บทความสุขภาพ

ปวดข้อศอกร้าวลงแขน มือชา สัญญาณเตือนที่ควรพบแพทย์

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ปวดข้อศอกมือชาเจ็บข้อศอก อาการยอดฮิตที่พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไปที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก รวมไปถึงนักกีฬาที่มีการใช้ข้อมือ หรือเกร็งข้อมือกระดกขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อศอกจี๊ด ๆ โดยสาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีการฉีกขาดเล็กน้อย แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ หรือปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ก็สามารถส่งผลให้เกิดการอักเสบและอาการปวดได้ ส่วนใหญ่มักพบในแขนข้างที่ถนัด อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน 


สารบัญบทความ

 


ปวดข้อศอก

ปวดข้อศอกเจ็บข้อศอก (Tennis elbow) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในบุคคลที่ใช้แขนหรือข้อมือซ้ำ ๆ เช่น ผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์นาน แม่บ้านที่ทำงานบ้าน ช่างซ่อมที่ต้องใช้เครื่องมือประเภท ไขควง คีม สว่าน เป็นต้น และผู้ที่เล่นกีฬา โดยเฉพาะ เทนนิส กอล์ฟ รวมถึงผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยอาการปวดศอกนี้มักเกิดขึ้น 2 บริเวณคือ ปุ่มกระดูกด้านในข้อศอกหรือปวดข้อศอกด้านใน (Golfer’s elbow) และปุ่มกระดูกด้านนอกข้อศอก (Tennis elbow)


ปวดข้อศอกเกิดจากสาเหตุใด

ปวดข้อศอกมักเกิดจากการใช้งานมากเกินไป ไม่ว่าจะจากการใช้ชีวิตประจำวัน การเล่นกีฬาซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยสาเหตุมาจาก การฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อบางส่วนบริเวณจุดที่เกาะกับปุ่มกระดูก การอักเสบของถุงน้ำ ข้ออักเสบ พังผืดทับเส้นประสาท กระดูกอ่อนผิวข้อบาดเจ็บ เป็นต้น นอกจากนี้อาการปวดข้อศอกยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างเช่นอายุด้วย 

 

ปัจจัยกระตุ้นอาการปวดข้อศอก

 

  • ปัจจัยเสี่ยงในเด็ก อายุประมาณ 10-20 ปี อาจเกิดการบาดเจ็บของผิวข้อ การแตกของผิวข้อ ซึ่งมักสัมพันธ์กับการเล่นกีฬา โดยกีฬาเฉพาะเทนนิส กอล์ฟ แบดมินตัน เป็นต้น
  • ปัจจัยเสี่ยงในผู้ใหญ่ อายุประมาณ 40 ต้น ๆ โดยเฉพาะในผู้หญิง มักเกิดจากภาวะเสื่อมของเส้นเอ็นที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้านที่เป็นงานซ้ำ ๆ และทำให้มีอาการปวดข้อนิ้วมือตามมา
  • ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ มักมาจากการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ แล้วเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม
  • ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มนักกีฬา ที่มีการบาดเจ็บมาจากการออกกำลังกาย เนื่องจากมีการใช้งานข้อศอกมากเกินไปส่งผลให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบ หรือเกิดภาวะพังผืดในข้ออักเสบกดเบียดทับ (Plica)
  • ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มผู้สูงอายุ อาการปวดข้อศอกมักมาจากภาวะเสื่อมของเส้นที่เกาะของเส้นเอ็นเสื่อม หรือเป็นผลจากการบาดเจ็บหรือโรคข้ออักเสบในอดีต

อาการปวดข้อศอกเป็นอย่างไร

อาการปวดข้อศอกที่พบได้บ่อยคือ มีอาการปวดกระดูกข้อศอกด้านนอก หรือมีอาการปวดข้อศอกร้าวลงแขนร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อศอกมาก หรือปวดเรื้อรังอาจมีอาการอ่อนแรงได้ โดยเฉพาะการใช้ท่าทาง เช่น การกำมือแน่น ๆ งอ หรือกระดกข้อมือร่วมกับการคว่ำ-หงายมือ เพราะจะไปใช้งานบริเวณที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของเอ็นข้อมืออักเสบร่วมด้วย สำหรับอาการปวดข้อศอกมี 3 ประเภท ดังนี้

 

อาการปวดข้อศอกด้านใน (Golfer's Elbow) 

อาการปวดข้อศอกด้านใน (Golfer’s elbow) จะมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านในเวลาบิดศอกเข้าด้านในและกระดกข้อมือลง เนื่องจากเกิดการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านใน

 

อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow)

อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow) เป็นอาการที่พบได้บ่อยกว่าประเภทอื่น ๆ โดยจะเริ่มปวดบริเวณปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอก (Lateral epicondyle) เวลาขยับหมุนข้อศอก เวลาสะบัดมือแรง ๆ หรือเวลากำสิ่งของในมือ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอก 

การที่อาการปวดข้อศอกด้านนอกพบบ่อยกว่าด้านในนั้นมาจาก เอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะรวมกันที่ปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอกส่วนใหญ่ไม่แข็งแรง และมีการยืดเหยียดได้น้อย ทำให้กล้ามเนื้อด้านหลังแขนท่อนล่างที่ใช้ในการกระดกข้อมือและเหยียดนิ้วมือมักเกิดการบาดเจ็บ

 

อาการปวดข้อศอกด้านหลัง (Bursitis)

อาการปวดข้อศอกด้านหลัง (Bursitis) มีสาเหตุมาจากการใช้ข้อศอกเท้าแขนกับโต๊ะ หรือได้รับแรกกระแทกโดยตรง มักมีอาการบวมเป็นก้อนขึ้นที่หลังข้อศอก หรือที่เรียกกันว่าถุงน้ำที่หลังข้อศอก


ปวดข้อศอกแบบไหนควรพบแพทย์

โดยธรรมชาติแล้วอาการปวดข้อศอกสามารถหายได้เอง โดยมีการรักษาเบื้องต้นคือการรับประทานยาตามอาการร่วมกับพักการใช้งานข้อศอก รวมถึงมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรัง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากสาเหตุอื่น เช่น โรคเก๊าท์ การอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น

 

  • มีอาการไม่ดีขึ้นหลังพักการใช้งานข้อศอกและประคบเย็น
  • ไม่สามารถขยับข้อศอก เหยียดงอแขนหรือหมุนแขนได้สุด
  • มีอาการบวมแดง ร้อนบริเวณข้อศอก รวมถึงมีไข้ร่วมด้วย

การวินิจฉัยอาการปวดข้อศอก

การวินิจฉัยอาการปวดข้อศอก หรือปวดข้อตามจุดต่าง ๆ แพทย์จะทำการซักประวัติ และกิจวัตรประจำวันเพื่อหาสาเหตุปวดศอกเบื้องต้น หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกายตามอาการ การตรวจวินิจฉัยสามารถแยกได้โดยใช้ตำแหน่งที่ปวดเป็นตัวช่วย ถ้ามีอาการปวดจากภาวะเสื่อมของเส้นเอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อด้านในข้อศอกก็จะได้รับการวินิจฉัยเป็น Golfer’s elbow ถ้ามีอาการปวดที่เกิดด้านนอกของข้อศอกจะเรียกว่า Tennis elbow


การรักษาอาการปวดข้อศอก

ปวดข้อศอก หรือ Tennis elbow รักษาอย่างไร? ปัจจุบันแนวทางการรักษาอาการปวดข้อศอกมี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การรักษาแบบประคับประคอง จำพวกการใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบ การกายภาพบำบัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เป็นต้น

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จจากการรักษาแบบประคับประคองมีจำนวนถึง 90% ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดมีเพียง 5-10% เท่านั้น โดยวิธีการรักษาอาการปวดข้อศอกมีรายละเอียดดังนี้

 

1. การรักษาอาการปวดข้อศอกเบื้องต้น

 

  • พักการใช้งาน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อศอก รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้งานผิดท่า เพราะนอกจากจะทำให้มีอาการเจ็บข้อศอกแล้ว ยังเสี่ยงปวดคอ บ่า ไหล่อีกด้วย
  • ประคบเย็น ประคบอุ่น ในระยะแรกควรประคบเย็นครั้งละ 20 นาที ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อบรรเทาความปวดจากการอักเสบและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ เมื่ออาการบรรเทาลงอาจใช้การประคบอุ่น 15-20 นาที เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อข้อศอก
  • ใช้แถบรัดใต้ข้อศอก (Tennis elbow support) กรณียังต้องใช้งานแขนมากแพทย์จะพิจารณาให้ใช้แถบรัดใต้ข้อศอก

2. การรักษาด้วยการใช้ยา

โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาเพื่อลดอาการอักเสบ (NSAIDs) ชนิดรับประทานในผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรก และมีอาการไม่มากนัก ถ้าหากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วยังมีอาการปวดอยู่ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น ฉีดยาประเภทสเตียรอยด์เข้าเส้นเอ็น เป็นต้น

 

3. การทำกายภาพบำบัด

การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยเจ็บกระดูกข้อศอก มีวิธีการรักษาหลายเทคนิคเพื่อลดอาการปวดข้อศอกหรือการอักเสบ เช่น รักษาด้วยแสงเลเซอร์ การรักษาด้วย Shockwave การรักษาด้วยการนวดแก้อาการปวดข้อศอกร่วมกับการออกกำลังกาย เป็นต้น โดยวิธีการออกกำลังกายที่นิยมนำมาใช้คือ การยืดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีความสำคัญเพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความทนทานของกล้ามเนื้อ ทำให้อาการปวดข้อศอกดีขึ้น

 

4. การฉีดยาสเตียรอยด์แก้อาการปวด

การฉีดยาสเตียรอยด์ตรงบริเวณที่ปวดข้อศอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เป็นรอยด่างขาวบริเวณที่ฉีดยา ชั้นไขมันใต้ผิวหนังยุบตัว เป็นต้น โดยปกติแล้วจะฉีดซ้ำในจุดเดียวกัน 2-3 ครั้งต่อปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด 

 

5. การผ่าตัดแก้ปวดข้อศอก

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบประคับประคองแล้ว หรือมีอาการปวดต่อเนื่องเกิน 3-6 เดือนขึ้นไปจนรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาชีพ แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัด (ประมาณ 3%) เพื่อทำการขูดเอาเนื้อเยื่อที่เสียออก และทำการปรับแต่งเส้นเอ็นไม่ให้ตึงเกินไป


การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดข้อศอก

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดข้อศอกสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องทำงานโดยใช้กล้ามเนื้อแขน ข้อมือ ข้อศอกในลักษณะซ้ำ ๆ คือควรหลีกเลี่ยงการใช้งานหนักเกินไป ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้การบริหารกล้ามเนื้อจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อได้ โดยมีท่าบริหารข้อศอกป้องกันอาการปวด ดังนี้

 

ท่าบริหารข้อศอกป้องกันอาการปวด

การบริหารข้อศอกป้องกันอาการปวดข้อศอกจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยแบ่งท่าบริหารตามอาการปวดข้อศอก ดังนี้

 

  • ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บข้อศอกด้านใน ท่าบริหารแก้อาการปวดข้อศอกด้านใน โดยการเหยียดนิ้วมือ กระดกข้อมือขึ้น หงายมือ พร้อมกับเหยียดศอกตรง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บข้อศอกด้านนอก ท่าแก้อาการปวดข้อศอกด้านนอก โดยทำท่ากำมือ งอข้อมือลง คว่ำมือ พร้อมกับเหยียดศอกตรง

ในแต่ละท่าทำค้างไว้ 20-30 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง อย่างน้อยวันละสองรอบ โดยขณะที่ทำอาจใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยยืดให้ตึงมากขึ้นได้ แต่ไม่ควรยืดจนเกินอาการเจ็บข้อศอก


ข้อสรุป

ปวดข้อศอกร้าวลงแขน เป็นอาการที่พบในกลุ่มคนที่มีการใช้ข้อมือซ้ำ ๆ จนเกิดการอักเสบและอาการปวดข้อศอกจี๊ด ๆ ขึ้น แต่ทั้งนี้อาการปวดข้อศอกโดยส่วนมากจะสามารถรักษาให้หายได้เองโดยการรักษาเบื้องต้น เช่น รับประทานยา หรือทำกายภาพบำบัดร่วมกับพักการใช้งานแขน อาการปวดข้อศอกไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรังเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพอย่างถาวรได้ หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาแพทย์ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

 


References

Freutel N. (2022, February 28). 5 Exercises for Tennis Elbow Rehab. Healthline. https://www.healthline.com/health/fitness-exercise/tennis-elbow-rehab

Tennis elbow. (2021, February 25). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tennis-elbow/symptoms-causes/syc-20351987

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​