บทความสุขภาพ

รู้ทันโรคข้ออักเสบ สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีรักษาช่วยแก้ปวดตามข้อ

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ในปัจจุบันโรคข้ออักเสบนั้นสามารถเกิดขึ้นในกลุ่มคนหลากหลายช่วงวัย ด้วยสาเหตุที่เป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการเดิน วิ่ง หรือนั่ง โดยบทความนี้ทุกคนจะได้ทำความรู้จักว่าโรคไขข้ออักเสบ หรือ Arthritis คืออะไร
ข้ออักเสบ หรือ Arthritis คืออาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ อาการปวดตามข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย สามารถพบได้ในโรคอื่นมากมายเช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โดยมีอาการปวด เมื่อย บวม บริเวณข้อต่อ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวลดลง ถึงแม้ข้ออักเสบจะเป็นอาการเจ็บป่วยเฉพาะจุดที่ดูเล็กน้อย แต่การปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการอักเสบรุนแรงกว่าเดิม หากไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจกระจายจนเสียชีวิตได้

Arthritis
 


สารบัญบทความ
 

 


โรคข้ออักเสบ (Arthritis)

ภาวะข้ออักเสบเกิดจากการทำลายข้อต่อของร่างกาย ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบวมบริเวณข้อต่อ ช่วงข้อต่อจะแดง ขยับได้ยาก และหากสัมผัสอาจมีความรู้สึกปวดร้อนร่วมด้วย โดยอาการจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับตำแหน่งข้อต่อที่อักเสบและชนิดของการอักเสบ

 


อาการของโรคข้ออักเสบ

  • อาการปวด เจ็บข้อเข่า
  • อาการข้อบวม
  • มีรอยแดง
  • เคลื่อนไหวข้อต่อได้น้อยลง

ในช่วงแรกอาการปวดต่างๆจะเกิดไม่นานและหายได้เอง แต่ในบางกรณีอย่างเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุอาจสังเกตได้ยากกว่าเนื่องจากไม่ค่อยขยับร่างกาย โดยสามารถสังเกตได้จากการที่เด็กหรือผู้สูงอายุไม่ค่อยขยับแขนขาข้างที่มีอาการอักเสบ หรือขยับได้อย่างจำกัด ลำบาก ไม่คล่องแคล่ว
 

ปวดเข่า ข้อบวม

 


โรคข้ออักเสบ เกิดจากสาเหตุใด


ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคข้ออักเสบ

โรคข้อกระดูกอักเสบ สาเหตุของการเกิดโรคนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน

  • อายุที่มากขึ้น
  • มีการติดเชื้อแบคทีเรีย 
  • เกิดร่วมโรคอื่นๆอย่างโรคข้อเข่าเสื่อม โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โดยอาการของข้ออักเสบนั้นหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้ป่วย หากเกิดร่วมกับโรคอื่น เช่น รูมาตอยด์ อาจมีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น ไม่สบายตัว เวียนหัว เป็นไข้
  • หากคนในครอบครัวผู้ป่วยมีประวัติมีภาวะข้ออักเสบมาก่อน สมาชิกในครอบครัวอื่นอาจมีความเสี่ยงได้เช่นกัน
  • โรคที่เกี่ยวกับข้ออักเสบบางโรคพบในเพศหนึ่งมากกว่าอีกเพศ เช่น โรครูมาตอยด์พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โรคเก๊าท์พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • การบาดเจ็บของข้อต่อ เช่น อุบัติเหตุ
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากจะเสี่ยงต่อการเกิดข้ออักเสบมากกว่าผู้อื่น เนื่องจากอาจมีแรงกดข้อต่อมากโดยเฉพาะช่วงข้อเข่า สะโพก กระดูกสันหลัง เพราะเป็นจุดรับน้ำหนัก
ปวดตามข้อ

โรคข้ออักเสบ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

การเสื่อมสภาพของข้อต่อ หรือข้ออักเสบ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่
 

  • ข้ออักเสบแบบเฉียบพลันข้อเดียว เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและข้อต่อ สามารถเกิดได้จากการติดเชื้อและโรคเก๊าท์
  • ข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
  • โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังจากรูมาตอยด์ เกิดได้จากโรครูมาตอยด์ เก๊าท์เทียม เชื้อแบคทีเรีย หรือมะเร็งบางประเภท
 

1. โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันข้อเดียว

อาการข้ออักเสบเฉียบพลันข้อเดียว ช่วยบ่งบอกว่าผู้ป่วยอาจะเป็นโรคข้ออักเสบติดเชื้อ ข้ออักเสบจากการใช้งานมากเกินไป โรคเก๊าท์ เส้นเอ็นหรือว่าผิวหนังติดข้ออักเสบ

2. โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ

อาการข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ ช่วยบ่งบอกว่าอาจเป็นข้ออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด

3. โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังจากรูมาตอยด์

อาการข้ออักเสบเรื้อรังจากรูมาตอยด์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรครูมาตอยด์ เก๊าท์เทียม เชื้อแบคทีเรีย หรือมะเร็งบางชนิด บางกรณีอาจเป็นโรคแพ้ภูมิ(โรคเอสแอลอี)ซึ่งนำไปสู่โรคข้ออักเสบจาก ภูมิคุ้มกัน


เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

หากมีอาการปวดบวมแดงที่ข้อเป็นระยะเวลานานและไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง เช่น ประคบเพื่อแก้ปวดแล้วอาการปวดไม่หายไป ต้องรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกันเพื่อระงับอาการปวด หรือมีอาการแทรกซ้อนร่วมด้วยอย่างเวียนหัวเป็นไข้ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและดูบริเวณข้อต่อเพื่อค้นหาสาเหตุอาการอักเสบต่อไป 


การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ

ในการวินิจฉัยข้อต่ออักเสบ แพทย์จะดูสภาพของข้อต่อ การปวด บวม แดง และความร้อนของข้อต่อ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวว่าติดขัดในระดับใดเพื่อทำการจำแนกภาวะข้อต่ออักเสบว่าเป็นประเภทใด

  • การทดสอบในห้องแล็บ โดยการนำตัวอย่างของเหลวในร่างกายไปทดสอบเพื่อจำแนกประเภท
  • การทดสอบด้วยภาพถ่าย ใช้ภาพถ่ายทางการแพทย์ต่างๆเพื่อตรวจหาสาเหตุและดูรายละเอียดอาการ เช่น การใช้ภาพเอกซเรย์ ซีทีแสกน เอ็มอาร์ไอ
หมอปวดข้อ
 

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคข้ออักเสบ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ อาการแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หากข้ออักเสบนั้นอยู่ในระดับที่รุนแรง โดยจะมีอาการดังนี้

  • หากบริเวณมือและแขนมีอาการของโรคข้ออักเสบ อาจส่งผลให้การทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก
  • หากบริเวณที่ไขข้ออักเสบเป็นส่วนที่ใช้รับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า กระดูกสันหลัง หรือสะโพก จะส่งผลเสียทำให้การนั่งหรือเดินนั้นไม่ปกติ
  • โรคข้ออักเสบยังส่งผลให้เกิดการคดงอของกระดูกหรือทำให้กระดูกผิดรูป

วิธีรักษาโรคข้ออักเสบ

การรักษาภาวะข้ออักเสบ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดตามข้อและฟื้นฟูประสิทธิภาพความสามารถในการทำงานของข้อต่อนั้นๆ  วิธีการรักษาแบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด
 

1. รักษาด้วยการใช้ยา 


การใช้ยา แพทย์จะจ่ายยาตามชนิดของข้ออักเสบ ยาแต่ละชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ต่างกัน อาจเป็นยาแบบทา หรือยาสำหรับรับประทาน กลุ่มยาที่ใช้มักเป็นกลุ่ม

  • ยาแก้ปวด
  • ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ยาลดการอักเสบกลุ่ม DMARDs
  • ยาต้านการระคายเคือง (Counterirritants)
  • ยาลดอาการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน (Corticosteroids)
  • ยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Biologic response modifiers)

2. รักษาโรคข้ออักเสบด้วยการทำกายภาพบำบัด


การทำกายภาพบำบัด แพทย์อาจส่งคนไข้ให้นักกายภาพบำบัดดูแลอย่างใกล้ชิด วิธีการรักษาดังกล่าวอาจเป็นการแนะนำท่าออกกำลังกายให้คนไข้เพื่อฟื้นฟูความสามารถและการเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อ รวมถึงทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อต่อแข็งแรงขึ้นเพื่อพยุงข้อต่อในระยะยาวด้วย
 

3. รักษาข้ออักเสบโดยการผ่าตัด


การผ่าตัด ในกรณีที่คนไข้ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่นได้น้อย แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็น
 

  • การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมข้อต่อ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

 


การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้ออักเสบ

เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคข้ออักเสบให้ดีขึ้น การดูแลตัวเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้หลายวิธีด้วยกัน

  •  
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ โดยทำกิจกรรมอย่างการว่ายน้ำที่จะช่วยพยุงข้อต่อและไม่ลงน้ำหนักที่ขาจนเกินไป และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ลงน้ำหนักบริเวณข้อเข่า เช่น การวิ่ง เดินขึ้นลงบันได หรือการลุกนั่งเลือกรับประทานอาหาร
  • การควบคุมน้ำหนักเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อกระดูกอักเสบจากการรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
  • การลดหรือเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรคข้อกระดูกอักเสบเช่น ยกของหนัก กระโดด นั่งยอง และอื่นๆ
  • การประคบเย็นเป็นอีกวิธีที่ช่วยบรรเทาเมื่อมีอาการไขข้ออักเสบ โดยประคบเย็นตรงบริเวณที่ปวดข้อประมาณ 15-20 นาทีและควรนัดพบแพทย์เพื่อเช็คอาการ

วิธีป้องกันโรคข้ออักเสบ

วิธีการป้องกันข้ออักเสบเพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยอาการดังกล่าวในอายุที่มากขึ้น สามารถได้หลายวิธี และควรทำให้สม่ำเสมอ
 

  • การออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้ข้อต่ออย่างหนัก เช่น การกระโดด และออกกำลังกายอย่างการเดิน หรือการว่ายน้ำเพราะน้ำสามารถช่วยพยุงข้อต่อได้ และการออกกำลังกายยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรง ช่วยในการพยุงข้อต่อได้ดีขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่​ โดยเฉพาะอาหารที่มีโอเมก้า 3
  • เลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระดูกและข้อ เช่น การยกของหนัก หากเลี่ยงไม่ได้ให้พยายามยก 2 มือเพื่อกระจายน้ำหนัก ไม่ลงที่ข้อใดข้อหนึ่ง
ออกกำลังกาย รักษาข้อ

รักษาโรคข้ออักเสบ ที่ไหนดี

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ อยู่ใกล้กับชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนอย่างย่านเยาวราช และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำ และรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวด หรือเจ็บบริเวณข้อต่อทุกแบบ เพื่อวินิจฉัยและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคล หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามแพทย์ที่ Line: @samitivejchinatown ได้ทันที


ข้อสรุปเรื่องโรคข้ออักเสบ

แม้ว่าโรคไขข้ออักเสบจะดูเป็นอาการเฉพาะจุด แต่เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากโรคที่ปล่อยไว้แล้วรุนแรงกว่าเดิม หรือเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรียที่สามารถกระจายตัวและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการที่คล้ายคลึงกับข้ออักเสบ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวด บวม ร้อน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจสอบในกรณีที่มีความผิดปกติต่อไป

หากท่านใดต้องการเช้ารับการตรวจวินิจฉัยอาการข้อเข่าอักเสบที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้ที่เบอร์โทร 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอดไลน์โรงพยาบาล Line: @samitivejchinatown 

สมิติเวช ไชน่าทาวน์..มั่นใจมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

เอกสารอ้างอิง
Mayo Foundation for Medical Education and Research. (2021, September 15). Arthritis. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/arthritis/symptoms-causes/syc-20350772
Cleveland Clinic. (2021). Arthritis: Symptoms, causes, types & treatment. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12061-arthritis 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​