บทความสุขภาพ

คอโตเกิดจากสาเหตุใดบ้าง เช็กให้พร้อม รักษาให้ตรงตามอาการ

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 26 สิงหาคม 2567

คอโต

เมื่อเห็นว่าคอบวมโตก็อาจชวนให้คิดได้ว่าเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์หรือเปล่านะ แต่ที่จริงแล้วคอโตอาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ได้ด้วยเช่นกัน ในบทความนี้จะมาพูดถึงอาการคอโต ว่าเป็นอาการของโรคใดได้บ้าง รวมถึงวิธีรักษาโรคคอโตแต่ละชนิดตามสาเหตุ เพื่อให้ผู้ที่มีอาการคอโตสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา


สารบัญบทความ


คอโต คือ อาการอะไร?

คอโต คือ อาการที่เกิดจากร่างกายมีความผิดปกติ ทำให้คอมีลักษณะบวมโตขึ้นจนสามารถเห็นได้ชัด โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการคอโตที่พบนั้นอาจจะไม่รุนแรง หรืออาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตได้ ดังนั้น หากพบว่าคอบวมโตให้เข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้มีอาการคอโตต่อไป


คอโต ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอะไร

คอโตเป็นอาการที่มักพบในกรณีที่ภายในลำคอมีความผิดปกติหรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน โดยสาเหตุที่ทำให้คอโตจะมีดังนี้

ก้อนเนื้อ

ก้อนเนื้อที่ทำให้เกิดอาการคอโตจะมีทั้งก้อนไขมัน ก้อนซีสต์ หรือเนื้องอกทั่วไป ซึ่งก้อนเนื้อดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นก้อนเนื้อที่เป็นอันตรายกับร่างกาย แต่ในบางครั้งก้อนที่คออาจเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด เป็นต้น

อาการอักเสบ ติดเชื้อ

อาการอักเสบหรือติดเชื้อที่ทำให้คอโตมีสาเหตุเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียจากโรคต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ ต่อมน้ำลายอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง HIV เป็นต้น

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ที่มีสภาวะผิดปกติ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเพราะทำงานมากเกิน ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์เพราะฮอร์โมนถูกผลิตออกมาน้อยเกิน หรือการเป็นมะเร็งไทรอยด์ ก็สามารถเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คอโตขึ้นได้


เทียบความต่างระหว่างคอโตจากไทรอยด์กับคอพอก ต่างกันอย่างไร?

คอโตเกิดจาก

คอโตจากไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) เป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้มีอาการคอโต โดยสามารถแบ่งประเภทตามสาเหตุได้ 3 ประเภท ดังนี้

  • ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (Hashimoto Thyroiditis) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องทำให้น้ำหนักลด คอโต เมื่อกดแล้วจะไม่รู้สึกเจ็บ
  • ไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Thyroiditis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บคอ
  • ไทรอยด์อักเสบเฉียบพลัน (Acute Thyroiditis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีไข้เฉียบพลัน ปวดคอ คอแดง

ในส่วนของอาการคอโตจากคอพอก (Goiter) เกิดจากต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ โดยมีสาเหตุจากร่างกายขาดสารไอโอดีน ระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงหรือต่ำเกินไป หรืออาจเกิดจากการทานยาบางประเภทเข้าไป ทำให้ต่อมที่คอโต เสียงแหบ ไอ หายใจลำบาก ในบางครั้งที่มีอาการของโรคคอโตคอพอกอาจพบก้อนไทรอยด์ร่วมด้วย


เมื่อมีอาการคอโต ควรรักษาอย่างไร?

การรักษาอาการคอโตจะต้องรักษาจากสาเหตุที่ทำให้คอโต ดังนี้

คอโตจากเนื้องอก

คอโตจากเนื้องอกจะต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้อร้าย ในกรณีที่เป็นเนื้องอกธรรมดาสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์หรือจี้ก้อนไทรอยด์ออก ถ้าเป็นซีสต์ถุงน้ำก็สามารถเจาะหรือดูดน้ำให้ก้อนเล็กลงได้ แต่ในกรณีที่เป็นก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็ง จะต้องประเมินระยะของโรคมะเร็งก่อน เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม โดยอาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง เป็นต้น

คอโตจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

คอโตที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ต่อมทำงานหนักจนเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษคอโต จะใช้ยาต้านไทรอยด์ หรือหากร่างกายผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไปจนเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ก็จะต้องทานยาฮอร์โมนทดแทน เพื่อปรับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากหรือน้อยเกินให้สมดุล

คอโตจากการติดเชื้อ

คอโตจากการติดเชื้อที่ต่อมไทรอยด์หรือบริเวณใกล้เคียงต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือต่อมน้ำลายติดเชื้อ จะต้องทานยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาอาการอักเสบและติดเชื้อ แต่ในกรณีที่เป็นการติดเชื้อจากโรค HIV จะต้องทานยาต้านไวรัส เพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว


สรุปคอโต รีบรักษาเมื่อพบ

คอโตเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ก้อนเนื้อ การติดเชื้อ หรือต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติ ซึ่งจะต้องรักษาตามสาเหตุของโรค เพื่อให้คอกลับมาปกติอีกครั้ง แต่เนื่องจากคอโตเป็นอาการที่เกิดจากหลายโรคด้วยกัน ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด ว่าเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุใด หรืออาจจะตรวจสุขภาพประจำปีที่เหมาะกับเพศและวัยเพิ่มเติม เพื่อตรวจและรักษาในกรณีที่พบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว 

สำหรับผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการคอโตกับสมิติเวช ไชน่าทาวน์ หรือสนใจการตรวจสุขภาพผู้หญิง ตรวจสุขภาพผู้ชาย รวมไปถึงการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ตามช่องทางดังนี้

ช่องทางการติดต่อ


References

WebMD Editorial Contributors. (2022, 6 November). Thyroiditis. WebMD. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-thyroiditis

Markus MacGill. (2023, 21 April). Everything you need to know about a goiter. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/167559#what-is-goiter

WebMD Editorial Contributors. (2023, 12 September). Thyroid Problems. WebMD. https://www.webmd.com/women/understanding-thyroid-problems-basics

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​