ต้อกระจกในผู้สูงอายุ ภัยทางสายตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
ต้อกระจกในผู้สูงอายุ คือ ภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่นมัวหรือเปลี่ยนสี ส่งผลให้การมองเห็นของผู้ป่วยพร่ามัวและลดลงตามระยะเวลา
ตาเหล่ ตาเข เป็นลักษณะความผิดปกติอย่างหนึ่งที่พบได้มากในทารกหรือเด็กเล็ก หลายคนเข้าใจว่าอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อโตขึ้น และไม่ได้ส่งผลเสียอะไรนอกจากเรื่องรูปลักษณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วตาเหล่ ตาเขนับเป็นโรคอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการมองเห็นได้มาก ทั้งยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคร้ายในเด็กที่อันตรายถึงชีวิตด้วย
ดังนั้นผู้ปกครองเด็กและคนทั่วไปควรเข้าใจถึงต้นเหตุ อาการ และความอันตรายของอาการตาเหล่ ตาเข เพื่อเข้ามาพบแพทย์ และรักษาได้ทันก่อนสายเกินแก้
สารบัญบทความ
ตาเหล่ ตาเข (Strabismus) คือความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ที่ทำให้ตาดำของดวงตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแกนตั้งและแกนนอนเดียวกัน เมื่อมองตรง ตาดำข้างหนึ่งจะไม่อยู่ตรงกลาง แต่จะเหล่เขไปทางหัวตา หางตา ด้านบน หรือด้านล่าง
เมื่อตาทั้งสองข้างทำงานไม่ประสานงานกัน จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาการมองเห็น บ้างเห็นภาพเป็นภาพซ้อนจะทำให้ต้องหรีตา เอียงคอ หรือหันข้างขณะมองสิ่งๆ บ้างก็ใช้สายตาได้แค่ทีละข้าง ผู้ป่วยจึงไม่สามารถมองเห็นภาพเป็นสามมิติได้ และจะเห็นความลึกของวัตถุจากการตีความผ่านแสงเงาเท่านั้น
ตาเหล่สามารถมีได้ทั้งตาเหล่สองข้างและตาเหล่ข้างเดียว โดยตาเหล่สองข้าง จะเป็นอาการที่ผู้ป่วยสามารถใช้งานตาได้ทั้งสองข้าง แต่หากใช้ทั้งสองข้างมองพร้อมกันจะเกิดภาพซ้อนจากอาการตาเหล่ ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ตาสลับกันมองทีละข้าง ดังนั้นเวลาโฟกัสวัตถุหนึ่งจะมีข้างที่เหล่และไม่เหล่สลับกันไป
ส่วนตาเหล่ ตาเขข้างเดียวเป็นอาการที่ผู้ป่วยจะใช้ตาข้างเดียวในการมองเสมอ ทำให้ตาอีกข้างเหล่และไม่สามารถใช้การได้ ในบางกรณีดวงตาข้างที่ไม่ได้ใช้งาน การมองเห็นจะแย่ลงเรื่อยๆจนสูญเสียการมองเห็นไปได้
ตาเหล่เป็นอาการที่พบมากในเด็ก กว่า 3 - 5% ของเด็กทั้งหมดที่เกิดมามีอาการตาเหล่ ตาเขตั้งแต่เด็ก ตาเหล่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อจนทำให้ตาเหล่ และมีผลกับการมองเห็น แต่บางครั้งการมองเห็นผิดปกติที่มีมาก่อน ก็อาจทำให้เกิดอาการตาเหล่ได้เช่นกัน วิธีแก้ตาเหล่จึงไม่เหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ที่ตาเหล่จำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาที่ต้นเหตุต่อไป
นอกจากตาเหล่ตามปกติที่มองเห็นได้ ยังมีอาการตาเหล่ที่สามารถสังเกตุได้ยาก หรืออาการที่คล้ายกับตาเหล่แต่ไม่ใช่ตาเหล่ ได้แก่
ตาเหล่เทียม เป็นลักษณะที่ดูคล้ายกับอาการของการเป็นตาเข ตาเหล่ แต่ความจริงแล้วผู้ที่เป็นตาเหล่เทียมไม่ได้มีความผิดปกติใดๆเลย เพียงแต่รูปหน้าหรือเครื่องหน้าเป็นตัวทำให้ดูเหมือนมีอาการตาเหล่
ตัวอย่างเช่น ใบหน้ากว้าง ดวงตาอยู่ห่างจากสันจมูก ทำให้เหมือนกับตาเขออกนอก บางรายดวงตาชิดกัน ตาโตหน้าเล็ก จนทำให้เหมือนตาเหล่เข้าใน ทั้งที่จริงๆแล้วผู้ที่เป็นตาเหล่เทียม ไม่ได้ตาเหล่ ไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อลูกตาหรือมองเห็นภาพซ้อนแต่อย่างใด
ตาเหล่ซ่อนเร้น เป็นอาการที่ใกล้เคียงกับอาการตาเหล่ แต่สังเกตุได้ยากและไม่ได้อันตรายเท่ากับตาเหล่ อาการของตาเหล่ซ่อนเร้นจะแสดงออกเมื่อผู้ป่วยเหม่อ ไม่ได้โฟกัสวัตถุใด หรือปิดตาไว้หนึ่งข้าง ตาข้างที่ไม่ได้ใช้มองจะค่อยๆเหล่ออกด้านข้าง เกิดจากกล้ามเนื้อหัวตาผ่อนแรงจนไม่ได้ดึงตาข้างหนึ่งกลับมาให้ตรงเหมือนกับอีกข้าง
ตาเหล่ซ่อนเร้นไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่จะทำให้ตาล้าได้ง่ายกว่าปกติเมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตามากๆ และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นตาเหล่ออกนอกจากกล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของตาเหล่ตอนโตได้
อาการตาเหล่ซ่อนเร้นสามารถวินิจฉัยได้โดยแพทย์ และรักษาได้โดยการฝึกกล้ามเนื้อตา ฝึกเพ่ง ฝึกจ้องในระยะต่างๆเพื่อให้กล้ามเนื้อตาถูกใช้งานมากขึ้น ควบคุมไม่ให้ตาเหล่ออก เมื่อสามารถควบคุมกล้ามเนื้อหัวตาได้ดีอาการตาเหล่ซ่อนเร้นจะหายไป
ส่วนใหญ่แล้ว ตาเข ตาเหล่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อลูกตาทำงานไม่สัมพันธ์กัน จนลูกตาไม่สามารถขยับเพื่อให้โฟกัสวัตถุในตำแหน่งเดียวกันได้
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กันนั้น ปัจจุบันในบางรายยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ส่วนที่ทราบสาเหตุก็จะแตกต่างกันระหว่างตาเหล่ในเด็ก และตาเหล่ตอนโตที่เพิ่งเกิดเมื่อพ้นอายุ 7 ขวบมาแล้ว โดยสาเหตุของอาการตาเหล่ มีดังนี้
หากเด็กมองไม่ชัดจะทำให้เด็กเพ่งมอง จนกล้ามเนื้อตาทำงานหนักทำให้ตาเข ตาเหล่ ซึ่งการมองไม่ชัดหรือการมองเห็นที่ผิดปกติอาจเกิดจากการมีค่าสายตา ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด หรือสายตาเอียง
บางครั้งการมองเห็นไม่ชัดเกิดจากโรค เช่น โรคมะเร็งที่จอตา จอประสาทตาผิดปกติแต่กำเนิด จอประสาทตาลอกตัว หรือเลนส์ตาขุ่นจากต้อกระจกในเด็ก ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคอันตราย บางโรคอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตหากไม่รีบรักษา
ในบางกรณีที่ความสามารถในการมองเห็นของตาทั้งสองข้างแตกต่างกันมาก จะทำให้เด็กตาเหล่มองไม่ชัดจนสมองปิดรับภาพจากตาข้างที่มองไม่เห็นเพื่อให้ตาข้างที่เหลือมองเห็นภาพได้ชัดขึ้น ทำให้ดวงตาที่มองไม่ชัดถูกใช้งานน้อยลง และสูญเสียการมองเห็นในดวงตาข้างนั้นไปในที่สุด
หากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่สัมพันธ์กัน จะทำให้ดวงตาขยับตามที่สมองสั่งไม่ได้ เด็กตาเหล่จากสาเหตุนี้อาจจะเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากโรคบางอย่างที่พบในเด็ก อย่างโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อตาอัมพาต หรือใช้การได้ไม่เต็มที่ เช่น มะเร็งกดทับกล้ามเนื้อตา เนื้องอกหลอดเลือดบริเวณดวงตา เป็นต้น
ระบบประสาทส่วนกลางเป็นส่วนที่ใช้สั่งงานให้ดวงตาขยับได้ตามปกติ หากระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง นอกจากจะสั่งงานกล้ามเนื้อดวงตาอย่างผิดปกติแล้ว ยังทำให้การพัฒนาทางร่างกายและสมองผิดปกติด้วย ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติสามารถทำให้เด็กตาเหล่จากหลายสาเหตุ สามารถแสดงอาการตั้งแต่ในครรภ์ หรือแสดงอาการหลังเกิดได้
โรคที่สามารถทำให้ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติจนทำให้ตาเหล่ ตัวอย่างเช่น โรคสมองพิการ (Cerebral palsy) หัดเยอรมัน (Rubella) กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome) หรือกลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด (Trisomy 18) เป็นต้น สามารถส่งผลให้เกิดความผิดปกติทั้งทางสมองและทางร่างกาย จนทำให้ตาเหล่ ตาเขได้
เด็กตาเหล่ จากการใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต เกิดจากสาเหตุนี้เช่นกัน เด็กตาเหล่จากการใช้สายตามากไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน แต่จะเกิดในเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญของกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติตั้งแต่ต้น หรือใช้สายตามากเกินไปในช่วงที่กล้ามเนื้อตากำลังพัฒนา
ทำให้กล้ามเนื้อหัวตาถูกใช้งานอย่างหนักจนดึงดวงตาให้เกิดตาเหล่เข้าในได้ มักพบในเด็กที่โตหน่อย อายุเกิน 1 - 2 ปีไปแล้ว
ลักษณะของตาเหล่ทั้งแบบที่ทราบและไม่ทราบสาเหตุ สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ โดยอาจจะพบตั้งแต่เด็ก หรือพบตอนโตก็ได้
บางครั้งตาเหล่ ตาเข เกิดจากโรคทางพันธุกรรมได้ เช่น กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด (Trisomy 18) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มีโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม ส่งผลทางร่างกาย ระบบประสาท และทำให้ตาเหล่ ตาเขอีกด้วย
หากเพิ่งเกิดตาเหล่ตอนโต หรือตอนเป็นผู้ใหญ่อย่างฉับพลัน อาจเกิดจากกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาตหรือหดตัวผิดปกติ เส้นประสาทตาหรือสมองทำงานหรือสั่งการผิดปกติ หรือเกิดจากโรค เช่น กล้ามเนื้อตาอักเสบ โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะสมองขาดเลือด
นอกจากโรคที่เกิดขึ้นเองแล้ว อาการตาเหล่ตอนโตยังสามารถเกิดจากอุบัติเหตุ หรือได้รับสารพิษที่ทำลายระบบประสาทได้ด้วยเช่นกัน
ตาเหล่ตอนโตสามารถเกิดจากการใช้สายตามากเกินไป หรือการมองเห็นผิดปกติได้เหมือนกับตาเหล่ในเด็ก เพียงแต่การเพ่งมองใช้สายตามากหรือค่าสายตาของดวงตาทั้งสองข้างต่างกันมากเกินไปในเด็ก จะทำให้เด็กตาเหล่เข้าใน แต่ถ้าอาการแบบนี้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่จะทำให้ตาเหล่ออกจากจากการที่กล้ามเนื้อหัวตาถูกใช้งานมากจนอ่อนแรงลงนั่นเอง
ตาเหล่ ตาเขมี 4 รูปแบบ ดังนี้
ตาเหล่เข้าใน (Esotropia) เป็นตาเหล่ในแนวนอน (Horizontal type) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อตาไม่สมดุล หรือการมองเห็นผิดปกติในเด็ก เป็นขาเขชนิดที่พบได้มากที่สุดในเด็ก และผู้ใหญ่ตาเหล่ที่มีอาการตั้งแต่เด็กและไม่ได้รักษา
กล้ามเนื้อหัวตาเป็นส่วนที่พัฒนาเร็วกว่ากล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ทำให้เด็กอาจจะตาเขเข้าจากกล้ามเนื้อที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ได้
เด็กทารกตาเหล่ สามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หลายคนอาจเกิดอาการตาเหล่ในช่วง 6 เดือนที่ดวงตายังพัฒนาไม่เต็มที่ และอาการตาเหล่จะหายไปในช่วงก่อน 6 เดือน หากพ้นช่วงนี้ไปแล้วยังมีอาการตาเหล่ จะถือว่ามีความผิดปกติที่ดวงตา จำเป็นต้องได้รับการรักษา
ตาเหล่เข้าในในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะพบในกรณีที่เป็นมาตั้งแต่เด็กและไม่ได้รักษา ส่วนตาเหล่ที่เพิ่งเกิดตอนโตจะไม่ค่อยพบตาเหล่เข้าในมากนัก และไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่สัมพันธ์กันซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เอง
ตาเหล่ ตาเขออกนอก (Exotropia) เป็นตาเหล่ในแนวนอนเช่นกัน ส่วนใหญ่เกิดในผู้ใหญ่ จากอาการกล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรง ตาเข ตาเหล่ซ่อนเร้น
หากผ่อนแรงที่กล้ามเนื้อดวงตา ดวงตาจะอยู่ในตำแหน่งพัก (Position of rest) ซึ่งในคนส่วนใหญ่ตาจะเขออก แต่เมื่อใช้สายตาโฟกัสที่วัตถุ จะมีกล้ามเนื้อหัวตาคอยดึงตาให้เข้ามาด้านใน ถ้ากล้ามเนื้อหัวตาดังกล่าวอ่อนแรงลงจะไม่สามารถดึงตาดำเข้ามาได้ ทำให้เกิดตาเหล่ออกนอก
ตาเหล่ขึ้นบน เป็นอาการตาเหล่ในแนวตั้ง (Vertical type) ที่สามารถพบได้น้อยมาก เกิดจากกล้ามเนื้อดวงตาผิดปกติตั้งแต่เกิด การพัฒนากล้ามเนื้อผิดปกติ และสามารถเกิดจากอุบัติเหตุได้
ตาเหล่ ตาเขลงล่าง เป็นอาการตาเหล่ในแนวตั้งเช่นเดียวกัน สามารถพบได้น้อย และเกิดขึ้นได้จากสาเหตุเดียวกับตาเหล่ขึ้นบน
นอกจากตาเหล่ตาเขทั้ง 4 แบบแล้ว ยังอาจพบตาเหล่แบบหมุนเข้า หรือหมุนออก (Torsional type) ที่ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อมองตรง แต่เมื่อผู้ป่วยมองขึ้นหรือมองต่ำลง จะเห็นว่าตาหมุนเข้าใน หรือหมุนออกด้านนอก
อาการตาเหล่ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ มีวิธีการสังเกตดังนี้
ถ้าสงสัยว่าบุตรหลาน คนใกล้ตัว หรือตนเองมีอาการตาเหล่ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย โดยเฉพาะในเด็ก เพราะอาจจะเกิดจากโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งได้
การวินิจฉัยของแพทย์จะมีตั้งแต่ดูตำแหน่งของตาดำจากภายนอก ดูปฏิกิริยาจากการส่องไฟฉาย ดูการโฟกัสของสายตา การมองเห็น ดูการเบนของสายตาทีละข้าง ตรวจสายตา วัดสายตา ประเมินการมองเห็นของตาทั้งสองข้างว่าใกล้เคียงกันหรือไม่
หากประเมินแล้วว่าเป็นตาเหล่ ตาเข จะประเมินต่อว่าเป็นมากหรือเป็นน้อย และเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขที่ต้นเหตุ แพทย์จะตรวจจอประสาทตา เพื่อดูว่ามีโรคเกิดขึ้นที่จอประสาทตาหรือไม่ เพราะโรคที่จอประสาทตาอาจเป็นสาเหตุตาเหล่ในเด็ก และเป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้เด็กตาเหล่สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหรืออาจจะเสียชีวิตได้เลย
หากเป็นตาเหล่ในเด็ก แพทย์อาจจะตรวจระบบประสาทส่วนกลางด้วยถ้าสงสัยว่าตาเหล่เกิดจากระบบประสาท หรืออาจจะสอบถามอาการอื่นๆร่วมด้วย เพราะก็มีโรคที่ส่งผลให้ตาเขได้ นอกจากนี้แพทย์จะสอบถามถึงประวัติอาการตาเหล่ของคนในครอบครัวด้วยหากสงสัยว่าเป็นลักษณะที่ส่งต่อมาทางพันธุกรรม
ตาเหล่รักษาได้ไหม? ตาเข แก้ได้หรือเปล่า? ตาเหล่ ตาเขสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเกิดจากโรคก็จะรักษาที่โรคต้นเหตุให้หาย หรือบรรเทาอาการลงก่อน หากดวงตายังไม่กลับมาเป็นปกติจึงรักษาด้วยการผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อตาต่อไป
หากเกิดจากกล้ามเนื้อหรือพฤติกรรมการใช้สายตาข้างเดียว ผู้เข้ารับการรักษาบางรายสามารถรักษาตาเหล่ให้หายโดยไม่ต้องผ่าตัด ถ้ารักษาด้วยวิธีเหล่านั้นไม่หาย หรือหลังรักษาแล้วดวงตายังไม่หายเขก็สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
หากอาการตาเหล่ ตาเขเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจเกิดจากกล้ามเนื้อตายังไม่พัฒนาเต็มที่ อาการสามารถหายไปเองได้เมื่ออายุครบ 6 เดือน แม้จะหายได้เองก็ต้องพามาพบแพทย์ เนื่องจากอาจจะเกิดจากโรคร้ายได้เช่นกัน แต่หากอาการตาเหล่ยังอยู่จนอายุครบ 6 เดือน ก็จำเป็นต้องรักษา
หากเป็นตาเหล่ตาเขที่เกิดจากการมองเห็นผิดปกติ มีค่าสายตา ทั้งสั้น เอียง และสายตายาวโดยกำเนิด สามารถรักษาตาเหล่ได้ด้วยการรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ง่ายที่สุดคือการใส่แว่นให้ตรงกับค่าสายตา เมื่อเด็กไม่จำเป็นต้องเพ่งเพื่อให้มองเห็น ดวงตาที่เหล่ก็จะค่อยๆกลับมาเป็นปกติเมื่อใส่แว่นแก้ไขค่าสายตา
หากมีภาวะที่ตาข้างหนึ่งสายตาไม่ดีมากเกินไปจนสมองเด็กใช้สายตาแค่ข้างเดียว สามารถแก้ไขได้ด้วยการปิดตาข้างที่ถนัด แล้วใช้สายตาข้างที่ไม่ถนัดระยะหนึ่ง เพื่อบังคับให้เด็กใช้สายตาทั้งสองข้าง โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดให้ตามอาการว่าควรปิดตาข้างที่ถนัดวันละกี่ครั้ง และครั้งหนึ่งนานเท่าไหร่
ในกรณีที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อดวงตาจนทำให้ตาเหล่ บางกรณีอาจแก้ไขได้ด้วยการฉีดโบท็อก (Botox) เมื่อฉีดในกล้ามเนื้อที่ตึงเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อนั้นคลายตัว ช่วยให้ตาเหล่เข้าที่ได้ หากความผิดปกติที่กล้ามเนื้อไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆได้ แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อตา
การผ่าตัดกล้ามเนื้อรักษาตาเข จะทำในกรณีที่ตาเขตาเหล่เกิดจากกล้ามเนื้อเจริญผิดปกติโดยไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ หรือรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดแล้ว รักษาโรคต้นเหตุแล้ว แก้ไขค่าสายตาแล้ว ดวงตาก็ยังเขอยู่ จนต้องแก้ไขตาเหล่ ตาเขด้วยการผ่าตัดเพิ่มเติม จากทั้งเหตุผลในด้านการมองเห็นและบุคลิกภาพ
ในกรณีที่ตาเหล่ ตาเขจนไม่มีการใช้งานตาข้างใดข้างหนึ่ง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขตาเหล่ตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ เพื่อให้ดวงตากลับมาใช้งานทั้งสองข้างได้ทัน และสมองยังสามารถประมาลผลการมองเห็นให้เป็นภาพสามมิติได้ การผ่าตัดรักษาไม่ควรเกินกว่า 5 ขวบ หากนานกว่านี้อาจจะแก้ไขยาก หรืออาจทำให้ตาข้างที่ไม่ได้ใช้เสียการมองเห็นไปเลยโดยไม่สามารถแก้ไขได้อีก
การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา เพื่อแก้ไขตาเหล่ตาเข เรียกว่า “Muscle correction” เป็นการผ่าตัดขยับหรือปรับความยาวกล้ามเนื้อตา ให้มีความยาวที่เหมาะสม สามารถขยับซ้าย ขวา ขึ้น และลงได้ประสานกันตามปกติ
ขั้นตอนการผ่าตัดกล้ามเนื้อรักษาตาเหล่ ตาเข
การผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตานี้เป็นการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยาก นับเป็นการผ่าตัดเล็กเพราะมีแผลกรีดแค่บริเวณภายนอกลูกตาเท่านั้น สามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เนื่องจากปัจจุบันยาสลบที่ใช้ในการผ่าตัดปลอดภัยมากขึ้น
สาเหตุที่ใช้ยาสลบเพราะเด็กในวัยดังกล่าวไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และอาจมีความเครียดสูงระหว่างผ่าตัด หากเป็นการผ่าตัดรักษาตาเหล่ในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่บางรายอาจไม่ต้องใช้ยาสลบ แพทย์จะให้เพียงยาชาและยาคลายเครียดเท่านั้น
หากเป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ยาสลบ ห้ามทานอาหารในคืนก่อนผ่าตัดและเช้าวันผ่าตัดเนื่องจากเวลาที่คนเราสลบจะควบคุมอะไรไม่ได้ ถ้ามีอาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาจจะทำให้สำลักน้ำและอาหาร จนลงไปปิดหลอดลม หรือเข้าไปที่ปอดจนปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงเสียชีวิตได้
หลังการผ่าตัดกล้ามเนื้อรักษาตาเหล่ ตาเข
หลังการผ่าตัดไม่ต้องนอนพักฝื้นที่โรงพยาบาล ถ้าหลังตื่นจากยาสลบแล้วอาการดี แพทย์แจ้งว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ดูอาการก็สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
หลังผ่าตัด ตาที่เหล่จะกลับมาตรงทันที การมองเห็นจะดีขึ้น ภาพซ้อนจะหายไป แต่หากไม่ได้รักษาตั้งแต่เด็ก เพิ่งเข้ารับการรักษาอาการตาเหล่เมื่อโตแล้ว การผ่าตัดอาจจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ แต่ก็ช่วยได้มากในเรื่องบุคลิกภาพ
การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดกล้ามเนื้อรักษาตาเหล่ ตาเข
ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดกล้ามเนื้อรักษาตาเหล่ ตาเข
หากหลังผ่าตัดมีอาการ เจ็บตามาก กลอกตาไม่ค่อยได้ รู้สึกว่าติด ตึงเกินไป การมองเห็นลดลงกว่าก่อนผ่าตัดมาก ตาบวมแดงมาก และอาการแย่ลงเรื่อยๆ ควรแจ้งจักษุแพทย์ที่รักษา และนัดพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น
อาการตาเหล่ ตาเข นอกจากจะมีผลกับการมองเห็นแล้ว ในระยะยาวจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้
ในช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบ สมองส่วนที่ประมวลภาพเป็นสามมิติจะพัฒนาโดยการรับภาพจากตาทั้งสองข้าง ถ้าตาข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัดมากๆ จนเกิดภาพซ้อน มองไม่เห็น หรือตาเหล่มากจนสมองต้องเลือกรับภาพจากดวงตาเพียงข้างเดียว จะทำให้สมองในส่วนดังกล่าวไม่สามารถประมวลภาพสามมิติได้
หลังจากพ้นอายุ 2 ขวบไป แม้จะรักษาการมองเห็นหรืออาการตาเหล่ ตาเข จนสามารถใช้ตาทั้งสองข้างได้ แต่การประมวลภาพสามมิติจะไม่สามารถกู้คืนได้อีก ผู้ป่วยจะตีความมิติความลึกความตื้นได้จากแสงและเงาเท่านั้น
ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) หรือที่เรียกว่า “Lazy eye” เกิดจากสายตาอีกข้างดีกว่าอีกข้างมาก หรือตาเหล่และเกิดภาพซ้อน จนสมองตัดการรับภาพจากดวงตาไปข้างหนึ่ง และใช้แต่ตาข้างที่ชัดเท่านั้น ตาข้างที่ไม่ชัดจึงไม่ถูกใช้งาน ทำให้กล้ามเนื้อตาข้างดังกล่าวทำงานแย่ลงเรื่อยๆ การมองเห็นแย่ลงกว่าเดิม ในที่สุดจะสูญเสียการมองเห็นในตาข้างนั้นไปเลย
หากพบอาการเร็ว ตาขี้เกียจสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกใช้งานสายตาทั้งสองข้างให้เท่ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปนั่นเอง
โรคทางจิตใจเป็นอาการที่เกิดจากสังคม ที่บางครั้งยังมองอาการตาเหล่ตาเขเป็นเรื่องประหลาด หรือเรื่องตลก การล้อเลียนหรือการที่คนรอบข้างมองผู้ป่วยในทางลบอาจทำให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็ก มีปัญหาในการเข้าสังคมจนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
ตาเหล่ ตาเข สามารถป้องกันได้ยากถ้าเกิดในเด็ก เป็นภาวะที่มีตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากโรค ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นการรู้ทันโรคตาเหล่ ตาเข ยิ่งรู้ได้เร็ว ก็ยิ่งรักษาได้ง่าย
ผู้ปกครองควรพาเด็กไปตรวจกับจักษุแพทย์เป็นระยะ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เพราะอยู่ในช่วงที่พบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาได้มาก หากมีความผิดปกติแพทย์จะให้ติดตามอาการ ถ้าหลังอายุ 6 เดือนอาการตาเหล่ยังไม่หาย แสดงว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับดวงตา
บุคคลทั่วไปและผู้ที่มีความเสี่ยงตาเหล่จากพันธุกรรมควรสังเกตตัวเองหรือบุตรหลานอยู่เสมอ ถ้าเด็กมีปัญหาการมองเห็น ตาเหล่ ทำหยีตาเพื่อให้มองเห็นชัด เอียงคอมอง ให้พาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ถ้าเด็กมีค่าสายตาให้ใส่แว่นที่เหมาะกับค่าสายตาจริงๆ ไม่ควรคิดว่าการให้เด็กใส่แว่นแต่เล็กเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะการไม่ใส่แว่นสายตาตามค่าสายตาจะมีผลเสียอย่างมาก อาจทำให้สายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆจากการเพ่งมอง อาจทำให้ตาเข หรืออาจเป็นตาขี้เกียจได้
การใช้สายตามากไปสามารถทำให้เกิดตาเขได้จากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือตึงเกินไปจากการเพ่งมากๆ อาการนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ วิธีป้องกันคือไม่ควรใช้สายตามากเกินไป พักสายตา ปรับระยะการมองเห็นเป็นพักๆ เพื่อไม้ให้ใช้กล้ามเนื้อตามากเกินไป เป็นการลดความเเสี่ยงการเกิดตาเหล่ ตาเขลง
รักษาตาเหล่ที่ไหนดี? อาการตาเหล่ ตาเข จำเป็นต้องให้จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้รักษา อีกทั้งทีมแพทย์ยังต้องมีประสบการณ์ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดในเด็กที่ต้องใช้ยาสลบร่วมด้วย ต้องมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ครบครัน และสะอาดปลอดภัย
ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลผู้เข้ารับการรักษาทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา เรารักษาทุกเคสโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ดำเนินการผ่าตัดร่วมกับวิสัญญีแพทย์ เพื่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)