ผ่าตัดต้อกระจก ราคาแพงไหม ใครบ้างที่ควรเข้ารับการผ่าตัด
แพ็คเกจผ่าตัดต้อกระจก (Cataract Surgery Package) ราคาเริ่มต้นที่ 50,000 บาท คืนความคมชัดให้กับสายตาอีกครั้งด้วยแพทย์มากประสบการณ์ ได้ที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์
โรคตาขี้เกียจ หรือที่เรียกว่า Lazy Eye เป็นโรคที่หลายคนกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นโรคที่พบมากในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ และต้องรีบรักษาเมื่อยังอายุไม่มาก หากปล่อยไว้นานจนถึงวัยผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นมาก ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยการทำเลสิค
สารบัญบทความ
ตาขี้เกียจ (Amblyopia หรือ Lazy Eye) คืออาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมองเห็นไม่ดีจนสมองปิดการรับรู้ภาพของตาข้างนั้นไป หรือปิดไปทั้งสองข้างแล้วพัฒนาประสาทสัมผัสด้านอื่นแทน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานตาข้างดังกล่าว ในระยะยาวกล้ามเนื้อตาจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ การมองเห็นแย่ลงนั่นเอง
โรคตาขี้เกียจพบได้ประมาณ 2 - 5% ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ดวงตากำลังพัฒนาให้เหมือนผู้ใหญ่ หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา, ระบบประสาทเกี่ยวกับการรับภาพ, หรือการส่งกระแสประสาทไปที่สมอง จะมีโอกาสทำให้เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้
โรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่จะเป็นกรณีที่พบตั้งแต่เด็กและไม่ได้รักษามากกว่า เนื่องจากโรคนี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้นเมื่อร่างกายและดวงตาเติบโตเต็มที่แล้ว
ตาขี้เกียจสามารถพบได้จากการตรวจโดยจักษุแพทย์ ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเป็นระยะตั้งแต่อายุประมาณ 3 ปีครึ่ง หรือเมื่อสงสัยว่าเป็นโรคตาขี้เกียจ เพื่อให้ตรวจพบโรคได้เร็ว และรักษาทันทีถ้าตรวจพบโรคหรือเริ่มรักษาเมื่ออายุมากกว่า 6 ปีก็รักษาค่อนข้างยาก และหากอายุเกิน 9 ปีอาจจะไม่สามารถรักษาได้อีก
การมีค่าสายตามากทั้งสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวโดยกำเนิด เป็นสาเหตุของโรคตาขี้เกียจในเด็กทั้งข้างเดียวและสองข้างได้ โดยมีกระบวนการการเกิดโรคที่ต่างกัน ดังนี้
เมื่อมีค่าสายตา การมองเห็นจะค่อนข้างแย่ทั้งสองข้างตั้งแต่ยังเด็ก ในขณะที่สมองยังพัฒนาระบบประสาทต่างๆไม่เต็มที่ การที่สายตาแย่จะทำให้สมองรับภาพการมองเห็นได้แย่ จนไม่พัฒนาระบบประสาทเกี่ยวกับการมองเห็นเท่าที่ควร แล้วหันไปพัฒนาระบบประสาทเกี่ยวกับประสาทสัมผัสประเภทอื่นๆแทน ส่งผลให้เป็นโรคตาขี้เกียจสองข้างในที่สุด
การมีค่าสายตาของดวงตาทั้งสองข้างแตกต่างกันมาก (Anisometropia) จะส่งผลให้สมองเลือกรับภาพจากตาข้างที่มองเห็นชัดกว่าเพียงข้างเดียว ในระยะหนึ่งสมองจะตัดการรับภาพจากดวงตาข้างหนึ่งไป เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจข้างเดียว โดยสามารถเกิดได้จากทั้งสายตาเอียง สายตายาว หรือสายตาสั้นข้างเดียว
โรคตาขี้เกียจเกิดจากอาการตาเหล่ ตาเขได้ และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ไม่ใช้ทุกคนที่มีอาการตาเหล่จะเป็นตาขี้เกียจ โรคนี้จะเกิดกับผู้ที่ตาเหล่ข้างเดียวเท่านั้น
ตาเหล่ข้างเดียวกับตาเหล่สองข้างต่างกันที่การใช้สายตา โดยปกติแล้วผู้ที่ตาเหล่หากใช้สายตาทั้งสองข้างพร้อมกันจะทำให้เห็นภาพซ้อน ผู้ที่ตาเหล่สองข้างจะเลือกใช้ตาทีละข้างสลับกันไป เมื่อใช้ตาข้างหนึ่งในการมอง ตาอีกข้างจะเหล่ จึงเรียกว่าเป็นตาเหล่ทั้งสองข้าง
ส่วนผู้ที่ตาเหล่เพียงข้างเดียวจะใช้ตาข้างเดียวในการมองเสมอ ไม่ได้สลับไปใช้ตาอีกข้างหนึ่งเหมือนกับตาเหล่สองข้าง ในระยะยาวตาที่ไม่ได้ใช้เลยจะมีการมองเห็นที่แย่ลงเรื่อยๆ จนในที่สุดจะเกิดโรคตาขี้เกียจขึ้น ดังนั้นโรคตาขี้เกียจข้างเดียวจะพบได้เฉพาะในผู้ที่ตาเหล่ข้างเดียวนั่นเอง
หากตาขี้เกียจข้างเดียวเกิดขึ้นในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และไม่ได้รับการรักษาภายในอายุ 2 ปี จะทำให้สมองไม่พัฒนาระบบการรับรู้ภาพแบบสามมิติ เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจที่รักษายาก แม้จะปรับการมองเห็นให้กลับมาใช้ได้ทั้งสองข้าง แต่สมองจะไม่รับรู้ภาพเป็นสามมิติ ผู้ป่วยจะประเมินความลึกของวัตถุได้จากแสงเงาเท่านั้น
โรคตาขี้เกียจเกิดจากเปลือกตาตก หรือหนังตาตกได้เช่นกัน เปลือกตาตกส่วนใหญ่จะเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง เมื่อมีเปลือกตาลงมาบัง การมองเห็นจะไม่ชัด ส่งผลให้ตาขี้เกียจทั้งสองข้างได้
โรคที่ทำให้ดวงตามองไม่ชัดเพียงข้างเดียวหรือสองข้าง อาจทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้ เช่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด เลนส์ตาผิดปกติ จอประสาทตาลอก จอประสาทตาเสื่อมในเด็ก โรคมะเร็งจอตา กระจกตาขุ่น หรือโรคตาอื่นๆ
หากระบบประสาทส่วนกลาง กระแสประสาท หรือเส้นประสาทดวงตามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น จะทำให้การส่งภาพไปสมองผิดปกติ หรือส่งภาพไปได้ไม่เต็มที่ จนเกิดตาขี้เกียจขึ้น ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งข้างเดียวและสองข้าง
สาเหตุดังกล่าว เป็นสาเหตุหลักของโรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ ส่งผลให้การมองเห็นเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ แม้จะตัดแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่สามารถกลับมามองเห็นชัดได้ เป็นอาการที่สมองไม่รับภาพจากดวงตา หรือรับภาพได้แย่ลงนั่นเอง
ตาขี้เกียจ อาการจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค ถ้าเกิดจากตาเข ตาเหล่ อาการจะสามารถสังเกตได้จากภายนอก ส่วนใหญ่อาการตาเหล่ ตาเขที่พบในเด็ก และมีอาการตาขี้เกียจร่วมด้วยจะเป็นตาเขเข้าใน คือเมื่อตาข้างหนึ่งอยู่ตรงกลาง ตาอีกข้างที่เขจะมุดเข้ามาใกล้กับหัวตามากกว่าปกติ
หากเกิดจากโรคทางตาบางโรค อาการอาจมองเห็นได้จากภายนอก เช่น อาการตาดำขุ่นจนมีผลกับการมองเห็น ซึ่งอาจเกิดจากต้อกระจกหรือกระจกตาขุ่น และถ้าเกิดจากเปลือกตาตก ก็สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเช่นกัน
หากตาขี้เกียจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ตาเข จะทำให้มองจากภายนอกได้ยาก ผู้ปกครองหรือคนรอบข้างจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมเด็ก ถ้าชอบหรี่ตาขณะมองสิ่งที่อยู่ไกลๆ เพ่งมอง เอียงคอมอง ชอบปิดตาข้างหนึ่งเพื่อมองเห็นได้ชัดขึ้น ตาล้า ปวดหัวปวดตาบ่อยๆ ก็นับว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นตาขี้เกียจ
หากไม่สามารถสังเกตเห็นพฤติกรรม ให้ลองทดสอบการมองเห็น โดยการปิดตาเด็กทีละข้าง นำของเล่นหรือขนมที่ชอบมาล่อ แล้วดูว่ามีปฏิกิริยากับของที่ชอบหรือไม่ ถ้าไม่ค่อยตอบสนอง ดูเหมือนมองไม่ค่อยเห็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองก็อาจเป็นตาขี้เกียจได้
เด็กในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีก็ควรเข้าพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจดูพัฒนาการ และความผิดปกติทางด้านร่างกายอยู่แล้ว ในการตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจดวงตาและวัดสายตาด้วย หากเป็นโรคตาขี้เกียจ ความผิดปกติจะแสดงออกมาให้เห็นได้ในขั้นตอนนี้
นอกจากนี้ยังต้องตรวจตาโดยเฉพาะ ในเด็กที่มีอายุ 3 ปีครึ่งถึง 6 ปี เพื่อดูความผิดปกติที่สังเกตได้ยาก อย่างตาขี้เกียจจากโรคภายในจอประสาทตา ตาเหล่ซ่อนเร้น หรืออื่นๆ
หรือหากสงสัยว่ามีอาการของโรคตาขี้เกียจ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและหาสาเหตุได้เลยโดยไม่ต้องรอให้อาการหนัก โรคตาขี้เกียจไม่ควรทิ้งไว้นาน เนื่องจากอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น และยังรักษาได้ยากขึ้นอีกด้วย
การวินิจฉัยตาขี้เกียจ โดยพื้นฐานจะตรวจดูจากความผิดปกติของดวงตา เช่น ดูลักษณะตาเหล่ ตาเข ความผิดปกติของเปลือกตา หรือส่วนอื่นๆในดวงตาที่มีผลกับการมองเห็น ร่วมกับการตรวจสายตา วัดสายตาทั้งสองข้าง เพื่อดูค่าสายตาและสั่งตัดแว่น เป็นการรักษาตาขี้เกียจและป้องกันอาการตาเหล่ที่เกิดจากการมองเพ่ง
ความผิดปกติภายในดวงตาบางครั้งตรวจพบได้ยากจากภายนอกหรืออุปกรณ์ตรวจดวงตาทั่วไป หากพบว่ามีอาการตาขี้เกียจแต่ไม่พบความผิดปกติในดวงตา แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การทำ CT Scan หรือทำ MRI เป็นต้น
ตาขี้เกียจ รักษาหายไหม? ตาขี้เกียจสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะได้ผลดีเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ต้นเหตุของโรค และอายุของผู้เข้ารับการรักษา ยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งรักษาได้ง่ายกว่า แพทย์จึงอยากให้เด็กตรวจดวงตาเป็นประจำในช่วงอายุ 3 - 6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ยังรักษาได้ง่าย
วิธีรักษาตาขี้เกียจมีหลายวิธี แบ่งออกตามสาเหตุ และความเหมาะสมกับระยะอาการ โดยวิธีการรักษามีด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้
การรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตา 1 ข้าง จะใช้ในกรณีที่เป็นโรคตาขี้เกียจข้างเดียว เนื่องจากตาขี้เกียจข้างเดียวมักเกิดจากการหยุดงานสายตาข้างหนึ่ง วิธีนี้จะเป็นการปรับพฤติกรรมการใช้สายตา และกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานดวงตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจมากขึ้น
ในกรณีที่เป็นตาขี้เกียจจากอาการตาเหล่ ตาเข ก็ต้องรักษาด้วยการปิดตาข้างหนึ่งเช่นกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานดวงตาทั้งสองข้าง หลังจากนั้นจึงผ่าตัดกล้ามเนื้อตารักษาอาการตาเหล่ ตาเข่ เพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อนจากการใช้งานดวงตาพร้อมกันทั้งสองข้าง เมื่อปรับการใช้งานดวงตาและรักษาตาเหล่แล้ว ผู้เข้ารับการรักษาจะใช้ดวงตาทั้งสองข้างได้ตามปกติ
หากตาขี้เกียจจากการมีค่าสายตาต่างกันมาก แพทย์จะรักษาโดยการใส่แว่นให้เหมาะสมกับค่าสายตา เพื่อให้ดวงตาทั้งสองข้างมีการมองเห็นที่ดีพอๆกัน จากนั้นแพทย์จะให้ปิดตาข้างที่ดีไว้ เพื่อกระตุ้นให้สมองรับภาพจากดวงตาข้างที่แย่ได้ดีขึ้น และยังช่วยปรับพฤติกรรมให้ผู้เข้ารับการรักษาใช้ดวงตาอีกข้างเพิ่มขึ้นด้วย
การรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตา 1 ข้าง จะต้องทำเป็นประจำทุกวัน โดยการปิดตาข้างที่ถนัดไว้วันละประมาณ 6 ชั่วโมง หรือมากน้อยตามที่แพทย์กำหนด ในขณะปิดตาผู้ปกครองหรือครูต้องเล่นกับเด็กไปด้วย เพื่อเฝ้าไม่ให้เด็กแกะที่ปิดตา และกระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่ไม่ถนัดทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ
การรักษาอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ดูแลและบุคคลรอบข้างต้องคอยให้กำลังใจเด็กตลอดเวลาระหว่างการรักษา และไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากคนอื่นๆ
การแปะผ้าปิดตาอาจก่อให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังได้จากทั้งผ้าและเทปติดแผล ทางแก้คืออาจจะต้องให้เด็กใส่แว่นแล้วติดผ้าที่แว่นตา หรือถ้าเด็กไม่สะดวกปิดตาเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ให้เลี่ยงติดในเวลาอื่นๆแทน
โรคตาขี้เกียจ ตัดแว่นรักษาได้ในกรณีที่มีค่าสายตา ไม่ว่าจะตาขี้เกียจข้างเดียว ตาขี้เกียจสองข้าง หรือตาเขจากการมีค่าสายตาจนทำให้เกิดตาขี้เกียจในภายหลัง เพราะการใส่แว่นจะทำให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจมองเห็นชัดขึ้น สมองจะใช้สายตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจมากขึ้นตามลำดับ
หากเป็นตาขี้เกียจข้างเดียว หรือตาขี้เกียจจากตาเหล่ตาเขที่มีค่าสายตา จะรักษาร่วมกับการปิดตาด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานตาอีกข้าง
การเลือกตัดแว่น โดยเฉพาะในเด็ก ต้องเลือกแว่นให้พอดีกับใบหน้า และควรใส่ไว้ตลอดเวลาที่ใช้สายตาเพื่เป็นการกระตุ้นตาขี้เกียจให้ถูกใช้งานตาปกติ และป้องกันการมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นจากการเพ่งนั่นเอง
ผู้ที่เป็นโรคตาขี้เกียจจากการมีค่าสายตา หากรักษาหายแล้วสามารถรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยการทำเลสิคแทนการใส่แว่นได้โดยไม่มีความเสี่ยงจากโรคตาขี้เกียจเพิ่มเติม
การหยอดยาขยายรูม่านตาในดวงตาข้างที่ถนัด เป็นวิธีการรักษาตาขี้เกียจที่คล้ายกับการปิดตา เนื่องจากเมื่อม่านตาขยาย การมองเห็นจะแย่ลงกว่าปกติ ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาใช้ดวงตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจมากขึ้นนั่นเอง
การผ่าตัดรักษาตาขี้เกียจ ไม่ใช้การรักษาโรคโดยตรง แต่จะเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขต้นเหตุของโรค
ใช้ในกรณีที่ตาขี้เกียจเกิดจากหนังตาตก, ตาเหล่ ตาเข, และเกิดจากโรค เช่น ต้อกระจก กระจกตาขุ่น เลือดออกในตา หรือเป็นโรคที่จอประสาทตา เมื่อผ่าตัดจนกลับมาเห็นชัดแล้ว จึงค่อยมารักษาต่อด้วยการปิดตาหนึ่งข้างเพื่อกระตุ้นการมองเห็นต่อไป
โรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่รักษาได้ไหม? ตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ที่เป็นอาการต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก สามารถรักษาได้ในผู้ป่วยบางราย แต่จะรักษายาก และโอกาสที่จะรักษาได้ก็น้อยกว่าตาขี้เกียจที่รักษาตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากสมองและดวงตาพัฒนาเต็มที่แล้ว จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้กลับมาใช้งานดวงตาได้ตามปกติ
วิธีรักษาตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ก็เหมือนกับการรักษาตาขี้เกียจในเด็ก คือจะต้องแก้ไขที่ค่าสายตา แก้ไขปัญหาการมองเห็น และปิดตาหรือหยอดยาขยายรูม่านตากับตาข้างใดข้างหนึ่งในกรณีที่เป็นตาขี้เกียจข้างเดียว เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้สายตา
แต่ทั้งนี้ ภาวะตาขี้เกียจในวัยผู้ใหญ่อาจส่งผลให้เกิดภาวะสายตาสั้นมากกว่าปกติซึ่งรักษาได้ยาก การทำเลสิคแก้ไขสายตาสั้นก็อาจจะช่วยรักษาได้บางกรณี
ภาวะแทรกซ้อนหากโรคตาขี้เกียจเกิดขึ้นในเด็กทารก และไม่ได้รับการรักษาภายในอายุ 2 ปี ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการประมวลภาพสามมิติไป แม้รักษาเมื่ออายุมากขึ้นจนใช้สายตาได้สองข้าง ก็ไม่สามารถประมวลผลภาพให้เป็นสามมิติได้ ผู้ที่เป็นโรคตาขี้เกียจและมีอายุน้อยกว่าสองปี แพทย์จึงจะให้รักษาโดยเร็วที่สุด
ส่วนภาวะแทรกซ้อนของตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ อาจรุนแรงถึงขั้นมองเห็นไม่ชัด เพราะสายตาสั้นมากผิดปกติ การรักษาตาขี้เกียจในผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่ยาก และไม่ค่อยเห็นผลมากนัก ทางที่ดีจึงควรตรวจพบโรค และรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
การป้องกันโรคตาขี้เกียจนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากบางครั้งตัวโรคหรือสาเหตุของโรคเกิดขึ้นมาเองได้ไม่ทราบสิ่งกระตุ้น บางครั้งก็เกิดในเด็กที่ยังไม่สามารถบอกได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา ทำให้ไม่ทราบถึงความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันตาขี้เกียจ คือ
โรคตาขี้เกียจเป็นโรคอันตราย แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้เมื่อมาพบแพทย์เร็ว หากบุตรหลานของท่านมีอาการของโรคตาขี้เกียจ ควรพาเด็กมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรค ให้เด็กๆได้มีดวงตาที่ใช้การได้ดีในอนาคต
สงสัยว่าตนเอง หรือบุตรหลานกำลังเป็นโรคตาขี้เกียจ สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเพิ่มเติม หรือนัดเวลากับจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown
Ref :
Reichert, P. (2020, 20 February). Amblyopia (Lazy Eye) in adults. Eye Care & Vision Associates.
https://www.ecvaeyecare.com/blog/2020/02/20/amblyopia-lazy-eye-in-adults/#:~:
text=Adults%20with%20the%20condition%20often,brain%20seemingly%20ignores%20the
%20visuals.
New York University. (2010, 10 September). New neurological deficit behind lazy eye identified.
ScienceDaily. https://www.sciencedaily.com/releases/2010/09/100910101836.htm#:~:text=
Amblyopia%20results%20from%20developmental%20problems,%2C%20depth%2C%20and
%20fine%20detail.
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)