บทความสุขภาพ

มะเร็งต่อมไทรอยด์ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ตรวจพบไว รักษาเร็ว มีโอกาสหายขาดสูง

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 1 เมษายน 2568

มะเร็งต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ มีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ทางด้านหน้าของลำคอ บางคนอาจแปลกใจเมื่อลองคลำในตำแหน่งที่ต่อมไทรอยด์อยู่ แล้วพบว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้น ร่วมกับอาการผิดปกติ เช่น เสียงแหบ กลืนลำบาก หายใจติดขัด สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ไม่ควรมองข้าม และต้องรีบตรวจรักษาก่อนโรคลุกลามรุนแรง 


สารบัญบทความ


อาการมะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร?

มะเร็งต่อมไทรอยด์ อาการ

มะเร็งต่อมไทรอยด์ในระยะแรก อาจไม่มีอาการที่ชัดเจน จนเกิดความสับสนกับอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษหรือคอพอก โดยผู้ป่วยจะคลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งก้อนดังกล่าวจะอยู่ด้านหน้าลำคอ อาจสัมผัสเจอเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้ มักขยับขึ้นลงตามจังหวะการกลืน สามารถพบได้ทั้งฝั่งซ้ายและขวา รวมถึงในเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อระหว่างต่อมไทรอยด์ทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้ มะเร็งต่อมไทรอยด์จะโตช้า บางคนอาจมีก้อนที่คออยู่นานเป็นปี ๆ 

จนเมื่อมะเร็งไทรอยด์เริ่มพัฒนาขึ้น ทำให้มีอาการก้อนที่คอโตอย่างรวดเร็วจนเบียดอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดอาการเสียงแหบ ไอบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ กลืนติด และหายใจลำบาก ในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีก้อนโตที่ด้านข้างลำคอ หรือถ้าลุกลามเข้ากระดูก มักทำให้มีอาการปวดตามตำแหน่งนั้น ๆ อีกด้วย 


สาเหตุของมะเร็งต่อมไทรอยด์

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่ามะเร็งไทรอยด์ เกิดจากอะไร แต่มีหลายปัจจัยที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ดังนี้

  • กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • การสัมผัสกับรังสีปริมาณมาก อาจเกิดจากการฉายรังสีรักษาที่ศีรษะและลำคอ หรือได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากสิ่งแวดล้อม กรณีนี้เด็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าผู้ใหญ่
  •  ภาวะขาดไอโอดีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ หากขาดไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ 
  • อาการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไทรอยด์อื่น ๆ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ก้อนเนื้องอกต่อมไทรอยด์ โรคอ้วน และความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 3 เท่า โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยคือ 40-50 ปี อีกทั้งผู้ป่วยที่เป็นไทรอยด์โต คลำพบก้อนเนื้อ ขณะอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 70 ปี จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งไทรอยด์เช่นกัน

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า โรงงานนิวเคลียร์ หรือพื้นที่ที่มีสารกัมมันตรังสี มักพบการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์ได้มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย


การวินิจฉัยมะเร็งต่อมไทรอยด์

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมไทรอยด์ เริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยแพทย์จะคลำบริเวณลำคอเพื่อตรวจหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติ จากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยอัลตราซาวด์ เพื่อดูลักษณะของก้อนเนื้อ การลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง รวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อไทรอยด์โดยการใช้เข็ม (Fine Needle Aspiration Biopsy) เพื่อนำเซลล์ไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง และช่วยในการระบุชนิดของมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ และดูค่าสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor

marker) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการติดตามผลการรักษา ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องตรวจสแกนต่อมไทรอยด์ (Thyroid scan) ร่วมด้วย เพื่อให้การวินิจฉัยมีความละเอียดแม่นยำมากขึ้น


มะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอันตรายหรือไม่

มะเร็งไทรอยด์ อันตรายไหม? โดยทั่วไป มะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นมะเร็งที่มีอัตราการรอดชีวิตเกือบ 100% โดยเฉพาะหากตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอดหรือกระดูก แต่ในกรณีเป็นมะเร็งไทรอยด์ ชนิด Anaplastic ก้อนมะเร็งจะโตค่อนข้างเร็ว ถ้าพบก้อนเฉพาะบริเวณไทรอยด์ จะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 31% ส่วนระยะที่โรคลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว จะลดลงเหลือเพียง 4% เท่านั้น

ดังนั้น หากคลำพบก้อนบริเวณคอ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม จนรักษาได้ยากและอาจเสียชีวิตได้


แนวทางการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

รักษามะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี มีโอกาสหายขาดสูงหากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การผ่าตัดไทรอยด์ เป็นวิธีรักษาหลัก โดยอาจผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และอาจตัดต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย กรณีโรคเกิดการแพร่กระจาย
  • กลืนแร่รังสีไอโอดีน เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังผ่าตัด 
  • การทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อทดแทนต่อมไทรอยด์ที่ถูกตัดออกไป จะช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ในร่างกาย และทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องทำงานเป็นปกติ 
  • การให้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี มักใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ 

หากก้อนมะเร็งไม่ใช่เนื้อร้ายสามารถรักษาด้วยวิธีการอื่น : จี้ก้อนไทรอยด์


มะเร็งต่อมไทรอยด์ อย่าปล่อยไว้จนก้อนโต รีบรักษาก่อนโรคลุกลาม 

มะเร็งต่อมไทรอยด์ มีอาการสำคัญที่ควรสังเกต คือ การคลำพบก้อนบริเวณคอ เสียงแหบ กลืนยาก หายใจลำบาก หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที เพราะมีโอกาสหายขาดสูงถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก และยังไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะส่วนอื่น

สำหรับผู้ที่มีอาการน่าสงสัย แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ซึ่งมีทีมแพทย์เฉพาะทางและผู้เชี่ยวชาญ รอให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยอุปกรณ์ครบครัน ทันสมัย ที่จะช่วยให้คุณกลับมาสุขภาพแข็งแรงอีกครั้ง

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่


References

Cleveland clinic. (2022, October 24). Thyroid Cancerhttps://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12210-thyroid-cancer

NHS. (n.d.). Thyroid cancer. https://www.nhs.uk/conditions/thyroid-cancer/

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​