บทความสุขภาพ

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ น่ากลัวไหม แบบไหนต้องรับการรักษา?

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 25 สิงหาคม 2567

ก้อนไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีหน้าที่ให้อวัยวะต่าง ๆ สามารถทำงานเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การสังเกตภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และการคลำหาก้อนไทรอยด์ด้วยตัวเองก็อาจไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณมีหรือไม่มีความผิดปกติ แต่หากคุณคลำเจอก้อนไทรอยด์แนะนำให้เข้ารับการตรวจโดยแพทย์อีกครั้ง เพื่อคัดกรองภาวะไทรอยด์ที่ไม่อันตรายและที่เป็นอันตราย ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีรักษากันต่อไป


สารบัญบทความ


ทำความรู้จักต่อมไทรอยด์ คืออะไร?

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) คือต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายผีเสื้อกางปีกอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ ไทรอยด์ถูกจัดเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของระบบต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่สำคัญคือการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญพลังงาน ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก 

ความผิดปกติของระบบไทรอยด์จะส่งผลต่อระบบดังกล่าว ซึ่งการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะสามารถสังเกตได้จากอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบเหล่านี้ เช่น ใจสั่น น้ำหนักขึ้นหรือลง เหนื่อยง่าย และหลายครั้งมักคลำพบก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ 

อย่างไรก็ตาม การคลำเจอก้อนที่คอไม่ได้แสดงถึงภาวะต่อมไทรอยด์ที่เป็นอันตรายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะก้อนที่คออาจเป็นลักษณะอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์ หรืออาจเป็นก้อนเนื้อไทรอยด์ชนิดไม่อันตรายก็ได้


เช็กลิสต์ ลักษณะอาการก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร

โดยปกติแล้ว หากต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติมักจะสังเกตเจอก้อนไทรอยด์ที่คอ ซึ่งลักษณะก้อนไทรอยด์นั้นอาจจับเจอได้ทั้งก้อนนิ่มและก้อนแข็ง หากเงยหน้าแล้วกลืนน้ำลายจะเห็นว่ามีก้อนขยับขึ้นลง หากก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่มากอาจทำให้หายใจลำบาก กลืนลำบาก และมีภาวะสำลักอาหารอยู่บ่อยครั้ง แต่ในบางรายที่ก้อนไทรอยด์ยังมีขนาดเล็กอาจใช้วิธีคลำและสังเกตด้วยตาเปล่าลำบาก จึงต้องใช้การตรวจวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวนด์ไทรอยด์เพื่อให้เห็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์ชัดเจน


ก้อนไทรอยด์ เกิดจากสาเหตุใด 

หากพบเจอก้อนไทรอยด์ที่คอ อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) อาจเกิดขึ้นจากโรคเกรฟส์ (Graves' Disease) ที่เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ทำให้ต่อมไทรอยด์โตและมีผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เกิน หรือเกิดจากเนื้องอกไทรอยด์ที่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ ทำให้ปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมากเกินไป 
  • ภาวะขาดไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยไป (Hypothyroidism) มักเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนหน้าไฮโปทาลามัส หรือเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายต่อมไทรอยด์ (Hashimoto's Thyroiditis) ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผิดฮอร์โมนได้น้อยลงจนเป็นเหตุให้ต่อมไทรอยด์โต
  • ภาวะขาดไอโอดีน หากร่างกายขาดไอโอดีน จะทำให้ร่างกายต้องผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเพียงพอ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์โต
  • เนื้องอกไทรอยด์ชนิดที่ไม่เป็นมะเร็ง มักเกิดจากเซลล์ต่อมไทรอยด์เจริญขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้ขนาดของก้อนไทรอยด์ใหญ่ขึ้น แต่เนื้องอกนี้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ จึงไม่เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็ง
  • ก้อนซีสต์ไทรอยด์ เป็นก้อนไทรอยด์ที่มีลักษณะถุงน้ำเกิดขึ้นอยู่ที่ไทรอยด์ เมื่อสัมผัสอาจคลำไม่เจอหรือเจอเป็นก้อนนิ่ม ๆ แต่ก้อนซีสต์นั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
  • มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid Carcinoma) มาจากเนื้องอกไทรอยด์เกิดการเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถพบได้หลายชนิด หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่น ๆ มากขึ้น

ก้อนไทรอยด์ เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

ก้อนไทรอยด์มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย แต่จากสถิติแล้วมักพบคนกลุ่มนี้มีโอกาสมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ดังนี้

  • ผู้หญิง และผู้สูงอายุ 
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • ผู้ที่ขาดไอโอดีน
  • ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับกัมมันตรังสี

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย ก็แนะนำให้รับการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจคัดกรองโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ เพื่อป้องกันโอกาสที่ก้อนไทรอยด์จะพัฒนาไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งไทรอยด์ที่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายทั้งระบบ


ต้องรู้! ก้อนไทรอยด์ แบบไหนที่อันตราย

ก้อนไทรอยด์ อาการ

หากคลำเจอก้อนที่คอหรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ไม่ควรชะล่าใจ เพราะมีโอกาสที่ก้อนไทรอยด์นั้นจะกลายเป็นมะเร็งไทรอยด์ได้ แต่ใช่ว่าพบก้อนไทรอยด์แล้วจะกลายเป็นมะเร็งเสมอไป แล้วก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ลักษณะไหนที่เป็นอันตรายบ้าง?

  • ก้อนไทรอยด์มีลักษณะแข็ง ๆ 
  • ก้อนไทรอยด์โต สามารถสัมผัสได้ว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น
  • ก้อนไทรอยด์ที่ไปเบียดหลอดอาหารและเส้นเสียง ทำให้สำลักอาหารบ่อยและเสียงแหบ

หากพบก้อนเนื้อในไทรอยด์ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แนะนำให้เข้ารับการตรวจกับแพทย์โดยเร็ว ถ้าพบก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และมีโอกาสกลับมาหายเป็นปกติเร็วขึ้น


การวินิจฉัยเมื่อพบก้อนไทรอยด์

การตรวจวินิจฉัยลักษณะของก้อนไทรอยด์สามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • การอัลตราซาวนด์
  • การทำ CT Scan
  • การทำ MRI

ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นลักษณะของก้อนไทรอยด์ว่ามีขนาดเท่าไหร่ มีรูปร่างอย่างไร ซึ่งบางครั้งอาจใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจเลือดหรือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าเป็นก้อนไทรอยด์จากภาวะหรือโรคชนิดใด และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด


การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์

ผ่าก้อนไทรอยด์

มีก้อนที่ไทรอยด์ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในปัจจุบันมีวิธีรักษาก้อนไทรอยด์ที่ปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย และสามารถให้คุณกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของก้อนไทรอยด์ว่าเป็นอย่างไร ไปดูกันว่าเป็นก้อนไทรอยด์แบบไหน เหมาะกับการรักษาอย่างไร

การผ่าตัดก้อนไทรอยด์

การผ่าตัดก้อนไทรอยด์เป็นวิธีรักษาก้อนไทรอยด์แบบดั้งเดิมที่สามารถกำจัดความเสี่ยงตั้งแต่ต้นตอ ไม่ว่าก้อนไทรอยด์นั้นจะเป็นเนื้อร้ายหรือเนื้อดีก็สามารถผ่าตัดออกไปได้ ในกรณีที่ยังไม่เป็นมะเร็งก็สามารถลดโอกาสเป็นมะเร็งได้ดี และหากกรณีที่เป็นก้อนมะเร็งก็สามารถลดโอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังระบบอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดก้อนไทรอยด์นั้นมีโอกาสพบผลข้างเคียง ซึ่ง ‘เสียงแหบ’ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากบริเวณก้อนไทรอยด์อยู่ใกล้กับเส้นประสาทที่คุมเส้นเสียง 

การจี้ก้อนไทรอยด์

การจี้ก้อนไทรอยด์เป็นอีกแนวทางการรักษาก้อนไทรอยด์ ที่สามารถลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้ เนื่องจากการจี้ก้อนไทรอยด์จะใช้คลื่นไมโครเวฟในการสลายก้อนไทรอยด์ในคอ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลที่คอเพื่อเอาก้อนไทรอยด์ออกแต่อย่างใด คลื่นที่ส่งลงไปจะค่อย ๆ ทำให้ก้อนเนื้อยุบตัวและสลายไปเอง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักฟื้นนานก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง

การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีก้อนไทรอยด์ชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง และมีภาวะหายใจลำบากหรือกลืนอาหารลำบากจากก้อนไทรอยด์ เนื่องจากสามารถทำให้ก้อนไทรอยด์ยุบตัวและลดการกดทับอวัยวะใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ตาม หากก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่มาก แพทย์อาจให้จี้ก้อนไทรอยด์มากกว่า 1 ครั้ง หรืออาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์แทน


สรุปก้อนไทรอยด์ รู้ต้นเหตุ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะกับโรค

โรคเกี่ยวกับไทรอยด์สามารถแบ่งประเภทของโรคได้มากกว่าแค่ไทรอยด์เป็นพิษอย่างที่เคยได้ยินกัน การเจอก้อนไทรอยด์ก็ไม่ใช่ภาวะที่อันตรายไปทุกครั้ง แต่เพื่อไม่ให้เป็นการชะล่าใจ ปล่อยปละละเลยจนโรคพัฒนาไปจนรักษาได้ยาก แนะนำให้เข้ารับการตรวจไทรอยด์เมื่อพบก้อนไทรอยด์ที่คอหรือสงสัยว่าตนเองมีภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติเพื่อที่จะได้รับการรักษาให้หายเป็นปกติโดยเร็วที่สุด 

ที่ศูนย์ศัลยกรรมความงาม พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับก้อนไทรอยด์และโรคเกี่ยวกับไทรอยด์โดยแพทย์เฉพาะทาง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง Line : @samitivejchinatown หรือ Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


References

Mayo Clinic Staff. (2022, February 11). Thyroid nodules. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/thyroid-nodules/symptoms-causes/syc-20355262

Haugen, BR., Alexander, EK., Bible, KC., et al. (2016). 2015 American Thyroid Association Management Guidelines for Adult Patients with Thyroid Nodules and Differentiated Thyroid Cancer. Thyroid, 26(1), 1-133. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4739132/

WebMD Editorial Contributors. (2022, August 25). What Are Thyroid Nodules?. WebMD. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-are-thyroid-nodules

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​