บทความสุขภาพ

ไขข้อสงสัย เลนส์แก้วตาเทียม คืออะไร มีกี่ชนิด เลือกแบบไหนดี?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

เลนส์แก้วตาเทียม

เลนส์แก้วตาเทียม
เป็นวิธีการรักษาต่อเนื่องของโรคต้อกระจก หลังจากสลายต้อและนำเลนส์ตาเดิมออกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาได้มีภาพการมองเห็นที่ใกล้เคียงกับดวงตาปกติมากที่สุด

เลนส์แก้วตาเทียมมีหลายชนิด เพื่อแก้ปัญหาทางสายตาที่แตกต่างกัน ทำให้ภาพการมองเห็นที่ได้จากเลนส์แต่ละชนิดแตกต่างกันไปด้วย ในบทความนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของเลนส์แก้วตาเทียม ว่าคืออะไร มีกี่ชนิด แต่ละชนิดทำให้การมองเห็นแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง?

สารบัญเนื้อหา
 

 


 

ทำความรู้จัก ‘เลนส์แก้วตาเทียม’ 

เลนส์ตาเทียม
 

เลนส์แก้วตาเทียม หรือ เลนส์ตาเทียม (Intraocular lens หรือ IOLs) คือวัตถุที่ทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบเลนส์ตา (Lens) ตามธรรมชาติของมนุษย์ มีลักษณะใส โปร่งแสง มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย มีความโค้งนูนที่ต่างกัน เพื่อหักเหแสงตามค่าสายตาที่ต้องการ

ในปัจจุบันการแพทย์พัฒนามากขึ้น จนทำให้เลนส์แก้วตาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบตามการใช้งาน มีขนาดเล็กมาก อ่อนนุ่ม พับได้ คืนรูปเองได้ จึงสามารถนำมาผ่าตัดใส่เข้าไปในถุงหุ้มเลนส์ตาได้แม้แผลผ่าตัดจะมีขนาดเพียง 3 มิลลิเมตรก็ตาม 

ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม หรือใส่เลนส์เสริม ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก และไม่ได้เป็นการผ่าตัดใหญ่แต่อย่างใด

 


 

ประโยชน์ของเลนส์แก้วตาเทียม

เลนส์แก้วตาเทียมถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อแทนที่เลนส์ตาของมนุษย์ ในกรณีที่เป็นโรคต้อ อย่างต้อกระจก การรักษาโดยการผ่าตัดต้อกระจก ต้องนำเลนส์ตาเดิมออกทั้งหมดแล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ทำให้ผู้เข้ารับการรักษามีตัวช่วยในการหักเหแสงอื่นนอกจากกระจกตา

ก่อนหน้าที่จะมีการรักษาแบบการใส่เลนส์ตาเทียม หลังจากผ่าตัดนำเลนส์ตาที่เป็นไตแข็งออก การผ่าตัดต้อกระจกจะไม่มีขั้นตอนการใส่เลนส์ตาลงไปแทนที่ ทำให้ดวงตาของผู้เข้ารับการรักษาเหลือเพียงกระจกตาที่เป็นตัวหักเหแสงเท่านั้น หลังผ่าตัดจึงต้องใส่แว่นตาที่ค่อนข้างหนาเพื่อช่วยทดแทนเลนส์ตาที่หายไป 

หลังจากมีการผ่าตัดเลนส์ตาเพื่อใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปหลังผ่าตัดแล้ว เลนส์แก้วตาเทียมช่วยเรื่องค่าสายตาได้มาก อาจจะยังต้องใส่แว่นอยู่เพื่อเพิ่มช่วงระยะโฟกัสที่สามารถมองเห็นได้ แต่ก็ทำให้ผู้เข้ารับการรักษามีระยะที่สามารถมองเห็นคมชัดได้เองโดยไม่ต้องพึงแว่นสายตา

นอกจากการนำมาใช้รักษาโรคต้อกระจกแล้วนี้ เลนส์แก้วตาเทียมยังให้ผลลัพธ์ในเรื่องการแก้ไขค่าสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวโดยกำเนิดอีกด้วย

 


 

เลนส์แก้วตาเทียม มีกี่ชนิด อะไรบ้าง

เลนส์แก้วตาเทียม มีกี่ชนิด
 

ก่อนจะทราบว่าเลนส์แก้วตาเทียม มีกี่ชนิด ควรรู้เหตุผลของการแบ่งชนิดแก้วตาเทียมเสียก่อน

ปกติแล้ว เลนส์ตาของเราเป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่นได้ สามารถยืดออกและหดตัวเพื่อปรับกำลังขยายให้เหมาะกับแสงที่มาจากทุกระยะ ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดไม่ว่าวัตถุจะอยู่ในระยะใดก็ตาม

แต่ในกรณีที่ผ่าตัดใส่เลนส์เทียมรักษาต้อกระจก แพทย์จะต้องนำเลนส์ตาออก ดังนั้นผู้เข้ารับการรักษาจะไม่มีอวัยวะเพื่อปรับระยะโฟกัสเหมือนกับเลนส์ แม้จะใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนที่แล้วก็ตาม ผู้เข้ารับการรักษาจึงต้องเลือกระยะใดระยะหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นในระยะนั้นชัดกว่าระยะอื่น เพราะเลนส์เทียมไม่สามารถปรับโฟกัสได้เหมือนกับเลนส์ตาจริงๆ

เลนส์แก้วตาเทียมจึงถูกทำขึ้นเพื่อเลือกระยะโฟกัส ให้มีระยะที่เหมาะกับการใช้งานของผู้เข้ารับการรักษา และถูกทำขึ้นเป็น 3 ชนิด แบ่งออกตามระยะโฟกัส และการแก้ไขปัญหาค่าสายตา ดังนี้
 

1. เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOLs)

เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว เป็นเลนส์ที่สามารถโฟกัสแสงที่มาจากระยะหนึ่งได้เพียงระยะเดียวเท่านั้น ทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียม มองเห็นระยะหนึ่งคมชัด แต่มองเห็นภาพในระยะอื่นๆไม่ชัด จำเป็นต้องใส่แว่นเพื่อช่วยปรับระยะโฟกัสชั่วคราว

ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำให้ผู้เข้ารับการรักษาใส่เลนส์แก้วตาเทียมโฟกัสระยะไกล แล้วจึงใส่แว่นในเพื่อปรับระยะโฟกัสให้โฟกัสระยะใกล้ขึ้น เพื่ออ่านหนังสือ ใช้โทรศัพท์ ทานข้าว หรือทำงานอื่นๆ

เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียวมีข้อดีคือราคาถูกกว่าเลนส์ตาเทียมแบบอื่นๆ ให้ภาพคมชัดในระยะหนึ่ง และไม่ทำให้ภาพการมองเห็นผิดปกติแม้จะมองที่ดวงไฟ หรืออยู่ในที่มืดก็ตาม

แต่ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน เพราะแม้จะผ่าตัดแล้ว ผู้ที่ใส่เลนส์เทียมรักษาต้อกระจกยังต้องใส่แว่นสายตาอยู่ เพื่อเปลี่ยนระยะโฟกัสชั่วคราวระหว่างทำกิจกรรมบางอย่าง จึงไม่เหมาะกับผู้ที่คาดหวังว่าหลังผ่าตัดจะไม่ต้องใส่แว่นสายตาอีก
 

2. เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOLs)

เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ คือเลนส์ที่จะแบ่งแสงออกเพื่อใช้โฟกัสแสงที่มาจากหลายระยะได้ ดังนั้นภาพการมองเห็นจะไม่ได้คมชัดสักระยะ แต่สามารถมองเห็นได้ในหลายระยะมากกว่าเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว 

เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนระยะโฟกัส ดังนี้
 

  • Bifocal IOL เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสสองระยะ 

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสสองระยะ เป็นเลนส์ที่แบ่งแสงออกเพื่อให้มองเห็นได้จาก 2 ระยะ อาจเป็นระยะใกล้กับระยะไกล หรือระยะกลางกับระยะไกลก็ได้ 

เลนส์ระยะไกลเหมาะกับการชมวิวทิวทัศน์ หรือขับรถ เลนส์ระยะกลางเหมาะกับการใช้คอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ หรือทานข้าว ส่วนเลนส์ระยะใกล้เหมาะกับการอ่านหนังสือ ทำงานปราณีต หรือใช้โทรศัพท์ ดังนั้นการเลือกระยะโฟกัสของเลนส์จะขึ้นอยู่กับการใช้งานสายตาของผู้เข้ารับการรักษาแต่ละคนนั่นเอง
 

  • Trifocal IOL เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสสามระยะ 

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสสามระยะ เป็นเลนส์ที่แบ่งแสงออกเพื่อให้มองเห็นได้จาก 3 ระยะ ทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล โดยการมองเห็นจะไม่มีระยะใดคมชัดเลย แต่จะสามารถมองเห็นได้พอชัดจากทั้งสามระยะ ทำให้ไม่ต้องใส่แว่นสายตาหลังการรักษา

ซึ่งการแบ่งแสง จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ของแสงในแต่ละระยะเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ เพื่อให้แสงในแต่ละระยะชัดเท่ากัน หรือมีระยะหนึ่งคมชัดกว่าระยะอื่น ตามการใช้งานสายตาของผู้เข้ารับการรักษาแต่ละคน
 

  • Extended depth of focus (EDOF) เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสยืดยาว

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสยืดยาวนี้ เป็นเลนส์ที่ก้ำกึ่งระหว่างเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว กับชนิดโฟกัสหลายระยะ ระยะโฟกัสของเลนส์จะมีระยะเดียว แต่ระยะนั้นจะถูกยืดออก ทำให้ช่วงระยะโฟกัสกว้างขึ้น จนเลนส์สามารถโฟกัสได้เกือบเท่าเลนส์โฟกัสสองระยะ โดยที่ไม่ต้องแบ่งแสงออกจากกัน

เลนส์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของเลนส์สองระยะ ที่ต้องแบ่งแสงออกจากกันจนทำให้ผู้ที่ใส่เลนส์เทียมสองระยะมองเห็นวัตถุที่อยู่ในช่วงรอยต่อของทั้งสองระยะไม่ชัด ในขณะที่เลนส์โฟกัสยืดยาวนี้จะทำให้ระยะโฟกัสกว้างขึ้นกว่าเลนส์โฟกัสระยะเดียว โดยที่จะไม่มีรอยต่อเหมือนกันเลนส์โฟกัสสองระยะนั่นเอง

ข้อดีของเลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ คือผู้เข้ารับการรักษาไม่จำเป็นต้องใส่แว่นหลังผ่าตัดเลย เพราะสามารถมองเห็นวัตถุจากในหลายๆระยะได้ในระดับพอใช้ได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ยอมรับได้ว่าภาพการมองเห็นอาจจะไม่ได้คมชัดมากนัก

ส่วนข้อเสียคือเลนส์ชนิดโฟกัสหลายระยะราคาจะสูงกว่าเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว และแม้จะมองเห็นหลายระยะแต่ภาพจะไม่คมชัด มีระยะรอยต่อที่จะมองเห็นไม่ค่อยชัด เห็นแสงเป็นวงรอบดวงไฟ มองไม่ชัดในที่มืด อีกทั้งยังปรับการมองเห็นให้เข้ากับเลนส์เทียมได้ยาก โดยเฉพาะในผู้ที่ผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพียงข้างเดียว จะใช้เวลาในการปรับตัวนานกว่าปกติ
 

3. เลนส์ตาเทียมแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOLs)

เลนส์ตาเทียมแก้ไขสายตาเอียง เป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับแก้ไขสายตาเอียงโดยเฉพาะ ปกติแล้วสายตาเอียงจะเกิดจากการเกิดจุดโฟกัสมากกว่า 1 จุด หรือจุดโฟกัสมีลักษณะเป็นขีดที่จอประสาทตา จากการที่กระจกตาไม่เรียบ หรือโค้งผิดปกติ ทำให้เกิดภาพมัว ภาพซ้อนจากสายตาเอียง 

เลนส์ดังกล่าวจะทำให้แสงที่หักเหจากกระจกตารวมกันเป็นจุดเดียวเพื่อแก้ไขสายตาเอียง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก็พัฒนามากขึ้น จนสามารถสร้างเลนส์ที่แก้ไขค่าสายตา ทั้งระยะเดียวและหลายระยะ รวมทั้งแก้ไขค่าสายตาเอียงได้พร้อมกันแล้ว เลนส์เหล่านั้นเรียกว่า Monofocal Toric IOL และ Multifocal Toric IOL นั่นเอง

เลนส์แก้วตาเทียมแบบไหนดี? เลนส์เทียมต้อกระจกมีหลากหลายแบบ ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะตรวจสายตา ตรวจดูความโค้งกระจกตา วัดความยาวลูกตา รวมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สายตา เพื่อเลือกลักษณะของเลนส์ที่เหมาะกับผู้เข้ารับการรักษามากที่สุด รวมทั้งปรับความโค้งของเลนส์ให้เข้ากับค่าสายตาหลังนำเลนส์ตาออกด้วย

 


 

การผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียม

ผ่าตัดเลนส์ตา
 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม

การเตรียมตัวช่วงก่อนการผ่าตัดเลนส์ตา
 

  • ตรวจประเมินสายตากับแพทย์เกี่ยวกับโรคทางตา หรือโรคที่มีความเสี่ยงหากผ่าตัดเลนส์ตา เพื่อประเมินความเสี่ยงระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด
  • วัดค่าสายตาก่อนผ่าตัด โดยการวัดความโค้งกระจกตาและวัดความยาวลูกตา เพื่อแพทย์จะดูว่าต้องใช้เลนส์แก้วตาเทียมที่มีความโค้งเท่าไหร่ กำลังขยายเท่าไหร่
  • พูดคุยกับแพทย์เพื่อนัดวันเวลาผ่าตัด และชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่ต้องการ
  • แพทย์จะให้ฝึกนอนหงายนิ่งๆและใช้ผ้าคลุมหน้าไว้ประมาณ 30 นาที เป็นการฝึกเพื่อประเมินความเครียด และให้ผู้เข้ารับการรักษาคุ้นชิน เนื่องจากขณะผ่าตัดจะไม่ใช้ยาสลบ ทำให้ผู้เข้ารับการรักษามีสติอยู่ตลอดการผ่าตัด และต้องนอนนิ่งๆเป็นเวลา 15 - 30 นาที หากทำไม่ได้ แพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้ยาสลบ
  • หากใช้คอนแทคเลนส์อยู่ ควรถอดออกก่อนการผ่าตัดประมาณ 3 - 7 วัน

การเตรียมตัวในวันผ่าตัดเลนส์ตา
 

  • สวมเสื้อที่คอกว้าง ถอดง่าย หรือเสื้อผ่าหน้า
  • ให้สระผม ล้างหน้ามาจากที่บ้าน และห้ามทาครีม ทาแป้ง หรือแต่งหน้าก่อนการผ่าตัด
  • หากไม่ได้เข้ารับการผ่าตัดโดยการใช้ยาสลบ หรือมียาที่แพทย์ให้หยุดใช้ก่อนการผ่าตัด สามารถทานข้าวและทานยาประจำได้ตามปกติ
  • ให้ผู้ดูแลมารับมาส่ง และดูแลหลังจากผ่าตัด
  • เตรียมแว่นกันแดดมาใส่หลังผ่าตัด
  • ไม่ควรทาเล็บ และให้ถอดเครื่องประดับ ฟันปลอม ถอดของมีค่าออกก่อนเข้ารับการผ่าตัด

 

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม

 

  1. แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่แบบหยอด หรือแบบฉีด กับดวงตา เพื่อไม่ให้คนไข้รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัด แพทย์อาจจะใช้ยาสลบร่วมด้วยในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าควรใช้
  2. เมื่อยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มผ่าตัด โดยการผ่าเปิดแผลที่ดวงตา บริเวณรอยต่อระหว่างกระจกตาดำและตาขาว ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร
  3. แพทย์จะสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปที่แผลนั้น เครื่องมือดังกล่าวจะปล่อยคลื่นอัลตราซาวนด์ออกมา ในกรณีที่เป็นต้อแข็ง เพื่อสลายต้อออก
  4. ใช้เครื่องมือดูดเลนส์ตาออกจากถุงหุ้มเลนส์ตา โดยให้ยังเหลือถุงหุ้มเลนส์ตาไว้
  5. แพทย์จะพับเลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไปในเครื่องมือขนาดเล็ก แล้วสอดเข้าไปที่แผล แพทย์จะควบคุมให้เครื่องมือนั้นค่อยๆปล่อยเลนส์ตาออกมา เลนส์ตาเทียมจะค่อยๆกางออกภายในถุงหุ้มเลนส์ อาจใช้เครื่องมือขนาดเล็กช่วยจัดเล็กน้อยเพื่อให้เลนส์เข้าที่
  6. ไม่ต้องเย็บปิดแผลหลังการผ่าตัด เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมาก

ทั้งนี้ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมดังกล่าว เป็นขั้นตอนของวิธีการผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจก ยังมีวิธีอื่นๆอีก แพทย์จะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับระยะอาการของโรค เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
 

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม

การผ่าตัดเลนส์เทียมรักษาต้อกระจกใช้เวลาเพียง 15 - 30 นาที หลังจากนั้นแพทย์จะให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 20 - 30 นาที ในกรณีที่ไม่ได้ใช้ยาสลบ เมื่อครบเวลาแล้ว ผลจากการผ่าตัดปกติดี แพทย์จะให้กลับบ้านได้เลย หลังจากนั้นแพทย์จะให้ดูแลตัวเองต่อที่บ้าน แล้วมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลต่อไป

วิธีการดูแลตัวเองที่บ้านหลังผ่าตัดเลนส์ตา มีดังนี้
 

  • แพทย์จะจ่ายยาสำหรับทาน และยาหยอดตาให้ ให้ผู้เข้ารับการรักษาใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • หลังการผ่าตัดวันแรกไม่ควรใช้สายตา ให้พักผ่อนมากๆ นอนหมอนสูง ห้ามนอนตะแคงในด้านเดียวกับตาข้างที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมา
  • ทำความสะอาดรอบดวงตาทุกวันด้วยน้ำเกลือและสำลีปลอดเชื้อ
  • ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด ห้ามสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น
  • ระวังไม่ให้น้ำ หรือฝุ่นละอองเข้าตาโดยเด็ดขาด
  • ใส่แวนกันแดดในตอนกลางวัน และใส่ที่ครอบตาในตอนกลางคืนเป็นเวลา 1 เดือน
  • ในช่วงเดือนแรกหลังการผ่าตัดห้ามล้างหน้า ให้ใช้ผ้าชุบน้ำในการเช็ดหน้าแทน และควรสระผมที่ร้านหรือให้ผู้ดูแลสระให้เพื่อป้องกันน้ำเข้าดวงตา
  • ระวังไม่ให้ไอ จาม หรือเบ่งอย่างรุนแรง
  • ห้ามออกกำลังกาย ห้ามออกแรงมากๆ หรือก้มให้ศีรษะต่ำกว่าเอวในช่วง 1 เดือนแรก
  • ใช้สายตาได้ตามปกติเพื่อให้ดวงตาชินกับเลนส์แก้วตาเทียมทีละน้อย แต่ถ้าปวดตา ปวดหัว หรือแสบตา ให้พักสายตาก่อน
  • หากหลังผ่าตัดดวงตามีอาการบวม แดง มีขี้ตามาก ปวดตา การมองเห็นไม่ชัดเท่าที่ควร ภาพเอียง ภาพซ้อน ควรแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ทันที

 


 

ข้อดี - ข้อเสียของการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม

เลนส์แก้วตาเทียมแบบไหนดี
 

ข้อดี 

 

  • ผู้เข้ารับการรักษาสามารถมีดวงตาที่ใกล้เคียงกับดวงตาปกติ โดยที่ไม่ต้องใส่แว่นหนามากตลอดเวลาเมื่อเลนส์ตาถูกนำออกไปหลังการผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก 
  • เลนส์แก้วตาจะไม่เสื่อมสภาพ สามารถอยู่ที่ดวงตาโดยไม่ขุ่นมัวลงตลอดชีวิตของเรา
  • เลนส์แก้วตาทำจากวัสดุคุณภาพสำหรับการแพทย์ รวมทั้งเนื้อเยื่อบริเวณดวงตาไม่ได้ต่อต้านอวัยวะเทียม ทำให้ไม่พบอาการแพ้เลนส์แก้วตาเทียม
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างน้อย และไม่ทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเสียหายจากแผลผ่าตัด
  • สามารถปรับค่าสายตาสั้นและสายตาเอียงได้ ช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถกลับมามองเห็นได้ดียิ่งขึ้นด้วยการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว

 

ข้อเสีย

 

  • การมองเห็นไม่เหมือนดวงตาจริงเสียทีเดียว เพราะไม่สามารถปรับระยะโฟกัสของเลนส์ได้เหมือนกับเลนส์ตาปกติ หลังรักษายังคงมีการมองเห็นบางระยะที่ไม่คมชัด หรือพอมองเห็นแบบไม่คมชัดเลยสักระยะเดียว
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว หลังผ่าตัดยังคงต้องใส่แว่นสายตาเพื่อช่วยในการมองเห็นอยู่
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง
  • หากผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมแค่ข้างเดียว หรือตาสองข้างใช้เลนส์ต่างชนิดกัน อาจทำให้ดวงตาชินกับการมองเห็นได้ยาก
  • ระยะเวลาในช่วงการรักษาค่อนข้างนาน เนื่องจากเลนส์แก้วตาเทียมต้องสั่งผลิตเพื่อให้ค่าความโค้งเหมาะกับดวงตาของผู้เข้ารับการรักษา ซึ่งระยะเวลาผลิตเลนส์อาจกินเวลาถึง 1 - 2 เดือน

 


 

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด

เลนส์ตาเทียมเคลื่อน อาการ
 

อาการข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อย คือ จุดรับภาพบวม อาการนี้มักจะเกิดหลังผ่าตัดประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ พบร่วมกับการอักเสบที่ดวงตาหลังผ่าตัด หากจุดรับภาพบวม ผู้เข้ารับการรักษาจะเป็นภาพมัว หรือเบี้ยวผิดจากปกติ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้แจ้งแพทย์เจ้าของไข้เมื่อเข้ามาตรวจอาการหลังการรักษา แต่อาการดังกล่าวไม่ได้ร้ายแรงอะไร สามารถหายไปเองได้ใน 6 เดือน 

หลังการรักษาผ่านไปหลายปี อาการที่สามารถพบได้คือ ถุงหุ้มเลนส์ขุน ผลข้างเคียงนี้ทำให้ภาพขุ่นมัว เบลอ มองเห็นภาพไม่ชัดเท่าเดิม หากมีอาการดังกล่าวให้แจ้งจักษุแพทย์ แพทย์จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์และหยอดตา หลังจากนั้นประมาณ 1 - 2 วันก็สามารถกลับมามองเห็นได้ปกติดังเดิม

นอกเหนือจากอาการเหล่านี้ อาจจะพบการอื่นๆได้บ้างประปราย เช่น การติดเชื้อ เลนส์ตาเทียมเคลื่อน ความดันในลูกตาสูง หรือจอประสาทตาเสื่อม

การติดเชื้อที่ดวงตาหลังการผ่าตัด เป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดกับร่างกายทุกส่วนเมื่อผ่าตัด แต่การติดเชื้อนี้สามารถพบได้น้อยมากในการผ่าตัดต้อกระจก 

เลนส์ตาเทียมเคลื่อน อาการตามัว รู้สึกว่าเลนส์เคลื่อนไหวเวลากรอกตา อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ไม่กี่วันหลังผ่าตัด ไปจนถึงหลายเดือนหรือหลายปี หากเคลื่อนเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าเคลื่อนมากอาจจะต้องผ่าตัดใหม่อีกครั้ง

ส่วนความดันในลูกตาสูง ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม เป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดดวงตาที่อาจมีผลกับจอตาหรือระบบไหลเวียนของน้ำในลูกตา ทำให้การมองเห็นแย่ลงในระยะยาว แต่อาการเหล่านี้สามารถตรวจพบได้ เพราะหลังผ่าตัดแพทย์จะนัดติดตามผลและตรวจสอบความผิดปกติของดวงตา เมื่อตรวจพบก็จะสามารถรักษา หรือชะลออาการของโรคได้

 


 

ค่าใช้จ่ายผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม 

เปลี่ยนเลนส์ตาเทียม ราคาเท่าไหร่? เลนส์ตาเทียมราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์ เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียวจะราคาถูกที่สุด เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะก็จะราคาแพงขึ้นมา หากเพิ่มการแก้ไขสายตาเอียงก็จะยิ่งราคาสูง

ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายการผ่าตัดเลนส์ตาในกรณีที่รวมค่าผ่าตัดต้อกระจกแล้ว มีอัตราค่าใช้จ่ายดังนี้

 

ทางเลือกการรักษาต้อกระจก (แบบใหม่) ราคาปกติ (บาท)
1. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง และฝังเลนส์พับได้ชนิดโฟกัส ระยะเดียว 1 ข้าง (Phaco + IOL) 46,000
2. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง และฝังเลนส์พับได้ชนิดโฟกัส ระยะกลาง-ไกล 1 ข้าง (Monofocal Eyhance) 49,900
3. การผ่าด้ดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง และฝังเลนส์พับได้ชนิดโฟกัส ระยะเดียวและแก้ไขสายตาเยง 1 ข้าง (Phaco + Troric IOL) 66,000
4. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง และฝังเลนส์พับได้ชนิดโฟกัส หลายระยะ 1 ข้าง (Phaco + Multifocal IOL (Restor)) 82,000
5. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลั่นความถี่สูง และฝังเลนส์พับได้ชนิดโฟกัส หลายระยะและแก้ไขสายตาเอียง 1 ข้าง (Phaco + Multifocal Troric IOL (Restor)) 96,000

หมายเหตุ :

  • ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาจะต้องพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยก่อน
  • ในกรณีที่ต้องใช้ยา เวชภัณฑ์ วัสดุอื่นนอกเหนือจากรายการที่กำหนด ทางโรงพยาบาลจะคิดค่าใช้จ่ายส่วนเกินตามอัตราปกติ
  • ราคาสำหรับผ่าตัดต้อกระจกในตารางนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับส่วนลดอื่นๆ ของทางโรงพยาบาลได้
  • โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์เท่านั้น
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายตรงโทร 02-118-7848

 


 

ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมที่ไหนดี

ผ่าตัดเลนส์ตา
 

การผ่าตัดเลนส์แก้วตาเทียม เป็นการรักษาที่ละเอียดอ่อน แพทย์ผู้ดำเนินการผ่าตัดต้องเป็นผู้ชำนาญการ มีประสบการณ์การรักษามาอย่างยาวนาน อีกทั้งเครื่องมือการรักษาต้องครบครัน ทันสมัย และได้มาตรฐานทางการแพทย์ หากเลนส์แก้วตาเทียมไม่ได้ทำจากวัสดุที่ดี หรือทำมาไม่พอดีกับค่าสายตา จะทำให้เป็นปัญหาในภายหลังได้

ที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลใส่ใจผู้เข้ารับการรักษาทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา ให้คุณได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานจากจักษุแพทย์เฉพาะทางประจำโรงพยาบาล ให้การผ่าตัดต้อกระจก และการผ่าตัดเลนส์แก้วตาเทียมไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

 


 

ข้อสรุป

เลนส์แก้วตาเทียมมีรายละเอียดในการเลือกและข้อพิจารณาค่อนข้างมาก อีกทั้งผลการรักษาจะอยู่กับผู้เข้ารับการรักษาไปตลอดชีวิต ดังนั้นผู้เข้ารับการรักษาควรเลือกเลนส์ร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง ที่จะแนะนำเลนส์แก้วตาเทียมให้ตามความเหมาะสม เพราะแต่ละคนมีลักษณะของดวงตาและการใช้งานดวงตาที่ไม่เหมือนกัน 

หากสนใจรักษาต้อกระจกร่วมกับการผ่าตัดเลนส์แก้วตาเทียม ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป

ต้องการปรึกษาแพทย์เรื่องเกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียม กำลังเป็นต้อกระจก หรือสงสัยว่าอาจจะเป็นต้อกระจก สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดเวลาพบแพทย์ได้ที่ Line@samitivejchinatown

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 


 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Kanclerz, P., Toto, F., Grzybowski, A., &Alio, J. L. (2020, June 4). Extended Depth-of-Field
        Intraocular Lenses: An Update. US National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov
        /pmc/articles/PMC7299221/   

Zein El-Dein, A. A., Elmassry, A., El-Hennawi, H. M., &Mossallam, E.F. (2021, April 14). Objective and
        subjective evaluation of trifocal diffractive intraocular Lens after cataract extraction with
        phacoemulsification: a prospective clinical study. BMC Ophthalmology.
        https://bmcophthalmol.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12886-021-01937-z

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​