บทความสุขภาพ

โรคเท้าแบน เท้าล้ม ความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 3 มกราคม 2568

โรคเท้าแบน

การเดินถือเป็นกิจกรรมที่เราทำกันเป็นประจำทุกวัน แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าลักษณะการเดินที่ผิดปกติ ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน บทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับ "โรคเท้าแบน" หรือ “เท้าล้ม” ที่นับวันยิ่งพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน การละเลยการดูแลสุขภาพเท้าอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่คิด ทั้งอาการปวดหลัง ปวดเข่า รวมถึงปัญหาด้านการทรงตัว


สารบัญบทความ


โรคเท้าแบน คืออะไร

เท้าแบนคือ

โรคเท้าแบน (Flat Foot) คือ โรคเท้าชนิดหนึ่งเหมือนกับโรครองช้ำหรือโรคเท้าเปื่อย ที่มีลักษณะของอุ้งเท้าด้านในแบนราบลงมาจนสัมผัสกับพื้น ทำให้สูญเสียการซัพพอร์ตน้ำหนักตามธรรมชาติของเท้า ตามปกติแล้วเท้าของคนเราจะมีส่วนโค้งที่อุ้งเท้าด้านใน เพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนักและรองรับแรงกระแทกขณะเดินหรือวิ่ง 

ซึ่งสำหรับคนเท้าแบนจะส่งผลให้การกระจายน้ำหนักไม่สมดุล กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณเท้าทำงานหนัก จนอาจเกิดอาการปวดบริเวณเท้า ข้อเท้า เข่า น่อง สะโพก รวมถึงอาจมีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างได้ 


โรคเท้าแบนเกิดจากสาเหตุอะไร?

โรคเท้าแบนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็มีหลายสาเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะเท้าแบนในระยะยาว ซึ่งการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรค จะช่วยให้เราสามารถป้องกันและรักษาได้อย่างถูกต้อง โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเท้าแบนจะมีดังนี้

  • พันธุกรรม: บางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเท้าแบนตั้งแต่กำเนิด จนกลายเป็นเด็กเท้าแบนเนื่องจากโครงสร้างกระดูกเท้าและเอ็นที่ผิดปกติ ทำให้อุ้งเท้าไม่สามารถโค้งตัวได้ตามปกติ เมื่ออายุมากขึ้น โรคเท้าแบนจะเริ่มส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณเท้าและเจ็บเนื้อใต้เล็บ
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป: การมีน้ำหนักมากกว่าปกติทำให้เท้าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เอ็นและกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงอุ้งเท้าจึงอ่อนแอลง ส่งผลให้อุ้งเท้าแบนราบลงเรื่อย ๆ
  • การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม: การใส่รองเท้าที่รองรับอุ้งเท้าได้ไม่ดีพอ หรือการเลือกใส่รองเท้าที่คับหรือหลวมเกินไป ทำให้เท้าต้องปรับตัวแบบผิดธรรมชาติ ส่งผลให้ลักษณะของเท้าเปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดโรคเท้าแบนได้
  • การบาดเจ็บของเท้า: อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูก เอ็น หรือกล้ามเนื้อบริเวณเท้า ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างของเท้าเสียสมดุลและนำไปสู่โรคเท้าแบนได้
  • อายุที่เพิ่มขึ้น: เมื่อเราอายุมากขึ้น เอ็นและกล้ามเนื้อจะมีความยืดหยุ่นลดลง รวมถึงการเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ ที่ส่งผลให้อุ้งเท้ามีการเปลี่ยนแปลงและแบนลงได้

โรคเท้าแบนแต่ละประเภท เป็นอย่างไร

เท้าล้ม

หลังจากทราบสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเท้าแบนกันไปแล้ว ถัดไปเราจะมาดูกันว่าโรคเท้าแบนแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โรคเท้าแบนแต่กำเนิด

โรคเท้าแบนแต่กำเนิดเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกเท้าตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งพบได้ประมาณ 20-30% ของเด็กที่เป็นโรคเท้าแบน โดยเด็กที่ป่วยด้วยภาวะเท้าแบนอาจมีอาการปวดเท้าเวลาเดินหรือวิ่ง และอาจพบปัญหาเท้าแบะออกร่วมด้วย โดยโรคเท้าแบนแต่กำเนิดจะมี 2 ลักษณะดังนี้

เท้าแบนแบบแข็ง (Rigid Flat Foot)

เท้าแบนแบบแข็ง เกิดจากความผิดปกติของกระดูกและข้อต่อบริเวณเท้า ส่งผลให้อุ้งเท้ามีลักษณะผิดรูปและยากต่อการขยับเท้า ซึ่งเป็นผลให้เกิดปัญหาในการเลือกสวมรองเท้า และระหว่างการเดินหรือวิ่งเวลาขยับเท้าผู้ป่วยด้วยโรคเท้าแบนแบบแข็งมักมีอาการเจ็บหรือปวดเท้าเป็นประจำ 

เท้าแบนแบบนิ่ม (Flexible Flat Foot) 

เท้าแบนแบบนิ่ม จะมีส่วนของอุ้งเท้าปรากฏให้เห็นเมื่อไม่ได้ลงน้ำหนักที่เท้า แต่ฝ่าเท้าจะแบนราบเมื่อยืนลงน้ำหนัก มักไม่มีอาการปวด แต่อาจรู้สึกเมื่อยล้าเวลายืนหรือเดินนาน ๆ

โรคเท้าแบนเกิดขึ้นภายหลัง

โรคเท้าแบนแบบเกิดขึ้นภายหลังเกิดจากการเสื่อมของเอ็นและกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงอุ้งเท้า มักพบในผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณเท้า ข้อเท้า และอาจลุกลามไปถึงหัวเข่าและหลังส่วนล่าง โดยอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ แย่ลงหากไม่เข้ารับการรักษา


การวินิจฉัยอาการของโรคเท้าแบน

การวินิจฉัยโรคเท้าแบน แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการปวด การใช้ชีวิตประจำวัน และประวัติครอบครัว จากนั้นจะทำการตรวจร่างกายโดยสังเกตลักษณะการเดิน การทรงตัว และรูปร่างของเท้าขณะยืนลงน้ำหนักและไม่ลงน้ำหนัก แพทย์จะทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ รวมถึงประเมินความยืดหยุ่นของเอ็นร้อยหวาย 

ในกรณีที่ต้องการความแม่นยำในการวินิจฉัย แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติม ด้วยวิธีการอย่างการถ่ายภาพรังสีเท้า การทำ MRI หรือการสแกนรอยเท้า เพื่อวิเคราะห์อาการของโรคเท้าแบนและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม


วิธีการรักษาโรคเท้าแบน

การรักษาโรคเท้าแบนมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด

  • การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

การรักษาโรคเท้าแบนแบบไม่ผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การสวมอุปกรณ์พยุงอุ้งเท้า เพื่อรองรับอุ้งเท้าและช่วยกระจายน้ำหนัก การทำกายภาพบำบัดที่เน้นการบริหารกล้ามเนื้อเท้า หรือการปรับเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสมก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดจากภาวะเท้าแบน

  • การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ด้วยการกินยาแก้ปวดเพื่อช่วยลดการอักเสบ หรือการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเมื่อมีอาการเกร็ง

  • การรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาโรคเท้าแบนด้วยการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นวิธีที่ใช้สำหรับแก้ไขสาเหตุของอาการเท้าแบน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย การผ่าตัดเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นพยุงเท้า หรือการผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่ โดยแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของอาการและผ่าตัดแก้ไขอย่างตรงจุด


วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเท้าแบน

ลักษณะเท้า

โรคเท้าแบนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่เราสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักตัว ลดภาระน้ำหนักที่กดทับลงบนเท้า ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและชะลอการเสื่อมของข้อต่อได้
  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ควรใส่รองเท้าที่มีการรองรับอุ้งเท้าได้ดี มีขนาดพอดีเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนานเกินไป ให้สลับท่าทาง พักเป็นระยะ และยกเท้าขึ้นสูงเมื่อพัก
  • บริหารเท้าอย่างสม่ำเสมอ ทำท่าบริหารกล้ามเนื้อเท้าและน่องเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เช่น การเขย่งปลายเท้า หรือการม้วนลูกบอลใต้ฝ่าเท้า
  • ประคบเย็นเมื่อมีอาการปวด ช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด โดยประคบครั้งละ 15-20 นาที
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระแทกรุนแรง ควรเลือกออกกำลังกายแบบไม่รุนแรงแทน เช่น ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน

โรคเท้าแบนควรดูแลและรักษาอย่างเข้าใจ

โรคเท้าแบนเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากฝ่าเท้าที่แบนราบไปกับพื้น ทำให้เกิดการกระจายน้ำหนักที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ตาปลาที่เท้า หรือเอ็นนิ้วเท้าอักเสบ สำหรับโรคเท้าแบนหากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

การรักษาโรคเท้าแบนมีหลายวิธี ตั้งแต่การรักษาโดยการใช้ยา ไปจนถึงการรักษาโดยคุณหมอด้วยวิธีการผ่าตัด สำหรับคนที่กังวลว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคเท้าแบนและต้องการปรึกษาแพทย์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์ พร้อมให้การดูแลรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่


References

Vinayak M. Sathe, MD. Plantar Plate Tear | Plantar Injury Symptoms & Causes https://www.footcaremd.org/conditions-treatments/toes/plantar-plate-tear

Dr.Rion Berg. Plantar Plate Injury: Who's At Risk and How It's Treated https://www.bergdpm.com/library/plantar-plate-injury-treatment-seattle-podiatrist.cfm

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​