บทความสุขภาพ

PrEP และ PEP ตัวช่วยในการลดโอกาสของการติดเชื้อ HIV

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 14 พฤษภาคม 2567

รู้จักกับ PrEP และ PEP

ปัจจุบัน เชื้อ HIV และโรคเอดส์ยังคงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีความพยายามในการรณรงค์ป้องกันต่อเนื่องมานานหลายปี แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ยังคงสูงขึ้น หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขจึงมุ่งหาวิธีควบคุมและลดจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งนอกเหนือจากวิธีป้องกันแบบดั้งเดิม เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การมีคู่นอนคนเดียว หรือการไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นแล้ว ทุกวันนี้ยังมีตัวช่วยใหม่ในการป้องกันเชื้อ HIV ที่ได้รับความนิยม นั่นคือ การรับประทานยา PEP และ PrEP คือยาต้านไวรัส ซึ่งช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ HIV ได้

โดยทั้งยา PrEP กับยา PEP ถือเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HIV แม้จะยังไม่ใช่ยาที่สามารถป้องกันได้แบบ 100% แต่ก็ถือเป็นตัวเลือกใหม่ที่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจและสบายใจมากขึ้นในการป้องกันการได้รับเชื้อ 


สารบัญบทความ


PrEP และ PEP คืออะไร? ต่างกันอย่างไรบ้าง เช็กเลย!

PrEP และ PEP คือยาต้านไวรัส HIV ที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่ยาทั้งสองแบบมีวิธีและการใช้ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) หรือเพร็พ คือ ยาป้องกันเชื้อ HIV แบบล่วงหน้า จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือรู้ล่วงหน้าว่าอาจเจอสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น คนที่มีคู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อ HIV คนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงคนที่ใช้ยาเสพติดแบบฉีด ซึ่งคนที่ใช้ยา PrEP ต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ยา PrEP สามารถป้องกัน HIV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม ยา PrEP ไม่สามารถป้องกันโรคอื่น ๆ อย่างหนองใน โรคซิฟิลิส หรือ HPV มะเร็งปากมดลูกได้

  • PEP (Post-Exposure Prophylaxis) เป็นยาป้องกันเชื้อ HIV แบบเร่งด่วน เหมาะกับการใช้ในกรณีที่สงสัยว่าอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV มาแล้ว เช่น กรณีถุงยางอนามัยแตก มีอุบัติเหตุเข็มฉีดยาทิ่ม หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยถ้าจะใช้ยา PEP จะต้องเริ่มรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสความเสี่ยง และรับประทานยาต่อเนื่อง 28 วัน

ใครบ้างที่ควรทาน PrEP และ PEP?

อย่างที่ได้ทราบไปแล้วว่า ยา PEP และยา PrEP เป็นตัวช่วยในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HIV ได้ ซึ่งยาแต่ละชนิดนั้นก็เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ยา PrEP เหมาะสำหรับคนดังต่อไปนี้

  • คนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เป็นระยะเวลานาน 3 เดือน
  • คนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อ HIV
  • คนที่มีคู่นอนหลายคน
  • คนที่เคยใช้ยา PEP บ่อยครั้ง
  • กลุ่มชายรักชาย

ยา PEP เหมาะสำหรับคนดังต่อไปนี้

  • คนที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่รู้จักหรือเพิ่งรู้จัก
  • คนที่อาจได้รับความเสี่ยงมาแล้วภายในเวลา 72 ชั่วโมง
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยที่แตกหรือฉีกขาด
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มที่ปนเปื้อนเชื้อ HIV ทิ่ม
  • คนที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

วิธีการใช้ยา PrEP

ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาต้าน HIV ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับ โดยยา PrEP 1 เม็ดจะประกอบด้วยตัวยารวม 2 ชนิด (Fix Dose Communication) โดยเพื่อให้ยาสามารถใช้ได้และเห็นผลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ผู้ใช้ควรที่จะต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องตามวิธีและระยะเวลาที่เหมาะสม โดยในหัวข้อนี้ เราจะมาเจาะลึกกันว่าการรับประทานยา PrEP แต่ละประเภท มีหลักการอย่างไรบ้าง 

Daily PrEP

สำหรับการใช้ยา PrEP ประเภท Daily PrEP นั้น คนที่จะเริ่มรับประทานยาชนิดนี้ควรจะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงการทำงานของตับและไตโดยการเจาะเลือด เพื่อเช็กความเหมาะสมของร่างกาย และการเลือกสูตรยาที่เหมาะสม โดยยา PrEP ชนิดนี้จำเป็นต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องทุกวันในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้อย่างเพียงพอ

โดยยา Daily PrEP ควรรับประทานอย่างน้อย 7 วันก่อนไปเจอความเสี่ยงหรือสัมผัสกับการติดเชื้อ และจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะพ้นจากความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการให้บริการทางเพศ (Sex Worker) ก็จะต้องรับประทานยา Daily PrEP เป็นประจำ ซึ่งหลังจากหมดความเสี่ยงแล้ว ยังควรรับประทานให้ต่อเนื่องอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่วงเวลานั้น

On Demand PrEP 

การใช้ยา On Demand PrEP หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ยา on PrEP คือยา PrEP อีกประเภทที่มีวิธีรับประทานแตกต่างจากยา PrEP แบบแรก โดยวิธีรับประทานยาออนเพร็พคือ รับประทานยาล่วงหน้าประมาณ 2-24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเจอหรือสัมผัสกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ และหลังจากสัมผัสกับความเสี่ยงนั้น ๆ แล้วจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องทุกวัน วันละ 1 เม็ด และรับประทานเป็นประจำต่อเนื่องอีกประมาณ 2 วันหลังจากหมดความเสี่ยงแล้ว เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ที่อาจไม่ปลอดภัยในคืนวันอาทิตย์ แนะนำให้รับประทานยา On Demand PrEP ครั้งแรกในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ 1 เม็ด และรับประทานทุกวันวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกัน และถ้าไม่ได้มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์แล้วในวันอังคาร ก็ควรรับประทานต่อไปอีก 2 วัน คือวันพุธและวันพฤหัสบดี แล้วจึงหยุดรับประทานยา 


วิธีการใช้ยา PEP

นอกจากยา PrEP แล้ว อีกหนึ่งตัวช่วยในการป้องกันเชื้อ HIV คือ ยา PEP นั่นเอง โดยเพื่อให้ยา PEP มีประสิทธิภาพเต็มที่ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV จึงควรรับประทานยาโดยเร็วที่สุดภายหลังจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยการรับประทานยายิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้นเท่านั้น โดยการรับยา PEP ให้ได้ผลมากที่สุด ควรรับประทานยาในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้มากกว่า 80%

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มรับประทานยา PEP นั้น ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้แพทย์พิจารณาได้อย่างถูกต้องว่ามีความจำเป็นในการรับยา PEP หรือไม่และควรรับประทานอย่างไร 

ซึ่งแพทย์จะส่งตรวจ HIV ก่อน เพราะถ้าหากมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายอยู่แล้วก่อนหน้านั้น ยา PEP จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้แพทย์จะขอตรวจไวรัสตับอักเสบบี และการทำงานของตับและไตเพิ่มด้วย เนื่องจากยา PEP อาจมีผลต่อไตและตับ โดยหลังจากรับประทานยาครบ 28 วันแล้ว ขอแนะนำให้ทำการตรวจเลือดเพื่อค้นหาเชื้อ HIV อีกครั้งในช่วงเวลา 1 เดือนและ 3 เดือน ระหว่างรับยา PEP 


ผลข้างเคียงจากยา PrEP และ PEP

ในช่วงเริ่มต้นของการใช้ยา PrEP และ PEP อาจเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ โดยมักจะเกิดในช่วงแรกเมื่อเริ่มใช้ยา อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะเป็นเพียงระยะสั้นและไม่รุนแรงมากนัก โดยคนที่รับประทานยายังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยมีผลข้างเคียงระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • คลื่นไส้ : รู้สึกไม่สบายท้อง อยากอาเจียน อาการนี้มักเกิดช่วงเริ่มต้นแต่จะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ แนะนำให้รับประทานยาพร้อมมื้ออาหาร
  • ปวดหัว : อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น นอนไม่พอ หรือขาดน้ำ แต่บางครั้งยา PrEP ก็ทำให้ปวดหัวได้ หากปวดหัวไม่หาย ปวดรุนแรง หรือกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ โดยอาการปวดหัวมักจะหายไปภายใน 1 เดือนหลังเริ่มยา
  • ท้องเสีย : บางคนอาจถ่ายบ่อยกว่าปกติ อุจจาระเหลว อาการนี้มักหายไปเองภายใน 3-4 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ ยังอาจมีผลข้างเคียงระยะยาว แต่พบเห็นได้ไม่บ่อยครั้ง ดังนี้

  • สุขภาพตับ : ในบางรายยา PrEP อาจส่งผลต่อตับ หากสังเกตเห็นตาขาวหรือผิวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีจาง เบื่ออาหาร นานเกิน 1 อาทิตย์ ควรรีบแพทย์ทันที
  • สุขภาพไต : ยา PrEP สามารถส่งผลกระทบต่อไตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีการทำงานของไตที่ผิดปกติ ซึ่งปกติแพทย์จะตรวจไตก่อนให้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงอันตราย แต่อย่างไรก็ตาม หากทานอาหารเสริมที่มีครีเอทีนด้วย ควรแจ้งแพทย์ทันที เนื่องจากอาจส่งผลต่อผลเลือด
  • มวลกระดูก : ในบางราย ยา PrEP อาจทำให้มวลกระดูกน้อยลง เสี่ยงกระดูกหักง่าย แต่หากหยุดยา มวลกระดูกก็จะกลับมาเป็นปกติ 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติหรือรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการดูแลเพิ่มเติมโดยเร็ว


PrEP และ PEP สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้มากแค่ไหน?

PrEP ป้องกัน HIV

แม้เป็นตัวยาที่ประสิทธิภาพสูง แต่ทั้งยา PrEP และยา PEP ก็ยังไม่ใช่เกราะที่ป้องกันการติดเชื้อได้แบบ 100% ดังนั้น การใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ไปด้วยหรือมีคู่นอนเพียงคนเดียว จึงสามารถลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยได้มากขึ้น ประกอบกับการปรึกษาแพทย์และรับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งยาทั้งสองชนิดสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การป้องกันการติดเชื้อ HIV จาก PrEP

การรับประทานยา PrEP ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและถูกต้องภายในระยะเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ตัวยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HIV โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ได้ถึง 99% ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพที่สูงมาก 

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา PrEP ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจากการใช้เข็มฉีดยายังมีไม่มากนัก แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า การรับประทานยา PrEP สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ลงได้อย่างน้อยประมาณ 74% หากได้รับยาครบตามคำแนะนำในการใช้ยา

นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบว่า มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยา PrEP จำนวนประมาณ 1 ล้านคนจากทั่วโลก พบว่ามีผู้ติดเชื้อ HIV ในจำนวนน้อยมาก เพียงประมาณ 20 รายเท่านั้น ซึ่ง 10 รายในจำนวนนี้เป็นคนที่ใช้ยา PrEP ชนิดเม็ด แบบรับประทาน (TDF/emtricitabine)

การป้องกันการติดเชื้อ HIV จาก PEP

นอกจากยา PrEP แล้ว ยา PEP ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HIV เช่นกันเมื่อใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งการเริ่มใช้ยา PEP เร็วที่สุดหลังจากการสัมผัสเชื้อ HIV เป็นสิ่งสำคัญ โดยประสิทธิภาพที่แท้จริงของยา PEP ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยากต่อการวัดผล แต่การวิจัยแบบสังเกตการณ์มีข้อมูลว่ายา PEP สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ลงได้มากกว่า 80% หากรับประทานยา PEP เป็นประจำทุกวันเป็นระยะเวลา 28 วันติดต่อกัน และอาจมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าไม่มีการสัมผัสกับเชื้อเพิ่มเติม

สำหรับอัตราความล้มเหลวหรือความไม่สำเร็จจากการใช้ยา PEP พบว่า จากผู้รับยา 10 ราย มีจำนวนเพียง 1 รายเท่านั้นที่ติดเชื้อ HIV โดยคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 0.37% ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมีสาเหตุเกิดจากการรับประทานยาที่ไม่เพียงพอ 


เราสามารถรับยา PrEP และ PEP ได้จากที่ไหน

เมื่อมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV หรือจำเป็นต้องป้องกันโรคเอดส์ในกรณีฉุกเฉิน เราสามารถติดต่อขอรับยา PrEP และยา PEP ได้จากที่ไหนบ้าง?

  • โรงพยาบาลรัฐ : โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลประจำจังหวัดของทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
  • คลินิกนิรนาม : คลินิกเฉพาะทางด้าน HIV 
  • สถานพยาบาลเอกชน : โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม
  • หน่วยบริการ NGO : องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับ HIV

โดยไม่ว่าจะรับยา PrEP และยา PEP ที่สถานที่ใดในข้างต้นก็ตาม ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อประเมินความเสี่ยง ตรวจเลือดหาเชื้อ HIV เพื่อตรวจการทำงานของตับและไต จากนั้น แพทย์จึงจะสั่งยาและอธิบายวิธีการรับประทานให้อย่างเหมาะสม


สรุปเรื่อง PrEP และ PEP ทำความเข้าใจก่อนใช้เพื่อการป้องกันที่ดีที่สุด

ยา PrEP และยา PEP เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ HIV โดย PrEP สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ล่วงหน้า โดยป้องกันเชื้อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ถึง 99% เมื่อใช้ตามที่รับประทาน ในขณะที่ PEP ก็เป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิภาพหลังจากการสัมผัสกับสิ่งที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ได้มากกว่า 80%

สำหรับใครที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PrEP และ PEP หาที่ฉีดวัคซีน HPV หรือเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ซึ่งมีทีมแพทย์มีความเชี่ยวชาญและพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อผ่าน Line : @samitivejchinatown หรือโทร 02-118-7893


References

CDC. (2019). PrEP. Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/hiv/basics/prep.html

NHS. (2023, March 13). About Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP). Nhs.uk. https://www.nhs.uk/medicines/pre-exposure-prophylaxis-prep/about-pre-exposure-prophylaxis-prep/

NIH. (2021, August 10). Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) | NIH. Hivinfo.nih.gov. https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/pre-exposure-prophylaxis-prep

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​