บทความสุขภาพ

เริม โรคติดต่อกวนใจที่แพร่เชื้อได้หากไม่ป้องกัน

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

เริม

เริม เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 3.7 พันล้านคนทั่วโลกที่ติดเชื้อเริมที่ปาก และอีก 491 ล้านคนทั่วโลกที่ติดเชื้อเริมบริเวณอวัยวะเพศ สถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อเริมทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO พยายามเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเริม และส่งเสริมความพยายามในการป้องกันการติดเชื้อ HIV สำหรับผู้ป่วยเริมบริเวณอวัยวะเพศด้วยการพัฒนาการเข้าถึงยา PrEP

ซึ่งเริมถือเป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดแต่สามารถป้องกันการแพร่กระจายรวมถึงไปถึงการควบคุมความรุนแรงของโรคได้ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคเริม ไม่ว่าจะเป็นประเภทของเริม, อาการของโรคเริม, วิธีการตรวจวินิจฉัย รวมไปถึงวิธีการรักษาและการป้องกันโรคเริม เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคเริมที่อาจเป็นความเสี่ยงของการติดเชื้อแทรกซ้อนอย่าง HIV ได้ในอนาคต


สารบัญบทความ


เริม (Herpe Simplex Virus) คืออะไร?

เริม คือการติดเชื้อไวรัส Herpe Simplex ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกายไม่ว่าจะเป็น เยื่อบุอวัยวะเพศ เยื่อบุช่องปาก หรือเยื่อบุตา เริมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือทางผิวหนังที่ยังไม่สามาถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสจะยังคงสะสมอยู่ในร่างกายและหากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงก็จะทำให้อาการของเริมกำเริบขึ้นได้


ประเภทของโรคเริม

ประเภทของเริม

เริม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามเชื้อไวรัสที่ได้รับมาและลักษณะของการติดเชื้อ โดยเริมประเภทแรกคือเริมที่เกิดจากการติดเชื้อ HSV-1 เริมประเภทนี้จะเกิดขึ้นบริเวณใบหน้าและจะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนเริมประเภทที่สอง คือเริมที่เกิดจากการติดเชื้อ HSV-2 หรือที่เรียกกันว่าเริมที่อวัยวะเพศเนื่องจากเริมประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและเป็นประเภทของเริมที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเริมแต่ละประเภทมีรายละเอียดและสาเหตุในการติดเชื้อดังต่อไปนี้

Herpes simplex virus type I: HSV-1 

Herpes simplex virus type I หรือ HSV-1 เป็นประเภทของเริมที่มักจะพบการติดเชื้อบริเวณใบหน้าหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเริมที่ปาก แต่บางกรณีก็อาจจะติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้เช่นกัน โดยสาเหตุของการติดเชื้อเริมประเภทนี้เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดนน้ำเหลืองจากตุ่มโรคเริม การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย หรือหากภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงก็จะอาจจะทำให้ติดเชื้อเริมประเภทนี้ได้เช่นเดียวกัน

Herpes simplex virus type II: HSV-2

Herpes simplex virus type II หรือ HSV-2 เป็นประเภทของเริมที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับโรคหนองใน หรือโรคซิฟิลิส ซึ่งเริมประเภทนี้จะมีอาการคันและเกิดแผลพุพองบริเวณอวัยวะเพศเช่น ถุงอัณฑะ, ปากมดลูก, ช่องคลอด หรือทวารหนัก นอกจากนี้เชื้อไวรัส HSV-2 ยังสามารถแพร่เชื้อได้แม้ว่าจะยังไม่เห็นรอยโรคบริเวณผิวหนัง ดังนั้นผู้ป่วยเริมประเภทนี้จึงมักจะแพร่เชื้อได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ


เริมเกิดจากอะไรได้บ้าง? อะไรคือสาเหตุของการติดเชื้อเริม?

เริม เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส Herpes simplex ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนด้วยการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ การจูบ รวมไปถึงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่เป็นเริม หรือการสัมผัสทางอ้อมเช่นการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้เป็นเริม ก็ทำให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้เช่นเดียวกัน 

เชื้อไวรัส Herpes simplex ทั้งชนิด HSV-1 และ HSV-2 สามารถแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น แต่จะมีสาเหตุและรายละเอียดของการติดเชื้อที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

การติดเชื้อไวรัส HSV-1 

เชื้อไวรัส HSV-1 เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกหรือเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากได้รับการสัมผัสจากผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ อีกทั้งเชื้อไวรัส HSV-1 ยังสามารถแพร่กระจายสู่กันได้จากการจูบ การหอมแก้ม หรือการใช้งานของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้เป็นเริม ไม่ว่าจะเป็น แก้วน้ำ, ช้อนซ้อม, ลิปสติก, แปรงสีฟัน หรือผ้าเช็ดตัว นอกจากนี้การได้รับออรัลเซ็กส์ (Oral sex) จากผู้ที่ติดเชื้อเริมบริเวณปาก ก็จะทำให้เชื้อไวรัส HSV-1 แพร่กระจายมายังอวัยวะเพศได้เช่นเดียวกัน 

การติดเชื้อไวรัส HSV-2

เชื้อไวรัส HSV-2 ถือเป็นเชื้อไวรัสที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นสาเหตุส่วนใหญ่ในการติดเชื้อเชื้อไวรัส HSV ประเภทนี้จึงเกิดจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการสอดใส่ระหว่างเพศชาย-หญิง หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันผ่านทวารหนักหรือการเสียดสีกันของอวัยวะเพศ ก็ล้วนสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัส HSV-2 ได้ 

นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้วเชื้อไวรัสประเภทนี้ยังสามารถแพร่กระจายจากมารดาสู่ทารกได้ทั้งจากการให้นมและการคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติในขณะที่มารดาติดเชื้อโรคเริมอยู่


อาการของเริมที่พบได้ในผู้ชายและผู้หญิง

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3-7 วัน โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคเริมจะมีอาการเริ่มต้นเป็นตุ่มน้ำหรือแผลตื้น ๆ บริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อร่วมกับมีอาการปวดแสบปวดร้อน มีไข้และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 2-6 สัปดาห์แผลจะค่อย ๆ แห้งและตกสะเก็ด นอกจากอาการทั่วไปแล้ว เริมยังสามารถแสดงอาการที่แตกต่างกันได้ในผู้ชายและผู้หญิง โดยมีรายละเอียดของอาการดังนี้

อาการของเริมในผู้ชาย 

โรคเริมในผู้ชายจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีแผลพุงพอง หรือแผลเริมที่อวัยวะเพศชาย, แก้มก้น, ต้นขา, รอบทวารหนัก, ส่วนหัวขององคชาต รวมไปถึงบริเวณถุงอัณฑะ 
  • ปวดเมื่อยและมีไข้ อาการปวดเมื่อยและมีไข้เป็นอาการที่พบได้บ่อยของโรคเริม ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ประกอบกับมีต่อมน้ำเหลืองบวมโตได้ด้วย
  • ปัสสาวะแสบ หากมีแผลพุพองบริเวณส่วนหัวขององคชาตก็อาจจะทำให้มีอาการแสบเวลาปัสสาวะ หรือรู้สึกปัสสาวะขัดได้ เนื่องจากแผลพุพองบางส่วนอาจจะอยู่ในท่อปัสสาวะ

อาการของเริมในผู้หญิง 

โรคเริมในผู้หญิงจะมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • มีตุ่มน้ำเล็ก ๆ หรือแผลเริมที่อวัยวะเพศหญิง, ภายในช่องคลอด, ปากมดลูก, ทวารหนัก รวมไปถึงต้นขา ซึ่งตุ่มน้ำนี้สามารถพัฒนากลายเป็นแผลพุพอง ซึ่งจะมีอาการบวมแดงและคันร่วมด้วย
  • มีอาการคันและปวดบริเวณอวัยวะเพศหญิง รวมไปถึงมีตกขาวมากผิดปกติและมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • มีอาการแสบร้อนเมื่อปัสสาวะเพราะปัสสาวะสัมผัสกับแผล ผู้ป่วยเริมบางรายอาจมีอาการปัสสาวะติดขัดเนื่องจากมีแผลพุพองปิดกั้นท่อปัสสาวะ
  • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดศีรษะ, ปวดหลัง, มีไข้หนาวสั่น, ปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ขาหนีบ และรักแร้บวมโต

อาการแทรกซ้อนจากเริม

อาการแทรกซ้อนของเริม

นอกจากเริมจะแสดงอาการบริเวณปากและอวัยวะเพศแล้ว เริมก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ โดยจะเป็นภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อและอักเสบบริเวณต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การเกิดเริมที่นิ้ว เริมที่แขนหรือเริมที่ขา พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเริมที่เป็นเด็กเล็ก เนื่องจากมักจะกัดหรืออมนิ้วมือตัวเองทำให้เชื้อไวรัสเริมที่ปากแพร่ไปยังบริเวณนิ้วมือแขนหรือขาได้
  • ติดเชื้อบริเวณดวงตา อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการมองเห็นหรือร้ายแรงจนอาจทำให้ตาบอดได้
  • ติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก หากในขณะคลอด ทารกติดเชื้อเริมจากบริเวณอวัยวะเพศของมารดาก็อาจจะทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้
  • ติดเชื้อบริเวณสมอง การติดเชื้อบริเวณสมองเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเริมที่พบได้ไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงมาก เพราะหากผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็จะทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจนอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือเยื่อบุบริเวณทวารหนักอักเสบ หากผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็มีโอกาสที่เชื้อไวรัสเริมจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและเยื่อบุทวารหนักอักเสบ
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HSV มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า
  • ผู้ป่วยเพศหญิงที่เคยติดเชื้อ Human Papillomavirus หรือ HPV แม้ว่าจะได้รับวัคซีน HPV แล้วแต่ถ้าติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศอีกก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า

การตรวจวินิจฉัยเริม

การตรวจวินิจฉัยเริม เบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเริมด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อเริม แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจอาการเบื้องต้นและตรวจแผลพุพองหรือแผลตุ่มน้ำที่บริเวณผิวหนัง
  • หลังจากนั้นแพทย์จะทำการทดสอบว่า แผลบริเวณผิวหนังคือแผลจากการติดเชื้อเริมหรือไม่ด้วยการตรวจสอบทางแล็บปฏิบัติการ
  • การเจาะเลือด การตรวจวินิจฉัยเริมด้วยวิธีอาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้หากผู้ป่วยเพิ่งได้รับเชื้อ อีกทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเชื้อไวรัสเริมที่ตรวจพบนั้นเป็นเชื้อไวรัสประเภทใด
  • การหาระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส เป็นการนำเซลล์ผิวจากแผลพุพองไปตรวจแอนติเจนของเชื้อไวรัสเริม แต่การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีจะยังไม่สามารถระบุประเภทของเชื้อไวรัสได้เช่นเดียวกัน
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง หรือ Lumbar Puncture เป็นการตรวจในกรณีที่แพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยติดเชื้อที่สมอง หรือกระดูกสันหลังซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนของการติดเชื้อเริม
  • การขูดเอาเซลล์บริเวณแผลหรือตุ่มน้ำใสไปตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหรือการทดสอบ PCR Test (Polymerase chain reaction) การตรวจวินิจฉัยเริมด้วยวิธีนี้เป็นการหาเชื้อไวรัสเริมที่มีความแม่นยำมากที่สุดอีกทั้งยังสามารถระบุชนิดของเชื้อไวรัสเริมได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

รวมวิธีการรักษาโรคเริมพร้อมวิธีบรรเทาอาการด้วยตนเอง

เมื่อผู้ป่วยโรคเริมได้รับเชื้อไวรัสแล้วไม่ว่าจะเป็นเริมที่ปากหรือที่อวัยวะเพศก็จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เพราะเชื้อไวรัสจะยังคงแฝงตัวอยู่ในปมประสาท แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้พัฒนาการรักษาโรคเริมด้วยการบรรเทาความเจ็บปวด รวมไปถึงสามารถควบคุมความรุนแรงและการแพร่เชื้อได้ บทความนี้ได้รวบแนวทางการรักษาโรคเริมโดยแบ่งเป็นการรักษาโดยแพทย์ และการบรรเทาอาการด้วยตนเอง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การรักษาโรคเริมโดยแพทย์ หากได้รับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเริมแพทย์จะทำการรักษาแบบยับยั้งอาการด้วยการให้ยารักษาเริมดังต่อไปนี้ 

  • กลุ่มยาต้านไวรัส HSV โดยประกอบไปด้วยยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) หรือ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หากได้รับยากลุ่มต้านไวรัส HSV ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีอาการ ก็จะทำให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้ไวขึ้น
  • กลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) เป็นกลุ่มยารักษาเริมที่ช่วยแก้อาการปวด บวม แดง รวมไปถึงลดการอักเสบของร่างกายและลดไข้ได้ด้วย
  • กลุ่มยาระงับความเจ็บปวดชนิดรับประทาน เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • กลุ่มยาแก้ปวดชนิดทาหรือยาทาเริม เช่น ยาโดโคซานอล (Docosanal), ยาเบนโซเคน (Benzocaine), ยาไลซีน (L-lysine) หรือยามิวพิโรซิน (Mupirocin) เป็นต้น

การบรรเทาอาการด้วยตนเอง ถึงแม้ผู้ป่วยโรคเริมจะไม่สามารถรักษาเริมด้วยตัวเองได้แต่สามารถบรรเทาอาการปวดและอาการคันจากแผลเริมได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ 

  • หมั่นประคบเย็นบริเวณแผลที่เป็นเริมเพื่อช่วยลดอาการปวด อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้แผลปริแตกได้ด้วย
  • หากมีอาหารเจ็บหรือปวดบริเวณแผล สามารถล้างบริเวณรอบ ๆ แผลด้วยน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่ควรให้แผลโดนน้ำโดยตรง
  • เลี่ยงการเกา แกะ หรือสัมผัสโดยตรงบริเวณแผล เนื่องจากอาจจะทำให้แผลติดเชื้อและยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสอีกด้วย
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย รวมไปถึงควรเลือกสวมชุดชั้นในที่ผลิตจากผ้าฝ้าย เนื่องจากผ้าฝ้ายจะช่วยดูดซับความชื้นได้ดีทำให้แผลไม่อับชื้น

ทำไมเริมจึงเป็นซ้ำได้หลายครั้ง?

โรคเริมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้ขาดได้เนื่องจากไวรัส HSV ที่เป็นสาเหตุของโรคเริมนั้นจะซ้อนตัวอยู่ในปมประสาทบริเวณไขสันหลัง หากถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ก็จะทำให้เชื้อไวรัสเคลื่อนที่มายังปลายเส้นประสาทและแสดงอาการออกมา แต่การกลับมาเป็นเริมซ้ำจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าการเป็นเริมในครั้งแรก ผู้ป่วยบางรายมีเพียงตุ่มน้ำบริเวณผิวหนังที่เคยติดเชื้อเท่านั้น

ถึงแม้การกลับมาเป็นเริมซ้ำจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็สามารถส่งผลเสียทั้งในด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมไปถึงความเสี่ยงในการดื้อยาได้ ดังนั้น ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคเริมควรจะระวังปัจจัยต่อไปนี้ที่อาจจะไปกระตุ้นให้เกิดโรคเริมซ้ำ

  • ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่นการอดนอน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงใกล้มีประจำเดือน เป็นต้น 
  • การเสียดสีผิวหนังที่เคยติดเชื้อ เช่นการมีเพศสัมพันธ์อาจจะกระตุ้นการกลับมาเป็นเริมซ้ำได้ 
  • การเข้ารับการผ่าตัดที่ส่งผลโดยตรงต่อเส้นประสาท ก็จะกระตุ้นให้ไวรัส HSV เคลื่อนที่มายังปลายเส้นประสาทได้
  • การติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
  • การได้รับยากดภูมิคุ้มกันประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ที่เป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) หรือยาดาคลิซูแมบ (Daclizumab) เป็นต้น

สรุปเรื่องเริม โรคติดต่อที่ป้องกันได้หากรีบพบแพทย์

ถึงแม้ว่าเริมจะเป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าหากรีบพบแพทย์ทันทีหลังจากมีอาการก็จะสามารถบรรเทาความเจ็บปวด รวมไปถึงสามารถควบคุมความรุนแรงและการแพร่เชื้อได้ ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีตุ่มน้ำหรือแผลพุพอง ร่วมกับมีอาการคล้ายไข้หวัดให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค

ใครที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคเริมหรือกำลังมองหาโปรแกรมตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถติดต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้เลย เพราะนอกจากจะมีคุณหมอคอยให้คำปรึกษาแล้ว ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ยังมีความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่จะช่วยวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ใครที่สนใจก็สามารถติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์ 02-118-7893 หรือ Line : @samitivejchinatown ได้เลย


References
 

5 Symptoms of genital herpes in man. (2021, September 5).Ending HIV. https://endinghiv.org.au/blog/symptoms-of-herpes-in-men/#

London, S. (2003). Cervical Cancer Risk Rises If Women with HPV Also Have Herpes Infection. International Perspectives on Sexual and Reproductive Health, 29(2): 97. https://www.guttmacher.org/journals/ipsrh/2003/06/cervical-cancer-risk-rises-if-women-hpv-also-have-herpes-infection

Mayo Clinic Staff. (2022, November 22). Genital herpes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-herpes/symptoms-causes/syc-20356161

Herpes simplex virus. (2023). World Health Organization. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/herpes-simplex-virus

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​