บทความสุขภาพ

ก้อนที่คอ (Neck mass) เกิดจากอะไร เสี่ยงโรคร้ายหรือไม่?

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 26 สิงหาคม 2567

ก้อนที่คอ

คลำเจอก้อนที่คอ กำลังทำให้คุณกังวลใจใช่ไหม? การพบก้อนแข็ง ๆ ที่คอเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม แต่ถึงอย่างนั้นอย่าเพิ่งตกใจไป ก้อนเนื้อที่คออาจเป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างที่คุณควรรู้ หรืออาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยที่ไม่ต้องกังวลก็ได้ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าก้อนที่คอของคุณเป็นอันตรายหรือไม่? มาไขข้อข้องใจไปพร้อมกันในบทความนี้


สารบัญบทความ


ก้อนที่คอ คืออะไร แบ่งออกเป็นกี่แบบ

ก้อนที่คอเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย และทำให้หลายคนกังวลใจ เพราะด้วยลักษณะของลำคอโตขึ้น ก่อนอื่นเลยอยากให้ทุกคนได้ทราบถึงสาเหตุของก้อนที่คอนั้นมีอะไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบหลัก ๆ ดังนี้

ก้อนที่คอเนื่องจากการอักเสบ (Inflammatory Masses)

ก้อนที่คอเนื่องจากการอักเสบเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อ อาทิ เชื้อไวรัส (ทอนซิลอักเสบ) หรือแบคทีเรีย (ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ) นอกจากนี้ อาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ก็สามารถทำให้เกิดก้อนที่คอได้เช่นกัน โดยลักษณะของก้อนที่เกิดจากการอักเสบมักจะโตเร็วภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน อาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อน คลำที่บริเวณก้อนแล้วอุ่น ๆ และอาจมีไข้ร่วมด้วย

ก้อนที่คอเนื่องจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (Congenital Neck Masses)

เป็นภาวะที่พบบ่อยและมักเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่อยู่ในส่วนนอกของลำคอตั้งแต่แรกเกิด มักพบในเด็ก สาเหตุที่แท้จริงของก้อนที่คอแบบนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเกิดจากความผิดปกติขณะทารกยังอยู่ในครรภ์ โดยมีโอกาสเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงหรือเนื้องอกชนิดดี 

ก้อนที่คอเนื่องจากเนื้องอกหรือมะเร็ง (Tumors, Cancers)

ก้อนตรงคอเนื่องจากเนื้องอกหรือมะเร็ง ลักษณะเด่นของเนื้องอกคือ เมื่อคลำเจอก้อนที่คอมักจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก มีความแข็ง อาการจะขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของเนื้องอกหรือมะเร็งที่เป็น เช่น ต่อมน้ำเหลืองหรือต่อมไทรอยด์ อาจทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก เนื่องจากก้อนเนื้อนั้นโตจนเบียดหลอดลม บางรายมีอาการกลืนลำบากจากการที่หลอดอาหารถูกเบียดโดยก้อนที่คอ


ก้อนที่คอ เกิดจากสาเหตุใด?

  • ต่อมน้ำเหลืองโต: เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอนซิลอักเสบ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค หรือแม้แต่เป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือ Hyperthyroidism: คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ซึ่งอยู่บริเวณลำคอผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาเกินความจำเป็น จนทำให้มีอาการบวมคล้ายเป็นก้อนเนื้อที่คอ
  • ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือ Hypothyroidism: ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายต่อมไทรอยด์ หรือขาดไอโอดีน
  • ซีสต์: หากคลำแล้วเป็นก้อนนิ่ม ๆ มีโอกาสเป็นก้อนซีสต์ที่คอหรือถุงน้ำที่มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจกดเบียดอวัยวะข้างเคียงได้ 
  • มะเร็ง: เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
  • สาเหตุอื่น ๆ: เช่น การบาดเจ็บ การอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือการสะสมของไขมันจนกลายเป็นก้อนที่คอ หรือก้อนในคอ

เช็กให้ชัวร์! ก้อนที่คอแบบไหนที่อันตราย

เมื่อทุกคนทราบแล้วว่าก้อนที่คอ คืออะไร มีก้อนที่คอกี่แบบ และสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง คงเกิดข้อสงสัยว่าแล้วก้อนที่คอแบบไหนที่อันตราย? ควรระวังเป็นพิเศษ?

  • ก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ หรือก้อนไทรอยด์ที่เกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อพอคลำแล้วกดจะรู้สึกเจ็บปวด อาจเป็นสัญญาณของการอักเสบหรือการติดเชื้อ
  • คอมีก้อนที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว: หากสังเกตเห็นว่าก้อนโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ควรรีบไปพบแพทย์
  • ก้อนที่คอทำให้กลืนลำบาก เสียงแหบ หรือหายใจลำบาก: อาจเป็นสัญญาณว่าก้อนเนื้องอกนั้นกำลังกดเบียดอวัยวะสำคัญอื่น ๆ

ก้อนที่คอโต สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนใดได้บ้าง

ก้อนที่คอ หากไม่ได้รับการตรวจสอบและรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อน รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนนั้นด้วย 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ ก้อนที่โตขึ้นอาจกดเบียดหลอดอาหาร หลอดลม เส้นเสียง ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจลำบาก ก้อนบางชนิดอาจติดเชื้อ ทำให้ก้อนโตเร็วขึ้น มีไข้ และเจ็บปวดรุนแรงขึ้น หรือหากร้ายแรงก้อนที่คอนั้นมีโอกาสเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ 

ดังนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง การตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วจะช่วยให้สามารถรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน


การวินิจฉัยก้อนที่คอ ขั้นตอนเพื่อความมั่นใจ

  1. การซักประวัติ: แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่คุณพบ เช่น ก้อนโตขึ้นเร็วไหม เจ็บปวดหรือไม่ กลืนลำบากหรือเปล่า มีไข้ร่วมด้วยไหม รวมถึงประวัติสุขภาพทั่วไปและประวัติครอบครัว
  2. การตรวจลำคอเบื้องต้น: แพทย์จะตรวจคลำก้อนที่คอ เพื่อประเมินขนาด ความแข็งหรือนิ่ม ความเคลื่อนไหว และความเจ็บปวดเมื่อก้อนที่คอถูกกด หายใจเข้าออก หรือกลืนน้ำลาย
  3. ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด: วัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อตรวจหาว่าอาการที่เกิดขึ้น เกิดจากต่อมไทรอยด์หรือไม่ 
  4. อัลตราซาวนด์ก้อนที่คอ: บางครั้งก้อนเล็ก ๆ ที่คออาจไม่สามารถพบด้วยการคลำ หรือมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การอัลตราซาวนด์จะทำให้แพทย์เห็นก้อนที่ชัดเจน เห็นขนาด รูปร่าง และสีของก้อนเนื้อ ซึ่งแต่ละรูปแบบบ่งบอกโรค ความรุนแรงที่แตกต่างกัน
  5. การเจาะคอ: เป็นการเจาะบริเวณคอเพื่อนำชิ้นเนื้อส่วนหนึ่งไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันชนิดของก้อนว่าเป็นเนื้อเยื่อปกติ เนื้องอก หรือมะเร็ง

การรักษาก้อนที่คอ มีวิธีการใดบ้าง

การรักษาก้อนที่คอ

วิธีการรักษาก้อนที่คอจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของก้อนนั้นๆ ซึ่งอาจรวมถึงขนาดของก้อน ระยะเวลาที่ก้อนโตขึ้น และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและให้คำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้เข้ารับการรักษา

ทานยาปฏิชีวนะ

เมื่อรู้สึกมีก้อนที่คอด้านซ้าย ด้านขวา หรือมีก้อนที่คอตรงกลางก็ตาม หากก้อนที่คอนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบ แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายขาด 

การผ่าตัด

หากตรวจพบแล้วก้อนที่คอเกิดจากไทรอยด์เป็นพิษ เป็นเนื้องอก หรือมะเร็ง แล้วก้อนนั้นมีขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดไทรอยด์ ผ่าตัดเนื้องอก มะเร็งที่อันตรายออก จากนั้นจะมีการฉายรังสี และการทำเคมีบำบัดต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาที่แม่นยำมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องผ่าคือการจี้ก้อนเนื้อ จี้ก้อนไทรอยด์ นั้นออกไปทีละส่วนด้วยเข็มชนิดพิเศษที่ใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำทาง พลังงานความร้อนจะค่อย ๆ ทำลายก้อนเนื้อทีละน้อย จนกระทั่งก้อนเนื้อฝ่อลง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาก้อนเนื้อที่คอที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีความแม่นยำสูง การพักฟื้นที่สั้น และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการผ่าตัด


ก้อนที่คอ เจอแล้วต้องรีบพบแพทย์

เมื่อเจอก้อนที่คอแล้ว ปล่อยปละละเลยไม่รีบปรึกษาแพทย์อาจทำให้โรคยิ่งลุกลามและรักษายากขึ้นได้ ดังนั้น หากคุณสังเกตพบก้อนผิดปกติบริเวณลำคอ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด 

นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพ และการมีสุขภาพที่ดีต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ

หากคุณพบก้อนที่คอ หรือความผิดปกติอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องได้ที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีทีมแพทย์เฉพาะทางคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยประสบการณ์ยาวนานและความชำนาญการเฉพาะด้าน

ช่องทางติดต่อ


References

American Academy of Otolaryngology–Head and Neck Surgery Foundation. (2018). Neck Mass in Adults. https://www.enthealth.org/conditions/evaluation-of-neck-mass-in-adults/#:~:text=A%20neck%20mass%20is%20an,indicate%20a%20serious%20medical%20condition

Penn State Health. (2024). Neck Mass in Adults. https://www.pennstatehealth.org/services-treatments/neck-mass-adults

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​