ตาปลาที่เท้า เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรได้บ้าง
ตาปลาที่เท้าเป็นภาวะที่ผิวหนังแข็งตัวเป็นก้อนกลมนูน มีจุดดำตรงกลาง เกิดจากแรงกดทับซ้ำ ๆ ทำรู้สึกให้เจ็บเมื่อเดิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม
จะทำอย่างไรหากต้องอยู่ร่วมกันคนติดโควิดแบบไม่มีห้องพักแยก? คนในบ้านติดโควิด ทำอย่างไรดี? ในบทความนี้ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์จะมาแนะแนวทางวิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิดอย่างไรให้ปลอดภัย ไร้เชื้อ รวมวิธีการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด ใช้ห้องน้ำร่วมกับคนติดโควิด นอนห้องเดียวกับคนติดโควิด ซักเสื้อผ้าผู้ป่วยโควิด ทําความสะอาดห้องโควิดอย่างไรในบ้านที่มีผู้อื่นอยู่ร่วมด้วย
สารบัญบทความ
หากต้องอยู่บ้านเดียวกับคนติดโควิด สิ่งแรกที่ต้องทำคืออย่าเพิ่งตื่นตระหนก ให้ตั้งสติและตรวจเชื้อโควิดของตัวเองว่ามีผลเป็นอย่างไร หากมีผลบวกให้ทำการกักตัว 14 วัน Home Isolation แต่หากพบว่ามีผลเป็นลบ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ให้จำกัดการติดต่อกับผู้ป่วย งดสัมผัสผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในบ้าน เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้านอยู่กับคนติดโควิด ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ป่วย แยกพื้นที่รับประทานอาหาร สวมหน้ากากอนามัย และตรวจเช็คสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ
ในบางครั้งการอยู่บ้านเดียวกับคนติดโควิดก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนอาจไม่มีห้องในบ้านหรือกำลังทรัพย์มากพอที่จะแยกออกไปกักตัวคนเดียว โดยเฉพาะในบ้านที่มีสมาชิกอาศัยอยู่หลายคน จึงมีแนวทางการลดความเสี่ยงในการส่งต่อเชื้อโรค หยุดการแพร่เชื้อ โดยให้ปฏิบัติตามวิธีอยู่ร่วมกับคนติดโควิดอย่างปลอดภัยเมื่อคนในบ้านติดโควิดดังขั้นตอนต่อไปนี้
สิ่งแรกที่ต้องทำหลังทราบว่าคนในบ้านติดโควิดคือการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าตัวเราเองมีเชื้อหรือไม่ สามารถทำการตรวจด้วยตนเองได้โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK หากผลตรวจขึ้นสองขีด คือมีค่าเป็นบวก เท่ากับว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ทำการกักตัวอยู่บ้าน แต่หากผลตรวจขึ้นเพียง 1 ขีด คือค่าเป็นลบ ไม่ติดเชื้อโควิด ให้สังเกตอาการตัวเอง แยกตัวจากผู้ติดเชื้อในบ้าน และปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป
เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนติดโควิด เบื้องต้นควรจำกัดพื้นที่และการสัมผัสผู้ป่วย โดยสามารถแบ่งได้ตามเกณฑ์ต่อไปนี้
หากมีคนในบ้านติดโควิด ควรแยกสมาชิกในครอบครัวออกเป็น 3 กลุ่มคือ ผู้ป่วย ผู้ดูแล และสมาชิกอื่นๆ เพื่อจัดสรรพื้นที่และการปฏิบัติตัวของแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน ลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ที่ติดโควิดแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ที่ไม่ติดให้ได้น้อยที่สุด สิ่งที่แต่ละกลุ่มควรปฏิบัติคือ
ต้องแยกผู้ป่วยออกจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน เว้นระยะห่าง กำหนดอาณาเขตของผู้ป่วยให้ชัดเจน เช่น กั้นฉาก แยกรับประทานอาหารกับผู้อื่นในบ้าน สวมหนากาอนามัยทุกครั้งหากต้องอยู่ใกล้ชิดกับสมาชิกคนอื่นในบ้าน ที่สำคัญต้องดื่มน้ำเยอะๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ควรมีผู้ดูแลผู้ป่วยเพียงคนเดียว ทำหน้าที่จัดหาอาหารและเครื่องดิ่มให้ผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในบ้าน เมื่อต้องเข้าใกล้ผู้ป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือเสมอ หลังอยู่ใกล้คนติดโควิด ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยและถุงมือที่สวมทิ้งทันที และล้างมือให้สะอาดเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
ให้กักตัว 14 วันนับจากวันสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย อยู่ห่างจากผู้ป่วยโควิด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่อใช้ ล้างมือให้สะอาด หลักเลี่ยงการใช้มือสัมผัสดวงตา จมูก ปาก หน้า และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพตัวเองอยู่เสมอว่ามีอาการไข้ ไอ หายใจถี่ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ หรือไม่ หากมีให้รีบตรวจหาเชื้อทันที
ในการอยู่ร่วมกับคนเป็นโควิด สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือต้องจัดสรรพื้นที่บ้านให้ชัดเจน ควรแยกสัดส่วนที่อยู่ของคนที่ติดโควิดออกจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน ลดการสัมผัสผู้ป่วยโควิด โดยพื้นที่ที่ต้องจำเป็นจะต้องแยกให้ชัดเจนได้แก่
ผู้ป่วยโควิด-19 ควรแยกห้องนอนออกจากสมาชิกคนอื่นในบ้าน แต่หากไม่สามารถแยกห้องนอนได้ให้จัดพื้นที่ให้ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร แต่หากมีพื้นที่น้อยกว่านั้น ให้ห่างที่สุดเท่าที่จะห่างได้ ห้องนอนของผู้ป่วยควรใกล้ห้องน้ำเพื่อป้องกันให้เชื้อแพร่ไปยังส่วนกลางอื่นๆ ให้น้อยที่สุด
ควรแยกห้องน้ำจากผู้อื่น หากแยกห้องน้ำไม่ได้ให้ผู้ที่ติดโควิดใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำหลังใช้เสมอ เมื่อผู้ป่วยใช้ห้องน้ำ ควรปิดฝาชักโครกก่อนกดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ บางกรณีอาจแยกพื้นที่ต่างๆ ในห้องน้ำให้ชัดเจนว่าส่วนใครใช้ส่วนใด เช่น ผู้ป่วยใช้อ่างล้างหน้าในห้องน้ำ สมาชิกคนอื่นใช้อ่างล้างจานด้านนอก เป็นต้น
ในห้องที่ผู้ป่วยโควิดอาศัยอยู่ ให้เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ เปลี่ยนพัดลมตั้งพื้นให้เป็นพัดลมดูดอากาศ โดยให้พัดลมตั้งพื้นหันหน้าออกนอกประตูหรือระเบียง หากอยู่ในห้องร่วมกับผู้อื่น ระวังไม่ให้ลมของพัดลมพัดในลักษณะที่ทำให้อากาศปนเปือนไปโดนผู้อื่นโดยตรง ทั้งนี้อย่าให้ผู้ป่วยอยู่ในจุดเหนือลม เพราะหากผู้ปวยไอหรือจาก พัดลมจะทำให้เชื้อฟุ้งกระจายได้
ถึงแม้จะกักตัวอยู่บ้าน ก็จำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อภายในครอบครัว สำหรับผู้ป่วย ให้สวมหน้ากากอนามัยในเวลาที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นตอนอยู่ในบ้านหรือตอนเข้าพบแพทย์ ส่วนผู้ดูแล ให้สวมหน้ากากอนามัยตอนที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น เมื่อต้องนำอาหารและนำไปให้ผู้ป่วย หากต้องสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องสวมถุงมือเพื่อป้องการการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อโรค เมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทิ้งถุงมือและล้างมือทันที
เมื่อคนในบ้านติดโควิด มีโอกาสที่สารคัดหลั่งจากผู้ป่วยคนนั้นจะแพร่กระจายไปในบริเวณต่างๆ ของบ้านและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยโควิด จึงจำเป็นที่จะต้องทำความสะอาดบ้านเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส รวมถึงการทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ผู้ป่วยสวมใส่
น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับใช้ทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% มีสารคลอโรไซลีนอล 0.25% โดยขณะทำความสะอาด ให้เปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเสมอ หลังจากนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ที่จับตู้เย็น ที่กดชักโครก ราวจับ ทิ้งไว้ 15 นาทีหลังจากนั้นจึงเช็ดออกด้วยน้ำ
จากข้อมูลของกรมอนามัย แนวทางการซักผ้าสำหรับคนที่บ้านติดโควิด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1.หากยังไม่ได้ซักเสื้อผ้าหรือหน้ากากผ้าที่ใช้แล้ว ควรนำไปแขวนผึ่งก่อนใส่ตะกร้าผ้าเพื่อรอการซัก
2.หลีกเลี่ยงการสะบัดเสื้อผ้าในบ้าน เพื่อลดโอกาสฟุ้งกระจายของเชื้อโรค
3.หยิบเสื้อผ้าออกจากตะกร้า โดยทำให้ตัวเราสัมผัสเสื้อผ้าในตะกร้าให้น้อยที่สุด
4.ใส่น้ำยาซักผ้า และกดปุ่มเครื่องซักผ้าให้ทำงานตามปกติ
5.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากนำเสื้อผ้าเข้าเครื่องซักผ้า เพื่อป้องกันการนำมือสกปรกมาสัมผัสใบหน้า หรือไปสัมผัสสิ่งอื่น
6.นำผ้าที่ซักแล้วไปตากแดดจัด หรือตากในที่ที่มีอากาศถ่ายเทจนแห้ง
7.เช็ดทำความสะอาดถังหรือตะกร้าใส่เสื้อผ้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือแอลกอฮอล์ 70%
แม้ผู้ติดโควิดจะทำการแยกตัวห่างจากสมาชิกคนอื่นในบ้านเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ภายในบ้านจะปลอดเชื้อ 100% เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายวัน ขึ้นอยู่กันสภาพพื้นผิวและความชื้น ในระยะที่ผู้ป่วยยังไม่หายจากโรคโควิด-19 จึงไม่ควรให้แขกมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ควรเว้นระยะให้มั่นใจว่าผู้ป่วยหายจากโรค และมั่นใจว่าสมาชิกคนอื่นในบ้านไม่ได้รับเชื้อเสียก่อน จึงค่อยให้ผู้อื่นมาที่บ้านอีกครั้ง
ควรแยกขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ถุงมือ ที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เพื่อให้ไม่สมาชิกในบ้านสัมผัสกับขยะปนเปื้อนเหล่านี้ รวมถึงเพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะรับทราบว่ามีการแยกขยะติดเชื้อและป้องกันตัวได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
1.แยกขยะติดเชื้อ
2.ใช้ถุงขยะหนาที่ได้มาตรฐาน ไม่ขาดง่าย
3.ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อลงในถุงขยะก่อนทิ้ง ปิดปกาถุงให้เรียบร้อย
4.ซ้อนถุงขยะ 2 ชั้น
5.หากเป็นไปได้ ให้เก็บขยะไว้ในถังมิดชิดอย่างน้อย 72 ชั่วโมง เพื่อทิ้งให้เชื้อโรคตาย
6.ติดป้ายบนถุงขยะให้ชัดเจนว่าเป็น ขยะติดเชื้อ
7.หลังทิ้งให้ทำความสะอาดมือทันทีด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ล้างมือ
นอกจากตัวผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว สามชิกในบ้านก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเช่นกัน จึงควรกักตัว 14 วัน นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อสังเกตอาการของตัวเองว่ามีอาการไอ ไข้ หายใจถี่ เจ็บคอหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบตรวจ ATK ด้วยตนเองทันที
หากไม่มีอาการใดๆ ก็ควรตรวจโควิดหลังสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย 7-10 วัน เพื่อตรวจว่าเป็นโควิดหรือไม่ และควรอยู่แต่ในบ้าน ออกจากบ้านได้เมื่อกักตัวครบ 14 วันหลังสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยครั้งสุดท้าย
ในการอยู่ร่วมกับคนติดโควิด ควรจำกัดพื้นที่และการสัมผัสกับผู้ป่วย ในห้องที่ผู้ป่วยกักตัวควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท รักษาความสะอาดในบ้านด้วยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด แยกขยะติดเชื้อ งดให้แขกมาบ้าน และที่สำคัญต้องใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ล้างมือเสมอ และควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการไข้ ไอ หายใจถี่ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ หรือไม่
หากผู้ป่วยมีคนในบ้านติดโควิด ต้องอยู่ร่วมกับคนติดโควิด หรือเป็นผู้ป่วยโควิด มีอาการลองโควิด ต้องการตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด หรือรับวิตามินหลังเป็นโควิด สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)