บทความสุขภาพ

สำรวจอาการและแนวทางการรักษาอาการต่อมไทรอยด์โต

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 1 เมษายน 2568

ไทรอยด์โต

เมื่อไหร่ที่สัมผัสบริเวณด้านหน้าลำคอและพบว่ามีก้อนขนาดใหญ่ผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเผชิญกับอาการต่อมไทรอยด์โต ซึ่งอาการดังกล่าวนั้นจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายรึเปล่า หรือจะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรได้บ้างนั้น สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการต่อมไทรอยด์โตได้ในบทความนี้ เพื่อเตรียมตัวรับมืออย่างถูกต้องและเหมาะสม


สารบัญบทความ


ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) คืออะไร?

ต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) คือต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ วางตัวอยู่บริเวณกลางลำคอใต้ลูกกระเดือก โดยต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย การพัฒนาและการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติร่วมด้วย ฉะนั้นถ้าหากต่อมไทรอยด์โตหรือมีอาการผิดปกติอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกายได้


ไทรอยด์โตเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติมักปรากฏก้อนไทรอยด์ที่คอ (Thyroid nodule) หรือสัมผัสได้ว่าไทรอยด์โตขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคหรือภาวะทางสุขภาพบางอย่างอยู่ ไม่ว่าจะเป็น

  • ภาวะขาดไอโอดีนส่งผลให้ร่างกายต้องผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ให้มากพอและทำให้ต่อมไทรอยด์โตในที่สุด
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothroidism) หรือมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายต่ำกว่าปกติ
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เกิน ทำให้ต่อมไทรอยด์โตผิดปกติ 
  • โรคคอพอก หรือ Goiter คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้นกว่าปกติ อาจพบเจอลักษณะของต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้นในลักษณะก้อนเดียว หลายก้อน หรือมีต่อมไทรอยด์โตทั้ง 2 ข้าง 
  • เนื้องอกในต่อมไทรอยด์ชนิดธรรมดาหรือชนิดที่ไม่เป็นมะเร็ง
  • ก้อนซีสต์ไทรอยด์หรือถุงน้ำที่เกิดขึ้นภายในต่อมไทรอยด์ มีลักษณะเป็นก้อนนิ่ม
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ 

ทั้งนี้หากเจอก้อนที่คอ หรือมีอาการคอบวม ไทรอยด์ขนาดใหญ่ผิดปกติ แนะนำเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยสัญญาณของโรคให้ชัดเจนเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในลำดับถัดไป 


ไทรอยด์โตชนิดเป็นก้อนเดียว

ไทรอยด์โตชนิดเป็นก้อนเดียว (Solitary Thyroid Nodule) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นแบบเฉพาะที่ สามารถคลำหรือมองเห็นเป็นก้อนเดี่ยว ๆ เวลากลืนน้ำลายได้ โดยต่อมไทรอยด์โต อาการลักษณะนี้มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะขาดไอโอดีน ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติที่ทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบ ซีสต์ในต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในต่อมไทรอยด์หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้


ไทรอยด์โตชนิดเป็นก้อนโตหลายก้อน

ภาวะไทรอยด์โตชนิดเป็นก้อนโตหลายก้อน (Multinodular Goiter) มีลักษณะอาการคือต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ผิดปกติและมีหลายก้อนสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ช่วงลำคอบวมและมีก้อนตะปุ่มตะป่ำที่คอเห็นชัด หลาย ๆ คนจึงเรียกอาการนี้ว่าคอหอยพอกนั่นเอง

โดยไทรอยด์โตลักษณะอาการนี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการธรรมดา ไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน แต่ในบางรายหากก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่และสะสมมานานอาจทำให้มีอาการอึดอัด หายใจลำบาก นอนกรน หรือพัฒนากลายเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ ขณะเดียวกันหากก้อนไทรอยด์ก้อนใดก้อนหนึ่งมีความผิดปกติก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน


ไทรอยด์โตชนิดเป็นทั้งสองข้าง

สำหรับไทรอยด์โตชนิดเป็นทั้งสองข้าง (Bilateral Goiter) มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นหรือผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นแล้วมีโอกาสหายเองได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่จำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการอยู่ตลอด เพราะอาจเสี่ยงเป็นภาวะพร่องฮอร์โมนไทรรอยด์ ไทรรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรัง เช่น โรคฮาชิโมโต (Hashimoto’s Disease) ได้


วิธีการรักษาภาวะไทรอยด์โต

ต่อมไทรอยด์โต

เมื่อเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ชำนาญการเกี่ยวกับภาวะไทรอยด์โตที่เผชิญอยู่แล้ว ลำดับถัดไปแพทย์จะทำการเลือกใช้แนวทางในการรักษาที่เหมาะสมกับสาเหตุของต่อมไทรอยด์โตที่เหมาะสม เพื่อให้การรักษาตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแนวทางในการรักษาต่อมไทรอยด์โตนั้นสามารถทำได้ดังนี้

  • หากตรวจเจออาการไทรอยด์โตที่มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อธรรมดา แพทย์จะแนะนำให้เฝ้าระวังอาการอยู่เสมอ ในบางรายอาจมีการใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ หรือแนะนำให้ใช้การจี้ก้อนไทรอยด์เพื่อทำให้ก้อนดังกล่าวนั้นเล็กลงกว่าเดิม
  • กรณีที่พบเซลล์มะเร็งจากการตรวจไทรอยด์โต จะต้องได้รับการผ่าตัดไทรอยด์พร้อมรักษาด้วยการใช้แร่รังสีไอโอดีนทันที และจำเป็นต้องติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอันตรายในอนาคต

ฉะนั้นแล้วไม่ว่าจะมีลักษณะอาการไทรอยด์โตแบบไหน แนะนำว่าควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดถึงสาเหตุและลักษณะของไทรอยด์โตว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด ที่สำคัญควรหมั่นติดตามอาการกับแพทย์อยู่เสมอเพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้กลับมาเป็นอีก


ภาวะไทรอยด์โต รู้ก่อน รักษาทัน ห่างไกลมะเร็งต่อมไทรอยด์

การตรวจพบและรักษาไทรอยด์โตตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะด้วยการผ่าตัดหรือการจี้ก้อนไทรอยด์นั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง เนื้องอกในต่อมไทรอยด์ หรือแม้แต่กระทั่งมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ 

สำหรับใครที่กังวลอาการต่อมไทรอยด์โต ต้องการคำปรึกษา หรือแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะอาการที่เผชิญอยู่ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมกับทางทีมแพทย์ผู้ชำนาญการของ สมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้เลย 

ช่องทางติดต่อ

  • Line : @samitivejchinatown
  • Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

References

MacGill, M. (2023, April 21). Everything you need to know about a goiter. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/167559

NHS. (n.d.). Goitre. NHS. https://www.nhs.uk/conditions/goitre/

Mayo Clinic Staff. (2021, November 6). Goiter - Symptoms & causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/goiter/symptoms-causes/syc-20351829

Johns Hopkins Medicine. (2025). Goiter. Johns Hopkins Medicine. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/goiter

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​