บทความสุขภาพ

ทำความรู้จัก “เลนส์ตา” องค์ประกอบสำคัญของดวงตา

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

เลนส์ตา คืออะไร ทำหน้าที่อะไร มีคุณสมบัติอย่างไร เลนส์ตาของคนเป็นเลนส์ชนิดใด เปลี่ยนเลนส์ตาต้องทำในกรณีไหน เลนส์ตาเทียมมีกี่ชนิด เปลี่ยนเลนส์ตาต้อกระจก ราคา ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาราคาเท่าไหร่ ทำที่ไหนดี

“เลนส์ตา” เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญมากของดวงตา เพราะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนเราสามารถมองเห็นได้ตามปกติ ซึ่งเลนส์ตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่เกิดโรคขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากเลนส์ตาเสียหายหรือเสื่อมสภาพ จะทำให้การมองเห็นผิดปกติจนมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันได้
 


สารบัญบทความ
 

 


 

องค์ประกอบของดวงตา มีอะไรบ้าง

 

เลนส์ตาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของดวงตา ดวงตาประกอบด้วยอะไรบ้าง

ก่อนจะทำความรู้จักกับเลนส์ตา ควรรู้จักองค์ประกอบต่างๆของดวงตา และการทำงานของดวงตาโดยรวมเสียก่อน

ดวงตาของคนเรานั้น ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
 

  1. ลูกตาส่วนหน้า คือส่วนของดวงตาตั้งแต่กระจกตา (Cornea) ถึงม่านตา (Iris)
  2. ลูกตาส่วนหลัง  คือส่วนของดวงตาที่อยู่ถัดเข้ามา นับตั้งแต่ม่านตา ถึงเลนส์ตา (Lens)
  3. ส่วนน้ำวุ้นตาหรือ Vitreous  คือส่วนของดวงตาตั้งแต่เลนส์ตา จนถึงจอตา (Retina) ที่อยู่ด้านในสุด ส่วนประกอบส่วนใหญ่ในส่วนนี้จะเป็นน้ำวุ้นตาที่อยู่ถัดจากเลนส์ตาเข้ามา
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการวุ้นตาเสื่อม


ดวงตามีส่วนประกอบสำคัญที่ควรรู้ทั้งหมด ดังนี้
 

  1. ตาขาว (Sclera) คือพื้นที่สีขาวรอบตาดำ ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับส่วนประกอบอื่นๆที่อยู่ภายใน หากเยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพ จะทำให้เกิดโรคต้อ อย่างต้อลม และต้อเนื้อขึ้น
  2. กระจกตา (Cornea) คือส่วนหน้าสุดที่หุ้มตาดำไว้ มีลักษณะโค้ง ใส ไม่มีสี แสงสามารถผ่านเข้ามาได้ดี ทำหน้าที่หักเหแสง ให้แสงเข้าไปภายในรูม่านตา ซึ่งส่วนนี้เองเป็นส่วนที่จะถูกปรับแต่งเมื่อทำเลสิค เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะหักเหแสงที่อยู่นอกสุด จึงปรับแต่งเพื่อปรับค่าสายตาได้ง่ายกว่าอวัยวะหักเหแสงที่อยู่ลึกเข้าไปอย่างเลนส์ตา
  3. รูม่านตา (Pupil) คือส่วนสีดำที่อยู่กลางตาดำ เป็นรูที่ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเลนส์ตาได้ โดยที่รูม่านตานี้สามารถปรับขนาดได้โดยการหดขยายของม่านตา
  4. ม่านตา (Iris) คือส่วนที่อยู่รอบๆรูม่านตา ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตา ม่านตาของคนเราจะมีสีที่แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและลักษณะทางพันธุกรรม
  5. เลนส์ตา (Lens) คืออวัยวะที่ใช้หักเหแสง ให้แสงตกกระทบที่จอตาจนเกิดเป็นภาพขึ้นมา เลนส์ตาสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ เพื่อปรับระยะโฟกัส ทำให้คนเราสามารถมองเห็นได้ชัดทั้งวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ และระยะไกลนั่นเอง
  6. น้ำวุ้นตา (Vitreous body) คือของเหลวที่เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของดวงตา มีลักษณะเป็นเจลโปร่งใส มีหน้าที่ทำให้แสงผ่านไปยังจอตาได้ และทำให้ดวงตาคงรูปทรงเดิม
  7. จอตา (Retina) คือจอสำหรับรับแสงจากเลนส์ เลนส์ตาจะทำให้เกิดภาพที่จอตา ก่อนภาพจะถูกเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทส่งผ่านเส้นประสาทไปยังสมอง
  8. จอประสาทตาหรือจุดภาพชัด (Macula) คือจุดหนึ่งบนจอตา ที่ทำให้จุดกึ่งกลางของการมองเห็นชัดเจนกว่าภาพรอบนอก หากจอประสาทตาถูกทำลาย อาจเกิดเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมที่จะทำให้ภาพกึ่งกลางสายตาไม่ชัด หรือสูญเสียการมองเห็นในส่วนนี้ไป
  9. เส้นประสาทตา (Optic nerve) คือส่วนที่รับกระแสประสาทและส่งไปยังสมอง ซึ่งกระแสประสาทดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้งภาพ และความรู้สึกที่ดวงตา นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนที่รับกระแสประสาทจากสมองเพื่อสั่งการให้ขยับกล้ามเนื้อต่างๆของดวงตาอีกด้วย


อวัยวะทั้งหมดนี้สามารถทำให้คนเรามองเห็นได้อย่างไร? ทั้งหมดเริ่มมาจากแสง เมื่อแสงตกกระทบวัตถุ วัตถุแต่ละอย่างจะดูซับแสง และสะท้อนแสงออกมาต่างกันตามรูปร่าง พื้นผิว และสี เมื่อแสงสะท้อนออกมาจากวัตถุ กระจกตาชั้นนอกสุดของคนเราจะหักเหแสงเหล่านั้นให้เข้ามาภายในดวงตา

แสงดังกล่าวจะเข้ามาผ่านรูม่านตาในปริมาณแสงที่จำกัดโดยม่านตา แล้วจึงเข้ามาถึงเลนส์ตา เลนส์ตาจะทำหน้าที่หักเหแสงอีกครั้งเพื่อให้ภาพตกกระทบที่จอตาได้พอดี โดยภาพที่มาจากเลนส์ตาจะเป็นภาพกลับหัวจากความเป็นจริง

จากนั้นภาพเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นกระแสประสาท ส่งผ่านเส้นประสาทไปยังสมอง จากนั้นสมองจะแปลงกระแสประสาทเหล่านั้นเป็นภาพที่ไม่กลับหัว ทำให้คนเรารับรู้ถึงภาพสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรานั่นเอง

 


 

เลนส์ตา (Lens)

เลนส์ตา คืออะไร ทำหน้าที่อะไร มีคุณสมบัติอย่างไร

เลนส์ตา (Lens)
คือส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญมากของดวงตา เลนส์ตาของคนเป็นเลนส์นูน ทำหน้าที่หักเหแสงจากหลากหลายระยะให้จุดตัดของแสงตกกระทบที่จอตาได้พอดี เพื่อให้เรามองเห็นภาพได้ชัดจากทุกๆระยะที่ต้องการโฟกัส

เลนส์ตาอยู่ภายในลูกตาระหว่างม่านตากับน้ำวุ้นตา เลนส์ตามีคุณสมบัติเป็นส่วนที่ใส ไม่มีสี เพื่อให้แสงผ่านเข้ามาได้ดี เกือบ 60% ของเลนส์ตาประกอบด้วยโปรตีน ซึ่งมากกว่าเนื้อเยื่อทั่วไปในส่วนอื่นๆของร่างกายอย่างมาก 

ในเวลาปกติเลนส์ตาจะมีรูปร่างเป็นทรงกลมยาว (Elongated sphere) คล้ายกับลูกบอลที่สูบลมเข้าไม่เต็มที่ มีกล้ามเนื้อยึดกับเอ็นยึดเลนส์ที่จะยึดอยู่กับเลนส์ตาอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เลนส์อยู่กับที่และสามารถขยับได้เพื่อปรับโฟกัสของเลนส์

 


 

เลนส์ตา ทำหน้าที่อะไร

เลนส์ตาทำหน้าที่หักเหแสง เพื่อให้แสงจากระยะที่ต้องการมองเห็นชัด เกิดจุดตัดที่จอตาพอดี เพื่อให้การมองเห็นช่วงกลางภาพชัดเจน ไม่ว่าแสงจะมาจากระยะใดก็ตาม

ที่เลนส์มีกล้ามเนื้อที่ชื่อว่า “Ciliary Muscles” เป็นกล้ามเนื้อที่จะติดอยู่กับเส้นเอ็นยึดเลนส์ตา (Suspensory Ligament) ทำหน้าคอยยืดหรือหดเลนส์ เพื่อปรับระยะโฟกัสของเลนส์ตา เมื่อกล้ามเนื้อเลนส์คลายตัว เอ็นยึดเลนส์จะตึงและยืดเลนส์ตาออก เลนส์ตาจะถูกยืดให้บางเพื่อโฟกัสแสงที่มาจากระยะไกล 

หากกล้ามเนื้อหดตัว เอ็นยึดเลนส์จะหย่อย ทำให้เลนส์ตากลับมาเป็นทรงกลมหนา เพื่อโฟกัสในระยะที่ใกล้มากขึ้นนั่นเอง

ภาพที่มาจากเลนส์ตาจะทำให้เกิดจุดตัดเป็นภาพกลับหัวที่จอตา จากนั้นภาพเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทไปที่สมองและถูกประมวลออกมาเป็นภาพปกติ

จะเกิดอะไรขึ้น หากเลนส์ตาไม่ได้ทำให้เกิดจุดตัดที่จอตา? ในบางครั้งเลนส์ตาหรือกระจกตาที่ใช้หักเหแสงเกิดความผิดปกติ ทำให้จุดตัดแสงไม่ได้อยู่ที่จอตา 
 

สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง อาจเกิดจากเลนส์ตาได้


หากจุดตัดแสงอยู่ก่อนจอตา จะทำให้มองเห็นไม่ดีในระยะไกลเรียกว่าอาการสายตาสั้น (Myopia) แต่หากจุดตัดแสงอยู่เลยจอตาออกไป ก็จะมองเห็นได้ไม่ดีในระยะใกล้ เรียกว่าอาการสายตายาว (Hyperopia และ Presbyopia)

ส่วนสายตาเอียง (Astigmatism) นั้น เกิดจากเลนส์ตาหรือกระจกตาโค้งไม่เท่ากัน หรือโค้งผิดปกติจนทำให้แสงที่รวมกันไม่ได้รวมเป็นจุดเดียว อาจจะรวมเป็นขีดแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวทะแยง จนทำให้มองภาพไม่ชัดในทุกๆระยะนั่นเอง

 


 

หากเกิดความผิดปกติที่เลนส์ตาจะส่งผลอย่างไร

ความผิดปกติของเลนส์ตาจะทำให้เกิดผลกับการมองเห็นอย่างมาก เพราะเป็นตัวหักเหแสงสำคัญที่กำหนดความชัดของภาพ ถ้าเกิดความผิดปกติก็อาจจะทำให้ภาพเบลอ มองไม่ชัด จากการโฟกัสที่ผิดปกติหรือการที่เลนส์ขุ่นจนแสงผ่านเข้าไปในตาได้ไม่มากพอ

ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ตา มีดังนี้
 

1. สายตายาว (Presbyopia)


สายตายาว ปัญหาที่เกิดจากกล้ามเนื้อเลนส์ตา
 

สายตายาว (Presbyopia) เป็นอาการที่พบมากในผู้สูงอายุ เพราะอาการสายตายาวตามอายุมักเกิดจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมเลนส์ตาเสื่อมสภาพลง จนไม่สามารถหดตัวได้ดีเท่าที่ควร เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวไม่ได้ เอ็นยึดเลนส์ก็จะหย่อนไม่ได้ เลนส์ตาก็เป็นทรงกลมหนาไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถโฟกัสวัตถุในระยะใกล้ได้ มองภาพของวัตถุที่อยู่ใกล้ไม่ชัด เกิดเป็นอาการสายตายาวนั่นเอง

อาการของผู้ที่สายตายาว

ผู้ที่สายจากยาวจะเริ่มมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ไม่ชัด เช่น อ่านหนังสือไม่ได้ ต้องถือหนังสือให้ห่างสายตา สนเข็มไม่ได้ แต่งหน้าไม่ได้ บางครั้งพยายามเพ่งมองวัตถุใกล้ๆจนตาล้า ปวดตา ปวดศีรษะ หรือรู้สึกว่าตาไวต่อแสงมาก แสบตา สู้แสงไม่ได้

การรักษาอาการสายตายาว

การรักษาสายตายาวจะเป็นการปรับค่าสายตาให้แสงสามารถเกิดจุดตัดที่จอตาได้ อย่างการใส่แว่นสายตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดปรับค่าสายตา โดยอาจปรับที่ความโค้งกระจกตา หรือใส่เลนส์เสริมเข้าไปหน้าเลนส์ตาก็ได้ ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Phakic Intraocular Lens (Phakic IOL หรือ PIOL)

Phakic IOL เป็นหนึ่งในการผ่าตัดรักษาค่าสายตาไม่กี่อย่างที่สามารถรักษาอาการสายตายาวได้ ทั้งนี้วิธีการผ่าตัดนี้สามารถรักษาได้เฉพาะอาการสายตายาวแต่กำเนิดเท่านั้น ไม่สามารถรักษาสายตายาวตามอายุได้ แต่นอกจากสายตายาวโดยกำเนิดแล้ว Phakic IOL ยังสามารถรักษาสายตาสั้น และสายตาเอียงได้ด้วย
 

2. โรคต้อกระจก (Cataract)

 

โรคต้อกระจก ปัญหาสายตาที่เกิดจากเลนส์ตา เปลี่ยนเลนส์ตาต้อกระจก ราคา
 

โรคต้อกระจก (Cataract) คือความผิดปกติที่เกิดกับโปรตีนในเลนส์ตา เมื่ออายุมากขึ้น โปรตีนในตาเสื่อมสภาพ จนทำให้เลนส์ตาที่ยืดหยุ่นและใสไม่มีสี ขุ่นลงเรื่อยๆ หากเป็นมาก เลนส์จะกลายเป็นไตแข็งทึบแสง ทำให้สูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราวในที่สุด

อาการของโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกในช่วงแรกๆ จะทำให้มีปัญหาการมองเห็นเล็กน้อย อาการจะเหมือนสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อยครั้ง ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ บางครั้งภาพมัวเหมือนมีหมอกมาบัง หรือเห็นภาพซ้อน 

นอกจากนี้การรับแสงเข้ามาในเลนส์ตาจะเริ่มผิดปกติ ทำให้เห็นไม่ชัดในที่แสงจ้า เห็นแสงกระจายออกจากดวงไฟ เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากปกติ

เมื่อเป็นหนักขึ้นจะเริ่มเห็นว่าเลนส์ตาขุ่นมั่วกว่าปกติ เลนส์ตาจากสีใสจะกลายเป็นสีขาว พื้นที่สีขาวจะค่อยๆขยายจากตรงกลางเลนส์ออกสู่ด้านข้างไปเรื่อยๆ เมื่อขุ่นมัวจนทึบแสงจะทำให้แสงเข้ามาในดวงตาไม่ได้ จนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด แต่ไม่ใช่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เนื่องจากสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา

การรักษาโรคต้อกระจก

การรักษาโรคต้อกระจกในขั้นแรกๆ ที่มีอาการคือค่าสายตาผิดปกติ ทำได้เพียงการใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติเท่านั้น ไม่มียาสำหรับรับประทาน ยาหยอด หรือยารักษาอาการดังกล่าวเลย 

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เลนส์ตาขุ่นขึ้นมากจนมีผลกับการมองเห็น แพทย์จึงจะพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งเป็นการรักษาด้วยการนำเลนส์ตาเดิมที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่เลนส์ตาใหม่เข้าไป หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะกลับมามองเห็นได้ดีดังเดิม

 


 

การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา

การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา คือวิธีการรักษาเมื่อเลนส์ตามีปัญหาหรือถูกทำลาย จากทั้งอุบัติเหตุและโรคต่างๆ โดยโรคที่ต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนเลนส์ตาคือโรคต้อกระจก เพราะเมื่อเกิดฝ้าขุ่นที่เลนส์ตาแล้ว การแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถทำให้โปรตีนในเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพกลับมาเป็นปกติได้ จึงต้องเปลี่ยนเลนส์ตาเป็นเลนส์ตาเทียมที่สามารถทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงกับเลนส์ตาตามปกติ
 

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา มีดังนี้
 

  1. แพทย์เปิดแผลที่บริเวณข้างตาดำ แล้วเจาะถุงหุ้มเลนส์เข้าไป แผลจะมีขนาดเพียง 3 มิลลิเมตรเท่านั้น
  2. แพทย์จะใช้เครื่องสลายต้อ สลายเลนส์ตาในส่วนที่เป็นไตแข็งออก
  3. จากนั้นจึงใช้เครื่องดูดนำเอาเลนส์ตาที่เหลือออกมา ให้เหลือแต่ถุงหุ้มเลนส์ไว้
  4. นำเลนส์ตาเทียมขนาดเล็กชนิดพับได้ ใส่เข้าไปที่ถุงหุ้มเลนส์
  5. ไม่ต้องเย็บปิดแผลเนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมาก เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะหายไปเอง

การผ่าตัดจะใช้เวลาเพียง 15 - 30 นาทีเท่านั้น หลังทำไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้เลย ขณะทำผู้เข้ารับการรักษาจะยังมีสติเพราะแพทย์ไม่ได้ให้ยาสลบ และการรักษาก็ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด ผู้เข้ารับการรักษาจะเห็นแสงไฟเคลื่อนที่เป็นระยะ รู้สึกเหมือนถูกกดที่ดวงตาบางครั้ง และผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่รู้สึกเจ็บขณะรักษา

ส่วนเรื่องราคานั้น การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่เลือกเปลี่ยน หากเป็นเลนส์ระยะเดียวก็จะราคาต่ำกว่าเลนส์หลายระยะ และถ้าเป็นเลนส์รักษาสายตาเอียงก็จะยิ่งมีราคาสูง

ในกรณีที่ทำ Phakic IOL การรักษาจะคล้ายการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตามาก เพียงแต่การทำ Phakic IOL ไม่ต้องนำเลนส์ตาเดิมออก เนื่องจากเลนส์ตาไม่ได้เสียหาย สามารถใช้งานได้ตามปกติ การผ่าตัดจึงเป็นการนำเลนส์เทียมใส่เข้าไปด้านหน้าเลนส์ตาเดิมเพื่อปรับค่าสายตาเท่านั้น

 


 

เลนส์แก้วตาเทียมคืออะไร

เลนส์ตาเทียม ใช้ในการผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เลนส์ตาเทียมมีกี่ชนิด

เลนส์แก้วตาเทียม หรือเลนส์ตาเทียม คือวัตถุที่ใส่เข้าไปแทนเลนส์ตา หรือหน้าเลนส์ตาเพื่อปรับค่าสายตา ในปัจจุบันการแพทย์พัฒนามากขึ้น เลนส์ตาเทียมที่นำมาใช้จะมีขนาดเล็ก และสามารถพับได้ เพื่อให้สอดเข้าไปในแผลขนาดเพียง 3 มิลลิเมตร และเลนส์จะไปกางออกด้านใน ทำให้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่เมื่อเปลี่ยนเลนส์ตานั่นเอง
 

เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ประเภท 

เลนส์ตาเทียมมีกี่ชนิด? เลนส์แก้วตาเทียมที่พับได้ในปัจจุบันมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการปรับค่าสายตาที่แตกต่างกันไป เลนส์ที่ใช้โฟกัสระยะใกล้จะเหมาะกับผู้ที่ใช้อ่านหนังสือ ทำงานศิลปะ เย็บผ้า หรือแต่งหน้า เลนส์โฟกัสระยะกลาง เหมาะกับผู้ที่ต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ ส่วนเลนส์โฟกัสระยะไกล จะเหมาะกับการขับรถ หรือการชมวิวทิวทัศน์

ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาไม่ได้จำเป็นต้องเลือกเลนส์ระยะเดียว แต่สามารถเลือกได้หลายระยะตามการใช้งาน ส่วนราคาก็จะสูงขึ้นด้วย โดยชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมสามารถแบ่งออกอย่างละเอียดได้ 3 ชนิด ดังนี้
 

  1. Monofocal Intraocular Lens (Monofocal IOL)  หรือเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว เป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับมองไกล
  2. Multifocal Intraocular Lens (Multifocal IOL) หรือเลนส์ชนิดโฟกัสหลายระยะ โดยเลนส์นี้ จะมีประเภทย่อยลงไปอีก ได้แก่
    1. Bifocal IOL เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ จะเป็นโฟกัสระยะกลางและไกล หรือระยะใกล้และไกลก็ได้
    2. Trifocal IOL เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ เป็นเลนส์ที่สามารถโฟกัสได้ทั้งระยะใกล้ กลาง และไกล
  3. Toric Intraocular Lens (Toric IOL) หรือเลนส์แก้ไขสายตาเอียง เลนส์นี้จะแตกต่างจากเลนส์แบบอื่นที่ใช้ปรับค่าสายตา ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงและมีปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวร่วมด้วย สามารถเลือกเลนส์ Monofocal Toric IOL และ Multifocal Toric IOL ที่สามารถปรับทั้งค่าสายตาและแก้ปัญหาสายตาเอียงได้พร้อมๆกัน

 


 

วิธีดูแลดวงตาให้สุขภาพดี

วิธีดูแลรักษาเลนส์ตาและดวงตา
 

  • ไม่ใช้สายตามากเกินความจำเป็น พักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
  • ใส่แว่นกันแดด หรือหมวกปีกกว้างทุกครั้งที่อยู่ในที่แจ้ง เพื่อป้องกันดวงตาจากรังสียูวี ต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้โปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมสภาพจนเกิดเป็นโรคต้อกระจก
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารบำรุงสายตาอยู่เสมอ อย่างอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน
  • ไม่ใช้ยาหยอดตาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการควบคุมโดยแพทย์ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับดวงตาควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เพราะจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคต้อหินได้
  • งดสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หากอยู่ในที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกับดวงตา ควรสวมเครื่องป้องกันอยู่เสมอ
  • ควบคุมโรคที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นที่ดวงตาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น
  • รักษาความสะอาดบริเวณดวงตาอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
  • หากคันตาไม่ควรขยี้ตา ควรแก้ด้วยการหยดน้ำตาเทียม ล้างตาด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด หากทำแล้วไม่หาย หรือเป็นอย่างเรื้อรังให้รีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว
  • สังเกตการมองเห็นของตนเองบ่อยๆ โดยให้ปิดตาและมองรอบๆตัวด้วยดวงตาทีละข้าง หากมีความผิดปกติอย่างตามัว มองภาพไม่ชัด เหมือนมีหมอกบัง ภาพซ้อน เส้นตรงบิดเบี้ยว มองไม่เห็นภาพบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นจุดตรงกลางภาพการมองเห็น หรือภาพรอบนอก ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการ และดำเนินการรักษาต่อไป
  • พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อกระจกหรือโรคอื่นๆเกี่ยวกับดวงตา เนื่องจากโรคที่เกิดกับดวงตาส่วนหนึ่งสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ ผู้มีความเสี่ยงดังกล่าวควรเข้าตรวจดวงตากับจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้ง

 


 

ข้อสรุป

เลนส์ตาเป็นส่วนประกอบสำคัญของดวงตาเนื่องจากมีผลต่อการมองเห็นอย่างมาก หากเสียหาย ไม่มียาที่สามารถรักษาได้ จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเท่านั้น ทุกคนจึงจำเป็นต้องดูแลดวงตาและเลนส์ตาให้ดีอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคที่จะทำให้เลนส์ตาเสียหายในอนาคต

สงสัยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเลนส์ตา มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา  สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดเวลาพบแพทย์ได้ที่ Line@samitivejchinatown

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​