บทความสุขภาพ

หูดที่เท้าอาการป่วยที่ไม่ควรละเลย ต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 20 มกราคม 2568

หูดที่เท้า

ขณะที่เดินอยู่ จู่ ๆ ก็รู้สึกเจ็บฝ่าเท้าแปลก ๆ พอยกเท้าขึ้นมาพบว่า มีตุ่มนูนขนาดเล็กที่ตรงกลางมีจุดสีดำขึ้นมา อย่าชะล่าใจคิดว่าเป็นตุ่มผื่นคันธรรมดา เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงหูดที่เท้า แม้ว่าอาการของโรคหูดที่เท้าจะไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่การเป็นหูดสามารถติดเชื้อและเสี่ยงกลายเป็นเป็นโรคเท้าที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมได้ รวมถึงยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนรอบตัวได้ คนที่เป็นโรคหูดจึงควรรู้เท่าทันและเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี


สารบัญบทความ


หูดที่เท้ามีอาการเป็นอย่างไร?

หูดที่เท้ามีอาการ

อาการของโรคหูดที่เท้า คือ มีตุ่มนูนขนาดเล็กที่ตรงกลางเป็นจุดสีดำ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของเส้นเลือด โดยตุ่มหูดที่เท้ามักเกิดขึ้นบริเวณส้นเท้า จมูกเท้า หรือโคนนิ้วหัวแม่เท้า ลักษณะคล้ายตาปลาที่เท้า เมื่อสัมผัสจะรู้สึกผิวเป็นตุ่มแข็งขรุขระ หากออกแรงกดหรือเวลาขยับเท้าแล้วเกิดการลงน้ำหนักจะส่งผลให้รู้สึกเจ็บขึ้นมา 

นอกจากการเกิดหูดที่บริเวณฝ่าเท้าแล้ว เชื้อ HPV ยังสามารถแพร่กระจายหูดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หูดที่มือ หูดที่นิ้ว เป็นต้น โดยเชื้อ HPV มีระยะการฟักตัวอยู่ที่ 1-6 เดือน ก่อนจะแสดงอาการออกมา ดังนั้น หากเริ่มสังเกตหูดปรากฏบนร่างกาย คุณควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาและหยุดการกระจายตัวของเชื้อ


หูดที่เท้าเกิดจากสาเหตุอะไร ?

สาเหตุของการเกิดหูดที่เท้ามาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวที่มีความบอบบางหรือผ่านบาดแผลขนาดเล็ก ซึ่งเราสามารถได้รับเชื้อ HPV ทั้งจากการสัมผัสกับคนที่ป่วยเป็นโรคหูดที่เท้าโดยตรง และการติดเชื้อด้วยการสัมผัสทางอ้อม เช่น การใช้งานสิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน การเดินเท้าเปล่าออกไปสัมผัสกับบริเวณพื้นที่สาธารณะ ส่วนการแกะเกาบริเวณที่เป็นหูดอยู่แล้วก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้เช่นกัน


ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคหูดที่เท้า

คนกลุ่มไหนเสี่ยงเป็นหูดที่เท้า

หลังจากทราบแล้วว่าหูดเกิดจากสาเหตุอะไร ทุกคนน่าจะพอเข้าใจแล้วว่าการอยู่ใกล้กับคนที่ติดเชื้อ HPV ย่อมเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่าจะไปสัมผัสกับหูดที่เท้าหรือบริเวณอื่น ๆ ตอนไหน แต่นอกจากนี้แล้วยังมีกลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะร่างกายของแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเชื้อ HPV ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • เด็กเล็ก เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจายหูดไปทั่วร่างกาย ไม่ใช่แค่หูดที่เท้าเพียงอย่างเดียว
  • คนที่ออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามสถานที่สาธารณะโดยไม่สวมรองเท้า เช่น การไปสระว่ายน้ำ อาจทำให้ติดเชื้อ HPV เนื่องจากมีคนจำนวนมากเข้ามาใช้บริการสระว่ายน้ำ
  • คนที่เคยเป็นหูดที่เท้ามาก่อนก็มีความเสี่ยงจะเป็นซ้ำได้อีก หากมีการสัมผัสกับเชื้อ HPV
  • กลุ่มคนที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอจนสามารถติดเชื้อ HPV และเป็นหูดได้ง่ายกว่าคนอื่น
  • คนที่ติดเชื้อ HIV หรือเป็นเอดส์ มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว การเป็นหูดที่เท้าถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไปสำหรับคนกลุ่มนี้
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์และเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เสี่ยงติดทั้งโรคหูดที่เท้าจากการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นหูดที่เท้า

ภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นหูดที่เท้ามักเกิดจากการติดเชื้อของบาดแผลบริเวณฝ่าเท้า หากปล่อยไว้อาการติดเชื้อจะทำให้เกิดปัญหาโรคเกี่ยวกับเท้าต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเท้าเหม็น มีอาการปวดบวมแดง แผลไม่หายเป็นภาพที่ไม่น่ามอง แต่นอกจากการติดเชื้อแล้วหูดที่เท้ายังส่งผลต่อการเดิน จากแค่เจ็บเวลาเดินกลายเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณเท้าได้อีกด้วย


วิธีการรักษาและป้องกันตัวเองจากการเป็นหูดที่เท้า

วิธีรักษาหูดที่เท้า

ถึงแม้ว่าการเป็นหูดที่เท้าจะไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสออกไป แต่หากปล่อยไว้เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปแพร่เชื้อ HPV สู่คนอื่น หรือหูดจะแพร่ไปตามส่วนอื่นของร่างกายหรือเปล่า ทุกคนจึงควรเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการของโรคหูด และต้องคอยระมัดระวังป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นหูดซ้ำอีก

วิธีการรักษาโรคหูดที่เท้า

  • การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นวิธีรักษาหูดด้วยการทำให้เนื้อเยื่อตาย แต่เป็นวิธีการที่เจ็บตัว และอาจทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้
  • การจี้หูดด้วยความเย็น เป็นวิธีที่นิยมเนื่องจากไม่เจ็บเท่าการจี้ด้วยไฟฟ้าและยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อ HPV โดยความเย็นจะทำให้ผิวบริเวณที่เป็นหูดตายแล้วหลุดลอกออกมาเอง
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการยิงรังสีลงไปบนผิวทำให้เนื้อเยื่อที่ติดเชื้อตายลง โดยคนเป็นหูดที่เท้าควรมายิงเลเซอร์ทุก 3-4 สัปดาห์ จนกว่ารอยของโรคหูดจะหายไป
  • การรักษาด้วยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จะเป็นวิธีที่แพทย์รักษาด้วยยาทาหูด หรือยารักษาหูดประเภทฉีดชนิด Antigen ซึ่งตัวยาจะเข้าไปทำลายเชื้อ HPV
  • การใช้ยาทาหรือยาแปะรักษาหูด เป็นวิธีรักษาหูดด้วยตัวเอง โดยการนำยาผลัดเซลล์ผิวแปะหรือทาลงบนบริเวณที่เป็นหูด หลังแช่เท้าในน้ำอุ่นมาแล้ว 20 นาที แต่วิธีการนี้อาจต้องใช้เวลาในการรักษาหลายเดือน
  • การลอกผิวด้วยกรดซาลิไซลิก เป็นวิธีการรักษาด้วยการให้กรดสลายชั้นผิว มักมีความรู้สึกแสบร้อนบริเวณผิว วิธีนี้จึงมักทำควบคู่กับการรักษาด้วยความเย็น

วิธีการป้องกันโรคหูดที่เท้า 

  • วิธีป้องกันลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HPV ด้วยการฉีดวัคซีน โดยทุกคนควรฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งควรเว้นระยะเวลาการฉีดหลังจากเข็มแรกอย่างน้อย 2 เดือนถึงจะฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นฉีดเข็มที่ 3 เว้นจากเข็มแรก 6 เดือน
  • คอยทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV และเป็นหูดที่เท้า ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น โรคเท้าเปื่อย น้ำกัดเท้า
  • หลีกเลี่ยงการไม่สวมรองเท้าเวลาออกไปข้างนอก หากสวมรองเท้าและถุงเท้าก็ควรเปลี่ยนทุกวัน ไม่ใส่ซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงการนำอุปกรณ์หรือผ้าที่สัมผัสกับหูดที่เท้า มาโดนผิวส่วนอื่น ๆ

หูดที่เท้ารักษาให้หายได้ หากดูแลอย่างถูกต้อง

หูดที่เท้าเกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของที่มีเชื้อ HPV อยู่ โดยอาการจะแสดงออกมาในลักษณะของตุ่มเล็ก ๆ ที่มีจุดสีดำตรงกลางบริเวณฝ่าเท้าและสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย สำหรับคนที่สงสัยว่าเป็นหูดอันตรายไหม บอกเลยว่าไม่อันตราย แต่ถ้าปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาอาจเป็นการแพร่เชื้อไปยังครอบครัวและคนที่เรารัก โดยปัจจุบันมีวิธีการรักษาหูดหลายวิธีทั้งแบบที่สามารถรักษาด้วยตัวเอง และการรักษากับแพทย์ที่มีความชำนาญการโดยเฉพาะ

สำหรับคนที่เป็นหูดและต้องการรักษาให้หาย เพราะมีครอบครัวที่เป็นเด็กเล็ก หรือกังวลว่าเชื้อ HPV จะแพร่ไปยังคนรอบตัว สามารถมาปรึกษาและเข้ารับการรักษากับแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่ สมิติเวชไชน่าทาวน์ โดยทางเราพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับคุณ

ช่องทางติดต่อ

  • Line : @samitivejchinatown
  • Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

References

Glover, M.G., (1990, December 11). Plantar warts. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/2074085/

Witchey, D.J., Witchey, N.B., Kauffman, M.M., Kauffman, M.K. (2022, February 1). Plantar Warts: Epidemiology, Pathophysiology, and Clinical Management. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29379975/

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​