บทความสุขภาพ

รู้ทันต้อลม (Pinguecula) อาการเป็นอย่างไร? พร้อมสาเหตุและวิธีรักษา

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 23 มิถุนายน 2568

ต้อลม

อาการระคายเคืองตาอยู่บ่อยครั้ง อาจมีเยื่อขาว ๆ ในตา หรือรู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายอยู่ในตาตลอดเวลา อาจไม่ใช่เศษฝุ่นเข้าตาธรรมดา แต่อาจเกิดจาก “โรคต้อลม” หนึ่งในสี่โรคต้อที่สามารถพบได้บริเวณดวงตา แล้วต้อลมคืออะไร เกิดจากพฤติกรรมใด ต้อลมอันตรายไหม ต้อลมหายเองได้ไหม ต้อลมรักษายังไงหรือป้องกันอย่างไรได้บ้าง มาเรียนรู้กันได้ในบทความนี้


สารบัญบทความ


ต้อลม (Pinguecula)

ต้อลม (Pinguecula) คือโรคต้อชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนในเยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพ จนทำให้เยื่อบุตาขาวในส่วนนั้นก่อตัวกันเป็นก้อนหนาบริเวณตาขาว ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณหัวตา บางรายพบที่หางตา หรือเกิดพร้อมกันทั้งหัวตาและหางตาก็ได้

ต้อลมไม่ใช่โรคร้าย เพียงแต่จะทำให้รู้สึกระคายเคืองจนเกิดความรำคาญ ซึ่งหากระคายเคืองมากอาจทำให้เกิดการอักเสบที่ดวงตา และตาแดงได้ โรคต้อลมนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนมากจะพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และทำงานกลางแจ้งหรืองานที่ต้องตากแดดตากลมอยู่เสมอ


อาการโรคต้อลม

ต้อลม อาการ

โรคต้อลม อาการสามารถมองเห็นได้จากภายนอก ลักษณะคือที่ตาขาวจะมีก้อน แผ่น หรือปุ่มนูนสีขาวเหลือง ก่อตัวขึ้นบริเวณตาขาว บางครั้งก้อนต้อจะบวมแดง โดยก้อนต้อลมนี้จะทำให้รู้สึกเจ็บตา คันตา น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายอยู่ในดวงตาตลอดเวลา บางครั้งก็ตาแดง ตาบวม จากต้อลมอักเสบ หรือการขยี้ตาจากความรู้สึกระคายเคืองอันเกิดจากก้อนต้อลม


ต้อลมเกิดจากสาเหตุใด

ต้อลมเกิดจากอะไร? ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุต้อลมที่แน่ชัด แพทย์ปัจจุบันสันนิษฐานว่าต้อลมเกิดจากรังสียูวี (Ultraviolet) ที่มาจากแสงแดด โดยรังสียูวีจะทำให้เยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพจนเกิดเป็นโรคต้อลม นอกจากนี้ต้อลมยังพบมากในผู้ที่มีความเสี่ยง ดังนี้

  1. อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ดวงตาสัมผัสกับแสงแดด ฝุ่น ลมร้อน อากาศแห้ง ควัน และมลภาวะต่าง ๆ อยู่เสมอ
  2. ใช้สายตาอย่างหนักเป็นประจำ อย่างการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวัน
  3. ดวงตาสัมผัสกับสารเคมีที่ทำให้ดวงตาระคายเคืองเป็นเวลานานโดยไม่มีเครื่องป้องกัน
  4. ดวงตาแห้ง ระคายเคืองอยู่บ่อยครั้ง
  5. เป็นโรคเบาหวาน หรือคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคต้อลม

ต้อลมกับต้อเนื้อ แตกต่างกันอย่างไร

โรคต้อลม

ต้อเนื้อ ต้อลม

ลักษณะโดยทั่วไปของต้อลมคือจะเกิดขึ้นที่บริเวณตาขาวเท่านั้น ไม่มีส่วนที่ยื่นเข้าไปในตาดำ มีขนาดเล็ก เป็นก้อนสีขาวเหลือง ต้อลมเป็นกลุ่มก้อนเนื้อขนาดเล็ก จึงไม่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยง หรือมีแต่จะมองเห็นไม่ชัด เนื้อเยื่อโดยรวมจึงไม่มีสีอื่นนอกจากสีขาวเหลืองของก้อนต้อ

โรคต้อเนื้อ

ต้อเนื้อ

ส่วนโรคต้อเนื้อ ก้อนต้อจะมีขนาดใหญ่กว่าตาต้อลม ลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเยื่อสีขาวเหลืองเกาะอยู่บริเวณตาขาว หากเป็นหนักก้อนต้อจะยื่นเข้าไปในตาดำ ต้อเนื้อจะมีเส้นเลือดฝอยอยู่ในก้อนต้อ ทำให้ก้อนต้อโดยรวมมีสีชมพูอ่อน ต้อเนื้อจะขึ้นอยู่บริเวณหางตา หัวตา หรือขึ้นพร้อมกันทั้งสองตำแหน่งก็ได้ แต่จะพบมากที่บริเวณหัวตา

ความแตกต่างของโรคต้อลมและโรคต้อเนื้อ 

ต้อลมอันตรายไหม

ต้อเนื้อและต้อลมถือเป็นโรคเดียวกัน แต่ทั้งสองจะมีความแตกต่างที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ ต้อลมจะมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ บนเยื่อบุตาขาว ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า แต่ถ้าต้อลมมีการลุกลามจนเนื้อเยื่อขยายใหญ่ขึ้นเป็นแผ่น มีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น และเริ่มลุกลามเข้าสู่ตาดำ เมื่อนั้นจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นต้อเนื้อ ซึ่งมีขนาดใหญ่และหนากว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการระคายเคือง การอักเสบ และการติดเชื้อได้มากขึ้น


การวินิจฉัยโรคต้อลมโดยจักษุแพทย์

โรคต้อลมสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แพทย์จะวินิจฉัยจากการดูอาการของดวงตาภายนอกเป็นหลัก และอาจจะใช้เครื่องมือตรวจโรคตาอื่น ๆ ร่วมด้วย ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคอื่น ๆ อย่างการเป็นแผลที่กระจกตา ที่อาจจะทำให้เกิดก้อนเนื้อที่กระจกตาลักษณะคล้ายต้อลมหรือต้อเนื้อ

นอกจากนี้แพทย์จะซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของโรค อย่างเช่น เกิดอาการระคายเคืองตามานานเท่าไหร่แล้ว ทำงานอยู่กลางแจ้งตลอดเวลาหรือไม่ ทำงานกับสารเคมีที่มีไอระเหยโดยไม่สวมเครื่องป้องกันดวงตาหรือเปล่า กำลังป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ด้วยไหม นอกจากนี้แพทย์จะสอบถามด้วยว่าเคยมีคนในครอบครัวที่เป็นต้อลมหรือต้อเนื้อเหมือนกันหรือไม่ เพราะผู้เข้ารับการรักษาอาจจะได้รับโรคมาจากทางพันธุกรรม


วิธีรักษาต้อลม มีอะไรบ้าง

วิธีรักษาต้อลมให้หายขาด

ต้อลมไม่ใช่โรคร้าย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาต้อลมให้หายขาดได้ โดยทั่วไป วิธีรักษาต้อลมจะเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค และบรรเทาอาการระคายเคืองให้น้อยลง เพื่อลดโอกาสลุกลามกลายเป็นต้อเนื้อในอนาคต โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้ 

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และสวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี รวมถึงมลภาวะต่าง ๆ 
  2. ใช้น้ำตาเทียมเป็นประจำ จะช่วยลดอาการระคายเคืองได้ดี
  3. ไม่ขยี้หรือสัมผัสดวงตา
  4. งดสูบบุหรี่ เพราะมีสารเคมีอันตรายที่ทำให้อาการต้อลมแย่ลง
  5. ใช้ยาหยอดตาตามแพทย์สั่ง จะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ลดการอักเสบระคายเคืองได้ดี แต่ยาเหล่านี้ไม่มีผลทำให้ต้อลมหายไป 

ทั้งนี้ วิธีรักษาต้อลมด้วยการผ่าตัดหรือเลเซอร์ จะนิยมใช้เพื่อความสวยงามเท่านั้น การใช้วิธีรักษาต้อลมแบบธรรมชาติเช่นนี้ จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เพราะอาจก่อให้เกิดโรคอื่น เช่น ต้อกระจก ซึ่งทำให้เลนส์ตาขุ่น ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจกเท่านั้น หรือเสี่ยงเป็นต้อหิน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวรได้

การรักษาต้อลมด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดต้อเนื้อ หรือต้อลมจักษุแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดโดยการปลูกเนื้อเยื่อลงไปทดแทนเยื่อบุตาขาวที่เป็นต้อลมที่ถูกตัดออกไป เนื้อเยื่อที่จะใช้ปลูกเป็นเนื้อเยื่อหุ้มรก แล้วจะเย็บด้วยไหม หรือใช้กาว Fibrin Glue เชื่อมสมานแผลเนื้อเยื่อกับเนื้อเยื่อทึ่จะปลูกใหม่ ซึ่งหลังผ่าตัดอาจเกิดอาการระคายเคือง และวิธีนี้ช่วยลดโอกาสที่จะเป็นต้อลมซ้ำได้


ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อลม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อลมคือการเกิดต้อลมอักเสบ และต้อเนื้อ

ต้อลมอักเสบจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการระคายเคืองมากกว่าปกติ ตาแห้ง หรือขยี้ตาจนทำให้ก้อนต้อลมและดวงตาโดยรอบบวมและแดงขึ้นมา การรักษาในกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย คือให้หยอดน้ำตาเทียมเพื่อลดการระคายเคือง หลีกเลี่ยงการขยี้ตา ก็จะทำให้อาการอักเสบหายไปเอง

ส่วนต้อเนื้อจะเกิดขึ้นเมื่อก้อนต้อลุกลามจากการสัมผัสกับสาเหตุของโรคอยู่บ่อยครั้ง อย่างการปล่อยให้ดวงตาถูกรังสียูวีและสารเคมีอย่างต่อเนื่องหลังเป็นต้อลม หรือขยี้ตาจนทำให้ต้อลมอักเสบบ่อยครั้ง ในที่สุดต้อลมจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นต้อเนื้อ

หากก้อนต้อเนื้อลุกลามมากจนเข้าไปในตาดำและบังม่านตา อาจจะทำให้สายตาเอียง ตาพร่า ตาเข หรือสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ


แนะนำวิธีป้องกันต้อลม

วิธีป้องกันต้อลมคือการหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคให้ได้มากที่สุด โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้งเป็นเวลานาน หากจำเป็น ให้ใส่แว่นกันแดดกันลม หรือใส่หมวกปีกกว้างตลอดเวลาที่อยู่กลางแจ้ง
  2. หากตาเมื่อย ตาล้าจากการใช้สายตามากเกินไป ให้พักสายตาเป็นระยะ
  3. เมื่อรู้สึกระคายเคืองตา หรือตาแห้ง ไม่ควรขยี้ตา ให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น ส่วนการเลือกน้ำตาเทียมที่ต้องใช้เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้
  4. สังเกตลักษณะของดวงตา อาการคัน ระคายเคือง หรือการมองเห็นอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดปกติจะได้ไปพบแพทย์ได้เร็ว
  5. ตรวจดวงตากับแพทย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อเนื้อ หรือต้อลม ควรเข้าตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

รักษาต้อลมที่ไหนดี

จักษุแพทย์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

ต้อลมเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ดังนั้นผู้เข้ารับการรักษาอาจจะต้องเข้าติดตามอาการกับแพทย์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งตัวโรคยังทำให้เกิดความอึดอัดน่ารำคาญ การรักษาก็ต้องอาศัยความมีวินัยของตัวผู้เข้ารับการรักษาเอง ดังนั้นผู้เข้ารับการรักษาอาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย หรือเกิดความเครียดเมื่อมาพบแพทย์

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราให้ความสำคัญกับการบริการ เจ้าหน้าที่จะดูแลผู้เข้ารับการรักษาเหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา และรักษาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาไว้วางใจ และกังวลน้อยลงเมื่อต้องเข้าพบแพทย์ ให้การหาหมอพบแพทย์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับต้อลม

โรคต้อลมสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ 

ต้อลมรักษาหายไหม? ต้อลมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาจจะทำให้ก้อนต้อหายไปได้ด้วยการผ่าตัดลอกต้อลมหรือการใช้เลเซอร์ แต่ก็มีโอกาสที่ต้อจะกลับมาอยู่ดี หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคต้อลม

เป็นต้อลมใส่คอนแทคเลนส์ได้ไหม

สำหรับผู้ที่ตาเป็นต้อลมขนาดเล็กสามารถใส่ได้ แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์จะดีที่สุด เพราะจะทำให้ตาแห้ง ระคายเคืองมากขึ้น เกิดการอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงเป็นต้อเนื้อ ควรใส่แว่นหรือปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อพิจารณาการทำเลสิคแทน

รักษาต้อลมด้วยมะนาว ทำได้จริงหรือ

การรักษาต้อลมด้วยมะนาว ไม่สามารถทำได้จริง และยังเป็นอันตรายต่อดวงตาอย่างมาก เนื่องจากกรดในมะนาวจะไปกัดเยื่อบุตาขาว ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ตาอักเสบติดเชื้อ และอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ ควรใช้ยาหยอดตาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

รักษาต้อลมด้วยตัวเองได้ไหม

วิธีรักษาต้อลมด้วยตัวเองในเบื้องต้น ควรเน้นที่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดด ฝุ่น ควัน พยายามไม่ขยี้ตา ใช้น้ำเกลือเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา และการใช้น้ำตาเทียมตลอดวัน แม้ไม่มีอาการระคายเคือง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา เป็นต้น


สรุป ต้อลมไม่อันตราย แต่ควรรีบรักษาก่อนลุกลามเป็นต้อเนื้อ

ต้อลมไม่ใช่โรคที่อันตราย ไม่ได้มีผลกับการมองเห็น แต่สามารถก่อความรำคาญให้ผู้ป่วยได้มาก เมื่อรู้ตัวว่าอาจเป็นโรคต้อลมควรเข้ารับการรักษาเพื่อไม่ให้ก้อนต้อขยายตัว ลดอาการระคายเคือง เพื่อให้อาการดีขึ้นจนไม่แสดงอาการของโรคอีก

สงสัยว่าจะเป็นโรคต้อลม ต้อเนื้อ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อลม สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดเวลาพบแพทย์ได้ที่


References

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Dundar, H., Kocasarac, C. (2019). Relationship Between Contact Lens and Pinguecula. Wolters Kluwer. https://journals.lww.com/claojournal/Abstract/2019/11000/Relationship_Between_Contact_Lens_and_Pinguecula.8.aspx

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ