ต้อกระจกในผู้สูงอายุ ภัยทางสายตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
ต้อกระจกในผู้สูงอายุ คือ ภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่นมัวหรือเปลี่ยนสี ส่งผลให้การมองเห็นของผู้ป่วยพร่ามัวและลดลงตามระยะเวลา
ผ่าตัดต้อกระจก เป็นวิธีการรักษาต้อกระจกเพียงวิธีเดียว หลังการผ่าตัดจะทำให้ผู้ที่เคยเป็นต้อกระจกกลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง อีกทั้งเลนส์ในปัจจุบัน ยังสามารถรักษาอาการสายตายาวและสายตาเอียงได้อีกด้วย
แต่ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัด ผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่มักมีความกังวล ต้องการทราบว่าผ่าตัดต้อกระจก อันตรายหรือไม่ พักฟื้นกี่วัน ต้องนอนโรงพยาบาลไหม ผ่าตัดที่ไหนดี และราคาเท่าไหร่ ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์จึงรวบรวมคำถาม และตอบข้อสงสัยทั้งหมดในบทความนี้
การผ่าตัดต้อกระจก (Cataract Surgery) คือการรักษาต้อกระจกด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา โดยที่การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาทางเดียวของโรคต้อกระจก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาใดๆ ที่สามารถชะลออาการของโรค หรือทำให้ต้อกระจกหายไปได้ ซึ่งการผ่าต้อกระจกมี 2 วิธี จะเลือกใช้ตามอาการของผู้ป่วย แต่ก่อนจะรู้จักวิธีการผ่าตัดต้อกระจก ควรรู้จักต้อกระจกในเบื้องต้นเสียก่อน
ต้อกระจก (Cataract) เป็นความผิดปกติของดวงตาในส่วนเลนส์ตา (Lens) โดยเลนส์ตาของผู้ป่วยจะขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะใช้เวลาหลายปีตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อเลนส์ตาขุ่น แสงเข้ามาในเลนส์ตาได้ลดลง ทำให้ผู้ที่เป็นต้อกระจกมองเป็นไม่ชัด สายตาสั้นมากขึ้น ตามัว ตาพร่า เกิดภาพซ้อนเป็นต้น
ต้อกระจกเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งอายุมาก การติดเชื้อบางอย่างเมื่ออยู่ในครรภ์ จ้องแสงแดด แสงยูวีมากเกินไป หรือใช้สายตามากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้จะไปทำให้โปรตีนในเลนส์ตามีโครงสร้างทางเคมีที่เปลี่ยนไป จากสีใสจึงเริ่มขุ่นมัว ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเท่าเดิม
อาการของผู้ที่เป็นต้อชนิดนี้จะมีหลายระยะ ระยะแรกๆต้อกระจกจะไม่ส่งผลต่อการมองเห็นมากนัก สีขุ่นของเลนส์ก็ยังมองเห็นได้ไม่มาก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะสายตาสั่นลง หรือสายตาเอียงเพิ่มขึ้น จนทำให้ง่ายสายตาเปลี่ยนได้ง่าย ต้องเปลี่ยนแว่นเพื่อปรับค่าสายตาอยู่บ่อยครั้ง
หากอาการหนักขึ้น จนต้อกระจกเป็นไตแข็งด้านในจนมีสีขุ่นเห็นได้ชัด ระยะนี้จะเรียกว่า “ต้อสุก” หากต้อสุกแล้ว ภาพที่ผู้ป่วยมองเห็นจะขุ่นมัวมากจนมองเห็นได้ลำบาก ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น เมื่อถึงระยะนี้ จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเพื่อรักษาต้อกระจก
การรักษาต้อกระจกสามารถรักษาได้ 2 วิธีตามความรุนแรงของอาการต้อกระจก แพทย์จะพิจารณาระดับความรุนแรงของอาการแล้วจึงจะประเมินว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะเข้ารับการรักษาแบบใด
สาเหตุที่ต้องผ่าต้อกระจก เป็นเพราะต้อกระจกไม่มียาทาน หรือยาหยอดตาสำหรับรักษาอยู่เลย การผ่าตัดจึงเป็นทางรักษาเดียวของโรคต้อกระจก
ในระยะแรกที่ต้อกระจกยังไม่ส่งผลต่อการมองเห็นมาก ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ให้รักษาตามอาการไปก่อน แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นสายตาที่เหมาะกับค่าสายตาที่เปลี่ยนไป และใส่แว่นตัดแสง หากมองเห็นในที่สว่างได้ไม่ชัด หากต้อสุกจนมีผลกับการมองเห็นมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดต้อกระจกออก เพื่อให้กลับมามองเห็นได้ดีดังเดิม
คนไข้บางรายกังวลกับคำว่าผ่าตัด จึงมักมีคำถามว่าผ่าตัดต้อกระจก อันตรายไหม?
การผ่าตัดต้อกระจกนั้น เกิดแผลจากการผ่าตัดขนาดเล็กมาก ทำให้เสี่ยงกับการติดเชื้อได้น้อย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดก็สามารถรักษาได้ อีกทั้งการผ่าตัดต้อกระจกส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาสลบ ทำให้ความเสี่ยงจากการใช้ยาสลบนั้นไม่มีเลย การผ่าตัดต้อกระจกจึงไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด
การผ่าตัดต้อกระจกส่วนใหญ่จะใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น หลังผ่าตัดไม่ต้องนอนโรงพยาบาล พักฟื้นเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับมามองเห็นชัดได้ดังเดิม
วิธีการผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี คือวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่า และการผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ โดยที่การเลือกวิธีผ่าตัด จะขึ้นอยู่กับระยะอาการของโรค และลักษณะดวงตาของผู้เข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์จะเลือกเองว่าคนไข้แต่ละรายเหมาะกับการผ่าตัดแบบใด
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่า หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction) เป็นการผ่าเปิดเพื่อนำต้อกระจกออกมาโดยตรง แล้วจึงใส่เลนส์ตาเทียมอันใหม่เข้าไป เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก
แพทย์จึงนิยมใช้รักษาผู้ที่เป็นต้อกระจกระยะหลังๆ ต้อสุกมากจนไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบใหม่ได้ แต่การผ่าตัดต้อกระจกแบบนี้ต้องใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างนาน อาจจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ กว่าที่ดวงตาจะปรับตัวกับเลนส์ใหม่ได้ และกลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง
การผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) คือ การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ โดยจะทำให้เนื้อเลนส์ที่ขุ่นมัวหายไปด้วย “คลื่นอัลตราซาวด์” คลื่นตัวนี้จะไปสลายต้อกระจกออก เมื่อต้อกระจกส่วนที่แข็งหายไป แพทย์จะใช้เครื่องมือดูดเลนส์ตาส่วนที่เหลือออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมอันใหม่เข้าไป
การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ หรือการลอกตาต้อกระจกสลายต้อนี้ เป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาผ่าตัด และเวลาพักฟื้นน้อยมาก ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดหลังผ่านไปเพียง 2 - 3 วัน
นอกจากนี้ เลนส์ใหม่ที่ใส่เข้าไปสามารถรักษาค่าสายตายาวหรือสายตาเอียงได้ด้วย หรือที่เรียกว่า Phaco with IOL คือ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาค่าสายตาด้วยการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวโดยที่ไม่ทำเลสิคซ้ำ
ในการผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ หรือการสลายต้อกระจก เลนส์ตาเทียมที่จะใส่เข้าไปแทนที่เลนส์ตาเดิม เป็นเลนส์ตาแบบพับที่มีหลายชนิด แตกต่างกันไปตามการใช้งาน และค่าสายตาเดิมของผู้ป่วยก่อนเป็นต้อกระจก โดยชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม มีดังนี้
1. Monofocal Intraocular Lens (Monofocal IOL) หรือเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว เป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับมองไกล
2. Multifocal Intraocular Lens (Multifocal IOL) หรือเลนส์ชนิดโฟกัสหลายระยะ โดยเลนส์นี้ จะมีประเภทย่อยลงไปอีก ได้แก่
• Bifocal IOL เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ จะเป็นโฟกัสระยะกลางและไกล หรือระยะใกล้และไกลก็ได้
• Trifocal IOL เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ เป็นเลนส์ที่สามารถโฟกัสได้ทั้งระยะใกล้ กลาง และไกล
3. Toric Intraocular Lens (Toric IOL) หรือเลนส์แก้ไขสายตาเอียง
นอกจากนี้ ยังมีเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว หรือหลายระยะ ที่สามารถแก้ไขค่าสายตาเอียงด้วย จะเรียกว่า Monofocal Toric IOL และ Multifocal Toric IOL
ชนิดของเลนส์ | ระยะโฟกัส | การแก้ไขสายตาเอียง |
---|---|---|
เลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOL) | ระยะไกล | - |
เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ (Bifocal IOL) | ระยะใกล้และไกล / ระยะกลางและไกล | - |
เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ (Trifocal IOL) | ระยะใกล้ กลาง และไกล | - |
เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) | - | แก้ไขได้ |
เลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว แก้ไขสายตาเอียง (Monofocal Toric IOL) | ระยะไกล | แก้ไขได้ |
เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ แก้ไขสายตาเอียง (Bifocal Toric IOL) | ระยะใกล้และไกล / ระยะกลางและไกล | แก้ไขได้ |
เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ แก้ไขสายตาเอียง (Trifocal Toric IOL) | ระยะใกล้ กลาง และไกล | แก้ไขได้ |
ผู้ที่เข้าผ่าตัดต้อกระจกจะเหมาะกับเลนส์เทียมแบบไหน ขึ้นอยู่กับค่าสายตาก่อนการเป็นต้อกระจก การใช้งานสายตา และงบประมาณที่มีเป็นหลัก โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดให้
ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ต้องมีการตรวจประเมินจากแพทย์ก่อน
ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจเกี่ยวกับอาการของโรค การขยายของม่านตา และตรวจดูจอประสาทตา เพื่อเลือกวิธีการและขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้เข้ารับการรักษา
แพทย์ยังต้องสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัว และดูประวัติการรักษาว่าเป็นโรคอะไรอยู่ กำลังใช้ยาอะไร เพื่อประเมินความเสี่ยงของการผ่าตัด และให้งดยาบางตัวหากประเมินแล้วว่าอาจมีผลกับการผ่าตัด
นอกจากการตรวจดังกล่าว แพทย์ยังต้องตรวจประเมินสายตาก่อนการผ่าตัดต้อกระจกด้วย
การตรวจประเมินสายตาก่อนการผ่าตัดต้อกระจก ทำเพื่อให้แพทย์ทราบค่าสายตาของผู้เข้ารับการรักษา จะได้ทราบว่าควรต้องใช้เลนส์เทียมแบบใด เพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตายาวหรือสายตาเอียงหลังการผ่าตัดต้อกระจก
โดยแพทย์จะวัดความโค้งกระจกตาและความยาวลูกตาก่อนขยายม่านตา แล้วนำข้อมูลนี้ไปใช้คำนวณค่าสายตาเพื่อเลือกเลนส์ต่อไป
หลังปรึกษากับแพทย์ และนัดวัน เวลา และวิธีการผ่าตัดแล้ว แพทย์จะมีคำแนะนำเพื่อเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ดังนี้
• แพทย์จะให้ฝึกเอาผ้าคลุมหน้าและนอนหงายนิ่งๆเป็นเวลา 30 นาที โดยจะทำที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ได้ ที่ต้องฝึกแบบนี้เพราะในขณะผ่าตัดต้อกระจก ผู้เข้ารับการรักษาจะรู้สึกตัว และต้องนอนนิ่งๆเป็นเวลา 15 - 30 นาทีเพื่อผ่าตัด
• ในวันผ่าตัด ให้ใส่เสื้อผ้าที่ถอดง่าย สระผม ล้างหน้ามาจากบ้าน ไม่ควรทาครีม ทาแป้ง หรือแต่งหน้าในวันนั้น
• เช้าวันผ่าตัดลอกตาต้อกระจก สามารถทานอาหาร และยาที่ใช้เป็นประจำได้ตามปกติถ้าแพทย์ไม่ห้าม และไม่ได้ผ่าตัดโดยใช้ยาสลบ
• ตัดเล็บให้สั้น ห้ามทาเล็บในวันที่ผ่าตัดต้อกระจก เพราะแพทย์จะสังเกตความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดจากสีเล็บ
• ไม่ควรขับรถมาเอง ให้ผู้ดูแลมารับมาส่ง และดูแลหลังการผ่าตัด
• เตรียมแว่นกันแดดมาด้วยในวันผ่าตัด
• ก่อนเข้าผ่าตัด ให้ถอดของมีค่า เครื่องประดับ และฟันปลอมออกก่อน
การผ่าตัดต้อกระจก ไม่ว่าจะผ่าตัดด้วยวิธีไหน แพทย์จะใช้ยาชาเสมอ เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาไม่รู้สึกเจ็บขณะผ่าตัด ยาชานั้นจะเป็นยาชาเฉพาะที่แบบหยอด หรือเป็นแบบฉีดก็ได้ โดยแบบหยอดจะใช้กับการผ่าตัดสลายต้อแบบใหม่ ส่วนยาชาแบบฉีด จะใช้กับการผ่าตัดสลายต้อบางกรณี และกับการผ่าตัดเปิดแบบเก่า
ในคนไข้บางคนแพทย์จะใช้ยาสลบร่วมด้วย ในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรใช้
หากเป็นต้อกระจกทั้งสองข้าง ต้องการผ่าตัดรักษาทั้งสองข้าง แพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัดพร้อมกัน ควรผ่าตัดต้อกระจกทีละข้าง โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อให้อีกข้างหนึ่งหายดีเสียก่อน
1. แพทย์จะเปิดแผลที่ดวงตา ช่วงระหว่างกระจกตาบนตาดำ และตาขาว เปิดไว้ประมาณ 6 มิลลิเมตร แล้วจึงผ่าเอาต้อกระจกในส่วนที่แข็งมากออกไป
2. ใช้เครื่องมือ ดูดเลนส์ตาในส่วนที่เหลือออกทั้งหมด ให้เหลือแต่ถุงหุ้มเลนส์
3. นำเลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปในถุงหุ้มเลนส์ที่เหลือไว้ แล้วจึงเย็บปิดแผล
การผ่าตัดแบบเก่าใช้เวลาประมาณ 30 - 45 นาที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้ แต่การผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีนี้ดวงตาจะใช้เวลาปรับตัวกับเลนส์ใหม่ค่อนข้างนาน โดยจะกลับมามองเห็นชัดอีกครั้งภายใน 4 - 6 สัปดาห์
เลนส์เทียมที่ใช้จะมีแบบเดียว คือเลนส์โฟกัสระยะไกลระยะเดียว
1. แพทย์จะเปิดปากแผลขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เจาะถุงหุ้มเลนส์ แล้วสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปภายใน
2. เครื่องมือที่สอดเข้าไปจะปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ออกมา คลื่นนี้จะเข้าไปสลายต้อในส่วนที่แข็งออก
3. ใช้เครื่องมือดูดเลนส์ตาส่วนที่เหลือออกมา โดยจะเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้
4. ใช้เลนส์เทียมขนาดเล็กหรือเลนส์ชนิดพับที่สามารถเลือกระยะโฟกัส และรักษาค่าสายตาเอียงได้ ใส่เข้าไปในถุงหุ้มเลนส์
5. ไม่ต้องเย็บปิดแผล เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมาก
การผ่าตัดใช้เวลาเพียง 15 - 30 นาทีเท่านั้น คนไข้จะรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด แต่จะไม่รู้สึกเจ็บ ระหว่างผ่าตัดจะเหมือนถูกกดตาบ้าง และจะเห็นแสงไฟเคลื่อนที่ไปมาเป็นระยะ หลังผ่าตัดต้อกระจก คนไข้พักฟื้นเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้ยาสลบ
การผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากผู้เข้ารับการรักษาสามารถกลับมามองเห็นได้อย่างปกติหลังผ่านไปเพียง 2 - 3 วันเท่านั้น
แม้แผลจากการผ่าตัดต้อกระจกจะเล็กมาก แต่ก็เป็นแผลผ่าตัดที่เสี่ยงกับการติดเชื้อ เกิดอาการแทรกซ้อน หรือเกิดข้อผิดพลาดได้หากดูแลดวงตาไม่ดีหลังผ่าตัด ดังนั้นหลังการผ่าตัด ผู้ที่ผ่าตัดต้อกระจกจะต้องดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการดูแลตนเองในเบื้องต้น มีดังนี้
• แพทย์จะจ่ายยาทั้งยาหยอดและยาสำหรับทานให้กับคนไข้หลังผ่าตัด ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
• วันแรกหลังผ่าตัดควรนอนพักผ่อนให้มากที่สุด ควรนอนหมอนสูง ห้ามนอนตะแคงด้านที่เพิ่งผ่าตัดต้อกระจก สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้
• หลังการผ่าตัด 1 วัน แพทย์จะนัดเปิดตาเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย และทำความสะอาด
• ทำความสะอาดดวงตาทุกวันอย่างถูกวิธี
• ห้ามขยี้ตา ห้ามสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น และควรระมัดระวังอย่าให้น้ำ หรือเศษฝุ่นละอองต่างๆเข้าตาโดยเด็ดขาด
• ควรใส่แว่นกันแดดในตอนกลางวัน และใส่ที่ครอบตาหลังผ่าตัดในตอนกลางคืนอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลา 1 เดือน
• ล้างหน้าด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า ควรสระผมที่ร้าน หรือให้ผู้ดูแลสระผมให้เพื่อป้องกันน้ำเข้าตา
• ระวังอย่าไอ จาม หรือเบ่งอย่างรุนแรง
• อย่าออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือก้มศีรษะต่ำกว่าเอวอย่างน้อย 1 เดือน
• ใช้สายตาอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์ได้ตามปกติ แต่ถ้าแสบตาหรือปวดตา ควรหยุดพัก
• ถ้าก่อนผ่าตัดงดยาไป แพทย์จะเป็นผู้แจ้งว่าให้กลับไปใช้ได้เมื่อไหร่
• ถ้าเกิดความผิดปกติกับดวงตา อย่างการปวดตา ตาบวมแดง มีขี้ตามาก ภาพไม่ชัด ภาพซ้อนเอียง ควรแจ้งแพทย์และนัดพบโดยเร็วที่สุด
หลังจากผ่าตัดต้อกระจกทันที ผู้ป่วยอาจจะมีการระคายเคือง คันดวงตาบ้างเล็กน้อย แล้วจึงกลับมามองเห็นได้ชัดเป็นปกติ ซึ่งหลังผ่าตัดต้อกระจก 1 เดือน เพื่อให้เลนส์เทียมเข้าที่ ไม่ขยับเขยือนผิดที่ไป ผู้ป่วยจึงยังไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก กระเทือนไปถึงดวงตา
หลังจากผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาจจะพบว่าหลังผ่าตัดต้อกระจกแล้วมองไม่ชัด ตามัว หรือที่เรียกกันว่า Posterior Cassular Opacity (PCO) หรือ Secondary Cataract คือภาวะที่เซลล์ในถุงหุ้มเลนส์หลังเลนส์ตาเทียมก่อตัวหนาขึ้น ขุ่นขึ้น ทำให้เกิดอาการตาพร่า มองไม่ชัด
การเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา มีข้อปฎิบัติดังนี้
• ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้งก่อนจับดวงตาทุกครั้ง
• ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ บิดให้หมาดเล็กน้อย เช็ดจากหัวตาไปหางตาจนสะอาดทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง
• เช็ดตาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 4 เดือนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
วิธีใช้ยาหยอดตา มีข้อปฎิบัติดังนี้
• ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้งทุกครั้งก่อนใช้ยาหยอดตา
• อ่านวิธีใช้ของยาแต่ละขวดให้ละเอียด ยาบางชนิดควรเขย่าขวดก่อนใช้
• นอนราบ หรือนั่งเงยหน้าหลังพิงพนัก พยายามเอนศีรษะไปด้านหลัง
• เตรียมหยอดตาด้วยการดึงเปลือกตาล่างลงมาให้เป็นแอ่ง แล้วมองขึ้นด้านบน
• หยอดตาลงไปที่แอ่งนั้นตามจำนวนหยดที่แพทย์แนะนำ
• เมื่อหยอดตาเสร็จให้ปิดฝาเก็บโดยไม่ต้องเช็ดหัวหยด ในขณะหยอดตาก็ต้องระวังไม่ให้ปลายหัวหยดสัมผัสกับมือ ดวงตา เปลือกตา หรือขนตา เพราะจะทำให้ยาด้านในปนเปื้อน
• เมื่อหยอดตาแล้ว หลับตาค้างไว้ให้ยาซึมเข้าดวงตาสักครู่ ถ้ามียาเกินให้ใช้สำลีปลอดเชื้อเช็ดออก
• ถ้าต้องหยอดยาสองตัว ให้หยอดห่างกันประมาณ 3 - 5 นาที
การดูแลดวงตาหลังผ่าตัดต้อกระจก ผู้ป่วยควรใส่ที่ครอบดวงตาในเวลาน้อยอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน โดยควรทำความสะอาดที่ครอบดวงตาทุกวันด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน แล้วจึงล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า เช็ดให้แห้งก่อนนำมาครอบดวงตา
วิธีครอบตาหลังผ่าตัดเริ่มแรกผู้ใส่จะตัดพลาสเตอร์กาวให้ยาวประมาณ 5 นิ้ว 4 เส้น แล้วจึงเอาที่ครอบดวงตาหันด้านที่ตรงกว่าเข้าชิดจมูก แปะพลาสเตอร์ทับไปบนที่ครอบตาข้างละ 2 เส้นในแนวเฉียงไปหาแก้ม เป็นอันเรียบร้อย
ถึงแม้ว่าการผ่าตัดต้อกระจก จะเป็นวิธีการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและวิธีรักษาความสะอาดของแต่ละบุคคล โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
1. อาการติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจก อาการนี้พบได้น้อย แต่ก็สามารถพบได้หากไม่รักษาความสะอาด ถ้าหลังผ่าตัดมีอาการบวมแดง เจ็บ ขี้ตาเยอะกว่าปกติมาก อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้พบแพทย์โดยเร็ว
2. จุดรับภาพบวม พบได้บ่อยหลังการผ่าตัดต้อกระจก พบร่วมกับอาการอักเสบหลังการผ่าตัด เมื่อจุดรับภาพบวม จะส่งผลให้ตามัว ภาพเบี้ยว มักจะเกิดหลังจากผ่าตัด 1 - 2 สัปดาห์ และสามารถหายเองได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน
3. ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น มักจะเกิดหลังจากผ่าตัดไปแล้วหลายปี ทำให้มองเห็นไม่ชัดอย่างเดิม ภาพขุ่นมัวลง หากเกิดอาการนี้ให้นัดพบแพทย์ แพทย์จะรักษาโดยการใช้ “Yag Laser” ยิงที่ดวงตาให้แสงเข้าไปในตาได้ดีขึ้น ใช้เวลายิงเลเซอร์เพียง 5 นาที พักสายตา และหยอดยาที่แพทย์ให้ประมาณ 1 - 2 วันก็สามารถกลับมาใช้สายตาได้ตามปกติ
ผ่าตัดต้อกระจก ราคาเท่าไหร่? วิธีการคิดราคาเป็นอย่างไร?
ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราคิดค่าการผ่าตัดต้อกระจกตามชนิดเลนส์เทียมที่เลือกเปลี่ยนในการผ่าตัด โดยค่าผ่าตัดตามตารางนี้ เป็นราคาที่รวมค่าบริการทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว
ทางเลือกการรักษาต้อกระจก (แบบใหม่) |
ราคาปกติ (บาท) |
---|---|
1. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสระยะเดียว 1 ข้าง (Phaco + IOL) |
46,000 |
2. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสระยะกลาง - ไกล 1 ข้าง (Monofocal Eyhance) |
49,900 |
3. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสระยะเดียวและแก้ไขสายตาเอียง 1 ข้าง (Phaco + Troric IOL) |
66,000 |
4. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสหลายระยะ 1 ข้าง (Phaco + Multifocal IOL (Restor)) |
82,000 |
5. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสหลายระยะและแก้ไขสายตาเอียง 1 ข้าง (Phaco + Multifocal Troric IOL (Restor)) |
96,000 |
• ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาจะต้องพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยก่อน
• ในกรณีที่ต้องใช้ยา เวชภัณฑ์ วัสดุอื่นนอกเหนือจากรายการที่กำหนด ทางโรงพยาบาลจะคิดค่าใช้จ่ายส่วนเกินตามอัตราปกติ
• ราคาสำหรับผ่าต้อกระจกในตารางนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับส่วนลดอื่นๆ ของทางโรงพยาบาลได้
• โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
• ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์เท่านั้น
• สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายตรงโทร 02-118-7848
การผ่าตัดต้อกระจกควรเลือกโรงพยาบาลที่ดีที่สุด คนไข้ไว้ใจที่สุด และรู้สึกสบายใจที่จะเข้ารับการรักษามากที่สุด เพราะสิ่งที่มักมาพร้อมกับการผ่าตัดดวงตาคือความเครียด
ดวงตาเป็นอวัยวะรับการมองเห็น ที่เพียงมีอะไรอยู่ใกล้ตาก็สามารถทำให้ตกใจ หรือเครียดได้ การผ่าตัดดวงตาจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกยังต้องใช้ผ้าคลุมหน้า ปิดตาหนึ่งข้าง และนอนนิ่งอยู่บนเตียงเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง โดยที่คนไข้รู้สึกตัวตลอดเวลา
ในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดต้อกระจกไม่อันตราย และผลการรักษาหลังการผ่าตัดนั้นดีมาก แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้คนไข้หลายคนเกิดความเครียดดนต้องใช้ยาสลบระหว่างผ่าตัด ดังนั้นที่สิ่งสำคัญมากของการเลือกโรงพยาบาลในการผ่าตัดต้อกระจก จึงเป็นการเลือกโรงพยาบาลที่คนไข้สบายใจที่จะรักษามากที่สุด
ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราให้ความสำคัญกับการบริการ และความสบายใจของคนไข้เมื่อต้องเข้ารับบริการเป็นหลัก การบริการของเราจะทำให้การหาหมอพบแพทย์ และการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
การรักษาทุกขั้นตอน ทำโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ครบครัน ทันสมัย และได้มาตรฐานระดับสากล
การผ่าตัดต้อกระจกนั้นไม่เจ็บเลย เพราะแพทย์ใช้ยาชาในการผ่าตัดทุกกรณี ดังนั้นระหว่างการผ่าตัดจะไม่เจ็บอย่างแน่นอน อาจจะรู้สึกถึงแรงกดที่ดวงตาบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เจ็บแต่อย่างใด
ผ่าตัดต้อกระจก กี่วันหาย?
ผ่าตัดต้อกระจกพักฟื้นเพียง 1 วันก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแค่ต้องระมัดระวังการใช้ชีวิต ดูแลความสะอาดของดวงตา และใช้ยาที่แพทย์จ่ายให้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ปกติ
ส่วนดวงตานั้น จะปรับตัวกับเลนส์ใหม่ และมองเห็นได้ชัดในเวลา 2 - 3 วัน หากผ่าตัดด้วยวิธีสลายต้อแบบใหม่ ส่วนการผ่าตัดแบบเก่าจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์
หลายๆ คน อาจสงสัยว่า หากเข้ารับการผ่าต้อกระจกกี่วันล้างหน้าได้หรือโดนน้ำได้? คำตอบก็คือ ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดต้อกระจกไม่ควรให้น้ำโดนดวงตา เป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ต้องการทำความสะอาดบริเวณใบหน้า หรือรอบ ๆ ดวงตา อาจจะเลี่ยงการล้างหน้าด้วยน้ำแบบปกติก่อน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด เช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหน้าแทน
ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน คนไข้ควรเลี่ยงการขับรถในวันแรกหลังผ่าตัด หากระหว่างขับรถไม่ได้มีแรงไปกระเทือนกับดวงตา และผ่าตัดขนาดเล็ก ไม่มีภาวะแทรกซ้อนคนไข้ก็สามารถขับรถได้ในวันถัดมา
การผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแค่พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้
ในกรณีที่ต้องใช้ยาสลบ เมื่อผู้เข้ารับการรักษาฟื้นแล้ว ต้องให้แพทย์ดูอาการก่อน
ถ้าหลังฟื้นขึ้นมาปกติดี แพทย์จะให้กลับบ้านได้ แต่ผู้เข้ารับการรักษาต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผลข้างเคียงของยาสลบหายไปก่อน
แต่หากหลังจากฟื้นแล้วแพทย์เห็นว่ามีความผิดปกติ ผู้เข้ารับการรักษาต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรอดูอาการ หากไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้วแพทย์จึงให้กลับบ้านได้
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก จะสามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนกับคนทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดต้อกระจกแล้วจะไม่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยภาพหลังจากฝังเลนส์แก้วตาเทียมแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด
ผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี คือผ่าตัดแบบเก่า กับผ่าตัดแบบใหม่ การผ่าตัดแบบเก่าจะรักษาด้วยการผ่าเอาต้อกระจกออกมาโดยตรง ส่วนการผ่าตัดแบบใหม่จะใช้คลื่นอัลตราซาวน์เข้าไปสลายต้อกระจกในส่วนที่แข็งออก การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่นี้เป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากเห็นผลเร็วกว่า
ผู้ที่สนใจผ่าตัดต้อกระจกกับทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดเวลาพบแพทย์ได้ที่ Line@samitivejchinatown
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)