว่า oculus dexter ซึ่งปัจจุบันบางสถานที่อาจปรับมาเป็นตัวย่อว่า “RE” ที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Right eye เพื่อให้ทันสมัยและเข้าใจง่ายมากขึ้น 

โดยในใบค่าสายตา จะมีการระบุค่าสายตาข้างขวาขึ้นก่อนข้างซ้าย เนื่องจากเวลาตรวจ เราจะต้องหันหน้าเข้าหาจักษุแพทย์ ซึ่งจะทำให้จักษุแพทย์เห็นดวงตาอันดับแรกของเราเป็นข้างขวาก่อนค่อยไปสู่ข้างซ้าย นั่นเอง

ส่วนค่าสายตาข้างซ้าย จะระบุด้วยตัวย่อที่มีชื่อว่า “OS” ที่มาจากภาษาละตินคำว่า oculus sinister แน่นอนว่าในบางสถานที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เป็น “LE” หรือ Left eye ด้วยเช่นเดียวกัน 

อีกทั้งยังมีการระบุโดยรวมของดวงตาทั้งสองข้าง ด้วยตัวย่อว่า “OU” ที่มาจากคำว่า oculus uterque เพื่อนำไปเป็นค่าอ้างอิงสำหรับการตัดแว่นสายตา หรือการวางแผนการรักษาต่างๆให้เหมาะสมกับแต่ละรายบุคคล

 


 

ขั้นตอนการวัดค่าสายตา

ค่าสายตา คอนแทคเลนส์
 

ขั้นตอนการตรวจวัดค่าสายตา มีดังต่อไปนี้
 

  1. ขั้นแรก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการซักประวัติในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติสุขภาพทางกายที่มีผลต่อการมองเห็น ประวัติพันธุกรรม ประวัติการตรวจสุขภาพตาหรือการใช้แว่นสายตาต่างๆ การใช้สายตาในชีวิตประจำวัน ฯลฯ
  2. ก่อนเริ่มการทดสอบ จะขอให้คุณถอดแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ออกก่อน
  3. จากนั้นจะเริ่มการทดสอบ โดยการให้คุณอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart ที่อยู่ห่างออกไปในระยะ 6 เมตร 
  4. มองตรงไปด้วยดวงตาทั้ง 2 ข้าง จากนั้นเริ่มปิดตาและทดสอบการอ่านแผนภูมิวัดสายตาทีละข้าง โดยใช้อุปกรณ์สำหรับปิดตาโดยเฉพาะ มาปิดดวงตาข้างที่ไม่ได้ทดสอบเอาไว้
  5. ในระหว่างที่ทำการทดสอบ หากมีตัวเลขหรือตัวอักษรใดที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจในการอ่าน ทางผู้เชี่ยวชาญจะอนุญาตให้ลองตอบแบบเดาดูได้
  6. ในแต่ละราย อาจมีการตรวจเพิ่มเติมที่แตกต่างกัน เช่น หากอ่านไม่ถึงแถวที่ 6/6 จะได้รับอุปกรณ์ที่ช่วยในการมองเห็น หรือให้มองผ่านรูเล็กๆ เป็นต้น
  7. เมื่อการตรวจเสร็จสิ้นแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการอ่านค่าสายตา และสรุปผลแจ้งให้ผู้เข้ารับการทดสอบทราบโดยทั่วกัน

 


 

ใบค่าสายตา ประกอบด้วยอะไรบ้าง

หลังจากที่ทำการตรวจวัดค่าสายตาเรียบร้อยแล้ว จะได้ใบค่าสายตาที่ระบุข้อมูลต่างๆที่ได้จากการตรวจไว้ข้างใน ซึ่งหลายๆคนอ่านค่าสายตาดูแล้วอาจสงสัย เนื่องจากมีตัวย่อ หรือข้อมูลต่างๆที่เข้าใจยากอยู่เต็มไปหมด

ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะทางเราได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่อยู่ในใบค่าสายตามาให้คุณเรียบร้อยแล้ว โดยปกติแล้ว ใบค่าสายตาจะประกอบด้วย…
 

1. Sphere (SPH)  

Sphere หรือตัวย่อว่า SPH เป็นตัวแสดงถึงปริมาณกำลังของเลนส์ในการแก้ไขปัญหาการมองเห็นที่เผชิญอยู่ โดยมีหน่วยวัดที่เรียกว่า ไดออปเตอร์ ซึ่งผู้ที่มีปัญหาค่าสายตาสั้น จะมีการทำเครื่องหมายลบ (-) อยู่ด้านหน้าตัวเลขค่าสายตา ส่วนผู้ที่มีปัญหาค่าสายตายาว จะมีเครื่องหมายบวก (+) หรือไม่มีการทำเครื่องหมายใดๆอยู่บริเวณด้านหน้าตัวเลขเลย

หากนึกภาพแบบง่ายๆก็คือ การวัดรูปแบบนี้เหมือนดั่งกับเส้นจำนวนเต็ม 1 เส้น ที่มีเลขศูนย์อยู่บริเวณตรงกลางของเส้นจำนวนนี้ ซึ่งการมีค่าสายตา 0.00 คือ ค่าสายตาปกติ ไม่ต้องมีการแก้ไขค่าสายตาใดๆ ดังนั้นหากคุณมีตัวเลขที่อยู่ห่างจากเลขศูนย์มากเท่าไหร่ ก็แสดงว่าคุณจะต้องใช้กำลังเลนส์ในการแก้ไขปัญหามากขึ้นเท่านั้น  
 

2. Cylinder (CYL) 

Cylinder ตัวย่อคือ CYL คือการบอกค่าสายตาเอียงที่ต้องแก้ไข เนื่องจากความโค้งของกระจกตาที่แตกต่างกัน ซึ่งค่านี้ อาจมีการระบุเป็นบางราย ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นๆมีปัญหาสายตาเอียงหรือไม่    

โดยปกติแล้ว ค่านี้มักจะถูกแสดงอยู่ระหว่างค่า Sphere (SPH) กับค่า Axis ซึ่งแน่นอนว่า หากมีเครื่องหมายลบด้านหน้าตัวเลข แสดงว่า เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาเอียงที่มีปัญหาสายตาสั้นร่วมด้วย ส่วนเครื่องหมายบวกด้านหน้าตัวเลข หมายถึง การแก้ไขปัญหาสายตาเอียงที่มีค่าสายตายาวร่วมด้วย 
 

3. Axis

Axis เป็นการระบุค่าสายตาเอียงเป็นแกนองศาตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 180 องศา ซึ่ง 90 องศา จะเป็นเส้นแนวตั้งของดวงตา ส่วน 180 องศา จะเป็นเส้นในแนวนอน เพื่อบ่งบอกว่าสายตามีการเอียงไปในทิศทางใด  
 

4. Add 

Add เป็นกำลังขยายเพิ่มเติมที่ครึ่งล่างของเลนส์ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาสายตายาวตามวัย ซึ่งจะมีตั้งแต่ +0.75 ถึง +3.00 ไดออปเตอร์ และดวงตาทั้งสองข้างจะต้องมีกำลังที่เท่ากัน
  

5. Prism 

Prism หรือที่คนมักเรียกกันบ่อยๆว่า ค่าสายตา PD คือ ค่าที่บ่งบอกถึงระยะห่างระหว่างรูม่านตาทั้งสองข้าง ซึ่งมีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็นภาพซ้อน โดยเลนส์จะทำการรวมภาพทั้ง 2 ข้าง ให้ผู้สวมใส่มองเห็นเป็นภาพเดียว 
 

6. หน่วยอื่นที่อาจพบได้เพิ่มเติม

ในตารางค่าสายตาที่คุณได้รับมานั้น บางครั้งอาจพบว่ามีตัวย่ออื่นๆปรากฏอยู่ด้วย ได้แก่
 

  • VD ย่อมาจาก Cornea vertex Distance เป็นตัวที่บ่งบอกถึงระยะห่างระหว่างกระจกตา ไปจนถึงเลนส์แว่นสายตา ซึ่งจะวัดระยะห่างเป็นหน่วยมิลลิเมตร
  • R1, R2 เป็นการบอกถึงรัศมีความโค้งของกระจกตาบุคคลนั้นๆ ซึ่งจะมีหน่วยวัดเป็น มิลลิเมตร, ไดออปเตอร์ และระบุองศาการทำมุม
  • SE ย่อมาจาก Spherical Equivalent เป็นการแสดงถึงค่าสายตาสั้น หรือสายตายาวที่ได้มีการคำนวณชดเชยค่าสายตาเอียงที่มีทั้งหมดแล้ว
  • NPD มาจากคำว่า Interpupillary Distance at near คือ ระยะห่างกึ่งกลางดวงตาของทั้งสองข้างขณะมองระยะใกล้

 


 

วิธีอ่านค่าสายตา ฉบับเข้าใจง่าย

ตัวอย่างใบค่าสายตา
 

หากอธิบายแต่เพียงคำนิยามหรือความหมายของแต่ละตัวย่อ ก็อาจทำให้คุณไม่เห็นภาพ ดังนั้น เราจะมาดูตัวอย่างสั้นๆ ที่อาจทำให้คุณเข้าใจได้ง่ายขึ้นเกี่ยวกับวิธีการอ่านค่าสายตา

ยกตัวอย่างเช่น คุณได้ใบค่าสายตาที่มีการเขียนว่า…
 

 
SPH CYL Axis Prism Add
RE (OD) -3.75 -1.00 090 0.5 +1.50
LE (OS) -4.00     0.5 +1.50

จะเริ่มอ่านจาก RE หมายถึงดวงตาข้างขวาก่อน ค่าสายตาข้างขวา มี  SPH -3.75 ไดออปเตอร์ ที่แสดงถึงว่า มีการจ่ายเลนส์เพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตาสั้นที่มีปัญหาสายตาเอียงร่วมด้วย (CYL) ซึ่งปัญหาสายตาเอียงอยู่ในแกนเส้นแนวตั้งของดวงตา (Axis 90 องศา) โดยจะต้องมีการแก้ไขปัญหาการมองเห็นภาพซ้อน อันเนื่องมาจากระยะห่างระหว่างรูม่านตาทั้งสอง เป็นจำนวน 0.5 และจะต้องใส่กำลังขยายเลนส์เพิ่มเติม(Add) เพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตายาวตามวัย +1.50 ไดออปเตอร์ 

ส่วนดวงตาข้างซ้าย หรือ LE มีค่า SPH -4.00 ไดออปเตอร์ บ่งบอกถึงการจ่ายเลนส์เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ที่ไม่มีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย เนื่องจากไม่มีการเขียนค่า CYL กับ Axis ไว้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาการมองเห็นภาพซ้อน(Prism) 0.5 และต้องใส่กำลังขยายเลนส์เพิ่มเติม(Add) +1.50 ไดออปเตอร์ด้วย

เทคนิคเล็กๆสำหรับบางคนที่อาจสงสัยว่า ทำไมในตัวอย่างนี้ ถึงสามารถบอกได้ว่าเป็นปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาว ก็คือ คุณสามารถสังเกตที่เครื่องหมายหน้าตัวเลขในช่อง SPH ได้ หากค่าสายตา 1.00 คือแสดงว่า คุณมีค่าสายตายาว 100 เพราะไม่มีเครื่องหมายบวก(+) หรือลบ (-) ด้านหน้าตัวเลขนั้นๆนั่นเอง 

 


 

ใบค่าสายตา มีความสำคัญอย่างไร

เมื่อตรวจค่าสายตา และมีการอ่านค่าสายตาเรียบร้อยแล้ว คุณอย่าเพิ่งทิ้งใบค่าสายตาที่เพิ่งได้รับมาเด็ดขาด เพราะใบค่าสายตาที่มีการออกโดยจักษุแพทย์มีความสำคัญ และมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด

ใบค่าสายตาที่เพิ่งได้รับมา ควรเก็บรักษาเอาไว้ เนื่องจากคุณสามารถนำใบค่าสายตานี้ ไปตัดแว่นสายตาในคลินิกหรือสถานที่อื่นๆตามที่ต้องการได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปอ้างอิงในการเลือกสั่งซื้อแว่นสายตาทางออนไลน์ หรือนำไปเป็นประวัติข้อมูลการตรวจวัดค่าสายตา เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อีกด้วย

 


 

ใบค่าสายตาตัดแว่น ไม่เหมือน ใบค่าสายตาคอนแทคเลนส์

ใบค่าสายตาคอนแทคเลนส์

ค่าสายตา คอนแทคเลนส์กับแว่นตา จะมีความแตกต่างกันอยู่ ในแง่มุมของการคำนวณ ถึงแม้ว่าใบค่าสายตาตัดแว่น กับใบค่าสายตาคอนแทคเลนส์ จะมีการใช้ตัวย่อบางส่วนที่เหมือนกัน แต่การคำนวณค่าสายตาคอนแทคเลนส์ จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญคำนวณให้พอดีกับบุคคลนั้นๆ 

เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะต้องใช้งานชิดติดกับดวงตา ไม่เหมือนแว่นสายตาที่จะมีระยะห่าง ดังนั้น ทางที่ดี จะต้องมีการระบุขนาด วัสดุ และยี่ห้อของคอนแทคเลนส์ เพื่อที่จะทำให้ผู้รับการตรวจสามารถใช้งานคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดได้

 


 

ตรวจวัดค่าสายตากับผู้เชี่ยวชาญที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์

ทีมแพทย์

หากคุณสนใจตรวจวัดค่าสายตา ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เรามีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันจักษุสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มาดูแลรักษาและตรวจวัดค่าสายตาให้สำหรับคุณโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆที่ทันสมัย เพื่อให้คุณสามารถมั่นใจได้ว่า ผลการตรวจค่าสายตาจะออกมาอย่างแม่นยำ 

ทั้งนี้ หากผลการตรวจออกมาแล้วคุณมีความกังวลใจ สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลคุณได้ รวมไปจนถึงการเลือกรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาต่อ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทำเลสิค Femto Lasik หรือ Prk ก็สามารถขอคำแนะนำและวางแผนการรักษาต่างๆ ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลคุณได้เช่นกัน

 


 

ข้อสรุป

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ค่าสายตา เป็นค่าที่สามารถบ่งบอกได้ถึงประสิทธิภาพในการมองเห็นของบุคคลนั้นๆ ซึ่งการอ่านค่าสายตาพื้นฐานได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก 

เพราะนอกจากจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อแว่นตา คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับตนเองได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เข้าใจเรื่องของปัญหาทางการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่ตรงกับความต้องการได้อีกด้วย

ดังนั้น หากคุณต้องการตรวจวัดค่าสายตา ควรเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผลการตรวจสายตาออกมาแม่นยำ และจะได้รักษาปัญหาสายตาที่มีอยู่อย่างตรงจุด โดยทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมดูแลคุณแบบครบจบทุกวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสายตา การวัดค่าสายตา การรักษาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง เราก็มีพร้อม เพื่อให้คุณมั่นใจได้ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน

สนใจเข้ารับบริการ หรือสอบถามรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ Line: @samitivejchinatown หรือ เบอร์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​