บทความสุขภาพ

วุ้นตาเสื่อม ภัยเงียบต่อการมองเห็น เสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตา

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 27 สิงหาคม 2567

วุ้นตาเสื่อม

คุณเคยเป็นหรือไม่? เมื่อมองไปบนท้องฟ้าหรือผนังสีสว่าง ตาจะเห็นเป็นหยากไย่ลอยอยู่บนอากาศ หรือบางครั้งอาจเห็นแสงสว่างวูบเวลาอยู่ในที่มืด สิ่งนี้เป็นสัญญาณของภาวะวุ้นตาเสื่อม ซึ่งมักเกิดในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็ใช่ว่าคนอายุน้อยจะไม่มีโอกาสเป็น เนื่องจากวุ้นในตาเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเริ่มเห็นจุดดำเยอะหรือแสงแฟรชวูบวาบ ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาวุ้นในตาเสื่อมให้เร็วที่สุด เพราะไม่แน่ว่าอาจมีโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาอื่น ๆ แอบแฝงอยู่


สารบัญบทความ


ภาวะวุ้นตาเสื่อม คืออะไร? แบ่งได้กี่ระยะ?

ภาวะวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) คือ อาการที่วุ้นในตาเสื่อมสภาพลง กลายสภาพเป็นน้ำที่หนืดน้อยลง และมีการหดรวมตัวกันเป็นรูปร่างต่าง ๆ จนไปบังแสงที่ตกกระทบยังจอตา ทำให้สามารถมองเห็นตะกอนได้ ซึ่งปกติแล้ววุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลใส โปร่งแสงอยู่บนจอตา คอยทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อในตา และสร้างสมดุลของความดันในดวงตาให้เกิดความคงที่อยู่เเสมอ โดยวุ้นในตาเสื่อม แบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

วุ้นในตาเสื่อมระยะเริ่มต้น

วุ้นในตาเสื่อมระยะเริ่มต้น จะมีอาการตาเห็นหยากไย่หรือมีลักษณะเส้น ๆ ลอยไปมาตามการกลอกตา จากการเสื่อมของเส้นใยไฟเบอร์ในตาที่มีการหดตัว และส่วนที่เป็นเจลใสกลายเป็นฝ้าขุ่น เมื่อมีแสงเข้ามามากจึงทำให้เกิดเงาขึ้น สามารถมีอาการในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ แต่หากไม่พยายามสังเกต มักจะมองไม่ค่อยเห็น ไม่เป็นอันตราย ยกเว้นมีภาวะแทรกซ้อนอย่างจอประสาทตาเสื่อมหรือฉีกขาด

วุ้นในตาเสื่อมระยะวุ้นตาแยกตัวจากจอประสาทตา

วุ้นตาเสื่อมระยะต่อมา จะมีอาการดึงรั้งจอประสาทตา ส่งผลให้มองเห็นแสงแฟรชสว่างวูบขึ้น โดยสามารถเห็นชัดเวลาอยู่ในที่มืดและเวลากลางคืน แม้อาการเหล่านี้จะหายได้เองเมื่อการดึงรั้งลดลง แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากวุ้นตาดึงรั้งจนทำจอประสาทตาฉีกขาด แล้วน้ำวุ้นตาที่เสื่อมไหลเข้าไปตามรอยขาด จะเกิดจอประสาทตาลอก ทำให้สูญเสียการมองเห็นไป


อาการวุ้นตาเสื่อม ภัยเงียบที่ควรสังเกต

อาการของวุ้นลูกตาเสื่อมมีได้หลายระดับ เริ่มตั้งแต่การสร้างความรำคาญ ไปจนถึงการทำให้สูญเสียการมองเห็น เพื่อไม่ให้ภัยเงียบดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาในอนาคต เราสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • มองเห็นหยากไย่ในตา หรือจุดดำลักษณะคล้ายแมลงตัวเล็ก ๆ ลอยไปมาเวลาอยู่ในที่มีแสงมาก เช่น มองไปบนท้องฟ้าตอนกลางวัน มองไปยังกำแพงสีสว่าง
  • เห็นแสงแฟรชหรือแสงฟ้าแลบสว่างวาบในตาถี่ ๆ ด้วยระยะเวลาอันสั้น มักเห็นได้ชัดเมื่ออยู่ในที่มืด
  • การมองเห็นมีความผิดปกติ อาจมีอาการสายตามัวลง หรือเห็นเงา
  • หากมีภาวะวุ้นตาเสื่อมรุนแรง อาจพบอาการแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกในวุ้นตา จนมองเห็นจุดดำเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือจอประสาทตาฉีกขาด จนเกิดอาการจอตาลอกและมองไม่เห็น 

สาเหตุวุ้นตาเสื่อม ทำโลกพร่ามัว ไม่แจ่มชัด

วุ้นในตาเสื่อม เกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย : เมื่ออายุมากขึ้นเส้นใยในดวงตาจะเสื่อมสภาพและหดตัว ถือเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดวุ้นตาเสื่อม
  • สายตาสั้น : แม้จะอายุน้อยแต่ก็เป็นวุ้นตาเสื่อมได้จากการมีสายตาสั้น และยังมีความเสี่ยงที่จะเสื่อมไวกว่าคนสายตาปกติถึง 2 เท่า
  • โรคเบาหวาน : ถือเป็นโรคที่กระทบกับดวงตาอย่างมาก เนื่องจากไปทำลายเส้นเลือดในดวงตา เมื่อมีเส้นเลือดงอกใหม่จะพุ่งเข้าวุ้นตาและทำให้เกิดจอตาลอก หากเป็นระยะท้าย เส้นเลือดใหม่จะพร้อมแตกในวุ้นตาทุกเมื่อ หากมีการไอแรง ๆ
  • เป็นต้อ : ไม่ว่าจะต้อกระจกหรือต้อหิน ในการรักษาต้องใช้วิธีผ่าเลนส์ตาที่เป็นต้อออก ส่งผลให้วุ้นเกิดการเคลื่อนตัว หลุดลอก แล้วจับตัวเป็นตะกอนขุ่นอยู่ในตา 
  • เลือดออกในวุ้นตา : โดยอาจมาจากการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ทำให้มองเห็นจุดดำเพิ่มขึ้น 
  • วุ้นตาและจอตาอักเสบ : อาจเกิดจากการติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ หรือเป็นมะเร็ง

อาการวุ้นตาเสื่อม เสี่ยงเกิดกับใครได้บ้าง?

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นวุ้นตาเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • คนที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีปัญหาวุ้นตาเสื่อม กระทบต่อการมองเห็น
  • คนที่มีค่าสายตาสั้น ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป 
  • คนที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตา
  • เคยเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกและต้อหิน โดยอาจมีภาวะวุ้นตาเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อต้อหายดีจึงเห็นจุดดำได้ชัดขึ้น หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดก็ได้เช่นกัน
  • เคยประสบอุบัติเหตุที่ดวงตา
  • มีการอักเสบที่ดวงตา

วุ้นตาเสื่อมแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

วุ้นตาเสื่อมเป็นอาการตามธรรมชาติ ไม่ต้องรับการรักษาวุ้นตาเสื่อมหรือพบแพทย์ก็หายเองได้ แต่หากเริ่มมีผลกระทบรุนแรงต่อสายตา ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยตรวจวุ้นในตาเสื่อมทันที ว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นหรือไม่ โดยสังเกตจากอาการเหล่านี้

  • มองเห็นตะกอนในตาหรือจุดดำเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มีม่านเงาสีเทาบดบังการมองเห็น หรือมีแสงแฟรชถี่ ๆ
  • สูญเสียการมองเห็นบางส่วน เห็นได้แคบลง

หากพบอาการเหล่านี้ หรือรู้สึกว่าวุ้นตาเสื่อมมากเกินไป จนรบกวนการใช้ชีวิต สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้แคบลง ไม่ชัดเจนมากขึ้น ควรรีบเข้ารับการตรวจและรักษา เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร


การตรวจวินิจฉัยภาวะวุ้นตาเสื่อม 

การวินิจฉัยเพื่อดูว่าผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาวุ้นในตาเสื่อมหรือไม่ แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติและอาการเบื้องต้น แล้วทำการตรวจที่ตาส่วนหน้าด้วยกล้อง Slit Lamp จากนั้นหยอดยาขยายรูม่านตา เพื่อตรวจบริเวณจอตาและวุ้นตาโดยละเอียด ว่าอาการวุ้นตาเสื่อมอยู่ในระยะใด มีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนตาอาจจะสู้แสงไม่ได้สักพัก ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถมาเอง และเตรียมแว่นกันแดดมาสวมใส่


รักษาภาวะวุ้นตาเสื่อม กำจัดสิ่งรบกวนการมองเห็น

รักษาวุ้นในตาเสื่อม

การรักษาโรควุ้นในตาเสื่อม หากมีอาการธรรมดา สามารถปล่อยให้หายเองได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากสมองสามารถปรับตัวให้เข้ากับจุดดำได้ และจะมองไม่เห็นไปเอง แต่หากมีอาการวุ้นตาเสื่อมรุนแรง พบรอยฉีกขาด แพทย์จะใช้เลเซอร์หรือการจี้ความเย็นในการรักษาวุ้นตาเสื่อม จะช่วยป้องกันไม่ให้จอประสาทตาหลุดลอกได้

แต่ถ้าจอประสาทตามีการหลุดลอกออกมาแล้ว วิธีรักษาวุ้นตาเสื่อมอีกวิธี คือ การผ่าตัดเพื่อนำวุ้นตาออกมา แล้วแทนที่ด้วยสารละลายในการคงรูปทรงของดวงตาเอาไว้ นอกจากนี้ยังควรรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นเหตุให้วุ้นตาเสื่อมร่วมด้วยจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด


วิธีป้องกันวุ้นตาเสื่อม ถนอมตาใสไว้ใช้จนแก่

ในปัจจุบัน มีกิจกรรมมากมายที่เราต้องใช้สายตาอย่างหนัก ทำให้วุ้นตาเสื่อมเป็นธรรมดา ควรหันมาดูแลถนอมสายตา เพื่อชะลอความเสื่อมให้เป็นไปตามวัย ไม่วุ้นตาเสื่อมก่อนเวลาอันควร

  • หากต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมีการใช้โทรศัพท์เป็นเวลานาน ควรสวมใส่แว่นตากรองแสงสีฟ้า เพื่อลดความเสื่อมของจอประสาทตาและโรควุ้นในตาเสื่อมก่อนวัย
  • ทานอาหารเสริมบำรุงวุ้นในตาเสื่อม เช่น เบต้าแคโรทีน, วิตามิน A C และ E, ลูทีน และอาหารเสริมที่มีสารสกัดจากบิลเบอร์รี่
  • รักษาสายตาสั้น ไม่ให้มีค่าเยอะขึ้น หากใส่แว่นแล้วปวดหัวหรือมองไม่ชัด ควรรีบไปตัดใหม่ เพื่อป้องกันความเสื่อมของวุ้นสายตาที่อาจมากขึ้นตามไปด้วย
  • รักษาความชุ่มชื้นให้ดวงตาอยู่เสมอ

สรุปวุ้นตาเสื่อม ปัญหากวนสายตาที่ไม่ควรนิ่งเฉย

วุ้นตาเสื่อม คือ อาการเมื่อมองไปยังแสงจ้าแล้วเห็นเป็นหยากไย่หรือจุดดำ ตามปกติวุ้นในตาเสื่อมหายได้เอง ยกเว้นแต่ว่าจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น จอประสาทตาฉีกขาด มีเลือดออกในวุ้นตา รบกวนต่อการมองเห็นอย่างรุนแรง จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นไป 

หากมีอาการดังกล่าวสามารถติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพื่อวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และเข้ารับการรักษาภาวะวุ้นตาเสื่อมได้อย่างทันท่วงที

ช่องทางการติดต่อ

  • Line : @samitivejchinatown
  • Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

References

Ashley Mauldin. (2020, November 24). Vitreous Degeneration What Is It, Causes, Severity, Treatment, and More. Osmosis. https://www.osmosis.org/answers/vitreous-degeneration

Retina Specialists of Alabama. (n.d.). Degenerative Vitreous Syndrome. https://www.retinaspecialistsmd.com/what-we-treat/degenerative-vitreous-syndrome/

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​